พระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ ตอนที่ 2

พระแก้วมรกต ภาพลายเส้น ปี 2416
พระแก้วมรกต ภาพลายเส้นพิมพ์ในหนังสือ The land of the White Elephant ของ Frank Vincent พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๑๖
บทความเรื่อง “พระเก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ”[1] ของสายชล สัตยานุรักษ์ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้จัดลงพิมพ์เป็นตอน โดยตอนแรกลงพิมพ์ในฉบับเดือนเมษายน 2547 (คลิกอ่านที่นี่)

 

ยุคที่มีการแต่งตำนาน “พระแก้วมรกต” ในชินกาลมาลีปกรณ์ (พ.ศ. 2060-2071)

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงวิชาการว่า การแต่งตำนานทางพุทธศาสนาในล้านนาเกิดขึ้นใน “ยุคทอง” ซึ่งหมายถึงยุคที่ล้านนารุ่งเรืองสูงสุด แต่ผู้เขียนพบว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ ได้รับการแต่งขึ้นในระยะที่ล้านนาได้เสื่อมลงแล้วเนื่องจากความสูญเสียในการสงครามและภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง จึงมีสมมุติฐานว่าผู้แต่งตำนานไม่ต้องการจะให้พระพุทธรูปนี้เกี่ยวข้องกับการขยายอำนาจตามคติจักรพรรดิราชอีกต่อไป

Advertisement

ได้กล่าวแล้วว่าในยุครุ่งเรืองของล้านนา (สมัยพญากือนา พญาสามฝั่งแกน พระเจ้าติโลกราช พญายอดเชียงราย และพญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว-ก่อนจะถึงปลายรัชกาล) คือก่อนที่จะมีการแต่งตำนาน “พระแก้วมรกต” นั้น “พระแก้วมรกต” น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช คือเป็นแก้วมณีโชติ หาก “ราชา” พระองค์ใดเป็นใหญ่ขึ้นมาก็จะอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” ไปประดิษฐานในเมืองของตน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเมืองนั้นเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และ “ราชา” ที่ครองเมืองนั้นทรงเป็น “จักรพรรดิราชา”

“ตำนานพระแก้วมรกต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชินกาลมาลีปกรณ์นั้น แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งเชียงใหม่ โดยแต่งขึ้นในระหว่างปี 2060-2071 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลพญาแก้วต่อเนื่องกับรัชกาลพญาเกศเชษฐราช (พ.ศ. 2068-2081) และเป็นเวลาหลังจาก “พระแก้วมรกต” ถูกสร้างขึ้นกว่าหนึ่งศตวรรษ ช่วงเวลานี้เชียงใหม่ได้เสื่อมอำนาจลงไปมากแล้ว การทำนุบำรุงพุทธศาสนาครั้งใหญ่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2057 เป็นครั้งสุดท้าย นั่นคือการหล่อพระเจ้าเก้าตื้อ[2]

๑ พระเจ้าเก้าตื้อ, ๒ หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดยศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร

ในด้านการทำสงครามนั้น พญาแก้วพยายามขยายอำนาจลงไปทางใต้เช่นเดียวกับพระเจ้าติโลกราช เริ่มจาก พ.ศ. 2050 พญาแก้วทรงส่งกองทัพไปตีสุโขทัย แม้ว่าจะตีไม่สำเร็จแต่พระองค์ก็มิได้ทรงละความพยายาม จึงทรงส่งกองทัพไปทำสงครามอีกหลายครั้ง บางครั้งก็ยึดได้กำแพงเพชรและเชลียง แต่ก็ไม่สามารถจะรักษาอิทธิพลเอาไว้ได้ การณ์กลับปรากฏว่าใน พ.ศ. 2058 (ในปลายรัชกาลพญาแก้ว) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงยกทัพมาตีลำปางแตก กวาดต้อนผู้คนจำนวนมากกลับไปยังอาณาจักรอยุธยา สองปีสุดท้ายในรัชกาลพญาแก้ว เชียงใหม่ต้องประสบความสูญเสียครั้งใหญ่ คือในปี พ.ศ. 2066 พญาแก้วส่งกองทัพที่มีคนถึงสองหมื่นคนไปรบเชียงตุง แต่พ่ายแพ้ยับเยิน เสียทั้งขุนนางและไพร่ และในปีต่อมา คือ พ.ศ. 2067 ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีคนตายมากมาย[3]

ควรกล่าวด้วยว่าการสูญเสียขุนนางและไพร่ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจเสื่อมโทรมด้วย การสูญเสียขุนนางหมายถึงการสูญเสียความมั่งคั่งจากการค้า เพราะขุนนางเป็นผู้ประกอบการค้ารายใหญ่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่าในการทำสงครามกับอยุธยาและสงครามตีเชียงตุง เชียงใหม่สูญเสียขุนนางชั้นสูงจำนวนมาก เฉพาะคราวที่รบกับกองทัพอยุธยาที่ลำปาง เชียงใหม่ก็สูญเสียขุนนางไม่น้อยกว่าสิบคน[4] ส่วนการสูญเสียไพร่ หมายถึงการลดลงของผลผลิตในตลาด (เพราะมีการลดลงของส่วยและภาษีอากรต่างๆ ซึ่งเจ้าและขุนนางนำมาขายในตลาดต่างๆ)

ความเสื่อมของเชียงใหม่และล้านนานับแต่รัชกาลพญาแก้ว เห็นได้ชัดจากการที่กฎหมายโบราณซึ่งพบที่วัดป่าลาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าในรัชกาลพญาแก้วเป็นต้นมา ค่าของเงินตรา (เบี้ย) ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ หรือเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้น[5] เข้าใจว่าสาเหตุที่ค่าของเงินตราลดลงเป็นเพราะสินค้าในตลาดมีน้อยลงจนทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่วนในด้านการเมืองก็มีการแย่งชิงอำนาจบ่อยครั้ง มีการปลงพระชนม์กษัตริย์โดยขุนนาง หรือการปลดกษัตริย์ออกจากตำแหน่ง หรือการสละราชสมบัติ[6] และใน พ.ศ. 2101 ภายหลังการแต่งชินกาลมาลีปกรณ์ เพียง 30 ปีเท่านั้น เชียงใหม่ก็อ่อนแอจนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

อนึ่งแม้ว่าพญาแก้วจะทรงเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งของล้านนาที่ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก แต่วัดสำคัญในเชียงใหม่ก็สร้างมาตั้งแต่ต้นรัชกาล เมื่อถึงปลายรัชกาล คือช่วงที่พระรัตนปัญญาเถระแต่งชินกาลมาลีปกรณ์นี้ เชียงใหม่คงเสื่อมโทรมลงจนคนทำบุญให้ทานน้อยลง และเป็นไปได้อย่างมากว่า ปัญหาต่างๆ อันเป็นผลกระทบจากการทำสงครามขยายอำนาจของพญาแก้ว รวมทั้งการที่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยายกทัพมาโจมตีตอบแทน จนพญาแก้วต้องทรงทุ่มเททรัพยากรไปในการป้องกันราชอาณาจักร เช่น การก่อสร้างกำแพงเมือง ทั้งเมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ด้วยอิฐ ทำให้พระรัตนปัญญาเถระไม่ต้องการให้กษัตริย์เชียงใหม่ทำสงครามขยายอำนาจอีกต่อไป

ดังนั้นพระรัตนปัญญาเถระจึงต้องเล่าตำนาน “พระแก้วมรกต” ที่พยายามปฏิเสธว่า “พระแก้วมรกต” ไม่ใช่แก้วมณีโชติ และเขียนประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาที่เน้นคติปัญจอันตรธาน เพื่อเร่งให้คนทำบุญให้ทานสร้างกองการกุศล บำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อจะได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ ดังปรากฏรายละเอียดในชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งหากความคิดทางพุทธศาสนาดังกล่าวนี้เป็นที่รับรู้และเชื่อถืออย่างกว้างขวางแล้ว ก็จะช่วยทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม เพราะเมื่อคนทำตามหลักธรรมะของพระพุทธศาสนา ก็ย่อมมีผลในการจัดระเบียบและควบคุมสังคมได้ดียิ่งกว่าการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งในเวลานั้นรัฐล้านนากำลังเสื่อมอำนาจลงจนน่าจะขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากการละเมิดประเพณีหรือระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม

กล่าวได้ว่าสงครามและภัยธรรมชาติ ทำให้พระรัตนปัญญาเถระกับคนทั้งหลายในล้านนาต้องการให้การแย่งชิงอำนาจและการขยายอำนาจสิ้นสุดลง แล้วหันมาเร่งทำบุญให้ทานเพื่อสะสมบุญ ก่อนที่พระพุทธศาสนาของพระสมณโคดมจะอันตรธานไป พระรัตนปัญญาเถระจึงพยายามสร้างคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับ “พระแก้วมรกต” ว่าแท้ที่จริงแล้วพระพุทธรูปนี้เป็น “แก้วอมรกต” มิใช่แก้วมณีโชติ เพื่อจะลบความเชื่อเดิมที่ว่า “พระแก้วมรกต” เป็นแก้วมณีโชติของพระจักรพรรดิราชลงเสีย

นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อมีการแต่ง “ตำนานพระแก้วมรกต” ขึ้นมาใน พ.ศ. 2060-2071 นั้น หากเน้นประวัติ “พระแก้วมรกต” ว่าทำมาจากแก้วมณีโชติ ก็จะไม่สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ล้านนากำลังเสื่อมอำนาจลง และจะส่งผลให้ชาวล้านนาทั้งปวงสูญเสียความศรัทธาใน “พระแก้วมรกต” ด้วย จำเป็นต้องเล่าว่า “พระแก้วมรกต” ทำมาจากแก้วอมรกตซึ่งพระอินทร์ได้มาจากบริเวณใกล้เคียงกำแพงแห่งแก้วมณีโชตินั้น

 

ยุคที่ “พระแก้วมรกต” ได้รับการประดิษฐานในล้านช้าง

ในระหว่างที่เชียงใหม่อ่อนแอลง อาณาจักรหลวงพระบางรุ่งเรืองอย่างยิ่ง กษัตริย์หลวงพระบางคือพระโพธิสารราชเจ้า (พ.ศ. 2063-2091) ซึ่งพระนามเต็มคือ “สมเด็จพระโพธิสารราชมหาธรรมิกทศลักขกุญชรมหาราชาธิปติจักรพรรดิภูมินทร์นรินทรราชเจ้า” สะท้อนคติที่ว่าพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์และทรงเป็นพระจักรพรรดิราช หนังสือประวัติศาสตร์ลาว ของมหาสิลา วีระวงส์ ระบุว่า สมเด็จพระโพธิสารราชนี้เองที่ทรงเป็นผู้อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” ออกจากเชียงใหม่ไปยังเชียงคำ (หลวงพระบาง) มิใช่พระไชยเชษฐาธิราชดังที่นักประวัติศาสตร์ของไทยเชื่อกัน (รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ว่า “เมื่อพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วออกไปจากเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็น…พระพุทธศาสนกาล 2095″[7]) ซึ่งปี พ.ศ. 2095 นี้อยู่ในรัชกาลพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรหลวงพระบาง

อย่างไรก็ตามปี พ.ศ. 2095 อาจเป็นปีที่ “พระแก้วมรกต” มาประดิษฐานในเชียงทองก็เป็นได้ กล่าวคือ สมเด็จพระโพธิสารราชสวรรคต พ.ศ. 2093 แต่พระไชยเชษฐาธิราชมิได้เสด็จขึ้นครองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ในทันที เนื่องจากเวลานั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เชียงใหม่ กลุ่มการเมืองอื่นที่อยู่ใกล้พระโพธิสารราชเจ้าอาจได้ครอบครอง “พระแก้วมรกต” ก่อน กว่าพระไชยเชษฐาธิราชจะทรงยึดอำนาจได้และได้ครอบครอง “พระแก้วมรกต” ก็อาจจะเป็นปี พ.ศ. 2095 ก็ได้

ในที่นี้ใคร่ขอวินิจฉัยว่า ผู้อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” ออกจากเชียงใหม่ น่าจะเป็นสมเด็จพระโพธิสารราช ตามที่มหาสิลา วีระวงส์ ซึ่งใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของลาวได้เขียนไว้ เพราะในเวลาที่เสด็จออกจากล้านช้างมาครองเชียงใหม่นั้น พระไชยเชษฐาธิราชทรงมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา และทรงครองเชียงใหม่ในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของสมเด็จพระโพธิสารราชแห่งอาณาจักรหลวงพระบาง อำนาจของพระไชยเชษฐาธิราชในเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ได้ในช่วงสองปีที่ครองราชสมบัติ ก็ด้วยเหตุที่มีพระราชอำนาจของสมเด็จพระโพธิสารราชพระราชบิดาค้ำจุนอยู่นั่นเอง เพราะพระราชบิดาได้เสด็จมายังล้านนาพร้อมด้วยกองทัพที่แห่พระไชยเชษฐาธิราชมาครองเมือง และก่อนจะเสด็จเข้าไปทำพิธีราชาภิเษกพระราชโอรส ณ เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระโพธิสารราชก็ได้เสด็จไปเมืองต่างๆ ในล้านนาหลายเมือง เพื่อแสดงบุญบารมีของพระองค์ในฐานะจักรพรรดิราชให้ปรากฏในเมืองเหล่านั้น

หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระโพธิสารราชเสด็จมาล้านนาในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เมืองสำคัญทั้งหลายในล้านนายอมอ่อนน้อมต่อพระองค์แต่โดยดี และพระองค์ก็ได้ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่การเป็นพระจักรพรรดิราชตามคติพุทธศาสนา ดังนั้นจึงน่าจะทรงมีพระราชอำนาจมากพอที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญไปจากล้านนา ดังความในหนังสือประวัติศาสตร์ลาว กล่าวว่า

พร้อมกับการแห่แหนพระราชโอรสไปคราวนี้ พระองค์ได้มีพระราชอาชญาแต่งตั้งให้พระยาเวียงกับแสนนครเป็นแม่ทัพ…ยกขึ้นไปตีเอาเวียงพระบึงด้วย…สมเด็จพระโพธิสารราชเจ้าก็ยกรี้พลโยธาหาญออกจากพระนคร แห่พระราชโอรสไปถึงนครเชียงแสน…ขณะที่ประทับอยู่นครเชียงแสน พระองค์ได้บำเพ็ญพระราชกุศล ทำพิธีบวชกุลบุตรในอุทกุกเขปสีมาน้ำโขงเป็นปฐมฤกษ์ก่อน…เสด็จประทับอยู่นครเชียงราย 9 วัน จึงยกขบวนเสด็จไป…ถึงปะรำชัยของหมื่นขอม กำนันหนองแก้วที่นครเชียงใหม่ได้มาปลูกไว้รับเสด็จ…พวกเสนาอำมาตย์นครเชียงใหม่…ได้จัดเครื่องราชูปโภคออกมาถวายอยู่ปะรำชัย…

ครั้น (พระราชพิธีราชาภิเษก) เสร็จบริบูรณ์แล้ว พระโพธิสารธรรมิกราชพระราชบิดาก็ทรงบริจาคพระราชทรัพย์อันนำมาแต่นครเชียงทองกับที่เสนาอำมาตย์นครเชียงใหม่นำมาถวาย ออกให้ทานแก่พระสังฆเจ้าและยาจกวณิพกคนอนาถาเป็นอันมาก

ในขณะที่พระโพธิสารราชเจ้าประทับอยู่นครเชียงใหม่นี้ สมเด็จพระเจ้าบุเรงนอง…ได้ส่งทูตมาขอผูกพระราชไมตรี…ชักชวนพระโพธิสารราชเจ้าไปตีเอากรุงศรีอยุธยา…

สมเด็จพระโพธิสารราชเจ้าประทับอยู่เมืองเชียงใหม่พอสมควรแล้ว ก็เสด็จคืนมานครเชียงทอง และพระองค์ได้เชิญเอาพระแก้วมรกตกับพระแซกคำที่สถิตอยู่ในวิหารวัดปุพพารามมาด้วย[8]

เหตุที่สมเด็จพระโพธิสารราชสามารถเสด็จมาล้านนาในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เมืองสำคัญๆ ในล้านนายอมอ่อนน้อมแต่โดยดี และพระองค์สามารถเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในเมืองเหล่านั้นเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพในฐานะจักรพรรดิราชได้อย่างราบรื่น ก็เพราะว่าก่อนจะทรงขยายพระราชอำนาจมาสู่ล้านนานั้น สมเด็จพระโพธิสารราชได้ทรงประสบความสำเร็จในการขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือและทางตะวันตกมาก่อนแล้ว ในรัชกาลของพระองค์มีเมืองขึ้นที่ถวายบรรณาการแก่พระองค์อย่างกว้างขวาง เช่น เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองแสนหวี และมีเจ้าทางไดเวียด นำคน 3,000 คนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย

หนังสือประวัติศาสตร์ลาว ของมหาสิลา วีระวงส์ ระบุด้วยว่า กษัตริย์จามแห่งเมืองจำปาศักดิ์และกษัตริย์เขมรแห่งพระนครธมก็ถวายบรรณาการแก่สมเด็จพระโพธิสารราชเช่นกัน[9] นอกจากนี้ภายหลังจากเจ้านายแห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง คือพระไชยราชา ทรงหนีภัยการเมืองมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร กองทัพอยุธยาได้ยกมาตีถึงเมืองชายแดนล้านช้างแต่ถูกกองทัพล้านช้างตีแตกกลับไป ฝ่ายอยุธยาต้องสูญเสียไพร่พลและช้างม้าเป็นอันมาก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2077 สมเด็จพระโพธิสารราชก็ยกทัพใหญ่มาหมายจะตีอยุธยา เข้าใจว่ายกมาช่วยพระไชยราชาชิงราชสมบัติ (หรืออาจจะถือโอกาสเข้ายึดครองกรุงศรีอยุธยามาเป็นเมืองขึ้น) ซึ่งปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2077 นี้ พระอาทิตยราชได้เสด็จสวรรคตและพระไชยราชาธิราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนเรียบร้อยแล้ว กองทัพของสมเด็จพระโพธิสารราชจึงยกกลับโดยมิได้ทำสงครามแต่อย่างใด

ก่อนเสด็จล้านนา สมเด็จพระโพธิสารราชน่าจะทรงมีอิทธิพลมาถึงบริเวณเมืองพิษณุโลกและนครพนมด้วย เมืองพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการค้าทางบกสำคัญที่เชื่อมโยงอาณาจักรหลวงพระบาง กับเมืองท่าทางทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้มีพระราชประสงค์จะครอบครองเมืองสำคัญแห่งนี้ เมื่อสมเด็จพระโพธิสารราชทรงผนวชนั้นสมเด็จพระสังฆราชมหาศรีจันโทซึ่งเป็นชาวพิษณุโลกเป็นพระอุปัชฌาย์ และใน พ.ศ. 2078 พระองค์ก็ได้เสด็จยกทัพไปตีพิษณุโลก สี่ปีต่อมาภายหลังการยกทัพไปตีพิษณุโลก พระองค์ก็ทรงประกาศพระบารมีในแถบนครพนมโดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นหลังหนึ่งในบริเวณพระธาตุพนมและทรงกัลปนาข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมถึง 3,000 คน[10]

ในการเสด็จล้านนาเพื่อราชาภิเษกพระไชยเชษฐาธิราชโอรสขึ้นครองเชียงใหม่ ปรากฏว่าสมเด็จพระโพธิสารราชได้รับผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก เพราะเท่าที่ปรากฏหลักฐานนั้นกองทัพของพระองค์ได้ช้างป่าถึง 2,000 เชือก และได้กวาดต้อนกำลังคนจากเวียงพระบึงกลับมาถึง 40,000 คนกับช้างอีก 1,000 เชือก[11]

เมื่อสมเด็จพระโพธิสารราชเสด็จสวรรคต พระไชยเชษฐาธิราชก็ต้องรีบเสด็จออกมาจากเมืองเชียงใหม่ มิฉะนั้นก็อาจถูกขุนนางบางกลุ่มวางแผนกำจัดพระองค์เช่นเดียวกับที่พญาเกศเชษฐราชพระอัยกาของพระองค์ได้เคยถูกกำจัดมาแล้ว พระไชยเชษฐาธิราชได้รับการสนับสนุนจากขุนนางล้านช้างกลุ่มหนึ่ง มีพระยาศรีสัทธรรมไตรโลกเป็นผู้นำ ช่วยกำจัดกลุ่มอำนาจของพระล้านช้าง จึงสามารถเสด็จกลับไปยังเชียงทอง (หลวงพระบาง) ได้ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ เชียงทองแล้ว ต้องทรงแต่งตั้งพระยาศรีสัทธรรมไตรโลกให้เป็นผู้ปกครองเมืองเวียงจันซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในเวลาต่อมาเมื่อพระไชยเชษฐาธิราชเสด็จยกทัพกลับมาตีเชียงใหม่เพื่อยึดล้านนาคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง พระองค์ทรงเกณฑ์ทัพพระยาศรีสัทธรรมไตรโลกจากเวียงจันมาช่วย แม้ว่ากองทัพล้านช้างจะไม่สามารถยึดเชียงใหม่จากพม่าได้ แต่พระไชยเชษฐาธิราชกับกลุ่มขุนนางที่เป็นพันธมิตรได้ถือโอกาสนั้นกำจัดพระยาศรีสัทธรรมไตรโลกเสีย แล้วใน พ.ศ. 2103 ก็ทรงย้ายราชธานีไปยังเวียงจันพร้อมกับอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” มาประดิษฐาน ณ ราชธานีใหม่ของอาณาจักรล้านช้าง

หอพระแก้ว หลวงพระบาง สร้างสมัยพระไชยเชษฐาธิราช ภาพนี้เป็นภาพปัจจุบัน หลังการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๔๗๙

พระแก้วมรกตได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองเวียงจันในเวลาที่เวียงจันมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการขยายตัวของการค้าระหว่างเวียงจันกับอยุธยา กัมพูชา และภาคกลางของเวียดนาม[12]

จะเห็นได้ว่าอิทธิพลทางการเมืองที่สมเด็จพระโพธิสารราชทรงมีอยู่อย่างกว้างขวาง ทำให้พระองค์ทรงต้องการอุดมการณ์จักรพรรดิราช เพื่อเป็นพื้นฐานทางอุดมการณ์ในการปกครองราชอาณาจักรและการทำสงครามขยายพระราชอำนาจ ดังนั้นจึงต้องทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างมาก และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยยืนยันการเป็นจักรพรรดิราชของพระองค์ได้เป็นอย่างดี ก็คือการอัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งคนส่วนใหญ่น่าจะยังคงเชื่อว่าเป็น “แก้วมณีโชติ” ไปสู่อาณาจักรล้านช้างของพระองค์นั่นเอง[13]

หากพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองของล้านนาในช่วงก่อนที่สมเด็จพระโพธิสารราชจะเสด็จมาราชาภิเษกพระราชโอรส จะเห็นภาพค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่นานหลังจากพญาแก้วสวรรคตในปี พ.ศ. 2067 ล้านนาอาจขึ้นต่อกษัตริย์แห่งล้านช้าง พญาเกศต้องถวายราชธิดาให้สมเด็จพระโพธิสารราช (พระราชธิดาพระองค์นี้ต่อมาทรงมีพระโอรสคือพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเมื่อมีพระชนมายุได้ 14 พรรษาแล้วนั้นได้ครองเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. 2089-2090 และครองล้านช้าง ระหว่าง พ.ศ. 2091-2114) พญาเกศซึ่งเป็นพระอัยกาของพระไชยเชษฐาธิราชนี้หาได้ทรงมีอำนาจไม่ ทรงครองราชย์ได้ไม่นานก็ถูกขุนนางถอด

เมื่อขุนนางสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์อีกครั้งหนึ่งก็ทรงครองราชย์อยู่ได้เพียงสองปีก็ถูกขุนนางจับปลงพระชนม์ ก่อนที่พระไชยเชษฐาธิราชเสด็จมาครองเชียงใหม่นั้น ล้านนาอ่อนแอมากจนไม่สามารถต้านทานการรุกรานของอยุธยาได้ ในสมัยพระมหาเทวีจิรประภา คือใน พ.ศ. 2088 เชียงใหม่ได้ถูกกองทัพพระไชยราชาธิราชจากกรุงศรีอยุธยายกมาโจมตี พระมหาเทวีจิรประภา ต้อง “แต่งเจ้าขุนเอาบรรณาการไปถวาย”[14]

ในการรบครั้งต่อมาซึ่งเกิดขึ้นในปีเดียวกันนั้นปรากฏว่ากองทัพพระไชยราชาธิราชถึงกับเผาเมืองเชียงใหม่บางส่วน หลังจากนั้นหัวเมืองไทยใหญ่บรรดาเมืองเล็กเมืองน้อยทั้งปวงที่เคยขึ้นกับล้านนาก็เข้าปล้นเมืองเชียงใหม่ และยังมีกองทัพเงี้ยวเมืองนายกับเมืองยองห้วยพยายามถมคูเมืองเพื่อเข้ายึดเชียงใหม่ด้วย แม้ว่ากองทัพเงี้ยวเมืองนายกับเมืองยองห้วยจะเข้าเมืองไม่ได้ แต่ก็ได้เผาทัพเชียงใหม่ที่เวียงสวนดอกแล้วจึงยกทัพกลับไป[15]

๑ หนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง โดยโยชิยูกิ มาซูฮารา, พิมพ์ในชุดศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ, พ.ศ. ๒๕๔๖, ๒ ภาพลายเส้นหอพระแก้ว โดยเดอลาปอร์ท เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙

ความสนใจของสมเด็จพระโพธิสารราชที่มีต่อการขยายอำนาจในล้านนาคงมาจากปัจจัยสำคัญสามประการ

1. ความต้องการที่จะใช้ล้านนาเป็นแดนป้องกันทัพพม่า มิให้ยกมาถึงล้านช้างโดยง่าย เวลานั้นพม่ากำลังขยายอำนาจมาสู่ล้านนาและอยุธยา

2. ความต้องการกำลังคนและช้าง ดังปรากฏว่าระหว่างทางเสด็จกลับล้านช้างทรงได้ช้างป่าถึง 3,000 เชือก และกวาดต้อนคนจากเมืองรายทางได้ถึง 40,000 คน (แต่เสด็จสวรรคตเพราะถูกช้างล้มทับ)

3. ความต้องการที่จะครอบครองศูนย์ความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา รวมทั้งพระแก้วมรกต และเพื่อแสดงบุญญาบารมีในเมืองต่างๆ ในฐานะพระจักรพรรดิราช

ก่อนที่สมเด็จพระโพธิสารราชได้เสด็จมายังล้านนาเพื่อทรงแสดงแสนยานุภาพให้พระราชโอรสได้ครองเมืองเชียงใหม่อย่างราบรื่นนั้น พระองค์ได้ทรงรับพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ของล้านนามาเผยแพร่ในล้านช้างได้ระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ทรงทราบถึงความหมายและความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” เป็นอย่างดี กล่าวคือ สมเด็จพระโพธิสารราชทรงแต่งราชทูตขอพระไตรปิฎกและพระสังฆเจ้าจากเชียงใหม่ในรัชกาลพญาแก้ว ทำให้พระพุทธศาสนาในล้านช้างรุ่งเรือง หลังจากนั้นได้ทรงห้ามประชาชนนับถือผีฟ้าและผีแถน

มีพระราชอาชญาประกาศให้บ่าวไพร่พลเมืองเลิกนับถือผีฟ้าผีแถน อันเคยมีมาแต่โบราณกาลนั้นเสียหมด บรรดาหอโรง กว้านศาล อันเป็นสถานที่ขึ้นฟ้าขึ้นแถนของพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนนั้น พระองค์ก็ได้รื้อถอนทิ้ง แล้วทรงสร้างพระอารามขึ้นแทน[16]

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนเคารพพระองค์ในฐานะ “สมเด็จพระโพธิสารราชมหาธรรมิกทศลักขกุญชรมหาราชาธิปติจักรพรรดิภูมินทร์นรินทรราชเจ้า” และยอมรับกฎหมายที่ทรงตราขึ้น (คือกฎหมายโคสาราษฎร์) นั่นเอง กฎหมายโคสาราษฎร์นี้ถูกนำมาใช้ในล้านนาสมัยที่พระไชยเชษฐาธิราชเสด็จมาครองเชียงใหม่ด้วย หลักธรรมะของพระพุทธศาสนามีความสำคัญมากต่อกฎหมายโบราณของล้านช้าง เนื่องจากมาตราต่างๆ ของกฎหมายได้ถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ตามหลักศีลห้าของพระพุทธศาสนา เช่นการฆ่าตีกัน จัดเป็นหมวดปาณาติบาต การลักขโมย ฉ้อโกง ปล้นสะดม ซื้อขาย จัดเข้าในหมวดอทินนาทาน กฎหมายลักษณะผัวเมียและข้าทาสจัดเข้าในหมวดกาเมสุมิจฉาจาร เป็นต้น[17]

เมื่อสมเด็จพระโพธิสารราชสวรรคตแล้ว พระไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จกลับมาแย่งราชสมบัติในล้านช้าง ทั้งนี้ก็เพราะในเวลานั้นการค้าทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวมาก โดยมีอาณาจักรอยุธยาและกัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าดังกล่าว และเวียงจันตั้งอยู่ในตำแหน่งที่จะทำการค้ากับอยุธยาและกับเมืองท่าในกัมพูชาตลอดจนเวียดนามได้สะดวก สามารถสร้างระบบส่วยและระบบหมุนเวียนสินค้าภายในอาณาจักรที่ทำให้มีสินค้าส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศผ่านทางกรุงศรีอยุธยาและพนมเปญ ได้แก่สินค้าประเภทแร่ธาตุ เช่น ทอง เงิน เหล็ก ตะกั่ว ดีบุก และสินค้าประเภทของป่า เช่น กำยาน ครั่ง นอแรด งาช้าง หนังกวาง ชะมดเชียง[18] เมื่อประกอบกับความต้องการที่จะถอยออกห่างจากการรุกรานของพม่าให้มากที่สุด สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชก็ได้ย้ายราชธานีไปยังเวียงจัน ใน พ.ศ. 2103

พระองค์ได้เชิญเอาพระแก้วมรกตและพระแซกคำกับราชสมบัติทั้งมวล…ลงมาอยู่ ณ นครเวียงจันทน์…พระองค์ก็ได้สร้างมหาปราสาทราชวังขึ้นใหม่ พร้อมทั้งหอพระแก้ว พระแซกคำ อย่างวิจิตรพิสดารยิ่งนัก[19]

ดังนั้น “พระแก้วมรกต” จึงประทับอยู่ที่เชียงคำชั่วระยะเวลาอันสั้น แต่ประทับอยู่ ณ นครเวียงจันสืบมา แม้ว่าอาณาจักรล้านช้างจะถูกแบ่งแยกออกเป็นสามอาณาจักรคือเวียงจัน หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2241 อันเป็นผลมาจากการที่กลุ่มผู้ปกครองท้องถิ่นมีอำนาจสูงขึ้น เพราะสามารถทำการค้าอย่างเป็นอิสระจากเวียงจัน โดยที่ผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้จะส่งสินค้าที่กินระวางต่ำแต่มีมูลค่าสูงซึ่งรวบรวมได้ในท้องถิ่น ไปจำหน่ายยังศูนย์กลางการค้าต่างๆ ในภาคพื้นทวีปโดยตรง โดยไม่จำเป็นจะต้องส่งสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศโดยผ่านทางเวียงจันเพียงแห่งเดียว[20] ซึ่งทำให้กษัตริย์แห่งเวียงจันอ่อนแอลง และสามารถรักษาพระแก้วมรกตเอาไว้ได้อีกราวแปดสิบปี แต่ความหมายของ “พระแก้วมรกต” ในช่วงก่อนที่เวียงจันจะตกเป็นเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ก็เปลี่ยนจากการเป็นแก้วมณีโชติของพระจักรพรรดิราช มาเป็นพระพุทธรูปที่เป็นมิ่งขวัญของบ้านเมืองแทน[21]

ส่วนทางล้านนานั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2091-2094 หลังจากพระไชยเชษฐาเสด็จไปล้านช้างแล้ว เชียงใหม่ก็ว่างกษัตริย์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า “เกิดเป็นกลียุคมากนัก”[22] ไม่กี่ปีต่อมาล้านนาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า กล่าวได้ว่าความเสื่อมของล้านนาทำให้ต้องสูญเสีย “พระแก้วมรกต” และความรุ่งเรืองของล้านช้างก็ทำให้กษัตริย์แห่งล้านช้างได้ “พระแก้วมรกต” ไปครอบครองแทน ตราบจนกระทั่งเวียงจันเสื่อมอำนาจลงไปเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ภายในล้านช้าง เวียงจันจึงเสีย “พระแก้วมรกต” ให้แก่กรุงธนบุรี ซึ่งทำให้ความหมายของ “พระแก้วมรกต” เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหนึ่ง ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า


เชิงอรรถ

[1] เรื่อง “พระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้างถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ” นี้ ปรับปรุงจากบทความที่ผู้เขียนนำเสนอในงาน “มติชน แฮปปี้ บุ๊คเดย์” ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 กุมภาพันธ์ 2547.

[2] โปรดดู สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 149.

[3] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 147-149.

[4] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ปริวรรตโดยทน ตนมั่น กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2514. หน้า 170-71.

[5] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 208.

[6] โปรดดูรายละเอียดในสรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 204-209.

[7] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “ตำนานพระแก้วมรกต สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า 173 .

[8] สิลา วีระวงส์, ประวัติศาสตร์ลาว แปลโดยสมหมาย เปรมจิตต์. หน้า 81-83.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 78-79.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 78-80.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 78-83.

[12] โยซิยูกิ มาซูฮารา, ประวัติศาสตร์ลาว. หน้า 98.

[13] แม้ว่าจะมี “ตำนานพระแก้วมรกตฉบับหลวงพระบาง” ซึ่งยังคงเล่าว่าพระแก้วมรกตมิใช่แก้วมณีโชติ แต่ “ตำนานพระแก้วมรกต” ฉบับนี้น่าจะแต่งขึ้นภายหลังรัชกาลสมเด็จพระโพธิสารราช และน่าจะแต่งหลังจากที่ “พระแก้วมรกต” มิได้ประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบางแล้ว เพราะ “พระแก้วมรกต” ประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบางเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น เหตุที่เรียกว่าฉบับหลวงพระบาง น่าจะเป็นเพราะเจ้าผู้ครองหลวงพระบางซึ่งได้ช่วย “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ตีเวียงจันใน พ.ศ. 2321-2322 เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย

[14] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. หน้า 73.

[15] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 209.

[16] สิลา วีระวงส์, ประวัติศาสตร์ลาว. แปลโดยสมหมาย เปรมจิตต์. หน้า 78.

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 118.

[18] โยซิยูกิ มาซูฮารา, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง. หน้า 191-193.

[19] สิลา วีระวงส์, ประวัติศาสตร์ลาว. แปลโดยสมหมาย เปรมจิตต์. หน้า 92.

[20] โยซิยูกิ มาซูฮารา, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง. หน้า 168-170.

[21] “ตำนานพระแก้วมรกต (ฉบับหลวงพระบาง)” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า 118. “ตำนานพระแก้วมรกต” ฉบับนี้น่าจะมาจากเวียงจัน มิใช่หลวงพระบาง แต่เจ้าผู้ครองนครหลวงพระบาง

[22] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 206.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2560 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการ