แรกเริ่มเมื่อ “ลัทธิมาร์กซ-สังคมนิยม” แพร่เข้าสู่สยาม เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

(ซ้าย) หน้าปกหนังสือ Communist Manifesto (ขวา) คาร์ล มากซ์

แนวคิด สังคมนิยม เป็นแนวคิดใหม่ที่พัฒนาในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โดยหลักการสำคัญของแนวคิดสังคมนิยมส่วนใหญ่ก็คือ การวิพากษ์สังคมเก่าที่มีช่องว่างทางชนชั้น และต้องการแก้ไขโดยการสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคในหมู่มวลมนุษย์

แนวคิด ลัทธิมาร์กซ เป็นแนวคิดสังคมนิยมชุดหนึ่ง ที่มุ่งวิพากษ์สังคมเก่า วิพากษ์ชนชั้นปกครอง และนำเสนอการสร้างสังคมใหม่ อันเป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์เช่นเดียวกัน เพียงแต่ลัทธิมาร์กซได้นำเสนออย่างหนักแน่นว่า สังคมอุดมการณ์นั้นสร้างได้ด้วยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ โดยผ่านการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองที่ปฏิวัติ หรือจัดตั้งพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาดำเนินการ

ปรากฏว่าแนวคิดลัทธิมาร์กซได้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมาก หลังจากเกิดการปฏิวัติใหญ่ของพรรคบอลเชวิกในรุสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า การปฏิวัติโค่นสังคมเก่า แล้วสร้างสังคมใหม่ ตามอุดมการณ์ของลัทธิมาร์กซ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ในระยะนี้เอง ที่แนวคิดลัทธิมาร์กซเริ่มเผยแพร่มาสู่เอเชีย ซึ่งโดยมากจะมาจากการที่ปัญญาชนลัทธิมาร์กซชาวยุโรป เดินทางมาเผยแพร่แนวคิดในเอเชีย หรือนักเรียนชาวเอเชียที่ไปศึกษาในยุโรป แล้วรับเอาแนวความคิดลัทธิมาร์กซหรือแนวคิดสังคมนิยมอื่น ๆ กลับมา จากนั้นแนวคิดลัทธิมาร์กซก็จะกลายเป็นที่สนใจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนพื้นเมืองที่ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกัน และการกดขี่ในสังคมของตน จึงนำมาซึ่งการก่อตั้งพรรคการเมืองแบบลัทธิมาร์กซ

เช่น การที่เฮนดริคัส สนีฟเลียต (Hendricus Sneevliet) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จากฮอลแลนด์ ตั้งสมาคมสังคมประชาธิปไตยอินดิส (พรรคคอมมิวนิสต์) ขึ้นในชวา เมื่อปี พ.ศ. 2457 การที่ มานเพนทรนาถ รอย ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย ในปี พ.ศ. 2463 และเฉินตู๋ซิ่วและหลี่ต้าเจา ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2464 เป็นต้น

ในกรณีของการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมในสังคมสยาม ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ผลสะเทือนจากการปฏิวัติใหญ่ของบอลเชวิกรุสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ทำให้ปัญญาชนนักเรียนนอกของสยามจำนวนหนึ่ง ที่ได้ไปศึกษาหรือทำงานในยุโรป ก็เริ่มรับเอาแนวคิดเศรษฐกิจสังคมนิยม

ตัวอย่างของนักคิดกลุ่มนี้ ที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งก็คือ พ.ท. พระสารสาสน์พลขัณฑ์ (ลอง สุนทานนท์) ซึ่งใช้นามปากกาว่า “๕๕๕” นอกจากนี้คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งเคยศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และต่อมาหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมนำเอาหลักการของสังคมนิยมมาร่างเป็นเค้าโครงเศรษฐกิจของคณะราษฎร อันก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมากกับรัชกาลที่ 7 และกลุ่มอนุรักษนิยม

สำหรับหลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล. เดช สนิทวงศ์) ก็เป็นผู้สนใจลัทธิสังคมนิยม และได้แปลบทความชื่อ “โซชลิสต์คืออะไร” ต่อมาได้พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา เริ่มตั้งแต่ฉบับวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเก่า) [1] โดย นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้ก่อการคณะราษฎร เป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ และใช้นามปากกาว่า “ลิ้ม ส.ส.” แต่แนวคิดลัทธิสังคมนิยมของกลุ่มปัญญาชนชั้นนำเหล่านี้ ไม่ได้ก่อผลอย่างไรต่อการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศสยาม

อีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มสนใจลัทธิสังคมนิยมก็คือ กลุ่มสมาคมกรรมกร ซึ่งตั้งขึ้นด้วยผลสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของกรรมกรรถรางในกรุงเทพฯ ได้มีปัญญาชนสำคัญลงไปร่วมเคลื่อนไหวกับชนชั้นกรรมกร ผู้นำสำคัญของกลุ่มนี้คือ ถวัติ ฤทธิเดช ร.ต.ต. วาส สุนทรจามร และสุ่น กิจจำนงค์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” ซึ่งออกฉบับแรกวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2465 (ปฏิทินเก่า) โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ผดุงอิศรภาพและสิทธิของพวกกรรมกร หรือปลุกให้พวกกรรมกรตื่นขึ้นจากหลับ” [2]

สำหรับ ร.ต.ต. วาส สุนทรจามร นั้นเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องการปฏิวัติในประเทศรุสเซียอย่างมาก และได้พยายามเขียนให้ชาวสยามเข้าใจและเห็นคุณค่าของการปฏิวัติดังกล่าว กลุ่มของถวัติ ฤทธิเดช แม้ว่าจะไม่ใช่กลุ่มที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวกรรมกรในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการก่อร่างขององค์กรคอมมิวนิสต์ในสังคมสยาม

ปรากฏว่า การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศสยามนั้น เกิดจากการดำเนินงานของชาวจีนและชาวเวียดนามในประเทศสยาม โดยเฉพาะแนวคิดสังคมนิยมในกลุ่มชาวจีน เป็นผลสะเทือนมาจากการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2464 ปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2465 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตกลงร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋งของซุนยัตเซ็น ในการต่อสู้กับขุนศึกภาคเหนือในประเทศจีน

ภาพเขียนใน ค.ศ. 1911 สะท้อนการวิพากษ์ทุนนิยมของมาร์กซ์ โดยแสดงให้เห็นว่าชนชั้นปกครองมีจำนวนน้อยทว่ากดขี่ขูดรีดชนชั้นล่างลงมาซึ่งมีจำนวนมากกว่า

ดังนั้น แนวคิดลัทธิสังคมนิยมจึงเผยแพร่ในหมู่คนจีนในประเทศสยามควบคู่ไปกับลัทธิไตรราษฎรของซุนยัตเซ็น ในขณะนั้นผู้มีบทบาทสำคัญของก๊กมินตั๋งในกรุงเทพฯ คือ นายเซียวฝอเฉิง หรือเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง นายกสโมสรจีนกรุงเทพฯ (ตงหัวฮ่วยก๊วน) และเจ้าของหนังสือพิมพ์ฮั่วเซียมซินป่อ และหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ซึ่งเป็นปัญญาชนชาวจีนสยามคนสำคัญคนหนึ่ง [3]

ปรากฏว่า ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2463 ทางสถานทูตอังกฤษเริ่มรายงานต่อรัฐบาลสยาม ถึงการเข้ามาของคอมมิวนิสต์ต่างชาติ ที่สำคัญเช่น กรณีของสนีฟเลียต ชาวคอมมิวนิสต์ฮอลแลนด์ ซึ่งในรายงานระบุว่า สนิฟเลียตได้รับคำสั่งจาก “สมาคมเทิดอินเตอร์นาชนัล” [4] และอาจจะลอบเข้ามาในสยามในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2463 แต่ทางการสยามก็หาตัวไม่พบ (หจช. กต.39/1)

รายงานต่อมาก็คือ การที่ อาบราม โอบอดอฟสกี (Abram Obodovski) ชาวรุสเซีย เดินทางเข้ามาในสยามในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2464 เพื่อขอเปิดบาร์ โดยทางสถานทูตอังกฤษระบุว่า โอบอดอฟสกี เป็น “บอลเชวิกคิดการกำเริบอยู่ที่เซ่ียงไฮ้” (หจช. กต.39/2) แม้ว่ารัฐบาลสยามจะวิตกต่อลัทธิบอลเชวิก แต่ก็เห็นได้ว่าในระยะแรกนี้ ความรู้ความเข้าใจเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ของชนชั้นปกครองสยามก็ยังจำกัดมากเช่นกัน

จากหลักฐานที่ปรากฏคือ ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 มีชาวจีนนักเล่นกลชื่อ นายชันบักไข แต่งงานกับหญิงออสเตรียชื่อลีนา และเดินทางเข้ามาเล่นกลในประเทศสยาม ทางการสยามได้วิเคราะห์ว่า ชันบักไขและภรรยาถือหนังสือเดินทางที่รัฐบาลออสเตรียออกให้เรียบร้อย โดยภรรยานั้นเป็นชาวยุโรปที่แต่งตัวเพศจีน “จึงสงสัยว่าจะเป็นเอเยนต์ของพวกโบลเชวิก” (หจช. กต.39/3)

ซึ่งโดยเหตุผลแล้ว การที่ชาวจีนจะแต่งงานกับหญิงยุโรป แล้วหญิงยุโรปแต่งชุดแบบจีน ตีความไม่ได้เลยว่าจะเป็นพฤติกรรมแบบบอลเชวิก และเมื่อมีการติดตามดูพฤติกรรมของชันบักไขที่เดินทางไปเล่นกลเก็บสตางค์ตามจังหวัดต่าง ๆ ในสยาม ก็ไม่พบเลยว่าจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง

หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือรายงานทางการตำรวจวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2471 กล่าวถึงชาวจีนชื่อ เบ๊ฮ่วยสิ่ว ชาวแต้จิ๋ว ฆ่าคนตายหนีมาจากซัวเถา และเที่ยวมาขอเงินตามพวกจีนแซ่เบ๊ในกรุงเทพฯ จึงได้ถูกลงโทษเนรเทศ เพราะ “ต้องสงสัยว่าจะเป็นบอลเชวิก” (หจช. กต.39/10) ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่า เบ๊ฮ่วยสิ่วเป็นเพียงคนร้ายธรรมดา ไม่ได้แสดงลักษณะแนวคิดเลยว่าจะเป็นบอลเชวิก จึงสรุปได้ว่า ทางการสยามยังเข้าใจคุณลักษณะของชาวบอลเชวิกผิด หรือไม่มีความรู้อย่างเป็นจริงในอุดมการณ์บอลเชวิกเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ในขณะนั้นประเทศไทยยังขึ้นปีใหม่เมื่อวันที่ 1 เมษายน ดังนั้นเดือนมีนาคมจึงเป็นเดือนสุดท้ายของปีเก่า ดังนั้นในบทความนี้ เมื่อกล่าวถึงเดือนมกราคม-มีนาคม จะเป็น 3 เดือนสุดท้ายของปีโดยตลอด

[2] “กรรมกรกับการเมือง” หนังสือพิมพ์กรรมกร (22 มีนาคม 2466).

[3] ดูรายละเอียดได้จาก เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์. เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : ศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.)

[4] สมาคมเทิดอินเตอร์นาชนัล (Third International) คือ สากลที่ 3 หรือองค์กรคอมมิวนิสต์สากล (Comintern) ซึ่งเป็นองค์กรกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่างๆ หลังการปฏิวัติบอลเชวิกในรุสเซีย องค์กรนี้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2462 โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการปฏิวัติในขอบเขตทั่วโลก องค์กรนี้ยุบเลิกในปี พ.ศ. 2486


หมายเหตุ : คัดเนิื้อหาบางส่วนจากบทความ “ประวัติการก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์สยาม” เขียนโดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2563