ใครคือเจ้านายและบุคคลสำคัญที่ป่วยด้วย “โรคระบาด” ในประวัติศาสตร์ไทย

ภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ (ซ้าย) พระสงฆ์กำลังขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นัยว่าคงเตรียมขึ้นสวดอาฏานาฏิยปริตร (บน) ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน จะเห็นนางในทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ซึ่งมีขึ้นเมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรคระบาด ในรัชกาลที่ 2 (ภาพจากหนังสือราชประดิษฐพิพิธทรรศนา)

สถานการณ์โรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นในโลกและในประเทศไทย แม้บางท่านอาจเห็น ว่าความรุนแรง และรวดเร็วของการระบาดเทียบไม่ได้เลยกับโควิด 19 ในปัจจุบัน แต่ความก้าวหน้าวิชาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะใช้รักษาโรคขณะนั้นก็เทียบไม่ได้กับขณะนี้เช่นกัน

โรคระบาดสำคัญๆ อย่าง โรคอหิวาตกโรค, ไข้ทรพิษ, กาฬโรค จึงคร่าชีวิตผู้คนนับแสนชีวิต  

ในประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่า มีบุคคลสำคัญตั้งแต่ พระมหากษัตริย์, เจ้านายชั้นสูง, เสนาบดี, คณะทูต ฯลฯ ทรงป่วย/ป่วย โดยเฉพาะอหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ ที่มีการระบาดเกิดขึ้น ซึ่งบางกรณีก็ถึงขั้น “เสียชีวิต” ไม่น้อยที่เดียว ตัวอย่างเช่น

อหิวาตกโรคระบาดในรัชกาลที่ 2 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งแรก (พ.ศ. 2360-66) จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดพระนคร โรคระบาดมากอยู่ราว 2 สัปดาห์ แต่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจนเผาศพไม่ทัน จนมีคำเปรียบเทียบว่า “ศพที่ป่าช้าตามวัดต่างๆ ก่ายกันเหมือนกองพื้น”

ครั้งนั้นนอกจากประชาชนที่เสียชีวิตหลายหมื่นคนแล้ว ในปี 2363 ยังมีพระบรมญาติพระองค์เจ้าหญิง 2 พระองค์สิ้นพระชนม์ และคณะราชทูตเวียดนาม (ที่เชิญพระราชสาส์นของพระมหากษัตริย์เวียดนามซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์เข้ามาถวาย) เสียชีวิต ต่อมาในปี 2365 มีพระเจ้าน้องยาเธอ 1 พระองค์ สิ้นพระชนม์ด้วยอหิวาตกโรคระบาด [1]

ในรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคเกิดระบาดขึ้นมากในปี 2392 ซึ่งตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2389-2405) เสนาบดีคนสำคัญสมัยนั้น ได้แก่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอหิวาตกโรคที่บ้านหลวงริมคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นบ้านพระราชทานในคราวนี้ด้วย

“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอาลัยในขุนพลแก้วของพระองค์ จะเสด็จไปพระราชทานน้ำอาบศพ การก็ขัดข้อง ด้วยเป็นเวลากําลังไข้ระบาดอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศสูงเท่าที่จะพระราชทานแก่เสนาบดี อันมีทองคําปิดหน้า ศพ 1 ซองทองคํามีธูปเทียนดอกไม้ให้ศพถือ 1 ตลอมพอกพัน โหมดเทศ มีเกี้ยวทองคําสวมศีรษะศพ 1 เสื้อครุยสําริดทอง และ ผ้าสมปักลายนุ่งศพสํารับ  ผ้าส่านเทศสีขาวหุ้มห่อศพ 1 โกศไม้ สิบสองลายกุดั่นปั้นด้วยกากรัก ปิดทองคําเปลว พร้อมชั้นแว่นฟ้า รองโกศสองชั้น 1…” [2]

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 เกิดอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ขึ้นอีก 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2435 และปี พ.ศ. 2443 การระบาดทั้งสองครั้งนี้ไม่มีบันทึกไว้ในที่ใด นอกจากในหนังสือ “McFarland of Siam” แต่งโดย Bertha Blount McFarland (อ้างอิงจากอนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505) มีบันทึก

 “พ.ศ. 2443 เป็นปีอหิวาต์ นับว่าเป็นการระบาดร้ายแรงที่สุดคราวหนึ่ง มีคนตายหลายหมื่นคน พี่ชายพระอาจวิทยาคม ชื่อ วิลเลียม แม็คฟาร์แลนด์ ก็ป่วยเป็นอหิวาตกโรคถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ…” [เน้นโดยผู้เขียน]

ส่วนไข้ทรพิษ ที่แม้ปัจจุบันถูกกำจัดไปจากธรรมชาติอย่างสมบูรณ์หมดไปจากโลก(ตามประกาศขององค์การนามัยโลก 9 ธันวาคม 2522) ก็ตาม แต่ก่อนหน้าในไทย ไข้ทรพิษเคยระบาดจนมีผู้ป่วยหลายหมื่นคน ในจำนวนนั้นมีบุคคลสำคัญระดับประเทศหลายคนเคยเจ็บป่วยด้วยโรค และบางรายก็ถึงแก่ชีวิต ตัวอย่างเช่น

สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษจนสวรรคต และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งที่ตามเสด็จสมเด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชา เพื่อยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงษาวดีตีลานช้างในปี 2117 พระนเรศวรประชวรด้วยไข้ทรพิษ พระเจ้าหงษาวดีจึงอนุญาตให้พระองค์ยกทัพกลับ

สมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยามหิธร(ลออ ไกรฤกษ์)  เมื่ออายุ 10 ปีก็ป่วยเป็นไข้ทรพิษ ถูกทิ้งให้นอนบนใบตองอยู่ตนเดียว นอกจากมารดาไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ [3] และพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทยเมื่ออายุ 2 ปี ก็เคยป่วยเป็นไข้ทรพิษ [4]

 


เชิงออรรถ

[1] ประเมิน จินทวิมล.”ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย”ใน อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505

[2] รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ. เจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมหุนายก แม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการในสงครามอานามสยามยุทธ์

[3] เรื่องเจ้าพระยามหิธร. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหินธร(ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเพทศิรินทราวาส วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

[4] ส. พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์, สำนักพิมพ์มติชน 2555


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 30 มีนาคม 2563