กำเนิดโรง(หญิง)โสเภณีสาธารณะยุคแรกของโลก และถกปมหลักฐานชี้ตัวผู้ริเริ่มแนวคิดนี้

ซ่อง โสเภณี สมัย จักรวรรดิโรมัน
ซ่องโสเภณีสมัยจักรวรรดิโรมัน โดย Charles Nicolas Dufour ปี 1851

ตามรอยข้อมูลโรงหญิงโสเภณีสาธารณะแห่งแรกของโลกที่เอเธนส์ เมื่อมีบทกวีชี้ว่า ผู้ริเริ่มจัดตั้งกิจการให้บริการ โสเภณี แบบสาธารณะคือ โซลัน (Solon) นักกฎหมายและนักปฏิรูป 

ถ้าหากพูดถึงอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้นอาชีพ “การค้าบริการทางเพศ” หรือที่เพศหนึ่งเรียกโดยใช้ศัพท์ติดปากกันว่า โสเภณี แม้เวลาล่วงเลยมานานแล้ว ในปัจจุบันยังมีหลายประเทศที่มองว่าเป็นอาชีพผิดกฎหมายและไม่มีกฎหมายรองรับรวมถึงในประเทศไทยด้วย

ในอดีต ยุคสมัยกรีกโบราณ สังคมยังไม่เล็งเห็นในเรื่องของศีลธรรมอันดีและคุณค่าของการรักษาพรหมจรรย์มากนัก การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงจึงเป็นไปอย่างเสรี เนื่องจากทั้งชายและหญิงไม่มีความจำเป็นที่จะละอายใจต่อการประกอบกิจกรรมทางเพศของกันและกัน รวมทั้งโสเภณีเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นตราบาปในชีวิตที่เกิดขึ้นขณะทำงาน

ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่ต้องปกปิดความลับของฝ่ายที่ใช้บริการและฝ่ายผู้ให้บริการอีกด้วย เพราะถือว่าอาชีพนี้ทำกันเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติ

ความเป็นมาของโสเภณีในอดีต ธานี ชัยวัฒน์ เล่าไว้ในหนังสือ “ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศ ข้ามชาติในอาเซียน” ว่า เชื่อกันว่าน่าจะเริ่มต้นจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในแถบเอเชียตะวันตก เช่น ประเทศอินเดีย ผู้หญิงจะต้องเสียสละพรหมจรรย์เพื่อบูชาสิ่งศักสิทธิ์

แนวคิดแบบยุคโบราณ

ในอาณาจักรบาบิโลน หญิงสาวจะเสียสละพรหมจรรย์เพื่อแลกกับสิ่งตอบแทนอื่น เช่น เงินทอง ถ้าชายหนุ่มถูกใจหญิงสาวคนใดคนหนึ่งที่นั่งเรียงรายอยู่ในวิหารเจ้าแม่อิชตาร์(Ishtar) ก็จะโยนเหรียญลงบนตักของหญิงสาว ธานี ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวยังระบุว่า หลังประกอบพิธีเสร็จ หญิงสาวเหล่านี้จะกลับไปบ้านเมืองของตนและครองชีวิตคู่ต่อไป

ในอินเดียและบาบิโลนมีความเชื่อเดียวกันที่ว่า การเสียสละพรหมจรรย์ของหญิงสาวนั้นจะนำพาไปสู่โชคลาภ

ในการประกอบกิจกรรมนั้น การแต่งหน้าและแต่งกายสีฉูดฉาด ถือเป็นเอกลักษณ์ที่มีมายาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างความดึงดูดให้แก่ผู้ที่เข้าใช้บริการ และมีแบ่งแยกชนชั้นระหว่างโสเภณีตามท้องถนนและโสเภณีตามซ่อง

เมื่อเวลาผ่านไป กิจกรรมของโสเภณีเริ่มแปรเปลี่ยนจากแง่มุมเชิงพิธีกรรมไปเป็นมิติเรื่องสะสมทุนเพื่อสมรส ยังมีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่เป็นโสเภณีมาแล้วจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการเป็นภรรยาและมารดาด้วยซ้ำ

โสเภณี ยุคกรีก-โรมัน และบทบาทของโซลัน

ในยุคกรีก-โรมัน แนวคิดทางศาสนาเริ่มถูกแทนที่ด้วยความเจริญทางวัตถุ ยุคนี้เกิดโรงหญิงโสเภณีสาธารณะแห่งแรกของโลกที่เอเธนส์ ธานี เล่าไว้ว่า ผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงโสเภณีสาธารณะคือ นายโซลัน (Solon) นักกฎหมายและนักปฏิรูป โรงหญิงโสเภณีสาธารณะมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ นำเงินรายได้มาใช้ในการกุศลทางศาสนา และไม่ให้เกิดลักลอบมีเพศสัมพันธ์และการคบชู้ ถือเป็นการบริการทางเพศยุคแรกของโลกก็ว่าได้

โซลัน (กำเนิดเมื่อราว 630 ปีก่อนคริสต์กาล เสียชีวิตเมื่อราว 560 ปีก่อนคริสต์กาล) ได้รับขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน 7 ผู้ปราดเปรื่องแห่งกรีซ

ข้อมูลเกี่ยวกับโซลัน ต้องอาศัยการปะติดปะต่อจากหลักฐานประเภทบทกวี หลักกฎหมายที่เขาตราขึ้น ธรรมเนียมที่สืบทอดกันแบบปากต่อปาก ไปจนถึงการสันนิษฐานจากขนบธรรมเนียมที่ปรากฏขึ้น เนื่องจากในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ชาวกรีกยังไม่ได้เริ่มจดบันทึกประวัติศาสตร์หรือจดบันทึกประวัติบุคคลต่างๆ กระทั่งมาถึงศตวรรษที่ 5 ซึ่งเริ่มปรากฏการรวบรวมข้อมูลและผลงานของโซลัน

ธีโอดอร์ คาดูซ์ (Theodore John Cadoux) นักวิชาการที่เคยเป็นผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ยุคโบราณในมหาวิทยาลัยเอดินบระห์ (University of Edinburgh) อธิบายว่า จากหลักฐานประเภทการเดินทางและสถานะทางการเงิน ข้อมูลบ่งชี้ว่าโซลันอาจเป็นพ่อค้าก็เป็นได้ ธีโอดอร์ เชื่อว่าโซลันถือกำเนิดในตระกูลที่มีฐานะปานกลาง

ทั้งนี้ บทบาทของโซลันมีทั้งในแง่มุมทางการเมือง กฎหมาย และการเคลื่อนไหวปฏิรูปทางสังคมและการเมือง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้คนจดจำโซลันอีกเรื่องหนึ่งคือบทบาทต่อการสร้างโรงโสเภณีสาธารณะ

ในบทกวีของ Philemon นักเขียนบทละครและบทกวี บรรยายเรื่องนี้ไว้ว่า โรงโสเภณีของโซลัน เปิดให้บริการสำหรับทุกผู้คน

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์แล้ว สารในบทละครผลงานของ Philemon มักถูกตั้งคำถามว่าบอกเล่าออกมาสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับโซลัน ในแง่บทบาทต่อมาตรการด้านบริการทางเพศเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันเสมอ แต่ก็มีคำถามถึงเรื่องความน่าเชื่อถือของบันทึกโดยนักเขียนยุคโบราณว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนเช่นกัน ข้อถกเถียงอย่างหนึ่งก็คือ โซลันมีบทบาทต่อแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์แบบโรแมนติกระหว่างชายหนุ่มกับชายที่อายุมากกว่าในยุคกรีกโบราณมากน้อยแค่ไหน

หรือแม้แต่ข้อถกเถียงว่าโซลันมีความสัมพันธ์แบบนี้กับชายหนุ่มด้วยหรือไม่ โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าคือ Pisistratus ซึ่งจะขึ้นปกครองเอเธนส์ ราวช่วง 561 ปีก่อนคริสต์กาล

ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพเขียนสีการร่วมเพศใน Lupanar สถานบริการมีชื่อในปอมเปอีที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ในภาพจะเห็นว่าฝ่ายหญิงคาดบางอย่างบนหน้าอก (ภาพจาก Wikimedia Common ไฟล์ Public Domain)

โซลัน 

สำหรับข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับตัวโซลัน ที่พอมีน้ำหนัก นักประวัติศาสตร์อย่างธีโอดอร์ คาดูซ์ บอกเล่าไว้ว่าโซลันเริ่มเป็นที่รู้จักในยุคนั้นมากขึ้นราวช่วง 600 ปีก่อนคริสต์กาล จากการปลุกระดมชาวเอเธนส์ ให้ฮึดสู้ในสงครามกับเพื่อนบ้านเพื่อครอบครองเกาะซาลามิส (Salamis) ซึ่งเป็นฝ่ายเอเธนส์ ได้ชัยในที่สุด

ในศตวรรษที่ 6 ถือเป็นช่วงเวลาที่เอเธนส์ เผชิญปัญหาหลายด้าน ในมิติทางสังคม ธีโอดอร์ อธิบายไว้ว่า เอเธนส์ในยุคนั้นอยู่ใต้เงาของการปกครองโดยคนชนชั้นสูง (aristocracy) ที่สืบเชื้อสายมาแต่กำเนิด คนกลุ่มนี้ถือครองที่ดินทำเลดี และมีอำนาจในการปกครอง

สังคมในเวลานั้นยังมีช่องว่างระหว่างชนชั้น เกษตรกรที่มีฐานะยากจนมักเป็นหนี้โดยง่าย เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ก็ถูกบีบให้ทำงานรับใช้ในที่ดินของตัวเอง หรือในกรณีสถานการณ์เลวร้ายก็ถูกขายเป็นทาส

ขณะที่ชนชั้นกลางในหมู่ชาวนาที่พอมีกิน แรงงานที่มีฝีมือ และพ่อค้า ก็ไม่ค่อยพอใจแนวทางของรัฐบาล

บรรยากาศโดยรวมในเวลานั้น นักประวัติศาสตร์ยุคโบราณเชื่อว่า สภาพความบิดเบี้ยวในสังคม ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง เมื่อสถานการณ์เดินไปจนสุดทางก็มีแนวโน้มนำไปสู่การแตกหัก และนำมาซึ่งเผด็จการทรราช เรื่องเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากบทบาทของโซลัน

ธีโอดอร์ มองว่าโซลันเป็นบุคคลที่ชาวเอเธนส์ทุกชนชั้นหันไปพึ่งพาโดยหวังว่าจะช่วยสะสางปัญหา ส่วนหนึ่งคือเพราะโซลันเชื่อในความพอดี และกฎระเบียบทางสังคมที่แต่ละชนชั้นมีตำแหน่งแห่งหนและหน้าที่ของชนชั้นนั้น ธีโอดอร์ อธิบายแนวทางของโซลันว่า

“ทางแก้ในแบบของโซลัน ไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นการปฏิรูป”

ราว 594 ปีก่อนคริสต์กาล ช่วงเวลานั้น โซลันมีตำแหน่งระดับ “ผู้นำ” (archon) อีก 20 ปีให้หลังโซลันถึงได้รับอำนาจเต็มในฐานะนักปฏิรูปและงานด้านบัญญัติกฎหมาย

ปฏิรูปทางเศรษฐกิจ

แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของโซลันมีบทบาทต่อการบรรเทาปัญหาความยากจนในยุคนั้น ส่วนหนึ่งคือไถ่ถอนที่ดินซึ่งถูกยึดและปลดปล่อยพลเมืองที่ตกเป็นทาส เชื่อกันว่า ต้นตอของแนวทางนี้อาจมาจาก “การออกคำสั่ง” โดยโซลัน

ทั้งนี้ โซลันปฏิเสธข้อเสนอโดยกลุ่มคนยากจนในเรื่องจัดสรรที่ดินใหม่ เขาหันมาผ่านระเบียบแนวทางเพิ่มความมั่งคั่งโดยรวมและเพิ่มทางเลือกสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถยังชีพตนเองด้วยการทำฟาร์ม สั่งห้ามส่งออกผลผลิตอื่นนอกเหนือจากน้ำมันมะกอก สืบเนื่องจากการส่งออกธัญพืชจำนวนมากส่งผลทำให้ไม่มีผลผลิตเพียงพอมาเลี้ยงประชากร

กระแสหมุนเวียนของเงินตราที่เป็นเหรียญก็ถูกกระตุ้นจากการผลิตเหรียญและระบบเหรียญโดยชาวเอเธนส์ในท้องถิ่น หลักฐานทางโบราณคดีช่วยพิสูจน์ความรุ่งเรืองและความแพร่หลายของผลิตภัณฑ์โดยชาวเอเธนส์ โดยเฉพาะน้ำมันมะกอกและเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่ามาตรการของโซลัน ได้ผล แม้ว่าความยากจนจะไม่ได้ถูกขจัดไปแบบหมดสิ้น แต่ก็ไม่ได้ปรากฏในระดับรุนแรงก่อนหน้ามาตรการของโซลัน

ปฏิรูปทางการเมืองและกฎหมาย

ไม่เพียงแค่ระบบเศรษฐกิจ โซลันยังมีบทบาทต่อการปฏิรูปทางการเมือง โดยขจัดการผูกขาดทางการเมืองที่อยู่ในมือกลุ่มชนชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือการบริหารงานโดยกลุ่มพลเมืองที่มีฐานะ

เขานำระบบสำรวจประชากรโดยใช้ตัวแปรด้านรายได้รายปีซึ่งคำนวณจากปริมาณธัญพืช, มะกอก และไวน์ จากนั้นจึงแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 4 กลุ่มโดยวัดจากรายได้ กรณีที่รายได้ของประชากรอยู่ในรูปแบบอื่น เช่น เงิน ก็ถูกประเมินด้วยระบบที่เท่าเทียมกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมา สิทธิพิเศษทางการเมืองถูกแบ่งสันปันส่วนภายใต้พื้นฐานของการจำแนกเหล่านี้โดยไม่มีเรื่องเชื้อสายแต่กำเนิดมาเกี่ยวข้อง

พลเมืองทุกคนสามารถเข้าร่วมการประชุมทั่วไปได้ ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทต่อการผ่านกฎหมาย เลือกตัวเจ้าหน้าที่รัฐมารับตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลยังถูกสงวนไว้สำหรับประชากรกลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด 2 กลุ่มแรก ขณะเดียวกันกลิ่นอายของธรรมเนียมดั้งเดิมก็ยังคงปรากฏอยู่ดี เห็นได้จากประชากรส่วนใหญ่ยังคงเลือกให้ความเชื่อถือและไว้วางใจกลุ่มคนที่เป็นสมาชิกของตระกูลชนชั้นสูงในกรณีที่เป็นตำแหน่งสำคัญอันดับต้นๆ อยู่ดี

ในด้านกฎหมาย โซลันมีแนวคิดปรับเปลี่ยนการลงโทษแบบเดิมที่ใช้กันมาตามแนวทางของเดรโก้ (Draco – 621 ปีก่อนคริสต์กาล) เดิมทีบทลงโทษตามข้อหาพฤติกรรมที่เข้าข่ายอาชญากรรม แทบทั้งหมดคือลงโทษถึงแก่ความตาย โซลันหันมาพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้ลงโทษขั้นถึงแก่ชีวิตแค่กรณีของข้อหาฆาตกรรมเท่านั้น รากฐานการปรับเปลี่ยนกฎหมายของโซลัน ยังคงพบเห็นได้ในร่องรอยของกฎหมายรัฐจนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 5

ภายหลังจากที่โซลัน ปฏิบัติหน้าที่ปฏิรูปตามบทบาทไปแล้ว กลับปรากฏว่าเกิดเสียงวิจารณ์จากทุกฝ่าย ฝั่งชนชั้นสูงที่หวังว่าการปฏิรูปของโซลัน จะส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยและไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนฝั่งกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนหวังว่าข้อเสนอจัดสรรที่ดินอย่างเท่าเทียม ก็อยากผลักดันการจัดสรรที่ดินใหม่

โซลันถูกคาดหวังจากทุกกลุ่มชนว่าการปฏิรูปของเขาจะทำให้แต่ละกลุ่มพอใจ แต่ดูเหมือนว่า เขากลับไม่สามารถทำให้ทุกกลุ่มพอใจได้ตามที่หลายคนคาดหวัง ภายหลังเขาจึงออกเดินทางไปหลายพื้นที่เพื่อหลีกเลี่ยงจะต้องอธิบายสาธยายความเรื่องแนวทางของเขา แม้ว่าชาวเอเธนส์ ได้ยอมรับแนวทางที่โซลันวางไว้(ตามข้อผูกมัด)เป็นระยะเวลา 10 ปี (จากที่เฮโรโดทัส นักเขียนกรีกได้บันทึกไว้ นักเขียนรายอื่นบันทึกไว้ว่าเป็นเวลา 100 ปี แต่เชื่อกันว่าตัวเลข 10 ปีน่าจะเป็นไปได้มากกว่า)

บทกวีของโซลันบรรยายถึงการเดินทางไปอียิปต์และไซปรัส เมื่อเดินทางกลับถึงเอเธนส์ เขาพบว่าพลเมืองแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มตามแคว้นต่างๆ มีผู้นำคือชนชั้นสูงที่มีชื่อเสียง

เชื่อกันว่า เขาถึงแก่กรรมในไซปรัส ราวช่วง 560 ปีก่อนคริสต์กาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ธานี ชัยวัฒน์. ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศ ข้ามชาติในอาเซียน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564.

Theodore John Cadoux. “Solon Greek statesman and poet”. Britannica. Access 27 JAN 2022. <https://www.britannica.com/biography/Solon>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2565