ไม่มีไม้ขีดไฟ ไม่มีไฟแช็ก แล้วคนสมัยก่อนจุดไฟอย่างไร

เหล็กไฟชุด หรือไฟชุด ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2539

มนุษย์จุดไฟขึ้นได้อย่างไรและเมื่อใดไม่มีใครรู้แน่นอน หากแต่สันนิษฐานกันว่า มนุษย์สามารถจุดไฟขึ้นได้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยใช้หินเหล็กไฟ (fint) กับเหล็กกล้ามากระแทกกันให้เกิดสะเก็ดไฟปะทุติดเชื้อไฟที่เป็นวัตถุที่ติดไฟง่าย หรือใช้ไม้ถูกันจนเกิดความร้อนลุกเป็นไฟ

เฉพาะการใช้หินเหล็กไฟกับเหล็กมากระแทกหรือตีกันให้เกิดสะเก็ดไฟไปติดเชื้อไฟนั้น เป็นต้นกำเนิดของความคิดในการประดิษฐ์ไม้ขีดไฟ และไฟแช็ก ซึ่งมีผู้ประดิษฐ์ขึ้นในยุโรปเมื่อประมาณ ค.ศ. 1827

การจุดไฟอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้ไม้สองอันถูกันให้เกิดความร้อนติดเชื้อไฟ วิธีนี้คนไทยสมัยโบราณจะใช้ไม้ไผ่สอง อันที่เรียกว่า “ไม้สีไฟ” ถูกันจนเกิดความร้อนติดเชื้อไฟที่ติดไฟง่ายแล้วนำไปก่อเป็นกองไฟ

หรืออีกวิธีหนึ่งใช้ไม้กลมๆ ปั่นลงในรูไม้ที่เจาะไว้จนเกิดความร้อนไหม้เชื้อไฟที่ใส่ไว้รอบ ๆ บริเวณที่ไม้เสียดสีกันจนลุกเป็นไฟ การจุดไฟวิธีนี้ ชาวพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลียหรือชาวอบอริจิน (Aboriginal) ใช้กันมาช้านานแล้ว

การจุดไฟอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้วัตถุผิวมันหรือใช้เลนส์รับแสงอาทิตย์สะท้อนแสงอาทิตย์ไปรวมเป็นจุดเดียวกันจนเกิดความร้อนสะสมไหม้สิ่งที่ใช้เป็นเชื้อไฟนำไปก่อเป็นกองไฟได้ตามต้องการ

กล่าวกันว่ามนุษย์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับไฟเป็นระยะๆ ดังนี้คือ ระยะแรก มนุษย์รู้จักไฟจากธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟและไฟป่า ระยะที่สอง มนุษย์พยายามศึกษาหาความรู้เพื่อให้สามารถจุดไฟขึ้นได้เองตามต้องการและทำให้ไฟลุกไหม้อยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ระยะที่สาม มนุษย์พยายามที่จะใช้ไฟให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ ใช้แสงสว่างและความอบอุ่น ใช้ในการปรุงอาหาร ใช้หล่อและหลอมโลหะ และใช้เผาเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

ในขณะที่มนุษย์สามารถจุดไฟขึ้นได้นั้น มนุษย์จะต้องเรียนรู้วิธีดับไฟด้วย เพราะแม้ว่าไฟจะมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์

ปัจจุบันนี้มนุษย์จะสามารถจุดไฟได้ด้วยวิทยาการใหม่ๆ มากมายหลายวิธีก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า เครื่องจุดไฟหรือเครื่องมือที่ทำให้เกิดไฟชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก ฯลฯ ล้วนมีแนวคิดพื้นฐานมาแต่โบราณทั้งสิ้น

เครื่องจุดไฟพื้นบ้าน หรือเครื่องมือที่ทำให้เกิดไฟของไทยนั้นมีแนวคิดและวิธีการที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นต้นเค้าของความคิดในการประดิษฐ์เครื่องจุดไฟในปัจจุบันหลายชนิด

เครื่องจุดไฟพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดของไทยน่าจะเป็น “เหล็กไฟชุด” ภาคใต้เรียก เหล็กไฟตี ภาคอีสานเรียก ไฟป๊ก เครื่องจุดไฟชนิดนี้เป็นวิธีง่ายๆ โดยใช้หินเหล็กไฟกับเหล็กกล้ามาตีกันอย่างเร็วให้เกิดสะเก็ดไฟไปติดเชื้อไฟที่เป็นวัตถุดิบพื้นบ้านที่ติดไฟง่าย ได้แก่ ปุยนุ่น ปุยเต่าร้าง (ไม้ต้น 2 ชนิดในสกุล Caryota วงศ์ Palmae ชนิดหนึ่งต้นเป็นกอและชนิดต้นคล้ายต้นหมากขุยที่รกหุ้มต้นเป็นขุยละเอียด) เป็นต้น

การจุดไฟวิธีนี้เป็นวิธีจุดไฟที่เก่าแก่ของไทย ดังปรากฏในบทร้อยกรองพื้นบ้านภาคใต้เรื่องพระรถเสนของนายเรือง ซึ่งประมาณว่าแต่งขึ้นเมื่อร้อยปีมาแล้วว่า

“กรักแกรกล้วงขีดไฟ   หยิบเอาใบกล้วยพองลา

เช็ดเกลี้ยงเรียบเรียงยา   ห่อแล้วคว้าหาปุยพิน

………………………..   หยิบเหล็กไฟหล่อของจีน

ปุยตั้งบนหลังหิน   มือคว้าจับเอาเหล็กไฟ

ตีฉาดไฟติดปุย   ควันขึ้นฉุยก็แกว่งไกว

ห่อยาจอจุดไฟ   อัดเป่าควันออกกลุ้มตา”

(วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, 298, นครศรีธรรมราช)

การจุดไฟด้วยเหล็กไฟที่นี้ ต่อมาได้พัฒนามาอีกระดับหนึ่งคือ ใช้ปุยนุ่นหรือปุยเต่าร้างใส่ไว้ในกระบอกไม้เล็กๆ เรียก “ชุด” หรือ “กระบอกปุย” การจุดไฟจะต้องใช้มือซ้ายหรือมือขวาจับกระบอกไม้ไผ่ตามถนัด ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับหินเหล็กไฟให้จ่ออยู่ตรงปากกระบอก ประมาณว่าสะเก็ดไฟจะกระเด็นไปติดปุยนุ่นหรือปุยเต่าร้าง ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับเหล็กกล้าแผ่นเล็กๆ ยาวประมาณ 2-3 นิ้ว หนาประมาณครึ่งนิ้ว ที่เฉียงๆ ลงไปบนหินไฟให้สะเก็ดไฟกระเด็นไปติดปุยนุ่นหรือปุยเต่าร้าง แล้วใช้ปากเป่าลมให้ปุยนุ่นหรือปุยเต่าร้างคุติดเป็นไฟ อาจจะใช้ฟางหรือเศษไม้แห้งๆ เป็นเชื้อไฟก็จะจุดไฟได้ตามต้องการ

เครื่องจุดไฟชนิดนี้ ชาวบ้านภาคกลางมักเรียก “เหล็กไฟชุด” หรือ “ไฟชุด” ตามลักษณะของอุปกรณ์คือ หินเหล็กไฟ มักใช้หินแกรนิตมากะเทาะให้เป็นก้อนเล็กๆ ยาวประมาณ 2 นิ้ว แท่งเหล็กล้า ใช้ตะไบให้หักยาวประมาณ 2 นิ้ว และชุดหรือกระบอกไม้เล็กๆ สำหรับใส่ปุยนุ่นหรือปุยเต่าร้างชุดจะมีฝาครอบปิดเมื่อต้องการดับไฟที่คอยให้ดับ เพราะขาดออกซิเจน เหล็กไฟชุดนี้มักใส่ไว้ในหีบยาเส้นเพื่อใช้จุดยาเส้น

เหล็กไฟชุดนี้ชาวบ้านใช้กันมาเมื่อร้อยปีแล้ว แม้เมื่อมีผู้ประดิษฐ์ไฟแช็กขึ้นโดยใช้หลักการเดิมคือให้หินไฟครูดกับเหล็กให้เกิดสะเก็ดไฟ ติดเชื้อไฟที่มีไส้หล่ออยู่ ด้วยน้ำมันเบนซินในสําลีที่อัดอยู่ในตัวไฟแช็ก ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายกันจึงทำให้ชาวบ้านบางท้องถิ่นยังเรียกไฟแช็กว่า “ไฟชุด” เช่นเดิม

ตะบันไฟ  ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2539

การจุดไฟโดยการใช้ไม้สีกันหรือการใช้เหล็กกล้าตีบนหินเป็นการจุดไฟที่ใช้หลักการเสียดสีของวัตถุให้เกิดความร้อนจนเกิดสะเก็ดไฟไปติดเชื้อไฟเหมือนกัน ต่อมามีผู้ประดิษฐ์เครื่องจุดไฟขึ้นอีกชนิดหนึ่งที่เกิดจากปฏิกิริยาของก๊าซอย่างง่ายๆ ชาวบ้านภาคกลางเรียกเครื่องจุดไฟชนิดนี้ว่า ตะบันไฟ ภาคใต้เรียกว่า เหล็กไฟตบ ภาคเหนือเรียกว่า บอกยัด หรือ ไฟยัด

ตะบันไฟ มีส่วนประกอบสำคัญคือ ตัวตะบัน หรือกระบอกตะบันหรือตัวเมีย ลูกตะบัน หรือตัวผู้ และเชื้อไฟ

กระบอกตะบัน หรือตัวเมียทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เขาวัว หรือเขาควาย ยาวประมาณ 3 นิ้ว กลึงให้กลม หรือทำเป็นแท่ง หรือตกแต่งให้เป็นรูปต่างๆ ตามต้องการ แต่ที่นิยมทำกันมากคือ กลึงให้กลม ปลายแหลม ฝังเหล็กแหลมเล็กๆ ไว้สำหรับเขี่ยปุยนุ่นหรือปุยเต่าร้างที่ใช้เป็นเชื้อไฟ ออกจากปลายลูกตะบัน ตรงกลางกระบอกตะบันเจาะรูๆ เล็กๆ ประมาณปลายนิ้วก้อย ลึกประมาณ 2 1/2 นิ้ว ตกแต่งรูให้เรียบ

ลูกตะบัน บางทีเรียก ไม้กระทุ้ง หรือตัวผู้ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรือเขาสัตว์ โดยเหลาให้กลมขนาดพอดีกับรูตะบัน หรือตัวเมีย ปลายเจาะเป็นรูให้เว้าเข้าเล็กน้อยเพื่อใช้บรรจุปุยนุ่นหรือปุยต้นเต่าร้าง หากลูกตะบันหลวมไม่พอดีจะต้องควั่นปลายลูกตะบันเพื่อใช้ใยไหมหรือด้ายพันแล้วทาขี้ผึ้งให้ลื่น เพื่อให้เกิดแรงอัดและการเสียดสีจนระเบิดเป็นไฟ

เชื้อไฟ มักใช้ขุยเต่าร้าง โดยขูดมาจากกาบของต้นเต่าร้าง เมื่อได้ขุยเต่าร้างมาแล้วต้องตากให้แห้ง อาจจะผสมกับขี้เถ้าหรือดินประสิวดิบผสมขี้เถ้า ตากแดดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ติดไฟง่ายขึ้น ต่อมาต้นเต่าร้างหายากจึงใช้ปุยนุ่นหรือสำลีแทน เชื้อไฟนี้จะใส่ไว้ที่ปลายลูกตะบันที่เจาะเป็นรูไว้

การใช้ตะบันไฟหรือเหล็กไฟตบ จะต้องใช้เชื้อไฟอัดเข้าไปในรูที่ปลายลูกตะบัน แล้วใส่ลูกตะบันเข้าไปในรูตะบัน กะให้อยู่ในระดับที่จะใช้ฝ่ามือตบด้ามตะบันให้กระแทกเข้าไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดระเบิดขึ้นที่ปลายลูกตะบันจนติดเชื้อไฟที่ปลายลูกตะบัน หลังจากตบลูกตะบันแล้วจะต้องรีบชักออกมาโดยเร็ว ใช้ปากเป่าลมช่วยให้ไฟคลุกเป็นไฟ จากนั้นอาจจะใช้เหล็กแหลมที่ปลายกระบอกตะบันเขี่ยเอาเชื้อไฟออกมาจุดกับเชื้อไฟอื่นก่อเป็นกองไฟ หรือนำไปจุดไฟอื่นๆ ตามต้องการ

ตะบันไฟเป็นเครื่องจุดไฟพื้นบ้านที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ แต่แฝงภูมิปัญญาที่แยบยลอย่างน่าสนใจ ถ้าหากพิจารณากระบวนการที่ทำให้เกิดการระเบิดของก๊าซในกระบอกตะบันแล้ว จะเห็นว่าเป็นต้นเค้าของความคิดของเครื่องยนต์ที่ใช้หลังจากการระเบิดของก๊าซในกระบอกสูบ ที่เกิดจากแรงอัดของลูกสูบที่มีลักษณะคล้ายลูกตะบัน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ความร้อนและแรงอัดของลูกสูบน้ำมัน ทำปฏิกิริยากับอากาศระเบิดในกระบอกสูบเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้เป็นเวลานาน การนำพลังงานจากแรงอัดของอากาศให้เกิดระเบิดนี้ ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาเป็นเครื่องยนต์ชนิดต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากคุณค่าทางภูมิปัญญาแล้ว “ตะบันไฟ” ยังแฝงไว้ด้วยฝีมือช่าง เพราะตะบันไฟบางท้องถิ่นอาจจะกลึงไม้ เขาวัว เขาควาย และงาช้างให้มีรูปทรงสวยงาม สลักเสลาเป็นลวดลายอย่างประณีตงดงาม แสดงให้เห็นว่าคนไทยในอดีตมีจิตใจที่รักความประณีตงดงาม ไม่ว่าจะคิดทำสิ่งของเครื่องใช้ชนิดใดก็จะทำให้มีความสวยงามน่าใช้

 


หมายเหตุ บทความนี้คัดย่อ วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. “เครื่องจุดไฟพื้นบ้าน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2539


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2565