ผู้ชายแบบไหนถึงเป็น “สุภาพบุรุษ” ในความคิดตะวันตกเป็นอย่างไร?

อัศวิน-หนึ่งในสุภาพบุรุษตามคติตะวันตก ภาพในเอกสารของ Jean Froissart, "Chronicles" fol. 153v จาก BNF, FR 2646 ไฟล์ public domain

ภาพลักษณ์ความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษกลายเป็นค่านิยมที่ถูกเชิดชูและยกย่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมเริ่มไม่เห็นด้วยกับผู้ชายที่นิยมใช้ความรุนแรงและความคิดแบบชายเป็นใหญ่ซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยหนึ่ง ทั้งนี้ก่อนที่จะกล่าวถึง “สุภาพบุรุษ” ในสังคมไทย เราอาจต้องย้อนกลับไปทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษในความคิดตะวันตกเป็นลำดับแรก เพื่อทำความเข้าใจว่า ความคิดเกี่ยวกับความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษเข้ามาสู่สยามประเทศอย่างไร

ความเป็นชายแบบ “สุภาพบุรุษ” ในคติตะวันตก

Jame A. Dolye นักวิชาการชาวตะวันตกได้วิเคราะห์ลักษณะความเป็นชายในบริบทสังคมตะวันตกและชี้ให้เห็นว่าความเป็นชายในสังคมตะวันตกนั้น สามารถแบ่งตามลักษณะของผู้ชายตะวันตกทั้งหมด 5 ยุคได้แก่

  1. Epic Male คือ ความเป็นชายในยุคกรีกและโรมันที่เน้นการมีร่างกายที่สวยงาม มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ มีความกล้าหาญ เป็นนักรบ
  2. Spiritual Male คือ ความเป็นชายในยุคที่เน้นการเสียสละและควบคุมพฤติกรรมทางเพศ การมีกิจกรรมทางเพศมีความหมายเดียวคือ การมีบุตร รวมทั้งปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งคติความเป็นชายยุคนี้ได้รับอิทธิพลมาจากการเกิดขึ้นของคริสตจักร
  3. Chivalric Male คือ ความเป็นชายในยุคอัศวิน เป็นนักรบปกป้องบ้านเมือง ซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์ รักกับหญิงสาวสูงศักดิ์ ทั้งนี้ คําว่า Chivalric หรือ Chivalry หมายถึงการม้า หากอธิบายจากความหมายของความเป็นชายในยุคดังกล่าว ก็คือผู้ชายที่เป็นอัศวิน (Knight) ต้องขี่ม้า แต่งกายโดยสวมเกราะ ประดับอาวุธคือดาบ เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากเพื่อไว้เพาะม้า
  4. Renaissance Male คือ ความเป็นชายในยุคที่เน้นความมีเหตุผล เป็นผู้รักการแสวงหาความรู้ สุภาพอ่อนโยน
  5. Bourgeois Male คือ ความเป็นชายในยุคของการพิสูจน์ความสามารถของตนเองในการเป็นนายทุน ลักษณะความเป็นชายในยุคนี้คือ ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ และมีอำนาจทางเศรษฐกิจ สอดรับกับการเติบโตและขยายของกลุ่มชนชั้นกลาง (middle class) ที่ขึ้นมามีบทบาทแทนสังคมชนชั้นศักดินา [1]

อาจกล่าวได้ว่าเมื่อต่างยุคกัน ความหมายของสุภาพบุรุษก็แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ สุภาพบุรุษในยุคหนึ่งมีบทบาทเป็นนักรบ มีหน้าที่ปกป้องเผ่า ปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า ขณะที่สุภาพบุรุษในอีกยุคหนึ่งเลื่อนสถานะจากความเป็นนักรบประจำเผ่ามาเป็นนักรบประจำอาณาจักร หรือที่เรียกกันว่าอัศวิน มีฐานะจากการเป็นเจ้าของที่ดินและการเพาะพันธุ์ม้า แสดงออกถึงความเป็นชายที่มีคุณธรรมและศีลธรรมอันเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมมากขึ้น

สุภาพบุรุษแบบอัศวิน

สุภาพบุรุษยุคกลางหรือยุคอัศวินนี้เป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 12 นั่นก็คือทหารและอัศวิน คติความเป็นอัศวินนี้เป็นการแสดงภาพความเป็นชายที่มีอิทธิพลต่อคติความเป็นสุภาพบุรุษในสังคมยุควิกตอเรียน และนำมาสู่แบบแผนพฤติกรรมของผู้ชายในยุคนั้น เนื่องจากยุคกลางหรือยุคอัศวินนี้มุ่งให้ผู้ชายตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้ที่ต้องปกป้องดูแล แสดงความกล้าหาญ ตระหนักถึงเกียรติและศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ ความคิดบางประการของคติอัศวินยุคกลางนี้ ก็พ้องกับคติความเป็นชายยุคกรีกและโรมันอยู่ไม่น้อย โดยมีการสืบทอดความคิด รวมทั้งบทบาทและหน้าที่ของนักรบจากยุคกรีกและโรมันมาผสมผสานเป็นความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษยุคอัศวิน มุ่งให้ผู้ชายดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำทางสังคม ทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์คนในเผ่าหรือในสังคม และคาดหวังให้ผู้ชายมีลักษณะเด็ดเดี่ยว ซื่อสัตย์ เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ทุกขณะ

อย่างไรก็ดี การแสดงออกถึงความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษในยุคกรีกและโรมันกับความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษในยุคกลางนั้นก็แตกต่างกัน ในเรื่องการแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเพศตรงข้าม สุภาพบุรุษยุคอัศวินมักจะมีคติเรื่องความรักต่อหญิงชนชั้นสูงผู้สูงศักดิ์ ทั้งนี้อาจด้วยบทบาทและหน้าที่ของอัศวินที่จะต้องปกป้องและพิทักษ์ชนชั้นศักดินาอันเป็นตัวแทนของสถาบันชาติและกษัตริย์ไว้ด้วยชีวิต จึงทำให้การแสดงออกถึงของอัศวินที่มีต่อเรื่องความรักเป็นไปในลักษณะเทิดทูน ยกย่อง บูชา สามารถพลีชีวิตให้กับหญิงที่ตนรักได้เช่นเดียวกับการมอบความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติและกษัตริย์

ทว่าการแสดงออกของสุภาพบุรุษยุคกรีกและโรมันนั้นสร้างขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ชายเป็นนักรบประจำเผ่า ผู้ชายจึงมีความสำคัญในฐานะผู้กระทำ ผู้ตัดสิน และผู้กำหนดเรื่องราวทุกอย่างด้วยตนเอง ประกอบกับคุณสมบัติของนักรบประจำเผ่าที่จะต้องมั่นคง เด็ดเดี่ยว และเสียสละต่อชนเผ่า จึงทำให้สุภาพบุรุษยุคกรีกและโรมันตระหนักถึงความรักต่อชนเผ่ามากกว่าการมีความรักแบบยกย่องเทิดทูนเหมือนสุภาพบุรุษยุคอัศวิน [2]

นอกจากนี้ คติการเป็นอัศวินยังผูกโยงกับเกียรติและศักดิ์ศรีอีกด้วย เพราะการที่อัศวินได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องนั้นสอดรับกับค่านิยมของผู้ชายที่มุ่งแสวงหาชื่อเสียงจากการแสดงความเป็นชายในด้านความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี คติเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรีจึงมีความสำคัญ เมื่ออัศวินถูกผู้อื่นมาสบประมาท การท้าดวลจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นชายของอัศวินที่ไม่กลัวตายและพร้อมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนให้เป็นที่ประจักษ์ [3] การแสดงความบริสุทธิ์ใจของอัศวินจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษในยุควิกตอเรียนที่มุ่งให้แสดงความใสสะอาดออกมาจากข้างในของจิตใจ

ทั้งนี้ ลักษณะการแสดงความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษในยุคกรีกและโรมันและยุคสุภาพบุรุษในยุคกลางหรือยุคอัศวินนี้เป็นการแสดงภาพลักษณ์ความเป็นชายที่มีลักษณะอุดมคติสูง ขณะที่ยุคความเป็นชายที่สุภาพอ่อนโยน (Renaissance Male) ลักษณะความเป็นชายได้เปลี่ยนแปลงจากภาพลักษณ์ความเป็นอัศวินที่ต้องขี่ม้า ช่วยเหลือผู้อ่อนแอ มาสู่การแสดงความเป็นชายด้วยการแสวงหาความรู้ พร้อมกับมุ่งแสดงอีกด้านหนึ่งของความเป็นชายคือการมีความอ่อนโยนและให้เกียรติสตรี [4]

เมื่อมาถึงยุควิกตอเรียน ลักษณะอุดมคติของความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษยุคกลางที่ยกย่องเทิดทูนสถาบันชาติและกษัตริย์ รวมถึงการแสดงความเสียสละกล้าหาญอันเป็นคติของอัศวินก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างลักษณะความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษในยุคนี้ ดังปรากฎเป็นพระราชนิยมในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่มุ่งให้ชนชั้นสูงในรัชสมัยของพระองค์ประพฤติตนตามแบบอย่างสุภาพบุรุษยุคกลาง [5]

นอกจากนี้ การสร้างความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษตามที่ปรากฏในสังคมยุควิกตอเรียน ส่วนหนึ่งยังมาจากการได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องความเป็นชายยุคที่นิยมความสุขุมเคร่งขรึม (The Spiritual Male) ที่เน้นให้ผู้ชายประพฤติตนตามแบบอย่างของชาวคริสต์ที่ดี รวมทั้งยังได้รับอิทธิพลการแสดงความเป็นชายส่วนหนึ่งมาจากยุคความเป็นชายที่สุภาพอ่อนโยน (Renaissance Male) ด้วย

สุภาพบุรุษยุควิกตอเรียน : การผสมผสานระหว่างความเป็นชายยุคกลางหรือยุคอัศวิน ยุคความเป็นชายที่สุขุม เคร่งขรึม และยุคความเป็นชายที่สุภาพอ่อนโยน

เมื่อกล่าวถึง “สุภาพบุรุษยุควิกตอเรียน” ในที่นี้อาจเริ่มต้นด้วยการอธิบายโดยสังเขปได้ว่า “ยุควิกตอเรียน” เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ราว ค.ศ. 1837 [6] ระหว่างที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงขึ้นครองราชย์นั้น ช่วงเวลาดังกล่าวสังคมอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชนชั้นกลางมีบทบาทและอำนาจในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมค่อนข้างสูง รวมถึงการที่เจ้านายระดับสูงมักเอารัดเอาเปรียบประชาชนภายใต้ภาพของสุภาพบุรุษ

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงมุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการปฏิบัติพระองค์ รวมไปถึงมุ่งให้พระราชสวามี พระราชโอรส และพระราชธิดาเน้นการเป็นแบบอย่างที่ดี และทรงมุ่งเน้นให้เจ้านายประพฤติตนเป็นสุภาพบุรุษอย่างแท้จริง โดยรู้จักเสียสละ ถ่อมตน ซึ่งวิธีดังกล่าวมาจากการหล่อหลอมความคิดสุภาพบุรุษยุคกรีกและโรมัน และอัศวินยุคกลาง [7]

ยุควิกตอเรียน จึงไม่ได้หมายถึงแค่ยุคสมัยที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชย์ ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งศีลธรรมจรรยาของชนชั้นกลาง (โดยเฉพาะเรื่องเพศที่ถูกทำให้เป็นเรื่องที่ต้องห้าม) ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในยุควิกตอเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นยุคแห่งการผสมผสานความเป็นสุภาพบุรุษขึ้นจากยุคกรีกและโรมัน และยุคของอัศวินสมัยกลาง เพื่อสร้างลักษณะของสุภาพบุรุษยุควิกตอเรียนโดยเฉพาะ

ยุควิกตอเรียน จึงเป็นยุคที่ความหมายของสุภาพบุรุษเปลี่ยนแปลงไป โดยคติสุภาพบุรุษกลายเป็นกฎเกณฑ์และมาตรฐานทางศีลธรรมของผู้ชายชนชั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ชายชนชั้นสูงและขุนนางสู่สังคม ดังที่ผู้ชายชนชั้นสูงโดยเฉพาะเจ้านายในยุควิกตอเรียนจะต้องประพฤติตนอย่างสุภาพบุรุษ นั่นก็คือมีความยินดีที่จะเสียสละความสุขส่วนตัว มีริมฝีปากแข็ง ไม่ปรากฎรอยยิ้ม วางตนเป็นกลางหรือที่เรียกกันว่ามีตบะ [8]

เพื่อแสดงลักษณะความเป็นชายที่ดูเย็นชา เข้มแข็ง ไม่รู้สึกยินดียินร้าย เอาจริงเอาจัง รวมทั้งมุ่งแสดงถึงความดีงามออกมาจากจิตใจและตระหนักว่าควรจะมีพฤติกรรมอย่างไรในขณะที่ประสบกับความยากลำบาก [9] รู้จักอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่จะทำให้ต้องประพฤติผิดศีลธรรม รวมทั้งมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ กษัตริย์ และครอบครัว

ลักษณะการแสดงภาพของสุภาพบุรุษในระยะเวลานั้น นอกจากจะมาจากการผสมผสานระหว่างความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษยุคกลางที่มุ่งแสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดีแล้ว ยังมาจากการผสมผสานคำสอนในคริสต์ศาสนาที่มุ่งสอนให้ผู้ชายตะวันตกประพฤติตนเป็นชาวคริสต์ที่ดี โดยผู้ชายจะต้องวางตัวเคร่งขรึม เย็นชา คล้ายคลึงกับภาพความเป็นชายในยุคความเป็นชายที่สุขุม เคร่งขรึม (Spiritual Male) ซึ่งเป็นแบบอย่างให้ผู้ชายต้องมุ่งแสดงความเสียสละ จำกัดความต้องการทางเพศ โดยเพศสัมพันธ์ถูกนับแป็นเพียงเครื่องมือผลิตสร้างทายาทเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูลเท่านั้น

นอกจากนี้ การแสดงออกท่าทางของผู้ชายในยุคนี้ที่ต้องมีความเย็นชา อาจมาจากการต้องประพฤติตนให้สอดคล้องกับคำสอนของคริสต์ศาสนาซึ่งมุ่งให้ผู้ชายอุทิศตนให้กับศาสนา ดังมีคำกล่าวในยุคความเป็นชายที่สุขุม เคร่งขรึม (Spiritual Male) นี้ว่า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของผู้ชาย [10]

เมื่อสังคมอังกฤษยุควิกตอเรียนเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนขยายไปสู่ประเทศทางยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมาอีก นั่นก็คือชนชั้นกลาง โดยในเมืองใหญ่ๆ นั้นสามารถจำแนกกลุ่มชนชั้นกลางได้ 3 ระดับ คือ ชนชั้นกลางระดับสูง (upper middle class) ซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น พ่อค้าที่มั่งคั่ง นายธนาคาร นักธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับยกย่องจากสังคมสูง ถือเป็นผู้นำตลอดจนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคม ดำเนินชีวิตในลักษณะที่คล้ายคลึงกับชนชั้นขุนนาง แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องชาติกำเนิด

ถัดมาคือ ชนชั้นกลางระดับกลาง (middle middle class) คือกลุ่มที่มีภูมิหลังเป็นชนชั้นกลางทั่วไป มักเป็นฝ่ายสนับสนุนในการต่อต้านชนชั้นกลางระดับสูง นายทุน ในกรณีที่มีการเอารัดเอาเปรียบกับกลุ่มชนชั้นแรงงาน โดยชนชั้นกลางกลุ่มนี้ ได้แก่ ปัญญาชน ศิลปิน ส่วนชนชั้นกลางระดับล่าง (lower middle class) คือกลุ่มคนที่จะต้องคอยให้บริการชนชั้นกลางระดับสูงและชนชั้นขุนนาง ส่วนใหญ่มักเป็นช่างฝีมือ เจ้าของ กิจการร้านค้าต่างๆ ผู้ที่ทำงานตามบ้าน

กลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงหรือผู้ดีใหม่ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรม มีความมั่งคั่งและร่ำรวย มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจในฐานะเจ้าของทุน นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานหรือค่านิยมที่เรียกกันว่าค่านิยมแบบวิกตอเรียน เพื่อกำกับและควบคุมพฤติกรรมตลอดจนเรือนร่างของผู้หญิงว่าผู้หญิงในอุดมคติของสังคมวิกตอเรียนจะต้องเป็นแม่บ้าน เรียนรู้การเข้าสมาคม การทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิง [11] รวมไปถึงค่านิยมอื่นๆ ที่ชนชั้นกลางระดับสูงพยายามสร้างภาพแสดงให้เห็นว่าชนชั้นของตนมีความเป็นอยู่เท่าเทียมกับชนชั้นสูงเพื่อจะได้ไม่ถูกประณามว่าเป็นกลุ่มชนชั้นทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวัฒนธรรม

คติเรื่องสุภาพบุรุษอีกกระแสหนึ่งในสมัยนั้นจึงเป็นแนวทางเพื่อให้กลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงหรือผู้ดีใหม่และผู้ที่รับใช้จักรวรรดินิยมอังกฤษ สามารถเลื่อนชั้นสถานะเทียบเท่าชนชั้นสูงได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การพยายามประพฤติตนของชนชั้นกลางระดับสูงเพื่อให้เทียบเท่ากับชนชั้นสูง ส่วนหนึ่งอาจนับได้ว่าเป็นความต้องการปกปิดความรู้สึกภายในที่แท้จริงของชนชั้นกลางระดับสูง เพราะพฤติกรรมพวกเขาแสดงออกมา อาจเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของชนชั้นสูงมากกว่าจะแสดงออกมาจากจิตใจ เพราะชนชั้นกลางระดับสูงในยุควิกตอเรียนบางส่วนพยายามแสดงสถานะของตนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม จนอาจต้องมีการแสร้งทำตบตา สร้างภาพความสุภาพให้มากยิ่งกว่าความเป็นจริง

เนื่องจากข้อห้ามที่ทำให้ผู้ชายต้องหลีกเลี่ยงเรื่องเพศ หรือต้องมีความสัมพันธ์ทางเพศกับภรรยาเพื่อการมีบุตรเท่านั้นทำให้เกิด ความอึดอัดคับข้องใจจนนำไปสู่การมีความสัมพันธ์แบบชั่วคราวกับหญิงรับใช้และหญิงโสเภณี ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างการแพร่ระบาดของกามโรค

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพลักษณ์ความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษของชนชั้นกลางระดับสูงในยุควิกตอเรียนนี้จะถือกำเนิดขึ้นด้วยลักษณะและท่าทีที่ดูเหมือนการเสแสร้งหรือตบตาเพื่อสร้างการยอมรับต่อมาตรฐาน การดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางว่าทัดเทียมกับชนชั้นสูง หากแต่ภาพลักษณ์สุภาพบุรุษของความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษยุควิกตอเรียนของชนชั้นสูงซึ่งมาจากการผสมผสานระหว่างความเป็นชายในบริบทความคิดทางตะวันตกทั้ง 3 ยุคก่อนหน้ากลับมีอิทธิพลในการเป็นมาตรฐานแบบอย่างความเป็นชายแก่ชนชั้นสูงของไทยในเวลาต่อมา

เมื่อความหมายและนิยามของสุภาพบุรุษของสังคมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย ความคิดเรื่องการเป็นสุภาพบุรุษในสังคมไทยก็มีลักษณะไม่แตกต่างจากสังคมตะวันตกมากเท่าใดนัก กล่าวคือ ความเป็นสุภาพบุรุษจะถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงรวมทั้งนักเรียนนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุตรของขุนนางที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อประเทศตะวันตกและสัมผัสกับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะการเข้าสมาคมอันเป็นพื้นที่ของการได้เรียนรู้มารยาททางสังคมและฝึกการเป็นสุภาพบุรุษด้วยศีลธรรมและวินัย อันแสดงถึงลักษณะของความเป็นชายซึ่งได้รับการยอมรับจากสังคม

จึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษชนชั้นสูงยุควิกตอเรียนของสังคมอังกฤษนั้นสอดคล้องกับรสนิยมของชนชั้นผู้นำและชนชั้นสูงของไทยประการหนึ่งที่ว่า ผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษได้นั้นมักจะเป็นกลุ่มชนชั้นสูงหรือ ขุนนางที่มีชาติกำเนิดดี ซึ่งทำให้คติสุภาพบุรุษดังกล่าวผูกโยงทั้งลักษณะการแสดงความเป็นชายและลักษณะทางชนชันเช่นเดียวกับในบริบทสังคม


เชิงอรรถ :

[1] Jame A. Doyle, “The Historical Perspective,” in The Male Experience (Madison, Wis: Brown & Benchmark, 1995), pp. 28-32.

[2] Jame A. Doyle, “The Historical Perspective,” in The Male Experience, pp. 28-30.

[3] Maurice Keen, “Introduction: The Idea of Chivalry,” in Chivalry (London: Yale University Press, 1984), pp. 6-17.

[4] Jame A. Doyle, “The Historical Perspective,” in The Male Experience,p.31,

[5] ไมเคิล ไรท์, “สุภาพบุรุษ,” ศิลปวัฒนธรรม 16, 10 (สิงหาคม 2538):104.

[6] สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1837 พระองค์ทรงเพิ่งบรรลุนิติภาวะและยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ แต่ทรงได้รับคำชี้แนะจากนายกรัฐมนตรี วิลเลียม แลมบ์ ไวสเคานต์ เมลเบิร์นที่ 2 ภายหลังได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เจ้านายราชวงศ์อังกฤษ หลังพระราชสวามีสิ้นพระชนม์ในขณะที่มีพระชันษา 42 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1861 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงโทมนัสและทรงฉลองพระองค์สีดำตลอดพระชนม์ชีพ รวมไปถึงทรงงดพระราชกรณียกิจต่างๆ และไม่ปรารถนาที่จะปรากฎพระองค์ต่อสาธารณชน…ก่อนปรากฎพระองค์ในปี ค.ศ. 1870 การปฏิบัติพระองค์ในด้านความยึดมั่นศีลธรรมและจริยธรรม เป็นผลดีที่ทำให้อำนาจและบารมีกลับคืนสู่สถาบันกษัตริย์ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1901 จึงนับเป็นการสิ้นสุดยุควิกตอเรียนไปด้วย ดูเพิ่มเติมใน สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ยุโรป ค.ศ. 1815-1918 (นครปฐม : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2558), น. 221.

[7] ไมเคิล ไรท์, “สุภาพบุรุษ” ศิลปวัฒนธรรม, น. 105

[8] เรื่องเดียวกัน

[9] สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2551), น. 197.

[10] Jame A. Doyle, “The Historical Perspective,” in The Male Experience, pp. 29-30.

[11] Douglas Sutherland, The English gentleman’s wife (London: Debrett’s peerage Ltd., 1979), pp. 35-41.


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ, สยาม เยนเติลแมน , สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2563


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2565