ถกปมตั้ง “พระสยามเทวาธิราช” บนยอด “รัฐสภา” เป็นสัญลักษณ์ปชต. หรือศาสนสถาน กันแน่?

รัฐสภา สัปปายะ​สภา​สถาน เกียกกาย
ภาพถ่าย อาคาร​รัฐสภา​แห่ง​ใหม่ 'สัปปายะ​สภา​สถาน' ที่เกียกกาย จากมุม​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​เจ้าพระยา กรุงเทพฯ เมื่อวัน​ที่ 12 มีนาคม 2564 ภาพจากห้องสมุดภาพ มติชน สงวนลิขสิทธิ์

การจัดตั้งรัฐสภาที่เกียกกาย ตามแนวคิด “สัปปายะสภาสถาน” มีการออกแบบให้ตั้งเทวรูป พระสยามเทวาธิราช อยู่บนยอดจัตุรัสสีทองบนหลังคาของรัฐสภา นำมาสู่ข้อถกเถียงว่า “สัปปายะสภาสถาน” คือสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย หรือศาสนสถานกันแน่ ?

คำว่า “สัปปายะสภาสถาน” แปลว่า ที่สงบ สะดวกสบาย (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2562) ขณะที่ลักษณะของโครงสร้างอาคารนั้น นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม อย่าง ศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ มองว่า โครงสร้างทั้งหมดนำมาจากไตรภูมิและเขาพระสุเมรุ หากมองจากภายนอกอาจทำให้นึกถึงเขาพระสุเมรุ เช่นลักษณะมีมณฑปหรือเจดีย์ทองอยู่บนยอด

ที่ผ่านมามีข้อมูลว่า ผู้ออกแบบตั้งใจให้ยอดจัตุรมุขสีทองบนหลังคาสูง เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป “พระสยามเทวาธิราช” ไว้ภายใน (คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, 2564)

มุมมองที่สะท้อนแนวคิดของการสร้าง “สัปปายะสภาสถาน”

มุมมองเกี่ยวกับข้อถกเถียงนี้ มีหลายคนให้ความเห็นแตกต่างกันออกไป เช่น ศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ มองว่า มีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น นำเอาแนวคิดทางศาสนาเข้าไปออกแบบ โดยเฉพาะหลักศีลธรรมทางศาสนาที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรม ซึ่งเท่ากับทำลายแนวคิดรัฐฆราวาสวิสัย (secular state) ที่มองเรื่องแยกศาสนาจากรัฐ และทำให้รัฐเข้าใกล้คำว่า “รัฐศาสนา” เข้าไปทุกที

สำหรับนายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เขียนหนังสือ “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง?” ได้กล่าวถึงปัญหาที่บกพร่องของอาคารรัฐสภาหรือ “สัปปายะสภาสถาน” เอาไว้ว่า การออกแบบลักษณะนี้สะท้อนความสับสนทางความคิดหลายเรื่อง เช่น คนทั่วไปหรือผู้มีอำนาจรัฐมักจะสับสนระหว่างศีลธรรมทางศาสนากับจริยธรรมทางโลก โดยศีลธรรมทางศาสนามีลักษณะของความเชื่อที่แตกต่างกันตามกลุ่มศาสนา

“ชาวพุทธเห็นสุราเป็นของผิดศีล ในขณะที่ชาวคริสต์ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น หรือการไม่นับถือพระเจ้าเป็นลักษณะของชาวพุทธ แต่ศาสนาอื่นๆ มองเห็นเป็นเรื่องร้ายแรงสุดทีเดียว ฯลฯ ถ้าเอาอย่างใดอย่างหนึ่งมาบังคับใช้กับทุกคนย่อมจะเกิดปัญหาแน่นอน”

คมกฤช มีความเห็นว่า ไม่ควรนำศีลธรรมทางศาสนามาบังคับใช้ หรือกลายเป็นนโยบายของรัฐ แต่ควรใช้จริยธรรมทางโลกซึ่งมีลักษณะเป็นสากลมาใช้แทน เช่น การยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และการนำเอาศีลธรรมหรือแนวคิดพุทธศาสนามาใช้ในการสร้างรัฐสภา ก็ไม่สอดคล้องกับคุณค่าของสากลแบบหลักประชาธิปไตย

คมกฤช ยังมองว่า ในรัฐสภาควรสะท้อนการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ตามรูปแบบของความเป็นประชาธิปไตย การออกแบบควรสะท้อนแนวคิดนี้ในการบริหารรัฐ ฉะนั้น การเชิดชูพุทธศาสนาในทางรูปแบบและความคิดมาอยู่เหนือความเชื่อผ่านงานสถาปัตยกรรม ย่อมไม่ใช่การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

นอกเหนือจากนั้น การออกแบบนี้ยังก้าวไม่พ้นมโนสำนึกเรื่องนักการเมืองเลว ที่ต้องขัดเกลาด้วยศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่จัดให้คนพวกนั้นจะต้องซึมซับไตรภูมิ จนกว่าจะเป็น “เทวดา” อันควรค่าแก่วิมานอันสัปปายะ

ทั้งนี้ ยังมีมุมมองจากอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รศ. ดร. ชาตรี (ตำแหน่งทางวิชาการขณะนั้น) ที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร WAY โดยกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของการออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งนี้อีกด้วย โดยมองว่า

“รัฐสภาหลังนี้มันเป็นอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยมันควรจะเป็นพื้นที่ที่เป็นอุดมคติของการแสดงให้เห็นว่าประชาชนนั้นมีอำนาจมากที่สุด แต่รัฐสภากลับเลือกใช้รูปแบบในเชิงศาสนา มันยิ่งทำให้เราถอยห่างจากหลักการความเป็นประชาธิปไตย”

มุมมองที่สะท้อนแนวคิดของการตั้ง “พระสยามเทวาธิราช”

คนไทยคงทราบกันดีว่า ทำไมประเทศไทยถึงได้มีการบูชา “พระสยามเทวาธิราช” เป็นความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาหลายรุ่น ว่ากันปากต่อปาก โดยเทวดาองค์นี้เริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

คมกฤช บอกไว้ว่า สำหรับเขาแล้ว พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวดาการเมืองมาตั้งแต่ตั้งเป็น “ผี” ที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไทย (รับมาจากพราหมณ์) เหมือนรูปเคารพพระภูมิที่เราเห็นกัน แต่มีป้ายชื่อ “จีน” อยู่ด้วย ทั้งนี้ พระสยามเทวาธิราช ไม่ได้มีองค์เดียว ในสมัยรัชการที่ 5 มีการสร้างพระสยามราชาธิราชขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง มีลักษณะเทวดาอย่างองค์เดิม และมีพระป้ายเขียนพระนามแบบจีนเช่นกัน

คมกฤช อธิบายเพิ่มเติมว่า พระสยามเทวาธิราชองค์ที่ 2 มีพระพักตร์เป็นรัชกาลที่ 4 เลยทีเดียว และมีป้ายจีน ทั้งสองปัจจัยนี้น่าจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้เหตุผลได้ว่า ทำไมคนถึงมักบอกกันว่า พระสยามเทวาธิราช คือดวงวิญญาณของบูรพกษัตริย์ หรือพระราชบรรพบุรุษในราชวงศ์จักรี

สำหรับเรื่อง “ป้ายชื่อจีน” ผู้เขียนหนังสือ “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง?” แสดงความคิดเห็นว่า เป็นธรรมเนียมเดียวกับ “ป้ายวิญญาณ” ของบรรพชน (ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียก ซินจู๊) ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่ต้องกราบไหว้ น่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของไทยกับจีนเข้าด้วยกัน คือเอาป้ายวิญญาณจีนผสมกับเทวรูปสถิตผีตามแบบไทย

สำหรับเหตุผลของฝั่งที่มองว่า ไม่ควรนำพระสยามเทวาธิราชไปไว้ในซุ้มบนยอดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ คมกฤช แสดงความคิดเห็น โดยให้เหตุผลเรื่องนี้ไว้ในหนังสือด้วยว่า

“พระสยามเทวาธิราชเป็นเทวดาในความเชื่อแบบผี พราหมณ์ พุทธ และยังมีความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณของบูรพกษัตริย์อีก พระสยามเทวาธิราชจึงเป็นรูปเคารพ ‘ทางศาสนา’ ไม่ใช่สัญลักษณ์คุณค่าสากลทางการเมืองหรือจริยธรรม”

ทั้งนี้ คมกฤช ยังเสนอว่า รัฐไม่ควรใช้ความเชื่อทางศาสนามากดขี่ความเชื่อของความเป็นหลักประชาธิปไตยอันเป็นหลักสากล ควรเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองจะดีกว่า อาทิ “พานรัฐธรรมนูญ” ที่เคยถูกยกย่องเชิดชูในสมัยคณะราษฎร และเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดขึ้นของการปกครองแบบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ยังตอกย้ำแก่ผู้เข้ามาในอาคารรัฐสภาได้อีกด้วยว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุกคนต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564.

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม และธนพล บางยี่ขัน. “ถอดรหัสสถาปนิกการเมือง สร้างสัปปายะสภาสถาน”. โพสต์ทูเดย์. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 22 สิงหาคม 2553. เข้าถึงเมื่อ 20 มกราคม 2565. <https://www.posttoday.com/politic/report/45530>

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ และรุ่งรวิน แสงสิงห์. “สัปปายะสภาสถาน: รัฐสภาแห่งใหม่และความหมายที่สูญหายของประชาชน”. WAY. Online. เผยแพร่เมื่อ 24 พฤษภาคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 20 มกราคม 2565. <https://waymagazine.org/interview-chatri-prakitnonthakan-sappayasaphasathan/>

สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล. “รูปแบบรัฐสภาสะท้อนการเมืองการปกครองของประเทศนั้นๆ แล้วรัฐสภาใหม่ของไทยสะท้อนอะไรบ้าง”. Momentum. Online. เผยแพร่เมื่อ 8 สิงหาคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 20 มกราคม 2565. <https://themomentum.co/form-of-parliament-and-democracy/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2565