แม่น ชลานุเคราะห์ ผู้อ่านคำแถลงการณ์คณะปฏิวัติยุคแรกๆ ของไทย

แม่น ชลานุเคราะห์ ขณะทำหน้าที่อ่านข่าวของกรมประชาสัมพันธ์

แม่น ชลานุเคราะห์ (พ.ศ. 2445-2516) บุตรชาย พระยาชลธารวินิจฉัย และคุณหญิงชื้น ชลานุเคราะห์ อดีตโฆษกวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ผู้อ่านประกาศแถลงการณ์คณะปฏิวัติยคุคแรกๆ ของประเทศไทย ก่อนหน้าอาคม มกรานนท์ (พ.ศ. 2474-ปัจจุบัน) ที่เมื่อ 30 ปีก่อน มักล้อกันว่าได้ยินเสียงอาคมเมื่อใด ก็คือมีการปฏิวัติรัฐประหาร

หากก่อนหน้านั้นในยุคของจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ คือเสียงของแม่น ชลานุเคราะห์

Advertisement

ก่อนมาเป็นข้าราชการในกรมประชาสัมพันธ์ แม่น ชลานุเคราะห์ มีประสบการณ์ที่หลากหลาย เขาเคยทำงานสรรพสามิต เคยเล่นภาพยนต์ ฯลฯ หากความชื่นชอบของเขา คืองานช่าง เช่นเมื่อครั้งไปทำงานเป็นช่างแสง-เสียงกับ “ศรีกรุงภาพยนตร์” แต่มานิต วสุวัต-เจ้าของกิจการเห็นว่าแม่นมีรูปร่างแบบนักกล้าม หน้าตาดี และมีน้ำเสียงดี จึงให้เป็นนักแสดง เป็นพระเอกแทน เช่นเดียวกับเมื่อแม่นมาที่กรมประชาสัมพันธ์ ก็ตั้งใจไปอยู่ที่กองช่างวิทยุกระจายเสียง แต่ด้วยน้ำเสียงใหญ่ กังวาน น่าฟัง จึงให้แม่นลองช่วยอ่านข่าว ปรากฏว่าอ่านได้ดีออกเสียงอักขระชัดเจน เลยได้อ่านข่าวแต่นั้นมา

แม่นเริ่มรับทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์เมื่ออายุ 37 ปี และอยู่จนเกษียณ ผลงานของแม่นที่คนจำนวนมากในยุคนั้นจำได้มีอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือผู้ประกาศผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล กับอีกหนึ่งคือผู้ประกาศแถลงการณ์คณะปฏิวัติ

ช่วงระยะเวลาที่เป็นผู้อ่านประกาศผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือล็อตเตอรี่นั้น เสียงของแม่น ที่ประกาศว่า “ผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่…รางวัลที่หนึ่ง เลขที่ออกได้แก่เลข-สอง-สาม-สี่-ห้า-หก-เจ็ด-แปด…สอง-สาม-สี่-ห้า-หก-เจ็ด-แปด” คือเวลาที่เฝ้าคอยของคนเล่นหวย

แต่สำหรับพ่อค้านายทุน แม่นกลับถูกคุกคาม พวกเจ้ามือกินรวบรายใหญ่ ขู่ว่าให้ระวังตัวบ้าง จะยิงทิ้งบ้าง เหตุก็คือ พวกเขาขอให้แม่นอ่านเลขท้ายผิดบ้างในบางงวดที่เขากะให้ล็อกถล่ม แต่แม่นไม่เอาด้วย จึงถูกข่มขู่ นั่นทำให้แม่นต้องพกปืน ซึ่ง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ มอบให้พร้อมใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน

ส่วนการเป็นผู้ประกาศแถลงการณ์คณะปฏิวัตินั้น เริ่มหลังจากทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์มาประมาณ 12 ปี โดยงานแรกที่แม่นอ่านก็คือ “กบฏแมนฮัตตัน” (29 มิถุนายน 2497) ที่ตนเองอยู่ในเหตุการณ์ หมู่ชล ชลานุเคราะห์ น้องชายแม่นเล่าเหตุในวันนั้นว่า

“วันเกิดบฏ พี่แม่นมีหน้าที่เป็นผู้อ่านระเบียบพิธีการ เป็นโฆษกในงานว่าอย่างนั้นเถอะ เท่าที่พี่แม่นเล่า แกบอกว่า ในวันเกิดเหตุแกยืนอยู่ที่ไมโครโฟนผู้ประกาศ จู่ๆ นาวาตรีมนัส จารุภา ก็จี้จอมพล ป. พี่แม่นแกตกใจรีบขยับตัวออกจากไมโครโฟน นาวาตรีมนัสไม่ฟังเสียงยิงปืนขึ้นฟ้าผ่านพี่แม่นไปชุดหนึ่ง ทั้งพี่แม่นทั้งคณะทูตานุทูตหมอบลงเป็นแถว

พี่แม่นบอกว่าแกกลิ้งไปตามถนนพอเห็นนาวาตรีมนัสคล้อยไปนิดแกก็รีบวิ่งหนีเข้าไปมุดในรถแท็กซี่ว่าจ้างให้ไปส่งที่วังสวนกุหลาบ แกไปรายงานหลวงเสนาณรงค์ หลวงเสนาณรงค์ก็พาแกเข้าหาจอมพลผิน จอมพลผินก็ตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนคร ตั้งคุณเผ่าเป็นรองรักษาพระนคร คืนนั้นเขาเอาตัวพี่แม่นไว้ในนั้น

พี่แม่นเป็นผู้ประกาศฝ่ายรัฐบาลจนปราบกบฏเสร็จ เมื่อปราบกบฏเสร็จ คุณเผ่าก็เรียกพี่แม่นให้เข้าไปพบที่วังปารุสก์ แล้วมอบแหวนอัศวินทองคำฝังเพชรให้วงหนึ่ง ปืนโคลท์ เก้า ม.ม. อีกกระบอกหนึ่ง ”

หลังจากนั้นเมื่อมีการปฏิวัติครั้งใด ทหารก็จะมาตาม แม่น ชลานุเคราะห์ ไปเป็นผู้อ่านคำแถลงการณ์คณะปฏิวัติ

ไม่ว่าจะเป็นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือผู้นำคนอื่นๆ แต่ครั้งที่วุ่นวายที่สุดก็คือ ครั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการปฏิวัติปี 2500 ที่ดูเคร่งเครียด นายทหารสัญญาบัตรหลายนาย พร้อมอาวุธในมือมาทุบประตูเรียกประมาณ ตี 2 ตี 3 จึงทำให้คนในบ้านตกอกตกใจ แล้วทหารก็พาแม่นนั่งรถทหารไปในคืนนั้น ขากลับทหารก็มาส่ง เช้าวันถัดมารถทหารก็มารับที่บ้าน กลางคืนมาส่ง เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน

“ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. หลวงถวัลย์อะไรต่ออะไร พี่แม่นแกเคยไปอ่านแถลงการณ์คณะปฏิวัติทุกครั้ง เช้านั่งรถไป เย็นก็นั่งรถกลับ วันสองวันก็เรียบร้อย คราวจอมพลสฤษด์นี่มันหลายวัน แล้วมีทหารติดจี๊ปปืนกลมารับมาส่งด้วย แกคงรำคาญ บ่นให้ผมได้ยินว่า ‘แหม-ยุ่งจิงโว้ย ต้องมารับมาส่งด้วย นั่งรถเมล์ก็ไม่ได้’ แต่ผมว่า แกคงนั่งมาสบายมากกว่า เพราะรถจี๊ปทหารที่มารับมาส่งตอนนั้นมันพ่วงมอเตอร์ไซค์ ทหารเขาให้แกนั่งตรงมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง (ไม่ได้นั่งในรถจี๊ป) ผมว่าแกคงนั่งหัวสั่นหัวคลอนมากกว่า” ชลหมู่กล่าว

แต่ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งคือผู้ประกาศผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือผู้ประกาศแถลงการณ์คณะปฏิวัติ นี่ไม่ได้เป็นเรื่องที่มีในหัวแม่นมาก่อน เพราะเรื่องที่มีอยู่ในความสนใจ และชอบจริงของเขาก็คือ งานช่าง ช่างไฟ ที่กลับไม่ค่อยได้ทำงาน

 


ข้อมูลจาก :

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “นายแม่น ชลานุเคราะห์ โฆษกคณะปฏิวัติ และผู้ประกาศล็อตเตอรี่ จากปากคำของชลหมู่ ชลานุเคราะห์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2534


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2565