ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุคหนึ่ง ที่มียังมี “โรคโปลิโอ” เด็กซึ่งเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคโปลิโอ หลายคนต้องพิการขาลีบเล็ก บางคนที่ต้องใช้อุปกรณ์พยุงเดิน แม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาชื่อ Franklin D. Roosevelt ก็ป่วยและพิการจากโรคโปลิโอ จนเมื่อมีการผลิตวัคซีน โรคโปลิโอจึงค่อยๆ หมดไปจากโลก
แต่นั้นก็ต้องใช้เวลากว่า 3 พันปีทีเดียว
โรคโปลิโอ เป็นโรคติดเชื้อโปลิโอไวรัสอย่างเฉียบพลัน ที่ติดต่อจากคนสู่คน ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเป็นเด็ก พบว่ามีการเกิดโรคโปลิโอตั้งแต่ 1580-1350 ก่อนคริสตกาล โดยพบหลักฐานจากหินแกะสลักของอียิปต์โบราณ ที่มีรูปคนมีขาลีบข้างหนึ่ง และมีมัมมี่ของอียิปต์ที่มีร่องรอยของการป่วยจากโรคโปลิโอด้วย
การติดเชื้อโปลิโอไวรัสเกิดขึ้นทั้งระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลาง เชื้อที่อยู่ในระบบทางอาหารส่วนหนึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือด ที่เหลือจะขับออกพร้อมอุจจาระ ซึ่งเชื้อสามารถแพร่กระจายไปสู่ชุมชนได้หากไม่มีสุขอนามัยที่ดี ส่วนเชื้อที่เดินทางไปที่ระบบประสาทส่วนกลาง จะทำลายก้านสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อส่วนที่ถูกควบคุมเป็นอัมพาตถาวร โดยทั่วไปการเกิดอัมพาตจะเป็นแบบอสมมาตร (เกิดอาการกับอวัยวะข้างใดข้างหนึ่ง)
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 โรคโปลิโอเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในยุโรป และระบาดไปยังสหรัฐอเมริกา ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1910 ผู้ป่วยโรคโปลิโอมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการระบาดบ่อยครั้ง ในเขตชุมชนช่วงฤดูร้อน โรคโปลิโอเป็นโรคในเด็กที่ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 การระบาดทำให้มีผู้ป่วยเป็นอัมพาตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ส่วนประเทศไทย ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) โรคโปลิโอเกิดระบาดรุนแรงมีผู้ป่วยถึง 425 ราย ทางการได้มีประกาศให้โรคโปลิโอเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2495
จนเมื่อมีการคิดผลิตวัคซีนป้องกันโปลิโอสำเร็จในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 จำนวนผู้ป่วยโปลิโอทั่วโลกหลายแสนคนต่อปี จึงลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งพันคนต่อปี
ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) กระทรวงสาธารณสุขของไทย จัดตั้งแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเริ่มให้บริการวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงโปลิโอ โดยระยะแรกเริ่มให้บริการเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ จนครบทุกจังหวัด พบว่า ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ผลจากการให้วัคซีนโปลิโอ จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมาก
ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) องค์การอนามัยโลกกำหนดเป้าหมายการกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลกนี้ภายในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ต้องไม่มีผู้ป่วยและเชื้อไวรัสโปลิโอในสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกพื้นที่ในประเทศปลอดโรคโปลิโอใน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) และไม่มีผู้ป่วยโปลิโอที่เป็นอัมพาตจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมใน ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539)
ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ประเทศไทยเริ่มโครงการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กทั่วประเทศเป็นครั้งแรก มีการหยอดวัคซีนโปลิโอเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1994 (พ.ศ. 2537)
ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) มีรายงานผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายที่ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย เป็นผู้ป่วยเด็กชายอายุ 10 ปี นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการกวาดล้างโรคโปลิโอในประเทศไทย แต่ที่น่าเสียใจคือที่ผู้ป่วยรายสุดท้ายนี้ได้เสียชีวิตลงเพราะโรคโปลิโอ
ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบผู้ป่วย “โรคโปลิโอ” มา 20 กว่าปีแล้ว
ข้อมูลจาก :
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.มะลิ วิโรจน์แสงทอง. บทความวิชาการ เรื่อง วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ: ปัจจุบันและอนาคตภาควิชาชีวเคมีและจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นภนาท อนุพงศ์พัฒน์. ปกิณกคดี 100 ปีการสาธารณสุขไทย ในวาระ 100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ. 2461-2561) , หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุข, เมษายน 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2565