หมอฝรั่งในอดีตชี้ คนไทยรักสะอาด แต่กำจัดขยะง่ายๆ “โยนทุกสิ่งลงแม่น้ำ”

วัดประยุรวงศาวาส แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธน ธนบุรี จังหวัดธนบุรี โยนทุกสิ่งทุกอย่างลงในแม่น้ำ
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายบริเวณ วัดประยุรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี นิวาสสถานของสกุลบุนนาคในสมัยรัชกาลที่ 5

หมอฝรั่งในอดีตชี้ คนไทยรักสะอาด แต่กำจัดขยะง่ายๆ โยนทุกสิ่งทุกอย่างลงในแม่น้ำ

ช่วงที่การสาธารณสุขของคนไทยในอดีตยังไม่ได้เจริญก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนมักผูกพันกับสายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการอาบ ดื่ม กิน หรือซักล้าง ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับเชื้อโรคโดยไม่ทันระวัง จาก “ขยะ” หรือสิ่งอันใดที่ไม่พึงประสงค์ เพราะคนสยามสมัยนั้นมัก “โยนทุกสิ่งทุกอย่างลงในแม่น้ำ” 

โรคที่เป็นกันส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร อาทิเช่น โรคท้องร่วง อหิวาตกโรค โรคไทฟอยด์ และโรคบิด

Advertisement
แม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นพระบรมมหาราชวังและเรือนแพที่พักชาวสยาม ภาพเขียนหลังเหตุการณ์ไข้ห่าระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ในหนังสือของครอว์เฟิร์ด (ภาพจาก Journal of An Embassy to the Courts of Siam And Cochin China by John Crawfurd. Oxford University Press, 1967)

ตามข้อมูลที่ ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียนบทความ “พัฒนาการของการใช้ยาฝรั่งในกรุงสยาม” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2552 สืบค้นพบว่า ประชาชนในอดีตต้องเผชิญโรคภัยต่าง ๆ รวมถึงโรคระบาดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

กระทั่งจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการรักษาพยาบาลมาสู่รูปแบบใหม่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เริ่มโดยคณะมิชชันนารีที่เข้ามาพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนา จากนั้นการใช้ยาฝรั่งก็ได้แพร่หลายไปสู่กลุ่มคนหลายระดับโดยที่รัฐก็มีส่วนส่งเสริม

สำหรับสภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต มัลคอล์ม สมิธ นายแพทย์ที่เข้ามารับใช้ราชสำนัก เป็นผู้ถวายการดูแลสมเด็จพระนางเจ้า เสาวภาผ่องศรี ในสมัยรัชกาลที่ 6 บันทึกไว้ใจความตอนหนึ่งว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“… แหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวสยาม คือ น้ำในแม่น้ำในกรุงเทพฯ ระดับน้ำมักจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอ ดังนั้น ตลอดฤดูฝน ผู้คนจึงจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้สำหรับใช้ซึ่งคนที่พิถีพิถันจริงๆ จึงจะทำเช่นนั้น นับจากเดือนตุลาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายนจะไม่มีฝนตกลงมาอีกเลย น้ำในแม่น้ำลำคลองจึงเริ่มแห้ง และขุ่นลงทุกที และเมื่อล่วงเข้าเดือน เมษายนน้ำจะเริ่มมีรสชาติกร่อย

เมื่อถึงเวลานั้นอหิวาตกโรคจะแพร่ระบาดเป็นประจำทุกปี ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายที่ผู้คนต้องจบชีวิตลงด้วยโรคร้ายนี้คราวละหลายๆ พันคน…

โดยส่วนตัวแล้วชาวสยามมีนิสัยรักความสะอาด ส่วนใหญ่จะอาบน้ำกันวันละสองครั้ง แต่กรรมวิธีในการกำจัดขยะมูลฝอยของพวกเขายังคงล้าสมัยอยู่มาก ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเรือนแพหรือตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองมีวิธีจำกัดขยะอย่างง่ายๆ คือ โยนทุกสิ่งทุกอย่างลงในแม่น้ำ…”

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บก็คือ ความไม่ก้าวหน้าด้านการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลของเสียจากการขับถ่ายรวมถึง “ขยะ” ยังไม่ดีพอนัก ทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมเป็นแหล่งสกปรกที่ชุมไปด้วยของเสียต่าง ๆ ชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสกปรกเหล่านี้ ได้แก่ ชุมชนชาวจีนบริเวณถนนสำเพ็ง เยาวราช และเจริญกรุง อันแสดงถึงจำนวนประชากรที่อาศัยกันอย่างหนาแน่นทำให้เกิดปฏิกูลของเสียจำนวนมาก

การ์ตูนล้อเลียน กองขยะเหม็นเน่า หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์
ภาพการ์ตูนล้อเลียนกองขยะเหม็นเน่า หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ วันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2464

สภาพการสุขาภิบาลของกรุงเทพฯ ส่งผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โรคที่พบได้บ่อย และสร้างความเสียหายในสมัยรัตนโกสินทร์คือ อหิวาตกโรค ที่มีระบาดอย่างหนักในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2363 โรคอหิวาต์จึงเป็นตัวอย่างของผลจากสภาพการสุขาภิบาลที่ขาดสุขลักษณะอันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายโรคที่บั่นทอนสุขภาพของคนไทย เช่น ไข้ทรพิษ และกาฬโรค ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. “พัฒนาการของการใช้ยาฝรั่งในกรุงสยาม”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2552.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2565