ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ท่านผู้หญิง เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เขียนตำรับอาหาร “แม่ครัวหัวป่าก์” ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่ว ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2390 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นธิดาของนายสุดจินดา (พลอย ชูโต) กับคุณนิ่ม ชูโต ซึ่งเป็นธิดาของคุณหญิงเปี่ยม (ธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)) นับว่า ท่านผู้หญิง เปลี่ยน เป็นลูกคุณจากตระกูลที่ร่ำรวยทรัพย์และอำนาจมากในยุคนั้น
ท่านผู้หญิง เปลี่ยน สมรสกับ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ข้าราชการคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้เป็นถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการคนแรกอีกด้วย (ปัจจุบันคือ กระทรวงศึกษาธิการ)
แต่ในที่นี้ จะกล่าวถึงเหตุมรณกรรมของท่านผู้หญิง เปลี่ยน ซึ่งมีเบื้องลึกเบื้องหลังน่าสงสัย น่าหวาดกลัว และสยดสยองอยู่ไม่น้อย
ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 28 หน้า 2050 ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม ร.ศ. 130 บันทึกการถึงแก่อนิจกรรมของท่านผู้หญิง เปลี่ยน ว่า “…ด้วยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภรรยาเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ ป่วยเปนแผลบาดพิษ ถึงแก่อนิจกรรม วันที่ 11 ธันวาคม รัตนโกสินทรศก 130 อายุได้ 65 ปี…” ซึ่งไม่ได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า “เปนแผลบาดพิษ” นั้นมีเหตุจากอะไร แต่เล่ากันต่อมาภายหลังว่า ท่านผู้หญิง เปลี่ยน ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องด้วยถูกคนเมา ซึ่งเป็นทหารเรือใช้มีดดาบฟันจนเป็นบาดแผลฉกรรจ์จนถึงแก่อนิจกรรม!
เอนก นาวิกมูล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “…เคยได้ฟังผู้ใหญ่ข้างวัดประยุรวงศ์เล่าเมื่อ พ.ศ. 2540 ว่า ท่านถูกบ่าวผู้ชายฟันร่างขาดสะพายแล่งที่ในบ้าน สาเหตุที่ถูกฟันนัยว่าเพราะไปขวางการหลับนอนของผัว ๆ เมีย ๆ คือ เมียทะเลาะกับผัว แล้วท่านไปแยกเมียมาเสีย ผัวแค้นใจจึงเอาดาบฟันท่าน…”
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลของ เอนก นาวิกมูล ทำให้ทราบข้อมูลอื่นที่ต่างออกไป เอนก นาวิกมูล อธิบายไว้ดังนี้ “…ในหนังสือนิทานชาวไร่ ของนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี เล่ม 7 ฉบับองค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์ พ.ศ. 2515 หน้า 128 (คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ผู้จัดการสำนักพิมพ์ต้นฉบับช่วยบอกให้ทราบ) กลับกล่าวไปอีกทางหนึ่ง เป็นทางที่อาจไม่น่าฟังนัก แต่จะทำอย่างไรได้ ขอให้ถือเสียว่า เป็นเรื่องของมนุษย์ เรื่องของประวัติศาสตร์ก็แล้วกัน จริงเท็จอย่างไรต้องสอบสวนกันต่อไป
นาวาเอกสวัสดิ์เล่าโดยอ้างแหล่งที่มาของข้อมูลไว้แจ้งชัดดังนี้ ‘คุณหลวงวรภักดิ์ภูบาล เล่าว่า ภรรยาเจ้าคุณภาสกรวงศ์คือท่านผู้หญิงเปลี่ยนนั้นถูกทหารเรือฟัน ทหารคนนั้นตั้งใจฟันทั้งผัวและเมีย แต่ฟันได้แต่ท่านผู้หญิงเท่านั้น คุณหลวงบอกว่าคนนั้นเป็นนายทหารเรือ ท่านจำได้ว่าเคยรับรองท่านเวลาท่านไปดูป้อมพระจุลจอมเกล้า และว่าคนร้ายติดคุกหลายปีเพราะสารภาพ คุณหลวงบอกว่านายทหารเรือคนนั้นเป็นลูกศิษย์ของในกรมหลวงชุมพรฯ เสียด้วย
หมอผิน ลุมพิกานนท์ เล่าว่า คนร้ายเป็นทหารปล่องเหลี่ยม (คือสังกัดกรมอู่ทหารเรือ) มีบ้านเช่าอยู่ในเขตบ้านเจ้าคุณภาสฯ นัยว่าท่านหญิงเปลี่ยนเอาเมียของทหารนั้นไปปู้ยี้ปู้ยำกับเจ้าคุณภาสฯ เขาเลยคิดแค้น กินเหล้าเสียเมา ถือดาบเข้าไปฟันท่านผู้หญิงเปลี่ยนโดนที่ท้อง คุณจำลอง ลุมพิกานนท์ พี่ชายของหมอผินโดดเข้าจับไว้ทัน เจ้าคุณภาสฯ จึงไม่โดนฟัน และว่าจำเลยถูกประหารชีวิต
ข้อความเกิดขัดแย้งกันเช่นนี้ข้าพเจ้าเลยต้องบันทึกไว้เป็นสองนัย แต่อย่างไรก็ตาม ท่านผู้หญิงเปลี่ยนถึงแก่กรรมแน่ในคราวนั้น’ นาวาเอกสวัสดิ์กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้เพียงแค่นี้ และไม่ระบุว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปีใด…”
อย่างไรก็ตาม พิทยา บุนนาค เล่าเรื่องท่านผู้หญิง เปลี่ยน ไว้อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากเรื่องข้างต้น ตรงที่ไม่ได้ระบุเหตุการถึงแก่อนิจกรรมของท่านผู้หญิง เปลี่ยน แต่ก็มีประเด็นเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ เกี่ยวข้องอยู่ด้วย โดยอธิบายไว้ว่า
“…ท่านผู้หญิงเปลี่ยนแม้แต่จะมีเสน่ห์ปลายจวักแต่ก็ไม่อาจจะมัดใจท่านเจ้าคุณไว้ได้ เพราะท่านเจ้าคุณได้หันไปหลงเสน่ห์ทุ่มเทให้กับเด็กในบ้านวัยกำดัดเสียแล้ว แต่คงไม่ใช่เพราะหึงหวง หากเพราะความแค้นเสียมากกว่า ที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้ให้บ่าวไพร่จับนังเด็กของท่านเจ้าคุณแหกขาออก แล้วเอาคบไต้ตามไฟ ทิ่มเข้าไปในรูหีของเด็กนั้นจนตาย (เรื่องไม่ได้เล่าว่าคบไฟเจ้ากรรมนั้นจุดไฟอยู่ด้วยหรือไม่)
ด้วยอำนาจวาสนาของพวกบุนนาคในขณะนั้น การกระทำของท่านผู้หญิงเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องของเมียหึงผัวธรรมดา แต่เรื่องที่จะตามมาคงไม่ถือว่าธรรมดาก็ตอนรดน้ำศพท่านผู้หญิงเปลี่ยนก่อนลงโกศ ได้มีพ่อของเด็กที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเอาคบไต้ตามไฟไปเสียบรูหีจนตาย บุกขึ้นไปพร้อมกับปังตอจับศพของท่านผู้หญิงแหกอกแหวะท้องลงไปถึงหัวหน่าว เขาว่าเหมือนกับตอนที่ท่านผู้หญิงเฉาะไก่เมื่อตอนทำกับข้าวก็ไม่ปาน ด้วยเป็นเรื่องอัปรีย์อัปยศ จึงไม่มีใครกล้าพูดถึงต่อมา โดยเลี่ยงเล่าไปว่า ท่านผู้หญิงถูกทหารเรือขี้เมาแถบวัดประยุรวงศ์ใกล้บ้าน ทำร้ายจนแผลติดเชื้อตาย…”
หากวิเคราะห์เหตุมรณกรรมของท่านผู้หญิง เปลี่ยน โดยยึดความจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นหลักว่า “…ป่วยเปนแผลบาดพิษ ถึงแก่อนิจกรรม…” ก็น่าเชื่อได้ว่า ท่านผู้หญิง เปลี่ยน ถูกคนร้ายฟัน จะเป็นดาบ มีด ปังตอ หรืออาวุธอื่นใดไม่อาจทราบชัด แต่น่าจะเป็นของมีคมฟันจนเป็นแผลฉกรรจ์ แม้ไม่ถึงกับเสียชีวิตในฉับพลัน แต่ก็สาหัส อาจเสียเลือดมาก หรือติดเชื้อในกระแสเลือด และถึงแก่อนิจกรรมในเวลาต่อมา
ส่วนสาเหตุที่คนร้ายลงมืออุกอาจเช่นนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ผัว ๆ เมีย ๆ” เรื่องที่ เอนก นาวิกมูล รับรู้มาว่า ท่านผู้หญิง เปลี่ยน “…ไปขวางการหลับนอนของผัว ๆ เมีย ๆ คือ เมียทะเลาะกับผัว แล้วท่านไปแยกเมียมาเสีย ผัวแค้นใจจึงเอาดาบฟันท่าน…” เรื่องนี้มีความเป็นไปได้น้อย เพราะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่น่าจะโกรธเคืองถึงขั้นลงมือฆ่าฟันกันเช่นนั้นได้ แต่ถ้าคนร้ายเมา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็มีความเป็นไปได้
ในเรื่องเล่าของหลวงวรภักดิ์ภูบาลในหนังสือนิทานชาวไร่ไม่ได้บอกว่า ทหารเรือผู้นั้นทำไปเพราะเหตุใด ระบุเพียงว่า “…ตั้งใจฟันทั้งผัวและเมีย แต่ฟันได้แต่ท่านผู้หญิงเท่านั้น…” ส่วนเรื่องของหมอผิน ลุมพิกานนท์ ในหนังสือเล่มนิทานชาวไร่ระบุเหตุชัดเจนว่า “…นัยว่าท่านหญิงเปลี่ยนเอาเมียของทหารนั้นไปปู้ยี้ปู้ยำกับเจ้าคุณภาสฯ เขาเลยคิดแค้น กินเหล้าเสียเมา ถือดาบเข้าไปฟันท่านผู้หญิงเปลี่ยน…” ส่วนเรื่องเล่าของ พิทยา บุนนาค ไม่ได้ระบุเหตุมรณกรรมของท่านผู้หญิง เปลี่ยน
เรื่องเหล่านี้มีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกันและขัดแย้งกันอยู่ อย่างกรณีการถูกฟันด้วยของมีคมนั้น ต่างกันตรงที่หนังสือนิทานชาวไร่ระบุว่า ถูกฟันเมื่อยังมีชีวิต แต่เรื่องเล่าของ พิทยา บุนนาค ระบุว่า ถูกฟันเมื่อตายไปแล้ว โดยหากพิจารณาแล้ว เรื่องเล่าของหมอผิน ลุมพิกานนท์ มีความน่าเชื่อถืออยู่ไม่มากก็น้อย เพราะหมอผิน ลุมพิกานนท์ ได้ทราบเรื่องนี้มาจากพี่ชายคือ จำลอง ลุมพิกานนท์ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ
ดังนั้น แนวทางของเรื่องนี้จึงอาจมี 2 แนวทาง คือ
1. ท่านผู้หญิงเปลี่ยน พอใจนำผู้หญิงคนหนึ่งมาปรนนิบัติเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เป็นเหตุให้ผู้เป็นสามีหรือบิดาของหญิงนางนั้นโกรธเคือง จึงคิดแก้แค้น
2. ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ไม่พอใจที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นำผู้หญิงคนหนึ่งมาปรนนิบัติ จึงทำร้ายหญิงผู้นั้นจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้ผู้เป็นสามีหรือบิดาของหญิงนางนั้นโกรธเคือง จึงคิดแก้แค้น
เหตุมรณกรรมของท่านผู้หญิง เปลี่ยน ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาเป็นแน่
อ่านเพิ่มเติม :
- แม่ครัวหัวป่าก์ เขียนถึง “ข้าวสุก” ที่ไม่ได้มาง่ายๆ
- “แม่ครัวหัวป่าก์” ตำราอาหารไทย ที่ได้แรงบันดาลใจจากตำราดูแลบ้านของอังกฤษ
- แกงป่า การเสาะหาความหลากหลาย กับการกดทับ-สร้างความเป็นอื่นทางวัฒนธรรม
อ้างอิง :
ราชกิจจานุเบกษา. (2454). ข่าวตาย, เล่มที่ 28 ตอน ๐ง วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2454.
เอนก นาวิกมูล. (สิงหาคม, 2543). สอบค้นคลี่ปัญหา ท่านผู้หญิงเปลี่ยน. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 21 : ฉบับที่ 10.
พิทยา บุนนาค. (2561). เก็บไว้ในความทรงจำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เอ็ม แอนด์ เลเซอร์พริ้นท์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2565