นักการทูต “สุภาพบุรุษ” ที่ทำผิดศีลธรรมเพื่อประเทศชาติและประชาชน?

ภาพการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย ค.ศ. 1648 โดย เจอราร์ด เตอร์ บอร์ช (Gerard ter Borch) (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Westfaelischer_Friede_in_Muenster_(Gerard_Terborch_1648).jpg)

ประวัติศาสตร์โลกช่วงศตวรรษที่ 17 เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญกับโลกและส่งผลถึงปัจจุบันคือ การเกิดสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของรัฐฆราวาสในยุโรป โดยเป็นผลมาจากความขัดแย้งในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และได้ขยายตัวเป็นสงคราม 30 ปี (Thirty Years War) ในปี ค.ศ. 1618-1648 เป็นความขัดแย้งทางด้านการนับถือศาสนาของคนในรัฐและผู้ปกครองรัฐ โดยสงครามนี้ได้สร้างความสูญเสียให้กับยุโรปหลายด้าน โดยเฉพาะด้านชีวิตของผู้คน จึงต้องมีการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว และได้ก่อให้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) ซึ่งทำให้เกิดรัฐฆราวาส

บทบาทการทำงานของนักการทูตในท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดจากสงคราม และผ่านยุคสมัยที่กำลังจะเปลี่ยนจากรัฐที่ผูกติดกับศาสนามาเป็นรัฐฆราวาสจึงมีความน่าสนใจมาก รูปแบบการทูตในช่วงนี้มีรูปแบบที่ยังไม่เป็นสถาบันทางการเมืองระหว่างรัฐที่เป็นลักษณะแบบการประชุมระหว่างประมุขของรัฐต่างๆ แต่มีรูปแบบคณะทูตถาวร (Resident Ambassadors) ซึ่งเริ่มพัฒนาขึ้นในคาบสมุทรอิตาลีตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 ซึ่งเริ่มมีการยอมรับการเจรจาทางการทูตมากขึ้น [1]

แต่เนื่องจากในช่วงหลังสนธิสัญญาเอาก์สบวร์ก (Peace of Augsburg) ค.ศ. 1555 รัฐยังมีรูปแบบที่ยังไม่เป็นรัฐฆราวาสชัดเจนรัฐกับศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทำให้มีการทูตหลายรัฐที่อำนาจของกษัตริย์ยังไม่มากมักเป็นการทูตที่ผูกโยงอยู่กับคริสตจักร ซึ่งมักแก้ปัญหาแบบแข็งกร้าว โดยการใช้สงครามอันชอบธรรม (Just War) เพื่อกำจัดพวกนอกรีตเพื่อรักษาระเบียบ, อำนาจของพระเจ้า, ศาสนจักร และสันติภาพ [2] ทำให้นักการทูตต้องประสบกับสถานการณ์ตึงเครียดที่สงครามกำลังก่อตัวขึ้น

นักการทูตคนหนึ่งที่เป็นระดับอาจารย์ของวงการนักการทูตคือ เซอร์ เฮนรี วอตตัน (Sir Henry Wotton) นักการทูตผู้ที่มีวาทะทางการทูตมากมาย ซึ่งเขาเองได้เป็นนักการทูตร่วมสมัยกับยุคนี้ โดยเขาได้มีวาทะหนึ่งที่ขึ้นชื่อในวงการนักการทูตคือ “An ambassador is an honest gentlemen sent to lie abroad for the good of his country.” (Sir Henry Wotton, 1604) หรือ “นักการทูตคือสุภาพบุรุษผู้ซื่อสัตย์ที่ถูกส่งไปโกหกเพื่อประเทศของเขา”

เซอร์ เฮนรี วอตตัน (Sir Henry Wotton) นักการทูตอังกฤษ (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Henry_Wotton#/medi /File:Sir_Henry_Wotton_(1568-1639),_Studio_of_Michiel_Jansz_van_Mierevelt.jpg)

ซึ่งประโยคนี้เกิดขึ้นในปี 1604 ในขณะที่เขาไปทำภารกิจที่เอากส์บวร์ก ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเกิดสงคราม 30 ปี วอตตันได้พูดประโยคนี้เป็นการบ่นกึ่งเสียดสีงานของตัวเองในสถานการณ์ยุโรปหลังสนธิสัญญาสันติภาพเอากส์บวร์ก ซึ่งตัวสนธิสัญญานี้เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายหลังการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ (Protestant) จากการปฏิรูปศาสนาของ มาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) และทำให้เกิดสงครามระหว่างชาวคาทอลิกและชาวโปรเตสแตนท์ในบริบทที่รัฐและศาสนาไม่สามารถแยกออกจากกัน ผลของสนธิสัญญานี้ทำให้เจ้าเมืองรัฐนั้นๆ สามารถเลือกศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกหรือโปรเทสแตนท์แบบลูเทอแรนเป็นนิกายประจำรัฐ (Cuius region, eius region) [3] ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้ให้การคุ้มครองนิกายกัลแวง (Calvinism) แล้วยังไม่ได้ปรากฏเป็นรัฐฆราวาสที่แยกรัฐกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน จนนำไปสู่ความขัดแย้งในระลอกถัดไปของสงคราม 30 ปี ใน ค.ศ. 1618 จนถึง ค.ศ. 1648

ในช่วงหลังสนธิสัญญาเอาส์บวร์กนี้เองเป็นช่วงที่ศาสนจักรเริ่มเสื่อมลงเนื่องจากอำนาจของกษัตริย์ที่มากขึ้น แล้วเกิดการอ้างเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ของตัวกษัตริย์เองแทนการรับอำนาจผ่านคริสตจักร การทูตสมัยนั้นจึงเริ่มก่อตัวเป็นการทูตเพื่อกษัตริย์ เช่น ในอังกฤษในสมัยพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งมักอ้างเทวสิทธิ์ให้ตนเองมีอำนาจสมบูรณ์ แต่ก็สามารถประนีประนอมกับสภาในการบริหารประเทศได้จนสวรรคตในปี 1602 [4] ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเดียวกับชีวิตทำงานของวอตตันกับการเป็นนักการทูตให้อังกฤษ ในครึ่งหลังศตวรรษที่ 16 ในช่วงเกิดความขัดแย้งทางศาสนาอันเนื่องมาจากสนธิสัญญาเอาก์สบวร์กและจะก่อตัวเป็นสงคราม 30 ปีในช่วงต้นศตวรรษต่อมา

ทำให้ในช่วงเวลานี้ทูตโดยเฉพาะทูตถาวรนั้นมีบทบาทและภาระงานมาก เหล่าคณะทูตจำเป็นต้องหาข้อมูลทุกรูปแบบให้เหนือกว่าของฝ่ายตรงข้าม โดยมีตัวช่วยแบบที่เป็นทางการคือ เลขานุการส่วนตัวที่ทูตไว้ใจเพื่อช่วยกรั่นกรองข้อมูลหรือเข้ารหัสข้อมูลโดยเชื่อว่าข้อมูลที่ได้จะไม่รั่วไหล และส่งไปยังรัฐต้นสังกัดของนักการทูตนั้น ๆ ได้อย่างปลอดภัย และแบบไม่เป็นทางการคือมักมาจากฝ่ายตรงข้ามที่เป็นหนอนบ่อนไส้ โดยผ่านทั้งเงินสินบน, จากความขัดแย้งภายในองค์กรของรัฐคู่แข่ง หรือผู้ที่นับถือนิกายเดียวกัน ซึ่งไม่น้อยเลยที่เป็นวิธีที่สกปรก

วาทะดังกล่าวของวอตตันเป็นกระจกเงาที่สะท้อนทัศนะของนักการทูตสมัยนั้นที่ต้องประสบกับความตึงเครียดมากภายในยุโรป เนื่องจากภาวะความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางศาสนาที่กำลังจะก่อตัวป็นสงคราม ถึงแม้ปัญหารัฐกับการบังคับใช้ศาสนาให้คนในรัฐจะถูกแก้ปัญหาด้วยสนธิสัญญาเอาก์สบวร์ก แต่ว่าสนธิสัญญานี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาได้ถึงรากของปัญหา ทำให้เกิดความขัดแย้งในระลอกใหม่ระหว่างรัฐในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้เกิดสงคราม 30 ปีในเวลาต่อมา

ความขัดแย้งนี้เองทำให้เหล่านักการทูตที่เดิมทีมองว่าหน้าที่การงานของตนนั้นทรงเกียรติมากและส่วนมากก็มาจากครอบครัวชนชั้นสูงหรือขุนนาง แต่กลับต้องมากลับกลอกพูดปดมดเท็จเล่นทุกวิธีการเองที่สกปรกทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามมา [5]

นอกจากนี้นักการทูตเริ่มคิดว่าหน้าที่ของตนเองนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศ และเป็นตัวแทนของกษัตริย์พร้อมกัน แกเร็ท แมททิงลี่ นักประวัติศาสตร์ยุโรปและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การทูต กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับอาชีพทูตในสมัยนั้นไว้ว่า

“ทูตถาวรคือผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลของตนให้ไปโน้มน้าวนโยบาย หรืออย่างน้อยก็ทัศนคติของรัฐบาลรัฐเจ้าบ้านให้ดำเนินไปในทางทิศทางที่รับประโยชน์แก่รัฐของตน เพื่อลดทอนความขัดแย้งระหว่างกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่รัฐของตน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และ…หากสถานการณ์เลวร้ายลง…ก็เพื่อสดับตรับฟังสัญญาณเตือนและนำสัญญานั้นสื่อไปถึงรัฐบาลของตนเพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม….” [6]

จากวาทะของวอตตันและนิยามหน้าที่การทูตของแมททิงลี่ได้ชี้ให้เห็นว่านักการทูตมองว่าการทำผิดศีลธรรมของตนนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

 


เชิงอรรถ :

[1] ชุติเดช เมธีชุติกุล, “สนธิสัญญาสันติภาพเอาก์สบวร์ก, 1555: ความเสื่อมถอยของสังคมระหว่างประเทศในยุคคริสต์เตียน,” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 3, ฉ. 2 (2559) : 318.

[2] เรื่องเดียวกัน, 321-322.

[3] อนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815, พิมพ์ครั้งที่ 2 (นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560), 57-76.

[4] อภิชา ชุติพงศ์พิสิฏฐ์, “เทวสิทธิ์-เทวราชา : แนวความคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์,” วารสารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ 4, ฉ. 1 (2556) : 51.

[5] บรรพต กำเนิดศิริ, ประวัติศาสตร์การทูตยุโรปตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน: พัฒนาการด้านการทูต (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและสิ่งพิมพ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561), 31-33.

[6] เรื่องเดียวกัน, 36. อ้างจาก Garrett Mattingly, Renaissance Diplomacy (Maryland: Penguin Books, 1964). 

อ้างอิง :

ชุติเดช เมธีชุติกุล. “สนธิสัญญาสันติภาพเอาก์สบวร์ก, 1555: ความเสื่อมถอยของสังคมระหว่างประเทศในยุคคริสเตียน.” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 3, ฉ. 2 (2559): 318-322.

บรรพต กำเนิดศิริ. ประวัติศาสตร์การทูตยุโรปตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน: พัฒนาการด้านการทูต. กรุงเทพฯ: โครงการตำราและสิ่งพิมพ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561.

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. พิมพ์ครั้งที่ 2. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560.

อภิชา ชุติพงศ์พิสิฏฐ์. “เทวสิทธิ์-เทวราชา : แนวความคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์.” วารสารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ 4, ฉ. 1(2556): 51.

Mattingly, Garett. Renaissance Diplomacy. Maryland: Penguin Books, 1964.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2565