งานโบราณคดี ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีต-ปัจจุบัน

ซากสถูปบ้านจาเละ ที่ชุมชนโบราณ ยะรัง จังหวัดปัตตานี

จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย โดยมีทิวเขาสันกาลาคีรีเป็นทิวเขากั้นพรมแดนระหว่างสองประเทศ ด้วยสภาพภูมิประเทศของภาคใต้ตอนล่างที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และตั้งอยู่ในบริเวณที่อยู่ในกระแสวัฒนธรรมการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนกลุ่มต่างๆ จึงพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์อยู่จำนวนมาก

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คาบสมุทรมลายูซึ่งรวมถึงภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย จึงเป็นจุดสนใจสำหรับการศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีมาเป็นเวลานานตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ในระยะแรกเริ่มของงานโบราณคดีในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับชุมชนโบราณหรือเมืองโบราณที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณต่างๆ เช่น เมืองโบราณสทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี

การสำรวจและศึกษาค้นคว้าเมืองโบราณยะรังในระยะแรกมีการศึกษาโดยนักวิชาการตะวันตก โดยในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ นายซี. ออตโต บลักเดน (C. Otto Blagden) ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) หรือการศึกษาชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ โดยนางเจนิช สตาร์การ์ท ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘

สุสานเจ้าเมืองปัตตานีสมัยอยุธยา ที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ต่อมาในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๒๒ จึงได้มีนักวิชาการชาวไทยได้ดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เช่น การศึกษาเกี่ยวกับเมืองโบราณยะรัง ของรองศาสตราจารย์ชูสิริ จามรมาน อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับนักโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดี ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๗ กองโบราณคดี กรมศิลปากร จึงได้ดำเนินงาน “โครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี” และมีการดำเนินงานโบราณคดีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน หรือการศึกษาชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๒

หลังจากปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ถึงช่วงราว พ.ศ. ๒๕๓๐ บุคลากรทางโบราณคดีที่ทำงานในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่จำกัดและขาดความต่อเนื่องในการทำงาน งานโบราณคดีในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นเพียงงานโบราณคดีที่มุ่งเน้นการสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลัก

ในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการในกรมศิลปากร มีการจัดตั้งสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักโบราณคดีมาตามลำดับ โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน ทำให้การดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการมาได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดโครงการทางโบราณคดีในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี โครงการการศึกษาการเริ่มต้นและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองสงขลาเก่า จังหวัดสงขลา โครงการสำรวจศึกษาค้นคว้าการตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำปัตตานี-สายบุรี เป็นต้น

โบราณสถานที่วูจังวัลเลย์ รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

จากการศึกษาที่ผ่านมาได้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาทางโบราณคดีทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก หลักฐานทางโบราณคดีได้สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามด้วยสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและลักษณะของชุมชนแบบชายแดน และสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ งานโบราณคดีในพื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ ด้าน

ความหลากหลายในมิติทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมแบบชาวไทยมุสลิม วัฒนธรรมแบบชาวไทยพุทธ และวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นมิติทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อการดำเนินงานทางโบราณคดี ผู้ปฏิบัติงานทางโบราณคดีในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องมีความรู้และความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีอยู่

เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานที่ปรากฏเรื่องราวเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป คือกรณีความไม่สงบที่เกิดที่ “มัสยิดกรือเซะ” ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มัสยิดกรือเซะ เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เหตุการณ์จลาจลกรณีมุสลิมชีอะห์ ๒,๐๐๐ คนเดินประท้วง ในเดือนเมษายน ๒๕๓๓ โดยไม่อนุญาตให้คนต่างศาสนาเข้าไปในพื้นที่มัสยิด และมีการประท้วงให้กรมศิลปากรเพิกถอนการขึ้นทะเบียน หรือเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ เป็นเหตุให้กรมศิลปากร โดยสำนักงานศิลปากรที่ ๑๓ สงขลา ดำเนินโครงการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยเร่งด่วนเพื่อซ่อมแซมและอนุรักษ์โบราณสถานและสภาพแวดล้อมของโบราณสถาน ซึ่งในโครงการดังกล่าวมีงานขุดแต่งฐานมัสยิดกรือเซะ เพื่อตรวจสอบส่วนฐานรากของมัสยิดก่อนการบูรณะ ผลจากการขุดแต่งทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของมัสยิดกรือเซะ ที่สามารถนำไปศึกษาเมืองปัตตานีโบราณได้ในระดับหนึ่ง

มัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

เมืองปัตตานีโบราณสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี ปรากฏข้อมูลอยู่ในเอกสารโบราณต่างๆ จำนวนมากว่าเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยอยุธยา ที่มีพ่อค้าชาวต่างชาติทั้งชาติตะวันตกและตะวันออก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ได้เข้ามาเปิดสถานีการค้า จากข้อมูลเอกสารโบราณแสดงให้เห็นว่าเมืองปัตตานีโบราณสมัยอยุธยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่มากแห่งหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันถึงความเป็นเมืองท่าที่สำคัญได้ระดับหนึ่ง เช่น โบราณสถานมัสยิดกรือเซะ สุสานรายาปัตตานี แหล่งเตาเผาโบราณบ้านดี และโบราณวัตถุที่พบกระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปในพื้นที่ตั้งเมือง เช่น เศษภาชนะดินเผา เงินตราโบราณต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ส่วนใหญ่ยังมิได้มีการสำรวจและศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ มีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเพียงบางแหล่งที่ศึกษาและสำรวจอย่างเป็นระบบ เช่น การสำรวจธรณีฟิสิกส์บริเวณที่หล่อปืนใหญ่นางพญาตานี โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๐ สงขลา ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ซึ่งเป็นเพียงการศึกษาในบางส่วนของพื้นที่เมืองโบราณปัตตานี แต่การศึกษาทางโบราณคดีในภาพรวมของเมืองโบราณปัตตานี เช่น การศึกษาขอบเขตของเมือง/วัง แหล่งที่อยู่อาศัย ระบบอุตสาหกรรมและการค้าขาย ฯลฯ ยังมิได้มีการศึกษาตรวจสอบทางโบราณคดีแต่อย่างใด ทำให้ในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับเมืองโบราณปัตตานีสมัยอยุธยาที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นความรู้ที่ได้มาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น หนังสือกรียาอันมลายูปัตตานี สยาเราะห์ปัตตานี เขียนโดยอิบบราฮิม ชุกกรี ในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๑ หนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๓ พงศาวดารเมืองตานี ซึ่งพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เป็นผู้เรียบเรียงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือ Hikayat Patani (the Story of Patani) ของ A. Teeuw & D.K. Wyatt และเอกสารบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติ เป็นต้น

หลักฐานทางเอกสารต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่จัดอยู่ในเอกสารประเภทชั้นรอง ที่ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเมืองปัตตานีโบราณนำมาใช้ในการศึกษามาโดยตลอด แต่ปัจจุบันข้อมูลที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่นับเป็นหลักฐานชั้นต้นนั้น ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้ามากนัก ซึ่งหากมีการศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบแล้ว ข้อมูลจากงานโบราณคดีจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยเพิ่มเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองโบราณปัตตานีสมัยอยุธยาได้ดียิ่งขึ้น

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน องค์ความรู้ทางโบราณคดีเกี่ยวกับพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์ความรู้ที่มีความละเอียดอ่อนในการนำมาเผยแพร่หรือนำมาใช้ในการศึกษา รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง แม้ใช้หลักเกณฑ์สากลเป็นหลัก แต่การบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจำเป็นต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ เช่น การบริหารจัดการซากโบราณสถานเนื่องในพุทธศาสนา ที่ตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิม ในเขตเมืองโบราณยะรัง ที่ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ชุมชนท้องถิ่น หรือการศึกษาค้นคว้าแหล่งโบราณคดีหรือโบราณสถานเนื่องในศาสนาอิสลาม การปฏิบัติงานด้วยความเข้าใจและมีความรู้ในหลักการทางศาสนา เป็นแนวทางการปฏิบัติงานที่มีความสำคัญต่องานโบราณคดี

ปัจจุบันแม้จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐ โดยสำนักงานศิลปากรที่ ๑๓ สงขลา ก็ยังคงดำเนินงานทางโบราณคดีมาโดยตลอด

องค์ความรู้ทางโบราณคดีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในพื้นที่ภาคใต้ แต่เริ่มมีการศึกษาองค์ความรู้ทางโบราณคดีข้ามประเทศ มีการศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมบนคาบสมุทรมลายู ใน “โครงการร่วมโบราณคดีไทย-มาเลเซีย” ซึ่งผลจากโครงการดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ในคาบสมุทรมลายู ที่สามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ การอนุรักษ์ และเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งโบราณคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังได้ความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านวัฒนธรรมระดับหนึ่งที่จะนำไปสู่การลดปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในระดับภูมิภาคและระดับชาติได้ต่อไป


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 3 เมษายน พ.ศ.2560