หน้ากากเผ่าไตภาคใต้ของจีน สู่ผีตาโขนของไทย

หน้ากากเผ่าไต ผีตาโขน
(ซ้าย) หน้ากากของเผ่าจ้วงหรือยิ จีนตอนใต้ก่วงซี, (ขวา) ผีตาโขน

หน้ากากเผ่าไตภาคใต้ของจีน เกี่ยวข้อง “ผีตาโขน”ของไทยหรือไม่ อย่างไร?

มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์คิดว่าธรรมชาติรอบกายเช่น พายุ ฝนตก ฟ้าร้อง ไฟไหม้ป่า เหล่านี้เป็นสิ่งลึกลับ มีเทวดาและผีสางนางไม้สิงสู่ สามารถดลบัลดาลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้นได้ จึงสร้างพิธีกรรมขึ้นเพื่ออ้อนวอนต่อสิ่งลึกลับที่ไม่มีตัวตน ให้ช่วยปกปักรักษาและคุ้มครองตัวเขา ครอบครัวและเผ่าพันธุ์ของตนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บจากการอ้อนวอนดังกล่าวจึงเกิดเป็นพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นในสังคมมนุษย์ทั้งที่ยังไม่มีความเจริญและมีความเจริญแล้ว เป็นลัทธิและศาสนาขึ้น

Advertisement

ประเทศจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีลัทธิประเพณีอย่างมากมาย นับถือเทพเจ้า ผีบรรพบุรุษ จนกระทั่งเกิดเป็นลัทธิต่างๆ ขึ้น เช่นลัทธิเต๋า ขงจื้อ ผนวกเข้ากับพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งรับมาจากประเทศอินเดีย ลัทธิดังกล่าวและพุทธศาสนากลมกลืนกันได้อย่างดีมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ทางภาคใต้ของประเทศจีน มณฑลยูนนาน กุ้ยโจว ก่วงซี มีชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย “หมอด๊อด” (W. C. Dodd D. D.) มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้สอนศาสนาคริสต์อยู่ในจังหวัดเชียงรายเป็นเวลานานถึง 33 ปี สามารถพูดภาษาไทยได้เก่ง ออกเดินทางจากเชียงรายผ่านประเทศจีนตอนใต้เป็นเวลา 2-3 ปี เป็นระยะทาง 2,000 กว่าไมล์ เมื่อ พ.ศ. 2456 พบชนเผ่าต่างๆ ที่พูดภาษาไท-ลาว 20 กว่าเผ่า ชนเผ่าต่างๆ จีนเรียกว่า “ไป่เอี๊ยวะ” (ไป่เย่ว) หรือชนร้อยเผ่าที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว ก่วงซี ชนที่พูดภาษาไท-ลาว เช่น จ้วง ปู้ยี ลื้อ ต้ง สุ่ย เก๋อลาว เหมาหนาน นุง ไต ฯลฯ ส่วนชนเผ่าตระกูลภาษาทิเบต-จีน คือ ยิเย้า ม้ง ฯลฯ ชนดังกล่าวใช้กลองมโหระทึกควบคู่ไปกับการนับถือผี

ในประเทศจีนมีพิธีกรรมอันลึกลับมานานหลายพันปี ตั้งแต่ราชวงศ์ซุ่ง (ซ่ง-ซ้อง) ด้วยการเต้นรำ ย้อนยุคขึ้นไปถึงราชวงศ์ซาง (ก่อน พ.ศ. 1100-600 ปี) และราชวงศ์โจว (ก่อน พ.ศ. 600-228 ปี) พิธีกรรมดังกล่าวได้ถ่ายทอดเรื่อยมายังชน “ไป่เอี๊ยวะ” (ไป่เย่ว) หรือชนร้อยเผ่าในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว ก่วงซี เป็นเผ่าชนที่พูดภาษาไท-ลาว

กู่เพาะกวง อวู่จื้อเฉียน ผู้ค้นหาเรื่องพิธีกรรมโบราณกล่าวว่า “พิธีกรรมโบราณอันลึกซึ้งในการเต้นรำนั้น เป็นการแสดงออกของการตอบแทนพระเจ้าอันเป็นพิธีกรรมของศาสนาโดยย้อนยุคไปสัมผัสกับประวัติศาสตร์อันยาวไกล”

“หน้ากากเป็นศิลปวัตถุ มีความสำคัญของการแสดงให้รู้ถึงพฤติกรรมในการต้อนรับเทพเจ้า คนที่จะแสดงในพิธีต้องเป็นผู้นำเอาหน้ากากมาด้วยตนเอง เมื่อแสดงไปๆ ในการเต้นรำท่าต่างๆ แล้ว ต้องพยายามเปลี่ยนรูปแบบเพื่อเป็นการเอาอกเอาใจเทพเจ้า และเรียกร้องความสนใจแก่ผู้ชม หน้ากากที่สวมใส่มีสีสันต่างๆ อย่างหลากหลายเพื่อชี้ให้เห็นว่าเทพยดาและผีสางนางไม้นั้นมีอยู่โดยทั่วๆ ไป จะอย่างไรก็ตามหน้ากากเป็นเพียงเครื่องประกอบเท่านั้น การสวมหน้ากากในการแสดงนี้ได้รับการถ่ายทอดมานานนับเป็นพันๆ ปีมาแล้ว เพื่อให้ทุกๆ คนคลายความกังวลใจว่าจะไม่มีภัยพิบัติมาสู่ นี่คือจุดประสงค์ของการแสดง”

ชนร้อยเผ่า “ไป่เอี๊ยวะ” (ไป่เย่ว) นับถือผีและศาสนาผสมกับลัทธิเต๋า ขงจื้อ ควบคู่กันไปอย่างสนิทสนม จนไม่สามารถแบ่งแยกได้ ในระยะ 3,000 ปีมานี้ หน้ากากได้ถูกนำเอามาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เรื่อยมาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน โดยแบ่งรูปแบบออกตามลักษณะคือแบบ Primitive (ดั้งเดิม) และแบบ Classic อันมีลักษณะแบบเทพเจ้าของจีน

หน้ากากแบบดั้งเดิม Primitive เป็นไม้ที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ เจาะลูกตา ปาก จมูกเรียบๆ เลียนแบบธรรมชาติป่าเขา ที่มองเห็นในรูปของวัตถุต่างๆ เช่นเห็ด หอย สัตว์ต่างๆ คน และจิตนาการเป็นผี เทพเจ้า เข้าไปสู่ธรรมชาติแบบนี้ชนเผ่าที่ใช้กันมากได้แก่ชนกลุ่มที่พูดภาษาจีน-ทิเบต เย้า ยิ กับกลุ่มชนพูดภาษาไท-ลาว คือ ปู้ยี จ้วง นุง ไต หน้ากากดังกล่าวนั้นมีความคล้ายคลึงกับหน้ากากของแอฟริกา หรือของอินโดนีเซีย และแถบภูเขาหิมาลัย

แบบ Classic เป็นงานที่ละเอียดมีสีสันต่างๆ มากมาย ตามแบบเทพเจ้าของจีน ซึ่งดูแล้วน่าจะเรียกว่าหน้ากากของจีนก็ได้ หน้ากากชนิดนี้ถูกใช้โดยชนเผ่าฮั่น (จีน) เผ่าปู้ยี ยิ เหมาหนาน เก๋อลาว ต้ง หน้ากากทั้งสองชนิดนี้ยังมีการผสมผสานระหว่าง Primitive (ดั้งเดิม) กับ Classic อยู่ด้วยกัน ดั่งเช่นศาสนาพุทธที่ชาวจีนนับถือ ก็ยังมีการนับถือผีด้วยควบคู่กันไปไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

ความเป็นมาของหน้ากากแต่โบราณกาลนั้น เริ่มจากการเซ่นไหว้เทพเจ้า ผีสางนางไม้ ด้วยการเต้นรำแล้วค่อยวิวัฒนาการมาเป็นละคร เป็นงิ้ว เริ่มจากชนบทพื้นบ้านแล้วแพร่เข้าสู่ราชสำนัก แสดงกันตามฤดูกาลอย่างเช่นฤดูใบไม้ผลิ งานประเพณีของบ้านเมืองหรืองานของกษัตริย์ ส่วนในฤดูหนาวเป็นการละเล่นของชาวบ้านหรือทั่วๆ ไปมักเป็นงานใหญ่ สิ่งประกอบในการแสดงนอกจากหน้ากากแล้ว ก็มีดนตรีและระบำประกอบด้วย เพื่อความรื่นเริงและสมัครสมานสามัคคีของคนในหมู่บ้าน โดยอ้างการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การเซ่นไหว้เทพเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคลและไล่ผีให้หนีไปเพื่อทุกคนจะไม่เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย นอกจากนั้นยังมีการเซ่นไหว้เพื่อขอบุตร ต่ออายุอีกก็มี พิธีกรรมดังกล่าวนี้จะแสดงตอนตรุษจีน หรือก่อนตรุษจีนไปถึงหลังตรุษจีน 15 วัน

ชนกลุ่มน้อยดังกล่าวจะยึดถือการแสดงละครสวมหน้ากาก โดยมีหมอผีเจ้าพิธีในการดำเนินการเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของตนและครอบครัว เป็นการกระทำอยู่เป็นประจำในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว ก่วงซี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน รวมทั้งทางตอนเหนือของเวียดนาม บริเวณเมืองล้าวไก่ ก็มีพิธีกรรมการใช้หน้ากากมาตราบจนเท่าทุกวันนี้

เมื่อไม่นานมานี้ พ.ศ. 2537 คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เดินทางไปเมืองก่วงซีพบกับชนเผ่าจ้วง ปู้ยี ต้งไต หลี มู่หลาง สุ่ย และเหมาหนาน คนเหล่านี้พูดภาษาไท-ลาวได้ โดยเฉพาะชนเผ่าจ้วง ภาษาพูดมีความใกล้เคียงกับไทยสยาม และพบพิธีกรรมของชนเผ่านี้ด้วย

การตีมโหระทึก การร้องเพลงเพื่อสังเวยวิญญาณของกบ กับการสวมหน้ากากซึ่งทำขึ้นจากไม้แล้วแต่งแต้มสีในรูปแบบต่างๆ นับร้อยพันแบบ ตั้งชื่อต่างๆ ไว้เช่น ทหารแนวหน้า ผู้พิพากษา พระภูมิเจ้าที่ บุกเบิกภูเขา เจ้าแห่งภูเขา พระเต๋า ฯลฯ (จะกล่าวตอนหลัง)

ขบวนแห่อันมโหฬารนำเอามโหระทึกซึ่งหล่อด้วยสัมฤทธิ์มาด้วย ตัวมโหระทึกมีรูปกบอยู่ทุกใบ เขาจะตีกลองมโหระทึกให้ดังกังวาน พร้อมกับร้องเพลงเพื่อเป็นการสรรเสริญพระเจ้า เพื่อให้กบร้อง เมื่อกบร้องฝนก็จะตกลงมา บางคนก็สวมหน้ากากมาร่วมเต้นรำด้วย

พิธีกรรมนี้เป็นเสมือนพิธีอ้อนวอนเทพเจ้าขอให้ฝนตก การตีมโหระทึกก็เพื่อให้กบร้อง เมื่อกบร้องฝนก็จะตกลงมา ทำนองเดียวกับการแห่ผีตาโขนของจังหวัดทางภาคอีสานของไทยเรา ใครจะไปรู้ว่าหน้ากากอันแสดงในพิธีกรรมของชนเผ่าไตที่พูดภาษาไท-ลาวของคนร้อยเผ่าพันธุ์ “ไป่เอี๊ยวะ” (ไป่เย่ว) ในมณฑลทางตอนใต้ของจีน ยูนนาน กุ้ยโจว ก่วงซี จะถ่ายทอดพิธีกรรมมาสู่พิธีกรรม “ผีตาโขน” ของไทยที่แห่เป็นประเพณีทุกๆ ปี ซึ่งก็อาจเป็นพิธีกรรมเดียวกันกับการแห่นางแมวเพื่อขอฝนของภาคกลาง อันเป็นพฤติกรรมของสังคมเกษรกรรม

กู่เพาะกวง อวู่จื้อเฉียน ได้ค้นคว้าหน้ากากในรูปแบบต่างๆ กัน แล้วตั้งชื่อเฉพาะให้ ดังนี้

สมัยหมิง

ผู้พิพากษา

นักรบแนวหน้า

เล่าสี่ผู้มีอาถาอาคม

เด็กขยัน

พระภูมิเจ้าที่

บุกเบิกภูเขา

กุมารทอง

สมัยชิง

เทพเจ้าแห่งภูเขา

วิญญาณข้าราชการ

ตอบแทนบุญคุณ

พระเต๋า

พระภิกษุ

สตรีในฤดูใบไม้ร่วง

มังกร 3 ตัว

สนมพระเจ้าแผ่นดินถัง

เด็กสมัยฉิน

หญิงชราปากจมูกบิดเบี้ยว

มังกร

ผู้รักษาด่าน

สตรีแนวหน้า

นักรบผู้ยิ่งใหญ่

ศาสดาไท้ฮั้ว

คนปากไก่ ฯลฯ

และอีกนับเป็นร้อยๆ พันชนิด

พิธีกรรมการสวมหน้ากากมีมาแต่ราชวงศ์สุย พ.ศ. 1124 แต่ที่มีการสะสมกันในเมืองไทยเพียงอายุสมัยหมิงหรือชิง พ.ศ. 1911-2118 และ 2187-2454 ถือเป็นโบราณวัตถุที่มีค่าในการสะสมไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2560