พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมองว่า “สังคมนิยม” คือพุทธศาสนายุค “พระศรีอาริย์”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

ก่อนการปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ. 1917/ พ.ศ. 2460 แนวคิดสังคมนิยมและรวมไปถึงคอมมิวนิสต์ เป็นแนวคิดทางการเมืองหนึ่งที่ได้เป็นที่รับรู้กันบ้างแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ที่ประเทศไหนจะก่อการปฏิวัติและใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ในการปกครองอย่างเป็นรูปธรรม อย่างใกล้เคียงที่สุดคือคอมมูนส์ปารีส (Commune Paris) ใน ค.ศ. 1871/ พ.ศ. 2414 มีอายุเพียง 2 เดือนเศษก่อนจะถูกฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศสปราบปรามไป

แม้ว่าจะยังไม่ประสบกับการปฏิวัติในประเทศไหน แต่ว่าชื่อเสียงของแนวคิดคอมมิวนิสต์ก็ไม่ดีนัก เนื่องจากหลายประเทศในโลกยังถูกปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ และคอมมิวนิสต์เป็นปฏิปักษ์ของระบอบกษัตริย์ แต่เนื่องจากเป็นเพียงแนวคิดทางการเมืองที่ดูเพ้อฝันมาก การต่อต้านคอมมิวนิสต์ก่อนการปฏิวัติรัสเซียจึงไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก

ในประเทศไทยที่เริ่มหันเข้าหาตะวันตกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทำให้สยามได้รับรู้แนวคิดทางการเมืองจากตะวันตกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และมีส่วนทำให้สยามได้กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 ในช่วงเดียวกันแนวคิดสังคมนิยมหรือแนวคิดคอมมิวนิสต์ก็ได้เข้าสู่สยามเช่นกัน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดจากตะวันตกเริ่มได้รับความนิยมมากประกอบกับหนังสือพิมพ์ก็ได้มีการแข่งขันเชิงธุรกิจมากขึ้นทั้งจากของเอกชนและจากที่รัฐบาลสนับสนุน ทำให้แนวสังคมนิยมได้แพร่ขยายมากขึ้น

ด้วยความเป็นภัยคุกคามของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ประกอบกับความชาตินิยมของพระองค์ จึงไม่แปลกที่กษัตริย์อย่างพระมงกุฎเกล้าฯ จะมีแนวคิดต่อต้านสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าก่อนการปฏิวัติรัสเซีย พระมงกุฎเกล้าฯ มองว่าเป็นแนวคิดเพ้อฝันความคิดเพ้อฝัน, ไร้สาระ ไม่อยู่กับโลกของความจริง และเป็นความคิดที่แปลกแยกจากคนปกติหรือ “คนไทย”

ทัศนะหนึ่งที่ปรากฏใน “จดหมายเหตุรายวัน ร.ศ. 131” ของพระมงกุฎเกล้าฯ ได้เปรียบเทียบสังคมนิยมกับพระศรีอารย์ ซึ่งเป็นแนวคิดทางพุทธศาสนาว่า “ลัทธิ “โสเชียลิสต์” ที่คนไทยเข้าใจและนิยมกันคือสาสนาพระศรีอาริย์นั่นเอง” โดยพระองค์ได้แสดงข้อเปรียบเทียบไว้ใน 5 ข้อ

จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๓๑ น. 68-69.

จากข้อเปรียบเทียบของพระมงกุฎเกล้าฯ โดยเริ่มต้นทรงมองว่าจุดประสงค์ของสังคมนิยมไม่แตกต่างกับแนวคิดพระพุทธศาสนาในยุคพระศรีอาริย์ที่จะทำให้เป็นสังคมในอุดมคติ มีแต่ความสงบสุข ไร้ความทุกข์ความลำบาก ไม่มีความเหลื่อมล้ำในแทบจะทุกด้าน โดยมีการสอดแทรกทัศนะเชิงลบแกสังคมนิยมว่าสังคมนิยมเป็นความเท่าเทียมก็จริงแต่จะเป็นการเท่าเทียมที่ดีหรือไม่ก็ได้ ทั้งยังไม่ให้เสรีภาพทางความคิดแก่ประชาชนหรือเป็นการบังคับความคิดให้เป็นไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะในการยกเลิกศาสนาที่จะนำพาไปสู่งสิ่งที่ดีกว่าสังคมนิยม อย่างแนวคิดพระศรีอาริย์ที่จะพาไปสู่สังคมในอุดมคติที่ดีกว่าสังคมนิยม

ทัศนะนี้เป็นทัศนะต่อสังคมนิยมของพระมงกุฎเกล้าฯ ใน พ.ศ. 2455/ ค.ศ. 1912 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติรัสเซียถึง 5 ปี ความหวาดกลัวลัทธิสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จึงไม่ได้สูงมากนัก ความหวาดกลัวนี้อยู่ในระดับเดียวกับแนวคิดประชาธิปไตย, รัฐสภา (ปาลิเมนต์), หรือ สาธารณรัฐ (ริปับลิค) เพราะแนวคิดเหล่านี้เป็นการยกเลิกขุนนางหรืออำนาจกษัตริย์ในการปกครองแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะแนวคิดสาธารณรัฐที่เป็นการล้มสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังให้ความเสมอภาคแก่ประชาชน

แนวคิดสาธารณรัฐอาจน่ากลัวกว่าสังคมนิยมมากเพราะในหลายประเทศได้มีการกระทำขึ้นจริงแล้ว ณ ขณะนั้น ทั้งในฝรั่งเศส หรือจีนที่ได้มีการล้มราชวงศ์ชิงในปีก่อนหน้า (ค.ศ. 1911/ พ.ศ. 2454) ทำให้พระมงกุฎเกล้าฯ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเหล่านี้ในหลายโอกาสรวมถึงในเอกสารฉบับเดียวกันนี้ โดยได้วิจารณ์ทั้งประชาธิปไตยสาธารณรัฐในจีนของซุนยัตเซ็น ว่าการล้มระบอบกษัตริย์เพื่อให้เป็นสาธารณรัฐและทำให้คนเท่ากันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะคนมีความสามารถไม่เท่ากัน มีการแย่งชิงอำนาจ ฯลฯ อันทำให้ประเทศวุ่นวายประเทศที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ต้องมีประสบการณ์มาแล้วหลายปี พร้อมทั้งยังเปรียบเปรยว่าจะมีคนบ้านเมืองใดจะได้รับความเสมอภาคมากกว่าคนไทย (ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์)

เห็นได้ว่าการเปรียบเทียบยุคพระศรีอาริย์กับสังคมนิยมของพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่ได้เป็นการยกยอว่าสังคมอุดมคติของสังคมนิยมนั้นเทียบเท่ากับสังคมอุดมคติในยุคพระศรีอาริย์ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์และชี้ให้เห็นว่าสังคมนิยมที่จะยกเลิกศาสนา จะไม่ทำให้สังคมอุดมคตินั้นดีไปกว่าแนวคิดพระศรีอารย์ที่คนไทยนับถืออยู่แล้ว

 


อ้างอิง :

ตามไท ดิลกวิทยรัตน์. “คอมมิวนิสต์” ในการเมืองไทย. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์, ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, 2544.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. อนุสรณ์งานศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2517.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2565