สงสาร สงกรานต์

แฟ้มภาพ-เด็กๆ เนื้อตัวเปื้อนไปด้วยดินสอพองในการเล่นน้ำสงกรานต์เมื่อปี 2002 (AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER)

เป็นประจำทุกปี ที่ตรุษสงกรานต์กำลังถูกเบี่ยงเบนความสนใจ จากงานฉลองเถลิงศก มาเป็นความสนใจเรื่อง “สถิติ” วัดความรุนแรงว่าแต่ละปีจะทำยอดได้กี่ศพ จะเกิดคดีล่วงละเมิดทางเพศกี่คดี เพราะเทศกาลสงกรานต์ทุกปีย่อมเป็นที่รับรู้กันว่านี่คือช่วงที่หนุ่มสาวจะไม่ถือสากัน จึงเป็นเวลา “โปรโมชั่น” ของคดีอาชญากรรมทางเพศแห่งปี

อุบายที่โบราณท่านวางไว้ให้วันสงกรานต์นี้ เป็นวันที่ผู้ใหญ่จะได้ผ้าใหม่ เด็กๆ จะได้รับพร พระสงฆ์จะได้รับทาน รวมไปถึงแม้กระทั่งว่าพระพุทธรูปที่เก็บไว้นานครบปี จะได้นำมาอาบน้ำทำความสะอาดกัน ก่อนจะเป็นเวลาแห่งความสนุกสนานของหนุ่มสาว อุบายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นธรรมดาต่อเนื่องยาวนาน แล้วก็ค่อยๆ จางหายไป เพราะไม่มีช่วงไหนสนุกเท่าการเล่นสาดน้ำเป็นแน่ ดังนั้น “ไฮไลต์” ของงานสงกรานต์จึงเป็นช่วงที่ทุกคนเอาน้ำมา “เล่น” กัน

แม้ว่าทุกวันนี้ทางการจะพยายามอย่างมากที่จะส่งเสริมให้ “เล่นน้ำ” กันอย่างสุภาพ งดแป้ง งดกระบอกฉีดน้ำ แล้วให้หันมาฟูมฟายฟื้นฟู “ประเพณีอันดีงาม” แต่นั่นแทบไม่มีทางที่จะเป็นไปได้อีกต่อไป เพราะรากเหง้าของปัญหานี้ เกิดจากการเปลี่ยนกลุ่มผู้ “เล่นน้ำ” จากในหมู่พวกเดียวกัน มาเป็นการสาดใส่คนแปลกหน้า นักท่องเที่ยว ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดความนิยมว่าท้องถิ่นไหนมีคนมาเล่นสงกรานต์ได้มากกว่ากัน แน่นอนว่า “ความรุนแรง” ของสงกรานต์ก็เพิ่มมากขึ้นตาม

เรื่องความแตกต่างระหว่างความสนุกสนานกับความรุนแรงนี้ เสฐียรโกเศศ ได้สะท้อนไว้ในข้อเขียน “เรื่องเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์” ซึ่งเคยตีพิมพ์ไว้ในที่ต่างๆ หลายครั้ง แต่ครั้งนี้นำตัวอย่างมาจากหนังสือ “เรื่องเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ และเทศกาลลอยกระทง ของ เสฐียรโกเศศ” พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ นายเชื้อ บุษยธรรม ปี ๒๕๐๘ ขนาด ๑๖ หน้ายก ปกสีขาว

เสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน (๒๔๓๑-๒๕๑๒) ได้เขียนบรรยายเล่าความหลัง “เมื่อล่วงมาแล้วได้ ๕๐ ปีกว่า” ซึ่งท่านเขียนเรื่องนี้ลงพิมพ์ในวารสารศิลปากร ฉบับปีที่ ๔ เล่มที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๔ หากย้อนขึ้นไป ๕๐ ปี ก็จะอยู่ในราวปี ๒๔๔๔ ปลายรัชกาลที่ ๕ ส่วนตัวท่านเองก็คงใช้ความทรงจำในวัยเด็กเมื่ออายุประมาณ ๑๓ ปี มาเล่าให้ฟัง

เสฐียรโกเศศ ได้เล่าถึงกลุ่มคนที่เล่นสาดน้ำในสมัยนั้นว่าเป็นคน “พวกเดียวกัน” ซึ่งความหมายของความรุนแรงหรือความ “ห่าม” ในการเล่นน้ำ ย่อมแตกต่างจากการเล่นน้ำกันเมื่อเล่นกับคนแปลกหน้าคือ

“เวลาบ่ายแดดตกวันสงกรานต์ เห็นเขาเล่นสาดน้ำรดกัน หรือไม่ก็เล่นปล้ำมอมหน้ากันอย่างสนุกสนาน ระหว่างหนุ่มๆ สาวๆ ตลอดจนคนแก่แม่ร้าง และสาวทึมทึกกลางคนที่ยังสนุกอยู่ ก็เข้าร่วมเล่นสนุกด้วย เขาเล่นสนุกในหมู่ผู้รู้จักกัน ไม่เกี่ยวไปถึงผู้อื่นที่ไม่รู้จัก และเล่นด้วยความยินดีสมัครใจ การเล่นสาดน้ำและเล่นมอมหน้ากัน เขามักเล่นเมื่อสรงน้ำพระแล้ว”

และเพราะเป็นการเล่นใน “หมู่ผู้รู้จักกัน” ดังนั้นการ “เล่นแรง” จึงเกิดขึ้นได้โดยการยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย โดยไม่ถือโทษโกรธกัน

“ไม่ใช่แต่จับมอมหน้าเฉยๆ ยังฉีกเสื้อที่ใส่ให้ขาดรุ่งริ่งไปหมดด้วย ถามว่าทำอย่างนั้นเขาจะไม่โกรธหรือ ตอบว่าเขาไม่โกรธกัน ถึงชายบ้านอื่นผลัดเข้ามาก็ไม่เว้น ผู้หญิงก็จะถูกมอมหน้าและมัดมือมัดเท้าไว้ไม่ให้หนี จนกว่าจะยอมปล่อยตัวไปทีหลัง ข้าพเจ้าถามว่า เล่นสนุกกันถึงอย่างนั้นทีเดียวหรือ ได้รับคำตอบว่า อย่างนี้เขาไม่ถือกัน ได้สนุกกันเต็มที่ก็ปีละครั้งเท่านั้น ข้าพเจ้าทราบว่าลางแห่งเล่นสนุกปล้ำกันอย่างรุนแรงยิ่งกว่านี้ก็มี”

แม้แต่กระบอกฉีดน้ำที่ปัจจุบันทางการสั่ง “แบน” ไปแล้วนั้น ในสมัยโน้นก็รู้จักเล่นแบบนี้มาก่อนเช่นกัน

“เกิดคนเจ้าปัญญา เอาไม้ไผ่ขนาดเล็กหรือไม้รวกมาทำเป็นกระบอกฉีด ใช้ได้ดีกว่าสาดด้วยขัน เพราะกะฉีดถูกที่หมายได้แม่นยำ และฉีดได้ไกล ภายหลังร้านเจ๊กบัดกรีทำกระบอกฉีดเหล็กวิลาศขาย ได้อัฐคือสตางค์ในสมัยนั้นก็เอาไปซื้อมาฉีด ดีกว่ากระบอกไม้ไผ่มาก”

บรรยากาศการเล่นสงกรานต์ไม่ต่างจาก “โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส” พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งได้ทรงบันทึกความสนุกแบบชาวบ้านๆ สมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้ เป็นภาพที่ชัดเจนเช่นกันคือ

สงกรานต์ชาวบ้านเที่ยว        ตามสบาย

หญิงปะปนฝูงชาย                 แซ่ซ้อง

บางคนที่เมามาย                   เย้าหยอก ยั่วนา

พบพวกที่เกี่ยวข้อง                ขัดแค้นต่อยตี ฯ

บางคนนัดบ่อนเหล้น         การพนัน

โปถั่วทุกสิ่งสรรพ์                ดวดไผ้

ได้เสียทุ่งเถียงกัน                เอะอะ ถึงเอย

เกิดวิวาทจับได้                  เฆี่ยนซ้ำเสียเงิน ฯ

ภาพของความสนุกสนานของชาวบ้านตามที่เสฐียรโกเศศ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ได้แสดงไว้ทำให้เห็นถึงความสนุกสนานเฮฮาของชาวบ้านที่เป็นคนพวกเดียวกัน จึงเป็นภาพของความสนุกในวันสงกรานต์โดยไม่ทำให้รู้สึกถึงความรุนแรงเลย

ในขณะที่ภาพเดียวกันนี้ในปัจจุบันกลับให้ความรู้สึกรุนแรง บ้าระห่ำ ก็เพราะเป็นการเล่นน้ำของคนแปลกหน้า พลัดถิ่น ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะใช้โอกาส “นานทีปีหน” ทำความสนิทสนมเย้าหยอกกันอย่างชาวบ้าน แต่มีประสงค์แอบแฝงที่จะล่วงเกินกันจนหมดความงามไป

เสฐียรโกเศศได้สรุป “เรื่องเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์” ไว้อย่างน่าฟังว่า

“ก็เพื่อเล่าเป็นความหลังของเรื่องสาดน้ำของชาวบ้านที่ประพฤติเป็นการเล่นนักขัตฤกษ์ ที่กรุงเทพฯ ว่ามีอย่างไรในสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก แล้วคลี่คลายมาเป็นอยู่บัดนี้อย่างไร เพราะ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต แม้เป็นระยะเวลาต่างกัน แต่ก็ต่อเนื่องถึงกันเป็นอันเดียวกันนั่นเองฉะนี้แล”

สงกรานต์ในอดีตกับสงกรานต์ในวันนี้มีพัฒนาการต่อเนื่องถึงกัน มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน แต่ได้คลี่คลายมาจนเป็นความเหมือนที่แตกต่าง และเป็นความแตกต่างที่ควรห่วงใย เมื่อความสำเร็จในการจัดงานใหญ่ของเทศกาลสงกรานต์ทั่วประเทศ ถูกวัดด้วยตัวเลขสถิติของ “คนแปลกหน้า” ที่สาดน้ำใส่กัน