เมื่อระบบราชการไม่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ บังเกิด “อั้งยี่” การรวมกลุ่มของชาวจีนอพยพ

ภาพประกอบเนื้อหา 1. พ่อค้าข้าวชาวจีน, 2. ย่านการค้าบริเวณถนนเจริญกรุง และเวิ้งนาครเขษม ในสมัยรัชกาลที่ 5, 3. โรงสีข้าวส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน คอยรับซื้อข้าวที่ล่องมาทางเรือ, 4. ร้านค้าชาวจีนในย่านสำเพ็ง

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยพบว่าคนภายในประเทศมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกที่มีความแตกต่างทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม อย่างหลากหลาย จากหลักฐานพบว่าชนชาติที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างยาวนานคือ ชาวจีน ที่เข้ามาในดินแดนแถบนี้และมีปฏิสัมพันธ์ในหลายมิติ อาทิ เข้ามาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางการเมือง เข้ามาเพื่อติดต่อค้าขายทางเศรษฐกิจ เข้ามาเพื่อการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรม หรือแม้กระทั้งการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

การอพยพของชาวจีนเข้ามาในดินแดนแถบนี้มีหลายระลอก และต่อเนื่องกันมาจนถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่งใน พ.ศ. 2398 ได้ทำให้ชาวจีนอพยพเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ชาวจีนอพยพเข้ามาในดินแดนแถบนี้มีหลายประการ อาทิ ปัญหาความไม่สงบในเมืองจีน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งจากการรุกรานของชาติตะวันตกและการก่อกบฏภายในประเทศ เป็นต้น

ภายหลังที่กรุงเทพฯ ทำสนธิสัญญาทางการค้าได้ทำให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศมีมากขึ้น ประกอบกับการหลั่งไหลของจีนอพยพ จึงเป็นผลให้ในกรุงเทพฯ คับคั่งไปด้วยชาวจีนอพยพที่เข้ามาเป็นแรงงานสำคัญของประเทศ ขณะเดียวกันเมื่อกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยชาวจีนที่มีความแตกต่างกับวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ ก็ได้เกิดปัญหาในการที่รัฐไทยไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของชาวจีนอพยพได้ จนนำมาสู่การตั้งกลุ่มอั้งยี่ขึ้นมา โดยในบทความของ นนทพร อยู่มั่งมี เรื่อง ชาวจีน : กลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกจับจ้องในการจัดพื้นที่เมืองในสมัยรัชการที่ 5″ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2564) ได้กล่าวถึงประเด็นของชาวจีนและการตั้งกลุ่มอั้งยี่ ดังนี้

“ชาวจีนเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งทางราชการในขณะนั้นได้มีมาตรการต่างๆ โดยให้ชาวจีนดูแลกันเองในชุมชนภายใต้การบังคับบัญชาของกรมท่าซ้าย มีพระยาโชฎึกราชเศรษฐีคอยกำกับดูแลชาวจีนทั้งมวล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการตั้งตำแหน่งขุนนางเป็นนายอำเภอและปลัดจีนเรียกรวมกันว่า กรมการจีน ซึ่งจะขึ้นกับต้นสังกัดแต่ละหัวเมือง คือกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม และกรมท่า สำหรับกรุงเทพฯ กรมการจีนขึ้นกับกรมท่าซ้าย มีหน้าที่จับกุมโจรผู้ร้ายและตัดสินคดีความตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนในหมู่ชาวจีน

ขณะเดียวกันรัฐยังควบคุมแรงงานชาวจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมกำลังคน โดยกำหนดให้ชาวจีนเสียเงินชดเชยแทนการเกณฑ์แรงงานที่เรียกว่า เงินผูกปี้ เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 2 เก็บจากชายชาวจีน
อายุ 17-20 ปี ซึ่งจะเก็บในอัตรา 2 บาท ในช่วงแรก จนกระทั่งถึง 4 บาท ใน พ.ศ. 2449 จึงสิ้นสุดการเก็บเงินชนิดนี้ ผู้ที่ผูกปี้ทางการจะผูกเชือกป่าน หรือสายแถบแดงที่ข้อมือซ้าย แล้วติดครั่งที่ปมเชือก เจ้าหน้าที่จะประทับตราเป็นหลักฐาน พร้อมกับมอบใบเสร็จหรือใบฎีกาให้เป็นหลักฐาน ระบุชื่อ รูปพรรณสัณฐาน ตำหนิ ที่อยู่อาศัย ชาวจีนที่ผูกปี้สามารถตัดเชือกผูกปี้ได้เมื่อพ้นระยะเวลาผูกปี้

แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการควบคุมแรงงานจีนทั้งด้วยการให้ชาวจีนดูแลกันเองตามกลไกของระบบราชการและควบคุมผ่านระบบควบคุมกำลังคน แต่มาตรการต่างๆ กลับมีข้อบกพร่องจนไม่อาจใช้ควบคุมชาวจีนซึ่งมีปริมาณมากขึ้น ในกรณีการเก็บเงินผูกปี้พบว่าระบบดังกล่าวกลับมุ่งหวังผลประโยชน์จากชาวจีนในด้านรายได้ที่เป็นตัวเงิน ด้วยการเก็บในอัตราที่ไม่สูงเพื่อหวังให้ชาวจีนที่อพยพเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้ในส่วนนี้ที่มากขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่ารัฐจะได้แรงงานที่มากขึ้นแต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่มาพร้อมกับการหลั่งไหลของแรงงานชาวจีน ส่วนการควบคุมชาวจีนตามระบบราชการนั้นยังส่งผลเสียจากการที่หัวหน้าชาวจีนหรือจีนตั้วเหี่ยที่ควบคุมชาวจีนมักทะเลาะวิวาทแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่ม ซึ่งขุนนางที่ปกครองไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับระบบราชการของรัฐไม่ได้ตอบสนองด้านชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนที่อพยพมากขึ้น เช่นด้านการมีอาชีพ และรายได้ ซึ่งเป็นจุดหมายสำคัญของชาวจีนอพยพ ขณะที่ชาวจีนสามารถสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือในกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มภาษาของตนด้วยการเกิดเป็นหมู่ซ่องหรือกลุ่มอั้งยี่ขึ้นมา และสร้างปัญหาต่อการควบคุมของภาครัฐ

การควบคุมคนจีนที่ขาดประสิทธิภาพประกอบการหลั่งไหลของบรรดาแรงงานชาวจีนที่มีมากขึ้น ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่งสร้างปัญหาต่อรัฐในการควบคุมชาวจีน ซึ่งต่างรวมกลุ่มช่วยเหลือในการปกป้องและดูแลผลประโยชน์ในหมู่ชาวจีนด้วยกันในยามเมื่ออยู่ต่างแดน ทั้งในด้านการหาแหล่งงาน ที่พัก และค่าเดินทางก่อนจะพัฒนาเป็นสมาคมลับหรืออั้งยี่ ผู้ที่สังกัดกลุ่มอั้งยี่มักจะได้รับความช่วยเหลือหลายประการ เช่น การจ่ายค่าธรรมเนียมศาลเมื่อต้องคดีความ การดูแลเรื่องความเป็นอยู่ และช่วยเหลือทำศพในหมู่สมาชิกทำให้แรงงานจีนจำนวนมากต่างเป็นสมาชิกของสมาคมลับต่างๆ ซึ่งได้ขยายจำนวนกระจายทั่วกรุงเทพฯ จากจำนวนเพียง 3 กลุ่ม ใน พ.ศ. 2424 จนมีมากถึง 30 กลุ่ม ใน พ.ศ. 2449

บรรดาสมาคมลับหรืออั้งยี่กลุ่มต่างๆ เป็นปัญหาที่ราชการต้องดูแล เนื่องจากการวิวาทกันของบรรดากลุ่มอั้งยี่ที่มีอยู่เสมอเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกตน เช่น การจ้างงาน ต้องใช้คนในสังกัดของกลุ่ม หรือการจำหน่ายสินค้า แม้แต่การที่กลุ่มอั้งยี่เข้าไปเรียกผลประโยชน์จากแหล่งอบายมุขทั้งโรงบ่อน โรงยาฝิ่น และซ่องโสเภณี การทะเลาะกันระหว่างกลุ่มมักใช้ท้องถนนเป็นเวทีการประลองอำนาจกัน เช่น พ.ศ. 2432 กลุ่มอั้งยี่ปะทะกันบริเวณถนนเจริญกรุงใต้วัดยานนาวา ทำให้กิจการร้านค้าและโรงสีบริเวณนั้นต้องหยุดดำเนินการ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดมากถึง 905 คน และจีนหัวหน้า อีก 20 คน ปัญหาอั้งยี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐต้องสอดส่องพฤติกรรมของชาวจีนอย่างเข้มงวด”

จากบทความ ชาวจีน : กลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกจับจ้องในการจัดพื้นที่เมืองในสมัยรัชการที่ 5 จะเห็นได้ว่าเมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากได้ทำให้มีความพยายามในการจัดการควบคุมชาวจีนให้อยู่ภายใต้รัฐอย่างสงบ แต่ด้วยระบบราชการของรัฐไทยที่ไม่สามารถตอบนองความต้องการของชาวจีนอพยพได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นผลให้ชาวจีนอพยพรวมตัวกันก่อตั้งอั้งยี่ขึ้นเพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มชาวจีนอพยพด้วยกันเอง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฏาคม 2565