พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคอะไร

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร

พระราชพงศาวดาร ไม่ว่าจะเป็นฉบับหลวง หรือฉบับราษฎร์ ตลอดจนหนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทุกฉบับกล่าวต้องกันคือ พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา

อ่านหนังสือดังกล่าว เมื่อใด ครั้งไหน อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า (ขอพูดอย่างสามัญชน) พระองค์แก่ตายหรือนี่…เป็นความสงสัยสะกิดใจตลอดมา จึงขอลอกข้อความในประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ “พระราชพงศาวดารฉบับกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน)” แบบคงอักขรวิธี ดังนี้

ตั้งแต่ได้ปราบดาภิเศกครองศิริราชสมบัติทำการพระนครสำเร็จ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธสาสนา แลสมณชีพราหมณ์ พระราชวงษานุวงษ์ให้ดำรงราชอิศริยศ แลตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้เตมตามตำแหน่ง ที่อาณาประชาราษฎร ก็ได้อยู่เยนเปนศุขฆ่าศึกสัตรูมีมา ก็ทรงพระอุตสาหยกพยะยุหะโยธาไปปราบปรามอรินราชไพรีสู้พระบาระมีมิได้ ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง พระนครก็มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยลูกค้าวาณิชซื่อขายกันเปนอันมาก ปราศจากโจรผู้ร้าย ภายหลังประชวรพระโรคชรา มาโดยลำดับเวลาประมาณปีเสศพระอาการมากขึ้น แพทย์ประกอบพระโอสถถวายพระโรคนั้นมิได้คลาย ถึง ณ วันพฤหัศบดี เดือนเก้าแรมสิบสามค่ำ ปีมเสงเอกศก เวลาบ่ายห้าโมง เหนอัศจรรย์ ที่พระเจดีย์วัดพระศรีรัตนสาศดาราม ซึ่งอยู่ตวันออกแห่งพระมณฑปมีรัศมีสว่างบนยอด ครั้นเวลาสามยามเจดบาท เสดจสวรรคต ดำรงอยู่ในราชสมบัติญี่สิบแปดพรรษา พระองค์ประสูตรวันพุทธ เดือนสี่ แรมห้าค่ำ ปีมโรงอัฐศก ศักราช 1108 ปี ศิริพระชนม์เจดสิบสี่พรรษา คิดอายุโหราเจดสิบสองปีกับห้าเดือนสิบเอดวัน

เรื่องชรานั้นเป็นวัฏสังขารา รู้ๆกันอยู่ทั่วไป แต่ถ้าไม่มีโรคเข้าแทรกซ้อน เชื่อว่าจะยังชีวิตให้ยืนยงอยู่ได้ เรื่องโรคชราดังกล่าวข้างต้น มาได้ความกระจ่างเมื่อได้อ่านหนังสือ “พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่จุลศักราช 1139 ถึง จุลศักราช 1182 เปนเวลา 53 ปี” ที่สำนักพิมพ์ตันฉบับพิมพ์ออกจำหน่าย เมื่อมีนาคม 2546 ดังมีข้อความ (ขอคัดแบบคงอักขรวิธีเช่นกัน)

ณ เดือน 7 เดือน 8 ทรงประชวรหนักลง

ณ เดือน 9 ข้างขึ้นทรงพระองค์ไม่ได้ ประทมแจกเบี้ยหวัด

(ทรงวิจารณ์)

กล่าวกันว่าพระพุทธยอดฟ้าประชวรทรงพระโสภะอยู่ 3 ปี ไม่ได้เสด็จออก ในที่นี้ปรากฎว่าท่านเสด็จอยู่บ้าง ไม่ใช่ประชวร ไม่เสด็จไปข้างไหน ประชวรหนักทรงพระองค์ไม่ได้แล้ว ยังเสด็จออกบรรธมแจกเบี้ยหวัด

ขอให้สังเกต “ประชวรทรงพระโสภะอยู่ถึง 3 ปี” จากข้อความดังกล่าว ทำให้เชื่อมั่น ไม่ใช่พระโรคชรา เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์ ทรงลิขิตไว้อย่างชัดเจน คือ “ประชวรทรงพระโสภะอยู่ 3 ปี”

ปัญหาก็คือ พระโสภะ คืออะไร

ตระหนักดีรู้อยู่เสมอว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย จึงอาศัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525 เพื่อค้นหาคำ โสภะ (ขอให้สังเกตคำ โสภะ มีสระ อะ นะ)

โสภ, โสภา, โสภี (กลอน) ว. งาม (ป. สุภ) ฉบับ 2493

โสภ, โสภา, โสภี (โสพะ) – (กลอน) ว. งาม (ป. สุภ ; ส. ศุภ) – ฉบับ 2525

ราชบัณฑิตยสถาน ไม่เก็บคำ โสภะ จะอย่างไรก็ตาม พจนานุกรมไทย ของ มานิต มานิตเจริญ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2536 เก็บคำ โสภะ ไว้ดังนี้

โสภ (โส-ภะ) โสภะ ป., ว. โสภา, งาม ผ่องใส, อร่าม

หากเมื่อนำเอาคำแปล โสภะ คือ งาม ผ่องใส อร่าม เข้าแปลกับข้อความ “ประชวรทรงพระโสภะ” แบบตรงความหมายว่าเป็นโรค งาม ผ่องใส อร่าม มีความเห็นเป็นส่วนตัว ดูจะไม่เข้าเค้าแต่ประการใด ขึ้นเหนือ ล่องใต้ (ไม่มี) ไปอีสาน จะพบแต่คำ โสภ, โสภา, โสภี ที่ให้ความหมาย งาม ทั้งสิ้น

แม้พจนานุกรมนอกราชบัณฑิตยฯ ของสำนักพิมพ์มติชน ที่ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษจัดพิมพ์ก็ไม่เก็บคำ โสภะ เช่นกัน

หมดปัญญา!

หากน่าสังเกต โสภ ราชบัณฑิตยฯ ให้อ่าน โสพะ จึงหวนกลับไปดู “จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี พิมพ์พร้อมกับฉบับเพิ่มเติม (พ.ศ. 2310-2381) และ พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะตอน พ.ศ. 2310-2363) ที่พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี 26 ตุลาคม 2501” เกี่ยวกับข้อความ “ประชวรทรงพระโสภะอยู่ 3 ปี” จะมีคำ โสภะ ตรงกันหรือไม่

ปรากฏว่า โสภะ ตรงกัน

ที่ตรวจสอบเพราะเป็นฉบับที่กรมศิลปากรตรวจ-พิมพ์

ดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ราชบัณฑิตยฯ ให้อ่าน โสภ ว่า โสพะ ดังนั้นลองหาคำ “โสพะ” ตามพจนานุกรมดังกล่าวมาแล้ว ไม่พบเช่นกัน หวนกลับไปดูพจนานุกรมโบราณ โดยใช้ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท ของซอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว ที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2397 ได้ความว่า

โสพะ : พระโสพะ – to suffer a swelling (speaking of the king)

ที่ไม่ลอกภาษาละตินและฝรั่งเศสให้ทราบ เพราะคนเขียนไม่มีความรู้และออกจะยุ่งยาก จึงลอกเฉพาะภาษาอังกฤษ แม้ภาษานี้ก็ไม่ใคร่ถูกกัน เขางอนหนีไปหาคุณครูบาอาจารย์หมดแล้ว หากจับใจความได้ว่า พระโสพะ นั้นก็คือ อาการทนทุกข์ทรมานจาก swelling นั่นเอง หรืออาการเจ็บป่วยอย่างพระโสพะนี้ ภาษาอังกฤษเรียก หรือใช้คำ swelling และอย่าลืม พระโสพะ นั้นเป็นราชาศัพท์ ตามที่ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท ระบุแลจาก “ศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพครั้งที่ 2 พ.ศ. 2543 ให้ความหมายไว้ คือ

swelling – การโป่ง, การบวม

ดังนั้น ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์และลิขิตไว้ “ประชวรทรงพระโสภะอยู่ 3 ปี” นั่นก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระวรกายบวมมาไม้น้อยกว่า 3 ปี จึงได้สวรรคต อันน่าจะต่างกับ “พระโรคชรา” ตามที่หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆกล่าวไว้

ลักษณะอาการ การโป่ง, การบวมตามร่างกายของคนเรา ชาวบ้านเขาว่า เป็นโรคไต กับโรคหัวใจ

กล่าวแต่ต้นแล้วว่า รู้อยู่เสมอว่าไม่รู้อะไร ดังนั้นที่กล่าวถึงโรคไต กับโรคหัวใจ เป็นเรื่องแป๊ะโป้งทั้งสิ้น จะรู้ความจริงได้ก็ต่อเมื่อนายแพทย์ท่านใดท่านหนึ่งที่สละเวลาอันมีค่าของท่านอธิบายลักษณะผู้ป่วยมีอาการการโป่ง-การบวมตามร่างกายในสมัยปัจจุบันเรียกโรคอะไร ถึงกระนั้นก็ดี ในระยะนี้ ถ้าคำ โสภ กับคำ โสพะ เป็นคำเดียวกัน เพราะออกเสียงเหมือนกัน โสภ – โสพะ ก็คือ swelling- การโป่ง, การบวม

แป๊ะโป้งได้ 100 % พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มิได้ทรงประชวรด้วยพระโรคชรา แล้วเสด็จสวรรคต หากรพระองค์จะต้องทรงทนทุกข์ทรมานจากพระอาการบวม โป่ง ตามพระวรกายนานถึง 3 ปี จึงได้สวรรคต ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลิขิตไว้

หวังที่จะได้รับคำอธิบายจากนายแพทย์ถึงอาการคนไข้ swelling นั้นเป็นโรคอะไรบ้าง

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2560