“สุภาพบุรุษ” สไตล์ตะวันตก เดินทางเข้ามาสยามเมื่อใด

ขี่ม้า คน ม้า สนามม้า
ภาพประกอบบทความ จาก “สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5” หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

“สุภาพบุรุษ” สไตล์ตะวันตก เดินทางเข้ามาสยามเมื่อใด

สังคมไทยยุคต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของวัฒนธรรม โดยวัฒนธรรมจากตะวันออกที่ไทยรับมาตลอดอย่างเขมรและอินเดียได้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง ขณะที่ความตื่นตัวของวัฒนธรรมตะวันตกจากปฏิกิริยาของชนชั้นปกครองกำลังเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

Advertisement

ภายหลังจากที่สยามมีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกอย่างเช่น อังกฤษ และฝรั่งเศสแล้วนั้น สังคมไทยก็ได้มีการปรับเปลี่ยนค่านิยม ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตให้มีลักษณะคล้ายกับประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก ที่กำลังจะเข้ามามีความสำคัญต่อสยาม

นอกจากความทันสมัยจะเข้ามาทำให้สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง โดยสอดรับกับนโยบายการเปิดประเทศที่เกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วนั้น ในอีกด้านหนึ่ง สังคมไทยก็เริ่มให้ความสำคัญกับความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมทั้งการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้หญิง ตั้งแต่ชนชั้นปกครองสู่ชนชั้นชาวบ้าน

ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เปิดกว้างขึ้นนั้น ปรากฏในประกาศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายฉบับนี้ เช่น ประกาศให้หญิงราชสำนักสามารถถวายบังคมลาได้ รวมไปถึงประกาศเกี่ยวกับการไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงชนชั้นชาวบ้านกรณีของอำแดงเหมือน [1] อำแดงจัน [2]  ฯลฯ

ขณะเดียวกันก็ยังแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยในเวลานั้นยังคงเป็นสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือผู้ชายเป็นใหญ่ โดยให้ผู้ชายมีอำนาจในการครอบครอง เรือนร่างและจิตใจของผู้หญิงนับตั้งแต่บิดาจนมาถึงสามี นับว่าเป็นการไม่ให้ความยุติธรรมและความชอบธรรมแก่ผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีความคิดเรื่อง “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” ผลิตซ้ำออกมาผ่านทางกฎหมาย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสให้ยกเลิก

เมื่อกระแสความคิดจากวัฒนธรรมตะวันตกที่ส่งเสริมค่านิยมเกี่ยวกับ “ผัวเดียวเมียเดียว” เข้ามาในสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัญญาชนและขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จึงได้โต้แย้งระบบดังกล่าวกลับไปโดยให้เหตุผลว่า ธรรมชาติของชายและหญิงต่างกัน ผู้หญิงมีราคะจริต สามารถกระทำการใดๆ ได้โดยไม่ยั้งคิด ขณะที่ผู้ชายมีความอดกลั้นมากกว่า ผู้หญิงจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย และทำให้ผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคน เพราะมีความอดกลั้น ไม่ทำร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง [3]

ก่อนที่กระแสความคิดเรื่องตัวเดียวเมียเดียวจะแพร่หลายขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่เทียนวรรณ ปัญญาชนในสมัยนั้น ชี้ให้เห็นและต่อต้านผ่านข้อเขียนของเขา และเด่นชัดขึ้นอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจะเห็นได้จากการที่พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยว่าการที่ผู้ชายสยามมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ แม้ว่าในท้ายที่สุดพระองค์จะไม่อาจทรงปฏิบัติตามพระราชดำริเกี่ยวกับ “ผัวเดียวเมียเดียว” ได้ เพราะต้องทรงอภิเษกสมรสกับผู้หญิงหลายคนเพื่อการมีพระราชโอรสสืบราชสมบัติอันเป็นแบบแผนตามขัตติยะประเพณี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่นี้ว่าเป็นธรรมเนียมที่ไม่ทันสมัย ดังจะเห็นว่าในสมัยของพระองค์ นอกจากจะมีการส่งเสริมสถานะของสตรีในด้านต่างๆ เช่น การให้ผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงในราชสำนักได้ออกงานสมาคม นอกจากนี้ยังมีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย

สังคมไทยแต่เดิมกำหนดรูปลักษณ์ของผู้หญิงให้มีลักษณะคล้ายกันกับผู้ชาย ส่วนหนึ่งเพราะความคิดที่มาจากการประกอบสร้างของสังคมที่ว่า เมื่อเกิดสงครามผู้หญิงจะต้องอำพรางกายให้เหมือนผู้ชายเพื่อป้องกันการถูกข่มเหงรังแกจากข้าศึกศัตรู และเพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้หญิงในยามศึกสงคราม [4] จึงจะไม่สามารถจำแนกจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ว่าใครคือชายและใครคือหญิง

ในความเป็นจริงแล้ว ความคิดดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในมายาคติที่เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดกระแสหลักของสังคมไทยในขณะนั้น นั่นก็คือความคิดแบบปิตาธิปไตยก็เป็นได้ กล่าวคือการที่ผู้หญิงต้องมีรูปลักษณ์ดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงประพฤติตนไม่ดี จึงต้องมีการบังคับให้ผู้หญิงตัดผมสั้นและมีฟันที่ดำ [5] ทั้งนี้ ผู้ชายไทยเชื่อว่ารูปลักษณ์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ผู้หญิงประพฤติตนในทางที่ไม่สมควรแล้ว ยังเป็นเครื่องหมายแสดงถึง “ความสุภาพแห่งหญิง” [6] อีกด้วย

การไว้ผมยาวของผู้หญิงไทยจึงเพิ่งจะเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่มาปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากเวลานั้น กระแสความคิดเกี่ยวกับการควบคุมร่างกายของผู้หญิงเริ่มปรากฏอย่างเด่นชัดมากขึ้น นับตั้งแต่พฤติกรรมทรงผมจนมาถึงเครื่องแต่งกายของผู้หญิง อีกทั้งยังเป็นพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยที่โปรดให้ผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงในราชสำนักไว้ผมยาว เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องหมายแห่งความรุ่งเรืองของบ้านเมืองผ่านสภาพของผู้หญิงที่พ้นจากการกดขี่ไม่ให้เปิดเผยความงามตามธรรมชาติโดยผู้ชายแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างชาติด้วยการชักจูงใจให้เห็นว่าชาติที่มีความเจริญแล้วย่อมส่งเสริมการแสดงออกทั้งการแต่งกาย การสมาคมของสตรี [7] เป็นต้น

จากหลักฐานข้างต้น แม้เป็นเพียงข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับการให้ภาพของความเป็นชายก่อนที่ความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษจะเข้ามา แต่ก็ทำให้พอมองเห็นว่าความคิดกระแสหลักเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ชายในสังคมไทยก่อนหน้านี้ คือการที่ผู้ชายมักแสดงความเป็นชายผ่านอำนาจการควบคุมครัวเรือน รวมทั้งควบคุมผู้หญิงผ่านพฤติกรรม จิตใจ และเรือนร่าง เพื่อแสดงถึงความเป็นใหญ่ของผู้ชายในสังคม นับว่าเป็นความคิด และการปฏิบัติทางสังคมมาโดยตลอด จนมาถึงช่วงที่ความเป็นชายแบบ “สุภาพบุรุษ” เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย

สังคมไทยรู้จักภาพของสุภาพบุรุษมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชนชั้นปกครองเริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจากตะวันตกที่เข้ามาในสังคมสยาม โดยยุคแรกๆ ชนชั้นปกครองมักจะเข้าใจว่าสุภาพบุรุษคือการแสดงพฤติกรรมของผู้ชายที่มีคุณธรรมและมีหลักในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับชาวตะวันตก รวมไปถึงการแสดงมารยาททางสังคมของผู้ชายเวลาเข้าสมาคม ดังเช่นการเดินคล้องแขน การเดินเคียงคู่เพื่อให้เกียรติหญิง การลุกขึ้นโค้งคำนับและจับมือเพื่อแสดงความสุภาพแก่เพศเดียวกันและเพศตรงข้าม [8] ทั้งยังเป็นวิธีการแสดงมารยาทที่ผู้ชายตะวันตกต้องปฏิบัติต่อผู้หญิงตะวันตก

การแสดงพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้แม้จะเป็นสิ่งที่แปลกในสายตาของชนชั้นปกครองสยามรวมถึงผู้ที่ได้พบเห็น แต่ชนชั้นปกครองกลับเห็นว่าน่าจะเป็นธรรมเนียมที่นิยมกระทำกันในชาติที่มีความทันสมัยแล้ว โดยเกิดขึ้นในระยะที่กระบวนการความทันสมัยที่เป็นบรรทัดฐานวัดคุณสมบัติของชาติและเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในเวลานั้นกำลังมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ตลอดจนการปรับอัตลักษณ์ของชนชั้นผู้นำสยามเป็นอย่างยิ่ง

เป็นครั้งแรกที่ชนชั้นปกครองในสังคมไทยเวลานั้น ได้เห็นภาพของการที่ผู้ชายรู้จักให้เกียรติผู้หญิง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นแรกที่กล่าวถึงลักษณะความเป็นชายแบบใหม่ของผู้ชายในสังคมไทย ก็คือประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สาระของข้อความนั้นกล่าวถึงกรณีที่ข้าราชการฝ่ายในกราบบังคมลาและไปเป็นนางห้ามหรือภรรยาในขุนนางคนใด โดยเฉพาะข้อความที่ว่า

“ผู้หญิงที่เป็นเมียข้าพเจ้าอยู่ก่อนลาออกไปมีผัวอยู่ข้างนอกก็หลายคน ผัวของหญิงเหล่านั้นกับข้าพเจ้าก็ดีกันหมด ไม่ได้ขัดเคืองกระดากกระเดื่องกับใคร คนที่เป็นเมียข้าพเจ้าอยู่ก่อน บางคนมีผัวใหม่แล้วกลับมาหาข้าพเจ้าก็พูดจาด้วยดีอยู่” [9]

การแสดงลักษณะความเป็นชายแบบ “สุภาพบุรุษ” ในสังคมไทยระยะแรก จนกระทั่งความเป็นชายแบบ “สุภาพบุรุษ” เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ดู “ประกาศทรงอนุญาตข้าราชการฝ่ายทูลลาออก,” ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, 2528), น. 85-88.

ดู “ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมอยู่งานกราบถวายบังคมลาออกได้ แลว่าด้วยเจ้าจอมมารดา แลหม่อมห้ามที่มีหม่อมเจ้ามีผัว,” ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2528), น. 74-77.

ดู “ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตข้าราชการฝ่ายในกราบถวายบังคมลาออก 12 คน,” ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2528) น. 77-79.

[2] ดู “ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา,” ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 3, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2534), น. 276-287.

[3] Craig J. Reynolds, A Nineteenth Century Thai Buddhist Defense of Polygamy and Some Remarks on the Social history of Women in Thailand, pp.11-15.

[4] Malcolm Smith, A Physician at the Court of Siam (Kuala Lumpur: Oxford University Press, 1982), p. 80

[5] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “เครื่องหมายแห่งความรุ่งเรืองคือสภาพแห่งสตรี” ใน ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2494), น. 104.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 103.

[7] เรื่องเดียวกัน, น. 103.

[8] William L. Bradley, Siam Then: The Foreign Colony in Bangkok Before and After Anna (pasadena, Calif: William Carey Library, 1981), pp. 28-31.

[9] ดู “ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตข้าราชการฝ่ายในกราบถวายบังคมลาออก 12 คน,” ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2528) น. 79.


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก สหโรจน์ กิตติมหาเจริญ. สยาม เยนเติลแมน, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2565