ไฮน์ริช ชลีมานน์ นักโบราณคดีรุ่นบุกเบิก จากพ่อค้าของชำ สู่ผู้ขุดค้นเมืองทรอย

ไฮน์ริช ชลีมานน์
ไฮน์ริช ชลีมานน์, ปี 1892 วาดโดย Daheim Kalender (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ไฮน์ริช ชลีมานน์ (Heinrich Schliemann) เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อ ค.ศ. 1822 ที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Buckow ในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ต่อมาได้รับการเลี้ยงดูและใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เมือง Ankershagen ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี และได้เรียนหนังสืออย่างเป็นระบบในโรงเรียนที่เมือง Neustrelitz

บิดาของเขาเป็นพระนิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งรู้ภาษากรีกและละตินอย่างดี และที่สำคัญคือบิดามักชวนชลีมานน์ไปนั่งใต้ต้นไม้หลังบ้าน อ่านและเล่าตำนานต่างๆ เกี่ยวกับกรีกและโรมันให้ลูกชายเสมอ บิดาของเขายังเคยให้ของขวัญวันคริสต์มาสเป็นภาพวาดเมืองทรอยขณะถูกไฟเผาด้วย

เมื่ออายุได้ 7-8 ขวบ ชลีมานน์ก็เริ่มอ่านกวีนิพนธ์ของโฮเมอร์ (Homer) กวีชาวกรีกชื่อดังในช่วงยุคมืดของกรีก เรื่อง Iliad และ Odyssey ซึ่งมีที่มาจากประเพณีการบอกเล่า ชลีมานน์อ่านวรรณกรรมระดับมหากาพย์นี้อย่างดูดดื่ม เขาประทับใจงานของโฮเมอร์มาก โดยเฉพาะเรื่อง Iliad ซึ่งกล่าวถึงสงครามของพวกโทรจัน ที่ “เจ้าชายปารีส” แห่งกรุงทรอยได้ลักพา “เฮเลน” มเหสีของกษัตริย์กรีกแห่งเมืองสปาร์ตา การลักพาตัวมเหสีและการฆ่าชาวกรีกนี้ทำให้น้องชายของกษัตริย์แห่งสปาร์ตานำกองทัพเข้าโจมตีเมืองทรอย หลังจากสู้รบกันนานถึง 10 ปี กองทัพกรีกก็ชนะสงคราม และเผากรุงทรอยลงอย่างราบคาบ

ชลีมานน์เชื่อว่า เรื่องราวในวรรณกรรมของโฮเมอร์เป็นเรื่องจริง และใฝ่ฝันว่าสักวันเขาจะตามหาเมืองทรอยให้ได้ แต่การจะทำให้ฝันเป็นจริงได้เขาต้องมีฐานะร่ำรวยเสียก่อน

ชลีมานน์มีประวัติน่าสนใจและโลดโผนไม่ใช่เล่น ช่วงปี 1836-1841 เขาทำงานเป็นคนขายของชำจนมีร้านค้าเป็นของตนเอง โดยขายปลาแฮริ่ง นม เกลือ และมันฝรั่งบดสำหรับกลั่นสุรา แต่แล้วในปี 1841 เขาก็ตัดสินใจทิ้งกิจการขายของชำ ออกเดินทางไปเมืองฮัมบูร์กซึ่งเป็นเมืองท่าและมีเรือมากมาย จากนั้นออกเดินเรือเรือใบมุ่งไปทวีปอเมริกาใต้ (ประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลา) แต่เรือเกิดอับปางใกล้ชายฝั่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ ชลีมานน์สลบไปและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมื่อออกจากโรงพยาบาลก็หางานทำ ได้งานเป็นเสมียนในกรุงอัมสเตอร์ดัม ได้รับค่าจ้างต่ำมากและเช่าห้องเล็กๆ อยู่คนเดียว พร้อมกันนั้นก็ได้เรียนภาษาต่างประเทศไปด้วย

หนังสือบางเล่มบอกว่า ชลีมานน์ขยันเรียนภาษาต่างประเทศ สามารถพูดได้คล่องแคล่วถึง 15 ภาษา ซึ่งภาษาที่เขาบอกว่าเรียนง่ายที่สุดคือดัตช์ โปรตุกีส สแปนิช และอิตาเลียน  ชลีมานน์มักฝึกออกเสียงภาษาต่างๆ โดยเปล่งเสียงดังๆ จนเพื่อนบ้านรำคาญ ทำให้ต้องย้ายที่พักอยู่เรื่อยๆ

ชลีมานน์ทำงานเข้าตาเจ้าของร้านเพราะเห็นว่าเขาเป็นคนฉลาดและขยัน จึงมอบตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายติดต่อกับต่างประเทศให้ ต่อมาในปี 1846 เขาถูกส่งไปยังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในรัสเซีย ความเป็นคนหัวการค้าทำให้เขาประสบความสำเร็จทางธุรกิจที่นี่ ก่อนที่ต่อมาในปี 1851-1852 ซึ่งเป็นยุคตื่นทองในอเมริกา จะเดินทางไปทำธุรกิจที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และได้รับสัญชาติอเมริกันด้วย แล้วเดินทางกลับมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้งจนแต่งงานมีครอบครัวที่นี่

น่าสังเกตว่าหนังสือส่วนมากไม่ค่อยกล่าวถึงครอบครัวของชลีมานน์ มีเพียงบางเล่มที่กล่าวว่าเขาแต่งงานครั้งแรกกับภรรยาชาวรัสเซีย แต่แล้วก็หย่า ต่อมาในปี 1869 ได้แต่งงานครั้งที่สองกับสาววัยรุ่นชาวกรีก อายุ 16 ปี ชื่อ โซเฟีย (Sophia)

โซเฟีย ภรรยาสาวชาวกรีกของชลีมานน์ ใส่เครื่องประดับที่ค้นพบที่เมืองทรอย

ชลีมานน์มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยจากการทำธุรกิจ หนังสือบางเล่มบอกว่า เขาเป็นพ่อค้าระดับนานาชาติ บางเล่มก็บอกว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ส่วนหนังสือบางเล่มก็บอกว่าเขาเป็นขุนนางผู้ดีซึ่งนิยมชมชอบประวัติศาสตร์และวรรณคดี

ในวัย 40 ต้นๆ หลังจากประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ชลีมานน์ก็ตัดสินใจหันหลังให้วงการธุรกิจอย่างเด็ดขาด และมุ่งมั่นเรียนวิชาโบราณคดีอย่างไม่เป็นทางการ ด้วยการอ่านหนังสือและท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่มีโบราณสถานต่างๆ อยู่เสมอ

เขาออกเดินทางท่องเที่ยวตามประเพณีนิยมของขุนนางและคนชั้นกลางในยุคนั้น แต่การเดินทางของเขาไม่ได้ไปเพื่อพักผ่อนอย่างเดียว ชลีมานน์เดินทางไปอิตาลี กรีซ ตุรกี และที่อื่นๆ เพื่อค้นหาการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต และทำความฝันในวัยเด็กให้เป็นจริง เขาได้จัดพิมพ์รายงานการเดินทางซึ่งคงมีคุณค่ามาก จนมีผู้เสนอปริญญาเอกให้ในปี 1869

จากมนต์เสน่ห์ของบทกวีของโฮเมอร์และความเชื่อฝังใจมาตลอดว่า วรรณกรรมของโฮเมอร์แต่งจากเรื่องจริง และกรุงทรอยก็น่าจะมีอยู่จริง ชลีมานน์จึงพยายามค้นหากรุงทรอยในหลายพื้นที่ของยุโรป โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นที่มาของวรรณกรรมของโฮเมอร์

ในที่สุด ปี 1870 เขาก็ได้รับการชักชวนจากแฟรงค์ กาลเวิร์ท (Frank Calvert) ซึ่งเป็นนักสะสมของเก่า ว่ามีเนินดินและซากปรักหักพังแห่งหนึ่งชื่อ ฮิสซาร์ลิค (Hissarlik) ในตุรกี ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นกรุงทรอย

ชลีมานน์รีบเดินทางไปที่แหล่งดังกล่าว และพบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีขนาดใหญ่ เป็นเนินดินรูปไข่ ยาว 3 ไมล์ เขาตัดสินใจขุดค้นเนินดินขนาดใหญ่นั้น โดยระดมจ้างคนงานกว่า 100 คนมาช่วยขุดแหล่งโบราณคดีฮิสซาร์ลิคเป็นระยะๆ ซึ่งระหว่างทศวรรษ 1870-1880 มีคนงานหลายรุ่นวนเวียนมาร่วมขุด จนอาจนับเป็นโครงการศึกษาทางโบราณคดีระยะยาวรุ่นแรกก็ได้

ควรกล่าวด้วยว่าการทำงานขุดค้นในครั้งนั้นเป็นไปอย่างลำบาก ทั้งยุงที่ชุกชุมมาก นำเชื้อโรคมาสู่คนงานหลายคน นอกจากนี้คนงานบางคนยังแอบขโมยโบราณวัตถุไปขาย เป็นต้น แต่ชลีมานน์ก็ไม่ย่อท้อ ยังคงทำงานต่อไป วันหนึ่งในปี 1873 เขาขุดลงไปแล้วพบวัตถุส่งประกายแวววาว จึงสั่งให้คนงานหยุด บอกว่าเป็นวันเกิดของเขา ให้คนงานกลับบ้านได้ เมื่อคนงานกลับไปหมดแล้วชลีมานน์กับภรรยาก็ขุดค้นต่อจนพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญหลายชิ้น เช่น กริชฝังทองและเงิน เครื่องประดับอัญมณีต่างๆ

ชลีมานน์ลองให้ภรรยาสวมใส่เครื่องประดับและวาดภาพไว้ด้วย ชุดโบราณวัตถุเหล่านี้รู้จักกันต่อมาในนาม “Priam”s Treasure” (ต่อมาถูกส่งไปที่กรุงเบอร์ลิน ในเยอรมนี และหายไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต่อมามีผู้พบสมบัติดังกล่าวในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย)

ชลีมานน์ไม่ได้ขุดค้นที่เมืองทรอยเท่านั้น แต่ยังขุดค้นเมืองโบราณอีกหลายเมือง โดยเฉพาะในกรีซ เช่น เมือง Mycenae, Orchomenos, Tiryns และกำลังจะขุดค้นที่เมือง Knossos แต่เสียชีวิตเสียก่อน แต่ต่อมานักโบราณคดีรุ่นหลังก็ได้สานงานของเขาต่อ

ชลีมานน์ได้รับการกล่าวถึงและถูกบันทึก (อย่างสั้นๆ) ไว้ในหนังสือ ตำรา และสารานุกรมเกือบทุกเล่มเกี่ยวกับวิชาโบราณคดีและอารยธรรมโบราณ ว่าเป็นนักโบราณคดีที่ผันตัวเองมาจากนักธุรกิจ และเป็นนักโบราณคดีรุ่นบุกเบิกคนหนึ่งของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีชื่อเสียงโด่งดังจากการขุดค้นอย่างต่อเนื่องที่เมืองทรอย หรือแหล่งโบราณคดีฮิสซาร์ลิค ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอีเจียน (Aegean Sea) ทางตะวันตกของประเทศตุรกี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับประเทศกรีซปัจจุบัน

ในแง่โบราณคดี แม้ว่าวิธีการศึกษาโดยเฉพาะการขุดค้นของชลีมานน์จะค่อนข้างหยาบ และมุ่งเน้นการค้นหาโบราณวัตถุชิ้นที่สวยงาม และทำลายวัตถุอื่นๆ ที่ไม่น่าสนใจ มากกว่าการให้ความสนใจบริบทและรายละเอียดต่างๆ ตามมาตรฐานงานโบราณคดีปัจจุบัน แต่ก็เข้าใจได้ เพราะในยุคนั้นวิชาโบราณคดีเพิ่งเริ่มก่อตั้ง ไม่มีเทคนิควิธีที่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน และคงไม่มีใครปฏิเสธว่างานของชลีมานน์เป็นการจุดประกายการศึกษาทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่แถบทะเลอีเจียน และอารยธรรมกรีกในสมัยต่อมาด้วย

นอกจากนี้ งานของชลีมานน์ยังเป็นตัวอย่างการวิจัยทางโบราณคดี โดยใช้บันทึกและเอกสารทางประวัติศาสตร์ (ในกรณีของชลีมานน์คือวรรณกรรมของโฮเมอร์ เรื่อง Iliad) เป็นแนวทางในการศึกษาด้วย แม้ว่าต่อมาจะพบว่ารายงานของเขามีข้อผิดพลาดอยู่มาก และไม่ใช่งานวิจัยที่ดีในสายตานักโบราณคดีปัจจุบัน ชลีมานน์สามารถใส่เรื่องราวลงในแหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุที่เขาขุดค้นอย่างมีชีวิตชีวา ทำให้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจวิชาโบราณคดีมากขึ้น

ชลีมานน์ยังเป็นตัวอย่างสำหรับนักโบราณคดีรุ่นหลังเรื่องการอุทิศเวลาในการศึกษาทางโบราณคดี เขาทุ่มเทเวลาศึกษาเมืองทรอย และแหล่งโบราณคดีอื่นๆ จนวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงในเดือนธันวาคม ปี 1890 โดยฝากลมหายใจสุดท้ายไว้ที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Daniel, Glyn E. A Hundred Years of Archaeology. Gerald Duckworth, London, 1950.

Duiker, William J. and Spielvogel, Jackson J. World History, Volume One : To 1800. Third edition. Wadsworth, Belmont, California, 2001.

Fagan, Brian M. In the Beginning : An Introduction to Archaeology. Sixth edition. Scott, Foresman/Little Brown College, Glenview, Illinois, 1988.

Mee, Christopher. Schliemann at Troy and Mycenae. In The Story of Archaeology, edited by Paul G. Bahn, pp. 98-99. Weidenfeld & Nicolson, London, 1996.

Sharer, Robert J. and Ashmore, Wendy. Archaeology : Discovering Our Past. Second edition. Mayfield Publishing, Mountain View, California, 1993.

Shippen, Katharine B. Men of Archaeology. Dennis Dobson, London, 1964.

Stiebing, William H., Jr. Uncovering the Past : A History of Archaeology. Oxford University Press, New York, 1994.

Toner, Mike. The Past in Peril. Southeast Archaeological Center, National Park Service, Tallahassee, 2002.

Traill, David A. Heinrich Schliemann. In The Oxford Companion to Archaeology, edited by Brian M. Fagan, p. 268. Oxford University Press, New York, 1996.

Trigger, Bruce G. A History of Archaeological Thought. Cambridge University Press, Cambridge, 1995.

Wenk, Robert J. Patterns in Prehistory. Third edition. Oxford University Press, New York, 1990.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2560