รัชกาลที่ 6 ทรงเคือง กงสุลไทยที่สิงคโปร์-เจ้าเมืองสิงคโปร์

รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (สนพ. มติชน) พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งบันทึกถึงการเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงของพระอนุชาว่า

“วันที่ 8 มีนาคม น้องๆ ที่กลับมาจากยุโรปเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ, คือน้องชายแดง (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์), น้องชายติ๋ว (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณอินทราไชย), น้องเอียดน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา), กับรังสิต, ได้มาโดยเรือ “มหาจักร” (ลำเก่า) จากสิงคโปร์, ถึงท่าราชวรดิฐเวลาเที่ยง. ฉันได้ลงไปรับที่ตำหนักแพและพาเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง, พาไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อเฝ้าพระบรมศพ, แล้วเลยพาเดิรทางข้างในขึ้นไปเฝ้าเสด็จแม่, สมเด็จป้า, และเจ้านายฝ่ายในที่ห้องน้ำ และทิ้งน้องๆ ไว้ให้เฝ้ากันต่อไป, ฉันเองกลับไปที่อยู่. เวลาบ่ายฉันจึ่งได้ไปเยี่ยมน้องๆ ที่พักอยู่กันที่ตำหนักสวนจิตรลดา (คือตำหนักรับแขกในเขตสวนปารุษกวันเดี๋ยวนี้)”

ซึ่งทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงทราบ ว่าที่เมืองสิงคโปร์รับเสด็จพระอนุชาของพระองค์อย่างไร โดยทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

“เจ้าเมืองสิงคโปร์ประพฤติบกพร่อง

เมื่อสนทนาถามข่าวคราวกัน จึงได้ความขึ้นว่าการรับรองของเจ้าเมืองสิงค์โปร์บกพร่องไป เจ้าเมืองคนที่ว่านี้ชื่อเสอร์จอน แอนเดอร์สัน (Sir John Anderson, K.C.M.G.) เมื่อพวกน้องๆ ไปถึงสิงคโปร์ กงสุลเจเนราลของเรา (ชื่อเสอร์จอน แอนเดอร์สัน เหมือนกัน, แต่ไม่ใช่ญาติกับเจ้าเมือง) ได้ลงไปรับในเรือเมล พร้อมด้วยองครักษ์และเลขานุการของเจ้าเมืองสิงคโปร์.

กงสุลของเราจะได้ไปพูดกับพวกเขาไว้อย่างไรไม่ปรากฏ. คงได้ความแต่ว่าเจ้าเมืองสิงคโปร์นัดให้ไปหาเวลาเช้า 9 นาฬิกากึ่ง. ครั้นเมื่อน้องๆ ของฉันไปตามเวลานั้น ก็หาได้มีใครลงไปรับรองที่รถไม่. คอยอยู่สักครู่ 1 จึงได้มีเสมียนคนหนึ่งลงไปรับ บอกว่าท่านเจ้าเมืองยังไม่ออกจากห้องกินอาหาร, ขอให้เขียนชื่อไว้ในสมุดเยี่ยม, แต่น้องๆ ของฉันไม่ยอมทำเช่นนั้น ตกลงคอยโตงเตงอยู่ที่หัวบรรได, และเสมียนนั้นก็ไม่เชิญเข้าไปในห้องรับแขก.

คอยอยู่ประมาณ 10 นาทีจึ่งได้มีผู้ลงไปตามว่าเจ้าเมืองจะพบ. พาขึ้นไปพบกับเจ้าเมืองในห้องทำงาน, พูดกันครู่เดียวแล้วก็กลับ, และเมื่อกลับเจ้าเมืองก็มิได้ลงไปส่งข้างล่าง. ออกจะวางตัวภูมจัดราวกับเป็นนาย, และพวกเราเป็นพวกตนกูมลายูเมืองขึ้นของอังกฤษ.

ฉันได้ฟังเรื่องแล้วก็เคืองจัดเต็มที่ ทูลกรมหลวงเทววงศ์ให้ทรงต่อว่ากับอัครราชทูตอังกฤษ. เส้อร์อาร์เทอร์ เวลานั้นยังเป็นมิสเตอร์ปีล, อัครราชทูตอังกฤษได้ทราบเรื่องก็โกรธ, และขอโทษในการที่เจ้าเมืองสิงคโปร์ประพฤติไม่สมควรอย่างนั้น, และรับรองว่าจะฟ้องไปที่รัฐบาลของเขา

ต่อมามิสเตอร์ปีลบอกว่าได้รับคำสั่งจากเสนาบดีว่าการต่างประเทศของเขาให้แสดงความเสียใจและขอโทษ, และว่าเสนาบดีว่าการประเทศราชของเขาได้มีท้องตราติโทษมายังเส้อร์จอน แอนเดอร์สัน.

แต่เพื่อให้เป็นยุติธรรมควรกล่าวด้วยว่า กงสุลของเราเองก็มีความบกพร่องด้วย. ในชั้นต้นคงจะได้ไปตะเกียกตะกายขอให้เขารับรอง, ฝ่ายเขาคงไม่ได้ตั้งใจว่าจะรับรองแต่เสียไม่ได้จึ่งตกลง.

การที่กงสุลของเราได้ตะเกียกตะกายเช่นนั้น ทำให้เขาเข้าใจไปว่าฝ่ายเราประสงค์ประจบประแจงเขา, เขาก็วางภูมเสียเต็มประตูเท่านั้น, นับว่าฝ่ายเราเสียเหลี่ยมลงโดยไม่พอที่ฝ่ายกงสุลของเรานั้น, เมื่อได้ไปรบเร้าให้เขารับรองแล้ว ก็มิได้มาเอื้อเฟื้อและตามเสด็จเจ้านายไปเยี่ยมเจ้าเมืองด้วยเลย, ออกจะบกพร่องในน่าที่

เส้อร์จอน แอนเดอร์สัน, กงสุลเจเนราลของเราเวลานั้น, เปนคนที่เมื่อหนุ่มๆ ประจบประแจง ไทยเราดี, เป็นที่ถูกพระราชอัธยาศัยของทูลกระหม่อม, และชอบกับกรมดำรงมาก, ทั้งได้เปนขุนนางไทย มีราชทินนามเป็น “พระพิเทศพาณิช” ครั้นเมื่ออายุมากแล้วได้รับตราอังกฤษเสนต์ไมเค็ลแอนด์เสนต์ยอร์ชชั้นที่ 2 มีบรรดาศักดิ์อังกฤษเปน “เส้อร์” ขึ้น, ก็ดูออกจะจองหองขึ้นสักหน่อย.

ภายหลังแอนเดอร์สันผู้นี้ได้ไปจากสิงคโปร์กลับไปอยู่ลอนดอน, จึงเปลี่ยนไปเปนกงสุลเจนเนราลของเราที่ลอนดอน. จำเดิมแต่เมื่อได้เกิดเหตุเรื่องที่กล่าวข้างบนนี้ขึ้น, ฉันก็ได้ตั้งใจว่าจะหาคนไทยออกไปเปนกงสุลที่สิงคโปร์และปินัง และที่ท่าเรือแห่งอื่นๆ, และได้เปนอันจัดาการตั้งไปได้แล้วที่สิงคโปร์, ปินัง และกัลกัตตา.[จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

 


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2565