
เผยแพร่ |
---|
“ควีนวิกตอเรีย” ราชินีแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (และจักรพรรดินีแห่งอินเดีย) ประมุของค์สุดท้ายของอังกฤษจากราชวงศ์ฮันโนเวอร์ ความยิ่งใหญ่ของพระนางทำให้ยุคที่พระองค์มีพระชนมชีพถูกเรียกว่า “ยุควิกตอเรีย”
ชีวิตของพระองค์มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เริ่มจากการขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์โดยขัดต่อ “กฎหมายซาลิก” (Salic Law เป็นกฎหมายแห่งชนชาติแฟรงก์ อันรวมถึงกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามสตรีขึ้นครองบัลลังก์) การพาอังกฤษสู่ความยิ่งใหญ่ และชีวิตรักส่วนตัวของพระองค์
ในประเด็นหลัง ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้แจกแจงไว้ใน “เรื่องที่คนเขียนประวัติศาสตร์ไม่อยากให้คน (วงนอก) รู้” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559 ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ลับระหว่างพระองค์กับคนรับใช้ที่ชื่อ “จอห์น บราวน์”
ไกรฤกษ์กล่าวว่า รัชสมัยของควีนวิกตอเรีย (ค.ศ. 1838-1901) ถูกตีแผ่อย่างครึกโครมว่าแท้จริงพระนางอาจไม่ใช่บุคคลสำคัญผู้ปลุกปั้นจักรวรรดิอังกฤษจนยิ่งใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ไม่ตกดินในดินแดนของอังกฤษ ด้วยทรงขาดวุฒิภาวะ ทั้งยังขาดประสบการณ์ด้านการเมืองการปกครองและไม่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำ
ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลงเมื่อพระองค์อภิเษกสมรสกับ เจ้าชายอัลเบิร์ต (Prince Albert) เจ้าชายองค์นี้เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการปกครองคนจึงมีส่วนช่วยประสานงานกับรัฐบาล และคุมบังเหียนคณะรัฐมนตรีนำพาประเทศอังกฤษแทนควีนไปสู่ความเฟื่องฟูทางการเมืองและการต่างประเทศ
[ว่ากันว่า อิทธิพลของเจ้าชายอัลเบิร์ตต่อควีนวิกตอเรียมีมากขนาดที่พระนางเจ้าต้องพึ่งพาพระสวามีในทุกๆ เรื่อง จนมีการกล่าวว่า “พระนางจะไม่ทรงสวมฉลองพระองค์หรือพระมาลาใดๆ หากยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าชายอัลเบิร์ต” (“Victoria” Encyclopedia Britannica)]
จากข้อมูลของ ไกรฤกษ์ เจ้าชายอัลเบิร์ตคือ “ยอดชายในดวงใจ” ผู้เพียบพร้อมไปทุกสิ่ง แต่ความสุขของทั้งสองพระองค์ก็แสนสั้นเพียง 10 ปี เมื่อ เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุเพียง 42 พรรษา จากไข้ไทฟอยด์และหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
หลังเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ ควีนวิกตอเรียก็เก็บพระองค์อยู่แต่ในวัง ราษฎรไม่ได้เฝ้าแหนเป็นเวลาหลายปี เพราะแทบไม่เสด็จลงมาประทับที่พระราชวังวินด์เซอร์ สร้างความลำบากใจให้แก่เสนาบดีและคณะรัฐบาลเป็นอันมากที่ต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ เป็นระยะทางไกลๆ
แต่การมาถึงของมหาเล็กคนใหม่นามว่า “จอห์น บราวน์” อดีตมหาดเล็กต้นห้องคนเก่าของเจ้าชายอัลเบิร์ตดูเหมือนจะช่วยให้ความทุกข์ระทมของควีนได้บรรเทาลง แต่ความใกล้ชิดของทั้งคู่ “เป็นที่มาของเสียงซุบซิบนินทาถึงความไม่เหมาะสมของควีนกับจอห์นหนาหูขึ้นเรื่อยๆ”
“ข่าวลือนี้โหมกระพือขึ้นอีกเมื่อควีนทรงใช้สรรพนามถึงจอห์นในลายพระหัตถ์แบบไม่ถือพระองค์ว่า ‘Darling’ และการที่พระราชโอรสธิดาของควีนกล่าวถึงจอห์นอย่างเหน็บแนมว่า ‘คนรู้ใจเสด็จแม่’” ไกรฤกษ์ระบุ
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีการอ้างว่าถึงขั้นจดทะเบียนสมรสกัน โดยในบทความระบุว่า “นายฮาร์คอร์ต (Lewis Harcourt) ให้การว่าบิดาของท่านผู้มีนามว่า Sir William Harcourt ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วงทศวรรษ 1880 เคยทราบจากคำบอกเล่าของบาทหลวง Norman Macloed ว่าท่านบาทหลวงได้เคยร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีจดทะเบียนสมรสระหว่างควีนกับจอห์นใน ค.ศ. 1866”
นอกจากนี้ ไกรฤกษ์ระบุว่า “นายนอริช” (John Julius Norwich) นักประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ทะเบียนสมรสดังกล่าวมีอยู่จริง โดยถูกเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บเอกสารที่ไม่เปิดเผยของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ณ กรุงลอนดอน
“นายนอริชให้ความเห็นว่าเกียรติประวัติภายนอกกับบุคลิกภายในของควีนวิกตอเรียแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ภาพลักษณ์ภายนอกของแม่หม้ายผู้ซื่อตรงต่อพระสวามี แม้จะเป็นจริงและเป็นที่รับรู้ของคนโดยมาก แต่ความสัมพันธ์นอกสมรสของควีนกับจอห์นมหาดเล็กก็เป็นข้อมูลหยุดโลกที่ไม่มีใครกล้าบันทึกไว้ตลอดรัชสมัย” ตอนหนึ่งจากบทความของ ไกรฤกษ์ ระบุ
ข้อมูลจากบทความ ““เรื่องที่คนเขียนประวัติศาสตร์ไม่อยากให้คน (วงนอก) รู้” โดย ไกรฤกษ์ นานา ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 กรกฎาคม 2559