ผู้เขียน | กลับบางแสน |
---|---|
เผยแพร่ |
ลัทธิ อัตถประโยชน์นิยม ช่วยให้ยุโรปบางประเทศ รอดพ้นการปฏิวัติตามหลักมาร์กซิสต์ ได้อย่างไร?
เสรีนิยมมาจากไหน?
การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้เป็นพลังผลักดันให้ยุโรปในศตวรรษที่ 19
ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงได้ส่งผลกระทบให้สังคมสับสนอลม่าน จนไม่อาจหาทิศทางที่แน่นอนได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงในความอลม่านครั้งนี้ได้เกิดแนวโน้มสำคัญขึ้นมาในสังคม คือ การดิ้นรนไปสู่ความมีเสรี ฉะนั้น ทฤษฎีแห่งลัทธิเสรีนิยมจึงได้เกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายและให้คำจำกัดความเป็นไปเหล่านี้
ลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) บุคคลกลุ่มแรกที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเสรีนิยม คือ กลุ่มชาวสเปนที่ต่อต้านการยึดครองประเทศตนจากจักรพรรดินโปเลียน และคำนี้ก็ผ่านเข้าไปในประเทศฝรั่งเศส โดยหมายถึงพวกที่ต่อต้านเจ้าและการสถาปนาการปกครองโดยกษัตริย์ในราชวงศ์บูร์บองอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1814
แก่นพื้นฐานที่สำคัญของเสรีนิยม คือ ความเชื่อมั่นในเสรีภาพรวมทั้งการพยายามส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถของตน เลือกวิถีและแนวทางต่าง ๆ ที่สอดคล้องไปกับความถนัดที่ตนมีอยู่
หลักการเหล่านี้ไปปรากฏอยู่ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยนของการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยพวกเสรีนิยมเชื่อว่าความก้าวหน้าอันจะนำไปสู่ความสุขสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายจะได้มาก็โดยผ่านสถาบันอิสระ (Free institution) เท่านั้น ซึ่งความคิดเช่นนี้ล้วนแต่มีรากฐานมาจากความคิดของขบวนการเหตุผลนิยมแห่งศตวรรษที่ 18 อาทิ จอห์น ล็อก, รุสโซ, มองเตสกิเออร์, วอลแตร์ เป็นต้น
หลักการเสรีนิยมกับหลักการประชาธิปไตยอาจจะมีพื้นฐานที่คล้ายกัน คือ เกิดจากขบวนการเหตุผลนิยมของศตวรรษที่ 18 และต่อต้านความไม่เสมอภาคของระบบเก่า (ancient regime) แต่กระนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่คือประชาธิปไตยจะเน้นหนักในอธิปไตยที่มีพื้นฐานมาจากเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งมวล แต่พวกเสรีนิยมนั้นมีหลักการสำคัญอยู่แค่ให้อำนาจอธิปไตยอยู่บนรากฐานของระบบรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของประชาชนเท่านั้น
ในทางเศรษฐกิจพวกเสรีนิยม จะนิยมในระบบเศรษฐกิจแบบปล่อยตามสบาย (Laissez-faire) ซึ่งได้อิทธิพลความคิดมาจากงานเขียนของอาดัม สมิท ในเรื่อง The Wealth of Nations พวกเสรีนิยมไม่ไว้วางใจต่อความสามารถของรัฐบาลที่จะเข้ามาควบคุมธุรกิจของเอกชน
กล่าวโดยทั่วไปแล้วแนวคิดของพวกเสรีนิยมมีอิทธิพลน้อยในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 เพราะถูกต่อต้านจากพวกหัวเก่า (Conservative) ที่กุมอำนาจในประเทศต่าง ๆ ขณะนั้น อาทิ ออสเตรีย ภายใต้แมตเตอร์นิค, ฝรั่งเศส ภายใต้ราชวงศ์บูร์บอง เป็นต้น
ภายหลังปี ค.ศ. 1870 พวกเสรีนิยมได้มีบทบาทมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันอุดมการณ์สังคมนิยมก็ได้เข้ามามีอิทธิพลในความคิดของประชาชนทั่วไป โดยพวกนักสังคมนิยมจะวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเอารัดเอาเปรียบของเหล่าบรรดานักเสรีนิยมที่เป็นชนชั้นกลางในการประกอบการทางเศรษฐกิจอย่างมาก
การถูกวิพากษ์วิจารณ์ผนวกกับการแพร่หลายของแนวคิดทางสังคมนิยม ได้ทำให้นักคิดเสรีนิยมเริ่มปรับปรุงแนวคิด เพื่อที่จะให้ลัทธินี้เกิดประโยชน์แก่สังคมและคนส่วนใหญ่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของลัทธิเสรียมแบบอัตถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ผู้นำความคิดคนสำคัญคือ เจเรมี เบนธัม และ จอห์น สจ๊วด มิลล์
Jeremy Bentham (ค.ศ. 1748 – 1832)
เจเรมี เบนธัม เป็นผู้สร้างลัทธิอัตถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) โดยมีหลักการที่จะแสวงหาความสุขให้กับคนในสังคมให้มากสุดเท่าที่จะมากได้ (Greatest happiness for the greatest number) นั่นคือ การตอบสนองความต้องการให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคม รัฐบาลมีอยู่ก็เพื่อตอบสนองหลักการดังกล่าว
เจเรมี เบนธัม เสนอหลักการนี้เพราะว่าสังคมยุโรปขณะนั้นเป็นสังคมที่เน้นหลักทางด้านอุตสาหกรรมความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ทุกข์ยาก ชนเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากแรงงานส่วนใหญ่
ระบบทุนนิยมก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความแตกแยกในสังคม เจเรมี เบนธัม ได้มองเห็นสภาพดังกล่าวจึงได้เสนอแก้ไข เพื่อที่ประโยชน์ทั้งหลายจะได้ตกอยู่กับคนส่วนมากในสังคม
John Stuart Mill (ค.ศ. 1807-1873)
จอห์น สจ๊วด มิลล์ เป็นศิษย์ของเจเรมี เบนธัม ในลัทธิอัตถประโยชน์นิยม เขาได้เสนอหลักการที่สำคัญว่าความสุขสมบูรณ์ของสังคมเกิดจากเสรีภาพอันได้แก่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะเป็นทั้งคุณทั้งแก่ตัวบุคคลและแก่สังคมโดยส่วนรวม
จอห์น สจ๊วด มิลล์ เห็นว่าคุณค่าส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมเพื่อส่วนรวม หมายความว่ารากฐานของสังคมที่ช่วยค้ำประกันเสรีภาพอย่างเสมอหน้าได้ ก็คือ สังคมที่ยอมรับในคุณค่าของความหลากหลายทางความคิด ซึ่งเท่ากับการเน้นสิทธิของปัจเจกชนนั่นเอง
ในเรื่องเศรษฐกิจแบบ Laissez-faire จอห์น สจ๊วด มิลล์ เห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปควบคุม เพื่อป้องกันการใช้ทฤษฎีนี้ไปในทางที่ผิด ในระยะหลังเขาถือตนเองว่าเป็นนักสังคมนิยม เขาเป็นผู้หนึ่งที่ได้พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีในการเลือกตั้งด้วย
ลัทธิอัตถประโยชน์นิยมได้มีอิทธิพลและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น ขบวนการชาร์ติส (Chartist Movement) ที่เกิดขึ้นในอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1839 และ 1848-1849 ก็เกิดจากอิทธิพลผลักดันของลัทธิอัตถประโยชน์นิยมอันก่อให้เกิดการปฏิรูปการเลือกตั้งและรัฐสภา
มีการขยายการศึกษาและการปฏิรูปกฏหมายต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองความผาสุขของคนส่วนมาก แต่ปัญหาสังคมและความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ตามลักษณะสังคมที่เน้นให้หลักการของความแตกต่างทางความคิด
ลัทธิลัทธิอัตถประโยชน์นิยม ได้หันมาสนใจแรงงานและฐานะชนชั้นยากไร้ใน อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ทำให้ประเทศเหล่านี้ สามารถพ้นไปจากการเปลี่ยนแปลงสังคมนิยมโดยการปฏิวัติตามหลักการมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 20 ไปได้
อ่านเพิ่มเติม :
- แรงงาน และสหภาพแรงงาน หลังปฏิวัติอุตสาหกรรม
- แรกเริ่มเมื่อ “ลัทธิมาร์กซ-สังคมนิยม” แพร่เข้าสู่สยาม เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
อ้างอิง :
มัทนา เกษกมล .(2553). ยุโรปคริสตศตวรรษที่ 19-20. ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ บางแสน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565