กำเนิดตึกแถวสองฝั่งถนนราชดำเนิน ที่มาของฉายา “ป้อมปราการ” ประชาธิปไตย

ถนนราชดำเนิน ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2480

ถนนราชดำเนิน เมื่อเริ่มแรกนั้นได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างพระราชวังเดิมกับพระราชวังดุสิต บนพื้นที่ดินของราษฎรในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นทรงมีพระราชดำริให้ถอดแบบมาจากถนนมอลล์ (The Mall) ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผสมกับถนนชองป์สเอลีเซส์ (Champs-Elysees) ของปารีสประเทศฝรั่งเศส

โดยมีการเวนคืนที่ดินของราษฎร ในการนี้ทรงมีกุศโลบายในการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคน และให้ถือเป็นธรรมเนียมในการปฏิบัติสำหรับการเวนคืนในส่วนอื่นๆ อีกด้วย ตามประกาศจัดที่สร้างถนนราชดำเนิน วันที่ 15 สิงหาคม ร.ศ. 118 โดยให้ราษฎรที่สูญเสียที่ดินทั้งหมดได้รับเงินทำขวัญ ในกรณีถูกเวนที่ดินทั้งหมด ส่วนราษฎรที่ยังมีที่ดินเหลือ ทรงกำหนดให้ต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยค่าสร้างถนน เพราะจะได้รับประโยชน์จากการตัดถนนในครั้งนี้ ในการนี้ยังทรงให้ปลูกต้นมะฮอกกานี เพื่อให้ร่มเงาแก่ผู้สัญจรไปมาอีกด้วย

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

จนถึงสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเป็นอนุสารณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น โดยทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ซึ่งเป็นวันชาติสมัยนั้น พร้อมกันนี้ยังได้มีการขยายถนนราชดำเนินให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อเป็นถนนสาย “สง่างาม” สำหรับการจัดกระบวนแห่ต่างๆ อย่างในต่างประเทศ ให้มีเสาไฟฟ้าโคมหงส์ติดตั้งอย่างสวยงามเป็นคู่ๆ พร้อมกันนี้ได้จัดสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นเรียงรายเต็มสองฟากถนนเพื่อเป็นย่านการค้า กับทางเท้าที่หน้าตึกให้มีขนาดกว้างพอสำหรับการมา “ชุมนุม” ของประชาชนเพื่อดูงานสำคัญต่างๆ ของชาติที่จะจัดขึ้นบนถนนสายนี้

สำหรับตึกสองฟากถนนนั้นออกแบบโดยนายจิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกที่จบการศึกษามาจากประเทศฝรั่งเศส สถาปนิกผู้นี้ได้ออกแบบงานสำคัญๆ ไว้มากมาย เช่น ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเด่นสง่ากลางราชดำเนิน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเด่นสง่ากลางราชดำเนิน

การออกแบบนั้นเป็นไปตามอิทธิพลของสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (Modern Architecture) ซึ่งให้ความสำคัญกับรูปทรงเรขาคณิต คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยไม่เน้นการประดับประดา ซึ่งมีอยู่มากในยุคของรัชกาลที่ 5 และ 6 อาคารในยุคนี้จึงมีลักษณะของการนำ “กล่อง” มาเรียงกัน (ตามแบบคิวบิซึ่ม) รูปทรงภายนอกแสดงให้เห็นถึงความตรงไปตรงมาของการออกแบบ จนเห็นผิวผนังตึกหยาบๆ โดยเจตนา หลังคาตัดไม่มีจั่ว นอกจากนี้ยังเน้นให้เห็นถึงความใหญ่โต หนักแน่นทำให้หลายคนคิดไปถึงพลังของ “เผด็จการ” แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความนิยมในงานทางสถาปัตยกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น

ตึกที่ดูแกร่งดังป้อมปราการ
ตึกที่ดูแกร่งดังป้อมปราการ

อาคารทรงนี้ยังมีให้เห็นโดยทั่วไปนอกเหนือจากบนถนนราชดำเนิน แม้จะออกแบบโดยสถาปนิกคนละคนกัน เช่น อาคารที่ทำการไปรษณีย์กลาง ถนนบางรัก ออกแบบโดย พระสาโรชน์รัตนนิมมานก์ และนายหมิว อภัยวงศ์ รูปแบบของอาคารหากยกมาตั้งไว้บนถนนราชดำเนิน ก็จะไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมแต่อย่างใด นับเป็นอาคารในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงครามที่ได้รับอิทธิพลเดียวกันทั้งสิ้น

อิทธิพลดังกล่าว สถาปนิกในสมัยนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันบาวเฮาส์ (Bauhaus) ในประเทศเยอรมนี โดยมีสองผู้ก่อตั้งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (Modern Architecture) อย่างสูง คือ วอลเตอร์ โกรเปียส (Walter Gropius) และมีส วาน เดอ โร (Mies Van De Rohe) ทั้งคู่ได้เริ่มบุกเบิกแนวคิดต่อการสร้างอาคารบ้านเรือนในยุคใหม่ขึ้น และมีบทบาทอย่างสูงต่อวงการสถาปัตยกรรมไปทั่วยุโรปมาตั้งแต่สมัยฮิตเลอร์เรืองอำนาจ

โดยเฉพาะมีส วาน เดอ โร ผู้สร้างแนวคิดอมตะขึ้นคือ Less is More ซึ่งหมายถึงงานสถาปัตยกรรมที่เน้นรูปทรงเรขาคณิต ตัดลวดลายรุงรังในยุคก่อนออกมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา หนักแน่นแต่งดงาม มีส วาน เดอ โร เองก็ได้อิทธิพลความคิดนี้มาจากปราสาทเก่า และป้อมปราการที่มีอยู่ทั่วไปในเยอรมนี ซึ่งได้พบเห็นตั้งแต่วัยเด็ก ที่มีทั้งความหนักแน่น แต่งดงาม เต็มไปด้วยพลัง

เมื่อเทียบดูแล้วตึกแถวสองฝั่งถนนราชดำเนินก็มีส่วนคล้ายคลึงกับปราสาทเก่า และป้อมปราการในเยอรมนีไม่น้อย ผสมผสานกับถนนสายประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ที่มีเลือดผสมของอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่ “สง่างาม” และลงตัว สมกับชื่อ “ราชดำเนินอย่างที่สุด”

แม้จะไม่ใช่เจตจำนงของผู้ออกแบบตึกแถวราชดำเนินก็ตาม แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกรายล้อมไปด้วยป้อมปราการของเยอรมนีสมัยเผด็จการ นี่หรือเปล่าที่เป็นเหตุให้ประเทศสยามต้องล้มลุกคลุกคลานกับคำว่าประชาธิปไตย เรื่อยมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2560