โรบินสัน ครูโซ-คนติดเกาะในหนังสืออมตะ มีเค้าโครงเรื่องจากไหน?

ภาพลานเส้นเกาะที่โรบินสัน ครูโซติดเกาะในหนังสือของแดเนียล เดโฟ

เมื่อปี 2000 ภาพยนตร์เรื่อง “Cast Away” หรือ “คนหลุดโลก” จากฮอลลีวูดออกฉายไปทั่วโลก มีทอม แฮงส์ เป็นตัวเอกของเรื่องที่รับบทเป็นพนักงานบริษัทเฟดเอกซ์ ที่เครืองบินเกิดเจอพายุ ตกลงทะเล และจบลงด้วยการติดอยู่ที่เกาะร้างแห่งหนึ่งเพียงลำพังประมาณ 4 ปี

การดำรงชีวิตบนเกาะร้างที่ไม่มีผู้คน คือเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งมีค่า ของความจำเป็น และความรอบรู้แบบชีวิตคนเมือง หลายอย่างไม่มีความหมายเมื่อต้องติดเกาะ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้บนเกาะกลางมหาสมุทร ต้องเรียนรู้ ปรับตัว และใช้สิ่งต่างๆ บนเกาะจากธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัว

ใครดูก็อดคิดถึง “โรบินสัน ครูโซ” หนังสืออมตะที่ว่าด้วยคนติดเกาะไม่ได้

โรบินสัน ครูโซ เป็นหนังสือขายดีของแดเนียล เดโฟ (ค.ศ. 1660-1731) ความน่าสนใจของผลงานเล่มนี้ของเขา อยู่ที่การบรรยายภาพการเอาตัวรอดอย่างละเอียดชวนติดตาม เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Cast Away

แต่เดิมว่ากันว่า เดโฟเขียน โรบินสัน ครูโซ จากประสบการณ์ชีวิตของ อเล็กซานเดอร์ เซลเคิร์ก ผู้ที่เคยติดเกาะมาส อา เทียรา เกาะหนึ่งในหมู่เกาะฮวน เฟอร์นันเดซ ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งชิลีประมาณ 600 กิโลเมตร เป็นเวลา 4 ปี โดยการเผยแพร่ในระยะแรกเป็นการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อังกฤษ

หากริชาร์ด สตีล-นักเขียนบทความ วิเคราะห์ว่า โรบินสัน ครูโซ ไม่ได้มีเค้าโครงจากประสบการณ์หลายปีบนเกาะมาส อา เทียราของเซลเคิร์ก

สตีล กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตเรียบง่าย ประสบการณ์การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายของเซลเคิร์ก ขณะที่การผจญภัยของครูโซในการประจัญหน้าโจรสลัด ปะทะมนุษย์กินคน และการเผชิญอุปสรรคแนวปะการัง ทำให้เห็ความแตกต่าง เรือเซลเคิร์กไม่ได้อับปางเหมือนครูโซ แต่เขาขึ้นฝั่งหลังจากทะเลาะกับกัปตันเรือและถูกปล่อยเกาะ เขาไม่ดิ้นร้นแบบครูโซ ที่ปั้นหม้อ, เย็บเสื้อผ้า, ทำสบู่จากไขมันพืช, รักษาบาดแผลโดยปรุงยาพอกเอง ฯลฯ รายละเอียดเหล่านี้ของเรื่องบ่งชี้ว่าครูโซน่าจะเขียนขึ้นจากจิตนาการของผู้ที่เคยออกทะเลมาก่อน

ถ้าเช่นนั้นใครคือโรบินสัน ครูโซ ตัวจริง

มีการสันนิษฐานว่าเฮนรี พิทแมน ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ คือ ต้นเค้าของโรบบินสัน ครูโซ พิทแมนเป็นหนึ่งสมาชิกที่ก่อการที่แข็งข้อต่อกษัตริย์เจมส์ที่ 2 เพื่ออ้างสิทธิ์ในการครองบัลลังก์ เมื่อปี 1685 นำโดยดยุคแห่งมอนมัท แต่กระทำการไม่สำเร็จกลายเป็นกบฏแผ่นดินที่ถูกจับพิพากษาโทษให้ใช้แรงงานในหมู่เกาะเวสต์อินดีสนาน 10 ปี

หลังถูกควบคุมตัวอย่างทารุณประมาณปีเศษ พิทแมนและพวกอีก 7 คน หลบหนีขึ้นเรือไปอยู่ที่เกาะซัลตาดูโดส แห่งทะเลแคริบเบียน บนเกาะพวกเขาพบกลุ่มคนจากเรือรบเอกชนที่อับปางและไฟไหม้ ทำให้ต้องติดอยู่บนเกาะเพื่อเอาชีวิตรอด แม้ไม่มีช่วงเวลาใดที่พิทแมนอยู่คนเดียวบนเกาะ แต่ก็ได้ใช้ทักษะทางการแพทย์ทำให้มีโอกาสเดินทางไปกับเรือโจรสลัด ก่อนที่จะปลอมตัวกลับประเทศอังกฤษ ครอบครัวของพิมแมนได้ขอนิรโทษกรรมไว้แล้ว

ภายหลังพิทแมนได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเองชื่อ “A Relation of the Great Sufferings and Strange Adventures of Henry Pitman” ตีพิมพ์ในปี 1689 หรือ 30 ปีก่อนที่เดโฟจะพิมพ์ “The Life And Strange Surprising Adventures of Robinson Crusoe”

หนังสือทั้งสองเล่ม ชื่อคล้ายกัน เนื้อหาบางส่วนคล้ายกัน (เช่น เครื่องมือติดตัว, สัตว์ทะเลที่กลายเป็นอาหารมื้อใหญ่, การถูกคลื่นพายุซัดลงทะเล, ความคิดว่าอาจต้องพบกัยชนเผ่ามนุษย์กินคน ฯลฯ ) ทั้งผู้เขียนสองคนยังเป็นสมาชิกก่อกบฏมอนมัทเช่นกัน จนมีประเด็นโต้เถียงกันว่าทั้งสองรู้จักกันเป็นการส่วนตัวหรือไม่

จึงไม่ใช่เรื่องยากหากนักเขียนวรรณคดี 2 คน ที่มีประสบการณ์ทางทหารเหมือนกัน อาจจะโอกาสพบปะกัน จนไปถึงขั้นรู้จักกันดี จนมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน พิทแมนอาจให้ข้อมูลการแต่งนิยายแก่เดโฟก็ได้

การเชื่อมโยงอีกประเด็นคือ ในปี 1711 หนังสือของพิทแมนจัดพิมพ์ โดยเจ้าของบ้านเช่าชื่อจอห์น เทย์เลอร์ ต่อมาวิลเลียมส์ ลูกชายของเทย์เลอร์ย้ายธุรกิจครอบครัวและจัดพิมพ์จำหน่าย โรบินสัน ครูโซ ไปที่เพเทอร์นอสเตอร์ โรว์ เมืองที่เดโฟทำค้าขายอยู่ ก็เป็นไปได้ว่าวิลเลียมส์อาจเชิญชวน หรือเสนอให้เดโฟสนใจผลงานของพิทแมนว่า “ผมรู้จักหนังสือเล่มหนึ่งที่คุณอาจจะอยากอ่าน…”

เรื่องเค้าโครงนั้นยังไม่อาจสรุปได้ ถือว่า “โยนอิฐล่อหยก” ไปพลางก่อน แต่ที่มาของชื่อ “โรบินสัน ครูโซ” ที่เดโฟเลือกใช้นั้น เขาบอกว่ามีที่มาจากป้ายหินในสุสานแห่งหนึ่งที่เขาซ่อนตัว เมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏมอนมัทแตกพ่าย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วัชระ แวววุฒินันท์. “เครื่องเคียงข้างจอ” ใน, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8-14 ตุลาคม 2564

เรื่องจริงนอกบันทึกประวัติศาสตร์. บริษัท รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด, กรกฎาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2565