คดีโจรกรรมแผนที่ครั้งประวัติศาสตร์ พ่อค้าดังผันเป็นโจรนานหลายปี แล้วเกมได้อย่างไร?

ภาพประกอบเนื้อหา - แผนที่ และอุปกรณ์ต่างๆ บนโต๊ะทำงาน

แผนที่เก่าอาจดูไม่น่าสนใจในสายตาคนทั่วไป โดยเฉพาะในยุดที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท แต่ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว แผนที่เก่าอาจเก็บงำข้อมูลสำคัญและฐานข้อมูลของชุมชนดั้งเดิมหรือตำแหน่งทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะเมื่อเป็นต้นฉบับ ทว่า คนส่วนใหญ่ก็มองข้ามคุณลักษณะพิเศษนั้นจนหมด นอกจากคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ยอมทุ่มเงินมหาศาลให้ได้ครอบครองมัน แม้จะต้องแลกด้วยเงินค่าไถ่ สินบน ชื่อเสียง หรือแม้แต่ด้วยการโจรกรรม

ตามข้อมูลที่ไกรฤกษ์ นานา ผู้เขียนบทความ “ปิดคดีโจรกรรมประวัติศาสตร์ แผนที่เก่าต้นฉบับจะมีค่าก็ต่อเมื่อถูกขโมยไปเท่านั้น” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2559 สืบค้นนั้น บรรยายไว้ว่า แผนที่บนกระดาษเก่าล้วนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงขอบเขตความเป็นรัฐชาติความมีอธิปไตย และความมีเอกภาพเหนือดินแดนของกลุ่มชนในพื้นที่

แผนที่ต้นฉบับเป็นหลักฐานที่บันทึกเส้นทางที่แสดงพิกัดของภูมิประเทศก่อนที่กล้องถ่ายรูปจะถูกคิดค้นขึ้นมานานกว่า 500 ปี และได้กลายเป็นข้อมูลชิ้นเอกที่คนในสมัยหลังใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้

ชาวตะวันตกเป็นนักสะสมข้อมูลตัวยงจากแผนที่เพื่อเรียนรู้มากกว่าคนในทวีปอื่นๆ และผู้มีความรู้มักแสวงหาแผนที่ต้นฉบับมาไว้ในครอบครอง เพื่อประดับความรู้ เพื่อแสดงฐานะทางสังคม หรือเพื่อผลกำไรจากการซื้อขายมัน แผนที่เก่าแบบต้นฉบับกลายเป็นของสะสมของผู้มีอำนาจ เศรษฐี หรือผู้มีอิทธิพล และเป็นของหายากที่มีค่า มีราคา เป็นที่ต้องการอย่างมากในสังคมตะวันตก

แผนที่เก่าเมืองไทย หลักฐานที่สูญหายจากเมืองไทย

ตามประวัติศาสตร์ไทยกล่าวไว้ว่า คนไทยในอดีตกาล ล้วนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของแผนที่มากนัก เพราะในสมัยนั้นเป็นสมัยของการล่าเมืองขึ้น ทำให้ราชอาณาจักรมีขอบเขตการขยายออกไปเรื่อยๆ อย่างกว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีการกำหนดขอบเขตเป็นที่แน่ชัด

ซึ่งในขณะนั้นเอง การจัดทำแผนที่มักเป็นความถนัดของชาวยุโรปที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลและแข่งขันกันขยายเมืองขึ้นในเอเชีย จุดเริ่มต้นของแผนที่ที่จัดทำขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย มีหลักฐานพบว่า เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231) ทรงมีรับสั่งให้นายช่างชาวฝรั่งเศสชื่อ “ลาแมร์” (Lamare) วาดแผนที่ร่องน้ำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ในการเดินเรือสินค้าและเก็บไว้ใช้ในยามสงคราม

แผนที่สยามในยุคแรกเป็นแผนที่วาดอย่างหยาบๆ ของร่องแม่น้ำเจ้าพระยาและเกาะแก่งตามแนวชายฝั่ง เป็นแผนที่ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชดำรัสสั่งให้ชาวฝรั่งเศสจัดทำขึ้นเฉพาะจุด ตามหลักฐานบันทึกของต้นฉบับรับรองว่า

“แผนที่และแผนผังเกาะสงขลา และบริเวณใกล้เคียงซึ่งคลุมถึงสภาพหนึ่งของเขตจังหวัดละคร(นครศรีธรรมราช) และพัทลุง สำรวจใน ค.ศ.1687(พ.ศ.2230)
ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยามโดยนายช่างลาแมร์
แลละติจูดต่างๆ ของสงขลา ละคร และพัทลุงใต้ ได้ตรวจหาอย่างถูกต้อง”

แผนที่ของประเทศไทยในสมัยสมด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีปรากฏให้เห็นในหนังสือของชาวต่างชาติที่แต่งเรื่องราวของเมืองไทยในสมัยนั้น เช่น Historical Relation of The Kingdom of Siam ของลาลูแบร์ มีแผนที่ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น แผนที่ประเทศไทยทั้งประเทศ แผนที่ทางทะเลแสดงที่อยู่ของป้อมและหมู่บ้านตามชายฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น นอกจากแผนที่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทำแผนที่ประเทศไทยขึ้นอีก จนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แผนที่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ถึงราชกาลที่ 4 ยังคงตกอยู่ในมือและความเข้าใจของชาวยุโรปเท่านั้น มิได้เกิดจากการจัดการโดยชาวสยามเอง เป็นข้อมูลที่กะประมาณกันขึ้นมาเอง ยังไม่มีการวัดจริงจัง ไม่มีพิกัดภูมิศาตร์ และโน้มเอียงไปทางคาดเดา และคัดลอกจากแผนที่ฉบับเก่าต่อๆกันมา

อีกหนึ่งหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่ายุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของสยามมีความหมายและเคยปรากฏอยู่บนแผนที่ฉบับสากลของโลก และมีความสำคัญต่อมนุษยชาติในทรรศนะของฝรั่ง คือ “แผนที่โครงการขุดคอคอดกระของชาวฝรั่งเศส” เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2424 ซึ่งมีนายเดอลองก์ (Monsieur F.) ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำแผนที่คอคอดกระขึ้นเป็นครั้งแรก

แต่แผนที่ฉบับนี้ก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของชาวสยามเลย และได้สูญหายไปจากเมืองไทยนานกว่า 135 ปี และจะกลับมามีคุณค่าอีกครั้งก็ต่อเมื่อคนไทยสมัยปัจจุบันตระหนักถึงมูลค่าของมัน

แผนที่ต้นฉบับในทรรศนะของฝรั่ง

ทั้งนี้ในเวลาต่อมาก็เกิด “แผนที่ราชอาณาจักรสยามฉบับแมคคาร์ธี” ในปี พ.ศ.2431 ซึ่งนับได้ว่าเป็นแผนที่ฉบับแรกของไทยอย่างเป็นทางการที่ชาวต่างชาติยอมรับได้

แผนที่ต้นฉบับจึงมีความจำเป็นต้องถูกผลิตขึ้นตามวิถีแบบสากลนิยมโดยนักสำรวจผู้เชี่ยวชาญเพื่อการยอมรับของนานาอารยประเทศในโลกสากล อันเป็นทัศนคติที่เป็นแบบแผนมานับพันปีในสังคมของชาติตะวันตก

ความคิดที่จะสร้างแผนที่ของคนยุคโบราณเกิดขึ้นมากกว่า 200 ปี ก่อนการสะสมแผนที่เป็นงานอดิเรกของคนยุคใหม่ที่มองว่าแผนที่ต้นฉบับเป็นของเก่าที่น่าสะสมไว้ โดยมีการสันนิษฐานว่าแผนที่เพื่อการสะสมเกิดขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีมานี้เอง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แผนที่โลก “ฉบับแรก” มีอายุประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นภาพวาดอยู่บนหินชนวนหลายแผ่นโดยร่องแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates)

แผนที่รุ่นต่อมาพบในอียิปต์ วาดอยู่บนกระดาษปาปิรุส แสดงเหมืองทองคำและแม่น้ำไนล์ แผนที่ร่วมสมัยเดียวกันเป็นแผนที่ของกรุงโรม มีความยาวถึง 22 ฟุต แสดงภาพถนนสายต่างๆ ที่มุ่งสู่กรุงโรม

ยุคโบราณที่ทำแผนที่เฟื่องฟูที่สุดคือ ยุคกรีกเรืองอำนาจ ณ เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ถูกสร้างโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อ 332 ปีก่อนคริสตกาล ที่นั่นเป็นที่ตั้งของห้องสมุดขนาดใหญ่ มีหลักฐานความรู้ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

ห้องสมุดแห่งนี้บริหารงานโดย “ปโตเลมี” (Ptolemy มีนามเดิมแบบกรีก-โรมันว่า Claudius Ptolemaeus) ท่านได้เขียนตำราทางภูมิศาตร์ ดาราศาสตร์ขึ้น 2 เล่ม ชื่อว่า Almagest และ Geographia ซึ่งบอกกล่าวถึงความรู้ทางภูมิศาตร์และนักปราชญ์ในยุคโบราณ ตลอดจนคำบอกเล่าของนักเดินทางยุคบุกเบิกในสมัยดึกดำบรรพ์

โดยเฉพาะหนังสือ Geographia นั้นมีแผนที่โบราณแทรกอยู่ด้วยถึง 27 แผ่น พร้อมกับการกำหนดเส้นรุ้งเส้นแวง และสัณฐานประมาณของแผ่นดินต่างๆ บนโลกมนุษย์ ซึ่งจะกลายเป็นแม่แบบของการสร้างแผนที่โดยนักปราชญ์ชาวยุโรปในสมัยต่อมา

นอกจากนี้ แผนที่โลก (ต้นฉบับ) ของปโตเลมีก็เป็นแม่แบบและเข็มทิศนำทางของนักสำรวจโลกสมัยต่อมาด้วยความศรัทธา ผู้คนพบเส้นทางตะวันออกอ้อมแหลมกู๊ดโฮ้ป อย่างบาร์โทโลมิว ไดแอส (Bartolomeu Dias) หรือคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ก็ล้วนใช้แผนที่ของปโตเลมีเป็นตำราทั้งสิ้น

อาจกล่าวได้ว่าแผนที่ต้นฉบับของนักปราชญ์ยุโรปเป็นตำราแห่งความรู้และแรงบันดาลใจที่ผลักให้เกิดการสำรวจโลกภายหลัง ทั้งยังเป็นแม่แบบของความคิดและความเชื่อทั้งมวลที่สะท้อนภูมิปัญญาและทัศนคติของคนยุคต่อมาที่เรียกตัวเองว่านักสำรวจโลกอย่างแท้จริง ทำให้เกิดกระแสการสร้างแผนที่อย่างดาษดื่นและเฟื่องฟูในสมัยต่อมา

แผนที่ต้นฉบับและที่ “ปล่อยของ”

เป็นเวลาร่วม 200 ปีมาแล้วที่หอสมุดใหญ่ๆ ตามมหานครหลวงชั้นเอกของโลก เช่น ลอนดอน นิวยอร์ก อัมสเตอร์ดัม ปารีส โรม เป็นที่เก็บรักษาแผนที่โบราณนับหมื่นชิ้นของนักสำรวจชั้นแนวหน้าของโลก

คลังแผนที่โบราณที่ใหญ่ที่สุดในโลกและสถานที่เกิดเหตุในเรื่องนี้ได้แก่ หอสมุดไบเนกี (Beinecke Rare Book and Manuscript Library) ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา และหอสมุดบริติซ (British Library) ณ กรุงลอนดอน สองแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บแผนที่โบราณนับหมื่นชิ้น

แผนที่เก่าต้นฉบับจัดอยู่ในประเภทหนึ่งของวัตถุโบราณ แบบเดียวกันกับภาพวาดโบราณอย่างศิลปินเอก เช่น ปิกัสโซ และเป็นของสะสมที่ไม่เฉพาะคนมีเงินระดับเศรษฐีต้องการไว้ครอบครองเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นขุมทรัพย์ทางวิชาการที่เก็บงำความลับทางประวัติศาตร์ของชาติบ้านเมืองที่อาจเป็นข้อมูลชิ้นเดียวที่หลงเหลืออยู่

การที่แผนที่เก่าต้นฉบับถูกเก็บไว้ในคลังของหอสมุดเพื่อการศึกษาของคนรุ่นใหม่ ทำให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงได้ง่ายและจับต้องเอกสารโบราณเหล่านี้เฉกเช่นหนังสือเก่าตามนิยามของห้องสมุดทั่วๆไป ทั้งที่มันมีมูลค่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็มีข้อเสียที่เป็นช่องโหว่และจุดอ่อนของเอกสารแนวนี้ อาจทำให้มีผู้ไม่หวังดีลักลอบเข้าไปลักขโมยได้ง่าย

โดยปกติ ความสนใจและการเข้าถึงแผนที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้มีความรู้ดี ดูมีภูมิฐาน ทำให้บรรณารักษ์ผู้ดูแลแผนที่ไม่ค่อยได้เพ่งเล็งผู้คนที่เข้ามาจับต้องเอกสารโบราณเหล่านี้สักเท่าไหร่

พ่อค้าแผนที่ชื่อดังผันตัวเองเป็นโจร

หนึ่งในคดีโจรกรรมแผนที่ต้นฉบับชื่อดังของโลก ผู้ร้ายในคดีนี้คือ สไมลี่ (E. Forbes Smiley) เป็นชายชาวอเมริกัน เติบโตมาในตระกูลชนชั้นกลางแต่มีระดับ และเติบโตมาในครอบครัวอนุรักษ์นิยม ที่ถูกปลูกฝังให้รักการอ่านการเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก

สไมลี่ มีความรู้ทางด้านโบราณคดีอย่างแน่นแฟ้น จึงทำให้หน้าที่การงานของเขาในวัย 23 ปี ลงเอยด้วยการเป็นพนักงานร้านหนังสือเก่า และถูกวางตัวเป็นพนักงานในแผนก “แผนที่โบราณ” ดูแลสินค้าที่ต้องใช้ความรู้ทางโบราณคดีเป็นพิเศษ

ขณะที่สไมลี่ เป็นลูกจ้างใหม่นั้น เขาได้หาความรู้เพิ่มเติมในสาขาวิชาชีพอย่างไม่หยุดหย่อน โดยการแวะเวียนไปค้นคว้าด้วยตนเองภายในหอสมุดนิวยอร์ก (New York Public Library) ซึ่งเป็นคลังเก็บแผนที่โบราณของการสำรวจทวีปอเมริกาเหนือที่สมบูรณ์ที่สุด ภายในมีแผนที่ต้นฉบับให้ศึกษาเรียนรู้มากถึง 11,000 ฉบับ

และที่นี่ก็ทำให้เขาได้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ประจำหอสมุด จนแทบจะเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจในฐานะนักวิชาการอิสระ

สไมลี่จึงมีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดสนิทสนมกับนักค้นคว้ามากหน้าหลายตาที่แวะเข้ามาหาความรู้จากคลังแผนที่ ณ หอสมุดนิวยอร์ก อยู่เป็นประจำ

และด้วยเหตุบังเอิญโดยไม่คาดคิด ในช่วงกลางทรศวรรษ 1970 สหรัฐฯ เกิดปัญหามีสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้ร้านหนังสือเก่าที่สไมลี่เป็นหนักงานอยู่นั้นได้ถูกปิดตัวลงเนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก

สไมลี่ ผันตัวเองออกมาเปิดธุรกิจเป็นของตนเอง ด้วยการเปิดห้างขายแผนที่โบราณอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งสวนกับกระแสเศรษฐกิจตกต่ำในระยะเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง ห้างที่สไมลี่เป็นเจ้าของและดูแลกิจการเองนั้น มีชื่อว่า “North American Maps & Autographs” ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการในปี 1984

การดำเนินกิจการของสไมลี่ก็เป็นไปได้ดี เนื่องจากความรู้ในวิชาชีพและประสบการณ์อันโชกโชน ตลอดจนฐานลูกค้าที่เขาสร้างสมมา ทำให้ธุรกิจของเขาพอจะอยู่รอดสวนกระแสพิษเศรษฐกิจในสหรัฐในช่วงเวลานั้น ทว่า ปัญหาใหญ่ของสไมลี่ที่จะต้องสนองตัณหาของลูกค้ากระเป๋าหนักกลับมิใช่พิษเศรษฐกิจเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่เป็นการขาดแคลนสินค้าประเภทนี้ที่นับวันจะหมดไปจากตลาด และแผนที่โบราณที่ลูกค้าระดับแนวหน้าต้องการเป็นของหายากก็ต้องเป็นของที่อาจมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

ช่องทางเดียวที่สไมลี่ต้องใช้ในการแสวงหาสินค้าหายากในธุรกิจของเขากลับเป็นแผนที่ต้นฉบับที่ไม่สามารถหาซื้อได้จากที่ใดได้ นอกจากขโมยออกมาจากกรุสมบัติแห่งชาติที่เป็นของหวงห้ามของทางการเท่านั้นที่จะเอื้อให้เขารักษาลูกค้าไว้ได้

ขโมยแผนที่มานานโขก่อนถูกจับ

ตลอดเวลา 10 ปี สไมลี่ใช้ลูกไม้เดิมๆ ในการตีสนิทกับพวกบรรณารักษ์ประจำหอสมุด จากการแวะเวียนไปค้นคว้าศึกษาแผนที่ต้นฉบับภายในห้องพิเศษของหอสมุดต่างๆ ทำให้เขารอดพ้นสายตาเจ้าหน้าที่หอสมุดมาโดยตลอด

แต่ในที่สุดการโจรกรรมแผนที่ต้นฉบับของสไมลี่ก็ปิดฉากลง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2005 ที่เกิดจากความสะเพร่าไม่ระวังตัวจากตัวของเขาเอง

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นที่หอสมุดไบเนกี การแต่งกายของสไมลี่ในวันนั้นทำให้ตกเป็นจับตามองของนายราฟ แมนนาริโอ (Ralph Mannarino) รปภ.ประจำหอสมุดไบเนกี เนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่อากาศร้อนอบอ้าว แต่สไมลี่ กลับแต่งกายสวนกับฤดูกาลคือสวมใส่แจ๊คเก็ตตัวหนา ทำให้นายราฟ เฝ้าดูอย่างผิดสังเกตคล้ายกับคนมีพิรุธ

แผนที่ต้นฉบับที่สไมลี่ขโมยไปในวันนั้น เป็นแผนที่ของกัปตันจอห์น สมิธ ที่มีอายุกว่า 400 ปี แผนที่ต้นฉบับจาก ค.ศ.1614 เป็นภาพวาดและระบายสีด้วยมือ จากการสำรวจแผนภูมิของรัฐนิวอิงแลนด์ครั้งแรกโดยนักสำรวจชาวอังกฤษ

แผนที่หายากชิ้นนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของอังกฤษในดินแดนสหรัฐ กับการกำหนดชื่อของอาณานิคมใหม่ ณ ที่นั้นว่า New England หรืออังกฤษใหม่ เป็นครั้งแรกและแผนที่ต้นฉบับนี้มีมูลค่าสูงถึงห้าหมื่นดอลล่าร์ถึงหนึ่งแสนดอลล่าร์ ในห้องประมูลโบราณ

นอกจากนี้ไม่เพียงแค่แผนที่นิวอิงแลนด์ที่สไมลี่ขโมยออกไป แต่ยังมีอีก 3 แผนที่ซึ่งสไมลี่ ขโมยออกไปด้วยคือ แผนที่โลกจาก ค.ศ.1578 แผนที่สำรวจทวีปอเมริกาเหนือจาก ค.ศ.1631 และแผนที่เส้นทางการเดินเรือของนักสำรวจชาวอังกฤษจาก ค.ศ.1589

ความสะเพร่าของสไมลี่เกิดขึ้นหลังจากที่ตัวเขาได้ทำการโจรกรรมเสร็จเรียบร้อย แล้วได้เดินออกจากหอสมุด แต่สิ่งที่เป็นหลักฐานมัดตัวเขาก็คือ “คัตเตอร์” ใบมีดดังกล่าวตกหล่นอยู่ภายในบริเวณที่สไมลี่นั่งศึกษาแผนที่อยู่ไม่นานมานี้ ทำให้นายราฟตัดสินใจโทรแจ้งเจ้าหน้าตำรวจในบริเวณนั้น

ในเวลาต่อมา สไมลี่ก็ถูกจับกุมตัวและได้ตรวจพบแผนที่ที่ขโมยออกไปในวันนี้ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่าครึ่งล้านดอลล่าร์ เป็นของที่ขโมยออกไปในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง จากหอสมุดไบเนกีในคราวเดียวกัน และเป็นเพียงส่วนน้อยของแผนที่โบราณที่เขาฉกออกไปจากหอสมุดใหญ่ๆ ของอเมริกาอีกมากมายเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้านี้

โทษของนักโจรกรรมแผนที่ระดับโลก

คดีโจรกรรมแผนที่ต้นฉบับของสไมลี่ เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วทั้งวงการนักสะสม มันบ่งบอกถึงความสะเพร่าของหอสมุดระดับชาติทั้งในอเมริกาและยุโรปที่ไม่เคยตรวจสอบสมบัติล้ำค่าที่ตนเองมีอยู่

หอสมุดไบเนกีอาจจะดีใจที่ได้แผนที่กลับคืนมา แต่สิ่งที่ทำให้ตำรวจตกใจมากกว่าคือการที่สไมลี่ สารภาพว่าเขาเคยขโมยจากที่อื่นๆ อีกและบางชิ้นหายากกว่าของที่นี่ด้วยซ้ำไป

คำสารภาพของสไมลี่ มีประโยชน์ต่อสำนวนการสืบสวน แต่จะทำให้คดีของสไมลี่ บานปลายออกไปอีก และเป็นจุดเริ่มต้นการที่กรมตำรวจสอบสวนกลาง (FBI) กระจายข่าวไปยังตำรวจสากลให้รู้ทั่วทั้งยุโรปเพื่อขยายผลติดตามของกลางอีกมากมายที่สไมลี่ ยอมรับว่าเคยขโมยไปก่อนหน้านี้

การสืบสวนและประสานงานของตำรวจสากลดำเนินไปอีกหลายเดือน ในที่สุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2006 มีเจ้าทุกข์จากหอสมุดใหญ่ทั่วยุโรปและอเมริกา 8 แห่ง โดยการนำของหอสมุดบริติซ รวมตัวกันเป็นโจทก์ส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสไมลี่

ในวันที่ 27 กันยายน 2006 ศาลได้นัดไต่พิจารณาคดีของสไมลี่ในข้อหาโจรกรรมโบราณวัตถุทางศิลปะ (Art Theft) ซึ่งมีโทษการจำคุกเป็นเวลา 5 ปี 11 เดือน และปรับเงินเป็นจำนวน 2 ล้านดอลล่าร์ จากการโจรกรรมแผนที่โบราณ 100 ฉบับจากที่ต่างๆ เป็นระยะเวลา 8 ปี ทั้งนี้ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวจากความร้ายแรงของรูปคดีเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

แต่เพราะความร่วมมือของสไมลี่และคำสารภาพทุกข้อกล่าวหา ทำให้โทษลดลงคือ การจองจำเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้นรวม 1.9 ล้านดอลล่าร์ ให้แก่หอสมุดต่างๆ

จากความเสียหายที่เกิดขึ้นแม้จนทุกวันนี้สไมลี่เองก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเขาได้ขโมยแผนที่ไปเป็นจำนวนเท่าใดอย่างแน่ชัด เนื่องจากเขาไม่ได้จดบันทึกไว้เป็นหลักฐานผูกมัดตัวเอง ทั้งยังจำไม่ได้ว่าขายให้ใครต่อใครบ้าง

คดีของสไมลี่ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดในประวัติการโจรกรรมวัตถุโบราณประเภทแผนภูมิทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานของมวลมนุษยชาติเท่าที่เคยเก็บบันทึกไว้

และแม้นว่าแผนที่เหล่านี้จะเก่าแก่และหายากสักเพียงใด ความตระหนักรับรู้ในคุณค่าของมันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันสูญหายไปแล้วเท่านั้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า

(1) ไกรฤกษ์ นานา. “ตะลึง! Blue Print คอคอดกระ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง(ตอนจบ) ระทึกเหตุที่โครงการถูกยุบ,” ใน หน้าหนึ่งในสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 2556

(2) ______. “ตีแผ่เบื้องหน้า เบื้องหลัง ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงคิดทำแผนที่เมืองไทย ‘ฉบับแรก’? ตอนที่ 1 : โยนหินถามทาง,” ใน ไขปริศนาประเด็นอำพรางในประวัติศาตร์ไทย. สำนักพิมพ์มติชน, 2558

(3) ______. “ตีแผ่เบื้องหน้า เบื้องหลัง ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงคิดทำแผนที่เมืองไทย ‘ฉบับแรก’? ตอนจบ : ตัดไม่ข่มนาม,” ใน ไขปริศนาประเด็นอำพรางในประวัติศาตร์ไทย. สำนักพิมพ์มติชน, 2558

(4) _____. “สยามบนแผนที่โลก การตีความใหม่จากข้อมูลอำพราง ตอนที่ 1 : หนีเสือปะจระเข้,” ใน ไขปริศนาประเด็นอำพรางในประวัติศาสตร์ไทย. สำนักพิมพ์มติชน, 2558

(5) BLANDING, MICHAEL. The MAP THIEF. Gotham book, 2015.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “ปิดคดีโจรกรรมประวัติศาสตร์ แผนที่เก่าต้นฉบับจะมีค่าก็ต่อเมื่อถูกขโมยไปเท่านั้น” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2565