ส่องกลุ่ม “ทหารหนุ่ม” “ทหารประชาธิปไตย” และ “ทหารรุ่น 5 ใหญ่” ในรัฐบาลพลเอกเปรม

รัฐบาลเปรม 1 พลเอก เปรม พลเอกเปรม
นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเปรม 1 ถ่ายรูปร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล

ส่องกลุ่ม “ทหารหนุ่ม” “ทหารประชาธิปไตย” และ “ทหารรุ่น 5 ใหญ่” ในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มคณะทหารได้ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ในทางตรง ทหารได้เข้ามาเป็นรัฐบาลโดยทำหน้าที่บริหารประเทศ เช่น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (รอบแรก พ.ศ. 2481-2487 และรอบสอง พ.ศ. 2491-2500) ส่วนทางอ้อมกลุ่มทหารทำหน้าที่บงการหรือสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนอยู่เบื้องหลัง เช่น รัฐบาลของนายพจน์ สารสิน ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คอยควบคุม (พ.ศ. 2500) เป็นต้น

บทบาททางการเมืองของทหารที่จะเข้ามามีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริบททางการเมืองในสมัยนั้นๆ อย่างเช่น ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ประชาชนสามารถล้มรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ส่งผลให้ทหารในยุคนี้ถูกลดบทบาทลงเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของพลเรือน ทหารก็เริ่มกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองเรื่อยมา จนถึงในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐบาล (พ.ศ. 2523-2531)

ในประวัติศาสตร์กลุ่มคณะทหารที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองของประเทศไทยไม่ได้มีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตลอด อาทิ บริบทการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. 2490-2500 ก็มีกลุ่มทหารที่พยายามแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมืองหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณ กลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง

เช่นเดียวกับช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเหล่าบรรดาทหารในกองทัพต่างก็มีก๊กมีกลุ่มของตนเอง มิได้มีเอกภาพภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยงานของศศิธร โอเจริญ เรื่อง บทบาททางการเมืองของกลุ่มทหารในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง พ.ศ. 2523-2531 ได้แบ่งกลุ่ม 3 กลุ่มทหารใหญ่ ในช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. กลุ่ม ทหารหนุ่ม (ยังเติร์ก) เป็นกลุ่มทหารหนุ่มจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (หลักสูตรเวสปอยต์) รุ่น 7 ที่รวมตัวกันหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ประกอบด้วยนายทหารคนสำคัญ อาทิ พันตรีมนูญ รูปขจร พันตรีจำลอง ศรีเมือง พันตรีพัลลภ ปิ่นมณี เป็นต้น โดยรวมตัวกันเนื่องจากมีมุมมองว่าทหารระดับสูงไม่เอาใจใส่พัฒนากองทัพและยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป โดยกลุ่มทหารหนุ่มมีความใกล้ชิดกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และเป็นฐานสำคัญในการสนับสนุนให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

2. กลุ่ม ทหารประชาธิปไตย เป็นกลุ่มทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 และบางส่วนเป็นกลุ่มทหารหนุ่ม โดยกลุ่มทหารประชาธิปไตยเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ซึ่งทำงานด้านการเมืองในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทหารกลุ่มนี้มีแนวความคิดว่า อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทย และไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ประกอบไปด้วยนายทหารคนสำคัญ อาทิ พลตรีระวี วันเพ็ญ พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ์ เป็นต้น

3. กลุ่ม นายทหารเตรียมทัพบกรุ่น 5 หรือ ทหารรุ่น 5 ใหญ่ นายทหารกลุ่มนี้เป็นการรวมตัวกันของนายทหารเตรียมนายร้อยทหารบกรุ่น 5 ซึ่งเป็นนายทหารที่เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก และโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (สะกดแบบเดิม) นายทหารเตรียมทัพบกรุ่น 5 (รุ่น 5 ใหญ่) เป็นกลุ่มที่ออกมาวิจารณ์กลุ่มทหาร จปร. รุ่น7 ว่ามีบทบาททางการเมืองสูงเกินไปเปรียบเสมือนไม่ใช่ทหารอาชีพ เป็นทหารนอกแถว นายทหารเตรียมทัพบกรุ่น 5 (รุ่น 5 ใหญ่) ประกอบไปด้วยนายทหารคนสำคัญ อาทิ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก พลตรีเทียนชัย สิริสัมพันธ์ เป็นต้น นายทหารเตรียมทัพบกรุ่น 5 (รุ่น 5 ใหญ่) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเมื่อออกมาสนับสนุนให้พลเอกเปรมติณสูลานนท์ ต่ออายุราชการ

จะเห็นได้ว่าแม้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตีอย่างยาวนาน (พ.ศ.2523-2531) แต่ความเสถียรภาพของกองทัพก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างกลุ่มต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป และการแบ่งกลุ่มของทหารก็ยังคงสืบทอดให้เห็นจากการเมืองไทยในปัจจุบันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ศศิธร โอเจริญ. (2549). บทบาททางการเมืองของกลุ่มทหารในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง พ.ศ. 2523-2531. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2565