ผู้เขียน | หนุ่มบางโพ |
---|---|
เผยแพร่ |
พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค อดีตนายตำรวจดังที่ปรากฏชื่อบนหน้าประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์สำคัญ ทั้งกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กรณีวิสามัญฆาตกรรม โจ ด่านช้าง และพวก เมื่อปี 2539 ฯลฯ
แต่ในช่วงที่ พล.ต.อ. สล้าง ยังติดยศร้อยตํารวจโท เคยได้รับภารกิจลับภารกิจหนึ่งจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการให้ความช่วยเหลือฝ่ายขวาในประเทศลาว ในช่วงที่สงครามกลางเมืองยังไม่รุนแรง กระทั่งต่อมา ได้รับมอบภารกิจให้ไปช่วยเหลือ “นายพลพูมี หน่อสะหวัน” ผู้นำทหารลาวฝ่ายขวา หลบหนีออกจากประเทศลาว ลี้ภัยเข้ามายังประเทศไทย
ในหนังสือ “ฉะ แฉ ฉาว” (มติชน, 2547) โดยทีมข่าวการเมืองมติชนถ่ายทอดเรื่องราวจากคำให้การของ พล.ต.อ. สล้าง ในห้วงเวลาดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
“…เมื่อครั้งเข้ารับราชการในกรมตำรวจ (ปัจจุบันเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ใหม่ ๆ ในช่วง พ.ศ. 2493-2518 เกิดการเปลี่ยนแปลงและแย่งชิงกันขึ้นปกครองประเทศลาวกันเป็นระยะ ๆ ระหว่างกลุ่มอำนาจในลาวด้วยกันเอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการรุกรานของระบอบคอมมิวนิสต์ ไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และหน้าด่านที่ต้องยันการรุกรานของคอมมิวนิสต์เอาไว้ โดยมีมหาอำนาจตะวันตกหนุนหลัง จึงหนีไม่พ้นที่กองกำลังของไทยจะต้องเข้าร่วมต่อสู้ในสมรภูมิลาว
‘สล้าง’ ขณะนั้นติดยศร้อยตำรวจโท (ร.ต.ท.) ได้ถูกผู้บังคับบัญชาในกรมตำรวจไทยสั่งให้ไปเป็น ‘ครูฝึก’ ให้หน่วยพลร่มในลาวฝ่ายขวา (รัฐบาล) ติดชายแดนเวียดนาม เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันกับลาวฝ่ายซ้าย ที่กำลังต่อกรกันอยู่ โดยมีเวียดนามหนุนหลัง
‘ระหว่างที่ผมเป็นครูฝึกให้ทหารลาวอยู่ในพื้นที่ติดกับชายแดนภาคเหนือของไทย ตอนนั้นสถานการณ์ตามแนวชายแดนไม่ดี ทุกครั้งที่เชื้อพระวงศ์เสด็จประทับพื้นที่ภาคเหนือ ผมจะเป็นหนึ่งในทีมล่วงหน้าที่ต้องไปเคลียร์พื้นที่ โดยมี พ.ต.อ. อังกูร ทัตตานนท์ เป็นหัวหน้าหน่วย’
‘ผมเป็นตำรวจคนหนึ่งที่ไปรบในลาว ตอนนั้นตำรวจเข้าไปในลาวก่อนหน้าทหารหลายปี แต่ผมเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เงิน พสร. (เงินเพิ่มสู้รบ) เพราะระเบียบกำหนดไว้ต้องอยู่เกิน 6 เดือน แต่ผมเข้า ๆ ออก ๆ เพราะต้องมารับเสด็จฯ ถวายอารักขาในช่วงที่มีการแปรพระราชฐาน’
พล.ต.อ. สล้าง เล่าถึงภารกิจในช่วง ‘วัยหนุ่ม’ จากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกขอตัวให้มาอยู่ที่บริษัทการบินของลาว ทำหน้าที่ ‘ไทยถีบ’
‘การทำหน้าที่ ไทยถีบ หรือที่เรียกว่า ฟรีดร็อป คือคอยขึ้นเครื่องบิน ไปทิ้งข้าวของเครื่องใช้ให้เพื่อน ๆ ตำรวจและทหารไทยที่รบอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของลาว ซึ่งอยู่บนพื้นราบ แบบว่าใครอยากกิน หรืออยากได้อะไรก็บอกมา เดี๋ยวจัดให้’
ในระยะแรก สถานการณ์การสู้รบในประเทศลาวยังไม่รุนแรงมากนัก แต่เมื่อดีกรี ‘ความขัดแย้ง’ ระหว่างลาวฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาเริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้สภาวะสงครามภายในประเทศเริ่มดุเดือด รุนแรง และแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ทำให้ ‘ภารกิจ’ ของ พล.ต.อ. สล้าง ที่ดูจะราบรื่น เพราะทำหน้าที่ ‘ไทยถีบ’ อยู่นาน ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการเปลี่ยน ‘ภารกิจ’ ที่ทำให้อะดรีนาลินในตัว พล.ต.อ. สล้าง ถึงกับพลุ่งพล่าน
ภารกิจที่ว่าก็คือ การช่วยคุ้มกันนายพลพูมี หน่อสะหวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของลาวที่กระทำรัฐประหารสำเร็จ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศโลกตะวันตกให้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกลายเป็นที่มาของการ ‘นองเลือด’
‘ตอนนั้นผู้บังคับบัญชาได้เรียกผมไปพบ พร้อมกับมีคำสั่งว่า คุณต้องไปช่วยนายพลพูมีให้ได้ ตอนนั้นใจก็เต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ แต่ด้วยความที่เป็นตำรวจไทย ผมจึงรับปากอย่างแข็งขันกับนายไปว่า ครับ…’
ภารกิจของ พล.ต.อ. สล้าง คือจะต้องช่วยเหลือนายพลพูมีออกนอกประเทศให้ได้ เพื่อป้องกันการไล่ล่า และลอบสังหาร เหตุผลที่ได้รับมอบหมายเพราะเขาเป็นคน ‘ชำนาญพื้นที่’ และ ที่สำคัญคุ้นเคยกับข้าราชการระดับสูงของลาวหลายคน หลังเข้าไปเป็นครูฝึกทหาร
‘นายพลพูมี เป็นรัฐมนตรีกลาโหมของลาว เรืองอำนาจขึ้นมา เมื่อสามารถนำกำลังก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลท้าวผุย ชินนะกอน [ผุย ชนะนิกร – กองบก.ออนไลน์] ได้สำเร็จ…แต่ชาติพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ไม่หนุนให้นายพลพูมี ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร สุดท้ายจึงได้เป็นแค่รัฐมนตรีกลาโหม’
‘ตอนนั้นจึงเกิดการแย่งชิงอำนาจกันเองของขั้วอำนาจในลาว ร้อยเอกกองแล ผู้บังคับกองพันทหารอากาศที่ 2 ของลาว ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลเวียงจันทน์…ในขณะที่ รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทยสมัยนั้น สนับสนุนให้นายพลพูมี นำกำลังกวาดล้างผู้ก่อรัฐประหาร’
‘ทำให้นายพลพูมี สามารถกลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง แต่ก็ถูกยึดอำนาจคืน…หลังจากลาวฝ่ายซ้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม โหมกระแส ปั่นข่าวไปทั่ว ตอนนี้ประเทศกำลังเกิดปัญหาคอร์รัปชัน การแสวงประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ครั้งนั้นถือว่าจุดกระแสติด เพราะประชาชนและนักศึกษาลุกฮือต่อต้านรัฐบาล ที่มีนายพลพูมีเป็นแกนนำ’
‘มูลเหตุ’ ของการโฆษณาชวนเชื่อว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันโกงกินครั้งนั้น ทำให้นายพลพูมี และบรรดาที่ร่วมกระทำรัฐประหารยึดอำนาจมาด้วยกัน ต้อง ‘ลาออก’ และเตรียมเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อหนีการไล่ล่าจากลาวฝ่ายซ้าย…
‘หลังต้านกระแสประชาชนไม่อยู่ นายพลพูมีอยู่ในอันตราย เมื่อผมได้รับมอบหมายภารกิจในฐานะหัวหน้าชุด ‘ทีมสุเทพ’ จึงจัดกำลังที่ล้วนเป็นมือดีของกรมตำรวจไทยสมัยนั้น 13 คน พร้อมอาวุธครบมือ เดินทางเข้าไปในประเทศลาว เพื่อปฏิบัติภารกิจชิงตัวนายพลพูมีออกจากพื้นที่ประเทศลาวให้ได้โดยเร็วที่สุด’
จากนั้นปฏิบัติการก็เริ่มต้นขึ้น…
‘มีการสั่งให้พ่นสีเฮลิคอปเตอร์ (ฮ.) ที่จะพาทีมเราไปในดินแดนลาวเสียใหม่ให้เหมือนกับ ฮ. ของลาว เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกสงสัย เราออกจากกรุงเทพฯ บินไปลงยังมุกดาหาร ก่อนจะข้ามฝั่งโขงไปยังเมืองสะหวันนะเขต’
การข้ามไปยังฝั่งลาวไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะรู้มาว่า เวลานี้ทหารของฝ่ายชายกระจายอยู่ตามแนวชายแดนไทย-ลาว เพื่อสกัดไม่ให้นายพลพูมีหนีออกจากประเทศ
‘ตอนนั้นมีคำสั่งว่านายพลพูมีจะต้องสิ้นลมหายใจ กองกำลังฝ่ายซ้ายจึงกระจายเต็มพื้นที่ตามแนวชายแดน ทำให้ทีมของผมเข้าไปในฝั่งลาวได้ไม่มากเท่าที่ควร’
ตรงจุดนี้คือ ‘ปัญหาใหญ่’ เพราะหากภารกิจไม่เรียบร้อย อาจจะต้องถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ และที่สำคัญเสียชื่อเสียงรัฐบาลไทย เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า รัฐบาลไทยต่อต้าน ‘ลาวฝ่ายชาย’ ที่มีเวียดนาม ที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์หนุนหลัง
‘ตอนนั้นยอมรับว่าไม่รู้จะทำอย่างไร จะเดินลุ่ม ๆ เข้าไปมีหวังถูกฆ่าทิ้งแน่ แต่โชคดีที่นายพลพูมี ยังมีบารมีมากพอในกองทัพ ทำให้ลูกน้องเก่าของเขาคอยช่วยเหลือ โดยแยกกันระหว่างลูก-เมียของนายพลพูมี ถูกนำตัวหนีแยกไปขึ้นที่ฝั่งจังหวัดหนองคายของไทย ส่วนนายพลพูมี ขึ้นที่ฝั่งมุกดาหาร’
‘ลูกน้องของนายพลพูมี ใช้รหัสภาษามอสติดต่อกับทีมวิทยุของผมที่ตามไปด้วย 2 คน โดยเรารู้ว่าเขาจะพานายพลพูมีขึ้น ฮ. มาจากเวียงจันทน์ เพื่อมาลงสะหวันนะเขต โดยมีการนัดหมายกันว่าจะลงที่จุดใด ตรงไหน’
แต่การ ‘หนีการไล่ล่า’ ไม่ง่ายอย่างที่คิด…
‘เหตุเพราะมีกองกำลังฝ่ายตรงข้าม รอรับด้วยลูกปืนเพียบ ทำให้นายทหารที่ยังเคารพรักนายพลพูมี จึงถูกส่งมาคอยคุ้มกัน และจัดการกับกองกำลังฝ่ายตรงข้าม เพื่อสกัดการไล่ล่า เมื่อนายพลพูมีลงจากเครื่อง ทีมของผมก็พาเดินเท้ามาขึ้นเรือที่ริมฝั่งโขง พร้อมกับคนติดตาม อีก 2-3 คน รวมทั้งหีบทรัพย์สินของนายพลพูมีอีก 4-5 หีบ ท่ามกลางห่ากระสุนที่ไล่ตามหลัง และเสียงปืนดังเป็นตับไล่หลังมา สุดท้ายทีมผมก็แค่รับช่วงต่อเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปปฏิบัติการชิงตัวประกันอย่างที่เข้าใจในตอนแรก’
ภารกิจครั้งนั้นสำเร็จด้วยดี นายพลพูมีขึ้น ฮ. จากมุกดาหารมาลงที่สนามบินจังหวัดอุดรธานี ก่อนจะเดินทางเข้าไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักข้าราชการกระทรวงมหาดไทย บริเวณริมถนนทางรถไฟ ในกรุงเทพฯ พร้อมลูก-เมีย จากนั้นลาวก็มีผู้นำคนใหม่ชื่อ เจ้าสุพานุวง แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็มีการ ‘ชิงอำนาจ’ กันอยู่เป็นนิตย์
หลังเสร็จภารกิจครั้งสำคัญ พล.ต.อ. สล้าง ได้รับการตบรางวัลย้ายไปเป็นผู้บังคับกองหาดใหญ่ที่จังหวัดสงขลา และเป็นสถานที่สร้างชื่อเสียงการเป็นตำรวจนักพัฒนามากที่สุด
‘ผมอยู่หาดใหญ่ 11 ปี นายพลพูมีก็ตามไปอยู่กับผมด้วยที่นั่นกว่า 10 ปี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา'”
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าสุภานุวงศ์ “เจ้านาย” นักปฏิวัติ สัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชลาว
- คำว่า “ลาว” มาจากไหน? “คนเมือง” ภาคเหนือ-ล้านนา ถูกเรียกว่าลาวก่อนคนอีสาน-สปป.ลาว?
- ปากคำ “เดช บุญ-หลง” เลขา เผ่า ศรียานนท์ เล่าเกร็ดเบื้องหลังของนายตำรวจแห่งยุค 2500
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2565