บันทึกของเตียง ศิริขันธ์ : หลักฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์ไทยในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา

(ซ้าย) เตียง ศิริขันธ์ (ขวา) ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

บทความนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อระลึกถึงเตียง ศิริขันธ์ และ ส.ส. อีสาน ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล และจำลอง ดาวเรือง รวมถึงจำกัด พลางกูร ที่จากไปในระยะเปลี่ยนผ่านและพลิกผันทางการเมืองช่วงสำคัญที่สุดของสยามถึงไทย คือ 25 ปีแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

โดยเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งทำให้กลุ่มกองทัพ กลุ่มอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม และกลุ่มคณะราษฎรปีกทหาร และจอมพล ป. กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง และหลังจาก พ.ศ. 2495 เป็นต้นไปได้มีการกวาดจับและเกิดความรุนแรงทางการเมืองครั้งสำคัญคือ การสังหาร 4 ส.ส. อีสาน ได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และเตียง ศิริขันธ์ 

(จากซ้าย) จำลอง ดาวเรือง, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, เตียง ศิริขันธ์, ถวิล อุดล และทองเปลว ชลภูมิ

บทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภา สมัยที่สองของเตียง ศิริขันธ์ พ.ศ. 2482-2484

จุดเริ่มต้นของการเมืองในรัฐสภาสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังการเลือกตั้งผู้แทนใหม่ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นั้น เตียง ศิริขันธ์ ยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ร่วมกับสมาชิกฝ่ายค้าน โดยฉพาะ ส.ส. คนสำคัญอย่างเช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ [1] ในช่วง พ.ศ. 2482-2484 เตียงมีการตั้งกระทู้ถามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 7 กระทู้ เน้นไปที่การพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของจังหวัดสกลนคร ได้แก่ 

1. กระทู้ถามเรื่องน้ำท่วมนาของราษฎรเสียหายในอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย 

2. กระทู้ถามเรื่องน้ำท่วมนาและทางหลวงสายอุดร-นครพนม โดยเตียงเสนอให้รัฐบาลทำอ่างเก็บน้ำให้ประชาชน 

3. กระทู้ถามเรื่องโครงการเกี่ยวกับการชลประทานที่จะช่วยเหลือชาวสกลนคร ต่อกระทรวงเกษตราธิการ 

4. กระทู้ถามเรื่องโครงการบำรุงหนองหาน จังหวัดสกลนคร 

5. กระทู้ถามเรื่องนโยบายที่จะแก้ไขวิธีปฏิบัติในการเรียกเงินแทนตัวไม้ ว่ารัฐบาลจะสั่งงดของแรงจากราษฎรในระหว่างที่ทำนาหรือไม่ 

6. กระทู้ถามเรื่องนโยบายส่งเสริมให้ราษฎรรีบนำความไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีคนร้ายลอบลักสัตว์พาหนะของชาวบ้านอย่างไรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

7. กระทู้ถามเรื่องปัญหาราษฎรในท้องที่อำเภอวานรนิวาส เป็นคนไทยแต่ถูกจดทะเบียนให้เป็นคนต่างด้าว [2]

กระทู้เหล่านี้สะท้อนเป้าหมายการเป็นนักเมืองในระบบรัฐสภาของเตียง ว่าเป็นผู้แทนของประชาชน และนักการเมืองที่ใส่ใจปัญหาของราษฎรและพัฒนาท้องถิ่นตามอุดมคติของการเป็นผู้แทนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร นอกจากนี้ เตียงยังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 2 ฉบับ ที่สะท้อนความสนใจต่อการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม อันได้แก่ 

1. ร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2482 โดยมีหลักการว่า เพื่อให้มีพรรคการเมืองขึ้นในประเทศสยาม 

2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2483 เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย [3]

ต่อมาในสมัยรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2489 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ได้เปิดโอกาสให้เกิดระบบพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น มี 10 พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรคก้าวหน้า, พรรคสหชีพ, พรรคแนวรัฐธรรมนูญ, พรรคประชาธิปปัตย์, พรรคธรรมาธิปัตย์, พรรคสหพรรค, พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย, พรรคประชาชน และพรรคกสิกร

โดยเตียงเป็นผู้ที่สนับสนุนการก่อตั้งพรรคสหชีพ ที่มีเดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งพรรคสหชีพมีแนวทางเด่นชัดด้านเสรีนิยมและสังคมนิยม ที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้แก่สังคมตามหลักโซเซียลลิสม์ โดยเป็นการรวมตัวกันของผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ และสมาชิกของขบวนการเสรีไทย รวมทั้งกลุ่มที่ต่อต้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเป็นพรรคที่กล่าวได้ว่าสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ [4]

บันทึกของเตียง ศิริขันธ์ หลักฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์ไทย : ทัศนะต่อญี่ปุ่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ และจำกัด พลางกูร 

บันทึกของเตียง ศิริขันธ์ ในบทบาทของเสรีไทยซึ่งเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใหม่ที่ไม่เคยมีใครได้อ่านมาก่อน โดยมีเผยแพร่ครั้งแรกจากงานศึกษาของสรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ที่ค้นพบเอกสารชิ้นนี้จากหอสมุดแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA)

สรศักดิ์ชี้แจ้งถึงข้อกำหนด ลักษณะของหลักฐานฯ และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบันทึกชิ้นนี้ไว้ว่า

ก่อนจะลงมือทำการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ ควรบอกกล่าวไว้ว่า จำเป็นต้องมีข้อกำหนดเชิงกติกาไว้ในใจอย่างไม่เป็นทางการ คือในเบื้องต้นต้องยอมรับกันก่อนว่า นายเตียง ศิริขันธ์ เป็นเจ้าของบันทึกนี้

แม้ว่านายเตียง ไม่ได้ลงนามไว้ก็ตาม เนื่องจาก 

1) นายเตียงอาจยังเขียนบันทึกไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่ได้ใส่ชื่อไว้ และ

2) นายเตียงอาจเขียนต่อจนจบและลงชื่อไว้แล้ว แต่บันทึกตอนหลังยังคงไม่มีใครพบเห็น หรือทหารของหน่วย OSS ที่ทำงานฝึกพลพรรคใต้ดินเสรีไทยกับนายเตียง ได้ถอนตัวกลับไปสหรัฐอเมริกาก่อน จึงไม่ได้นำกลับไปเก็บไว้ที่ NARA

แต่เนื้อความที่ปรากฏชัดเจนและสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ผู้เขียนบันทึกฉบับนี้คือ นายเตียง ศิริขันธ์ อย่างปฏิเสธไม่ได้ และถ้าเป็นเช่นนี้จริง สิ่งที่ควรจะต้องตรวจสอบกันต่อไป ก็คือ ข้อมูลในบันทึกมีอะไรใหม่ มีอะไรสำคัญ และความใหม่ ความสำคัญนี้จะมีผลกระทบต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะในแวดวงประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะค่อย ๆ ทยอยนำเสนอและขยายความเชิงวิชาการวิเคราะห์ให้เห็นกันต่อไป…”

เตียง ศิริขันธ์

ดังนี้ ผู้เขียนจึงขอตรวจสอบบันทึกของเตียง ในเบื้องต้น 3 ประเด็น ได้แก่ ทัศนะต่อญี่ปุ่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ และความสัมพันธ์ของเตียง ศิริขันธ์ กับจำกัด พลางกูร และเพื่อความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จึงขอเลือกสรรถ้อยคำโดยสะกด และเว้นวรรคตามบันทึกพิมพ์ดีดของเตียง นับตั้งแต่วันแรกที่เขียนคือ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ โรงแรมในจังหวัดอุดรธานี 

เตียงเขียนเล่าถึงเช้าวันแรกที่ญี่ปุ่นผ่านไทยว่า

…เมื่อตื่นขึ้นข้าพเจ้าได้จับวิทยุฟังข่าวต่างประเทศและลในประเท+ตามปกติธุ ระวิทยุนี้ข้าพเจ้ามักจะถือติดตัวเสมอลนเมื่อกลับขึ้นไปเยี่ยมบ้าน แต่วันนั้นจะเป็นวันเคร่ะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายก็ไม่ทราบ เผอิญเสียงโคสนาข่าวจากวิทยุดังลั่นออกมาว่า ญี่ปุ่นของยกกองทัพผ่านประเทสไทย มีข้อความโคสนาว่า ญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีหมู่เก่าะต่าง ๆ ไนเอเชียตะวันออกและบอกด้วยว่าได้เข้าประเทสไทยทางอรัญประเท+และทางชุมพร สงขลา ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทราบว่าจะทำประการใดดี นั่งงงอยู่พักหนึ่งก็ลงไปข้างล่างเพื่อไต่ถามพรรคพวกดูว่าลใครได้ฟังข่าวเช่นนี้บ้าง ข้าพเจ้าวิ่งไปบ้านราชการหลายคน ถามก็ไม่ได้ความประการใด และโดยมากก็มักตอบว่าไม่ได้เอาใจใส่ เพราะมั่วยุ่งอยู่กับการจัดงานรัถธรรมนูญในเช้าวันที่ 8 วันนั้นเมื่อกลับมาที่พัก ข้าพเจ้านั่งคิดอยู่คนเดียว ไม่มีที่ปรึกสา ไม่รู้ว่าจะทำประการใดดี ท้ายที่สุดได้ตัดสินใจว่าจำเป็นจะต้องกลับไปสกลนครเพื่อส่งครอบครัวเสียก่อน ในขณะนั้นข้าพเจ้ามีบุตรเล็กอายุขวบกว่า ๆ ไปด้วย จึงได้ตัดสินตกลงใจที่จะไปส่งครอบครัวเสียก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพ…เราก็รีบบันทุกของของเราลงรถสิริขันธ์ 2 แล้วออกเดินทาง (วันที่ 8 กลางคืน) ไปสกลทันที เราออกจาอุดรเวลาประมาณ 20 นาลิกากว่า ๆ ได้กำชับให้นายสวาสดิ์ ตราชู น้องเลี้ยงของข้าพเจ้าเป็นคนขับรถ…” [5]

สวาสดิ์ ตราชู น้องเลี้ยงของเตียง ศิริขันธ์ ที่ปรากฏชื่อในบันทึกว่าเป็นผู้ขับรถเพื่อพาเตียงไปขึ้นเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ คือ สวัสดิ์ ตราชู ซึ่งต่อมาได้รวบรวมบันทึกการจับกุม การสืบสวนสอบสวนจำเลย เช่น ตำรวจ ฯลฯ ผู้สังหารเตียง และคำพิพากษาคดีนี้ เรียบเรียงเป็นหนังสือ ลับสุดยอดเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทยกับขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์ [6]

ทั้งนี้จากบันทึกยังพบว่าเตียงกับจำกัด พลางกูร มีความสนิทสนมกันระดับนึง ทั้งเคยคู่คิดร่วมกันในเรื่องร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมือง [7] และยังได้แสดงความคิดเห็นต่อการที่ญี่ปุ่นผ่านไทยว่า

“…การที่ญี่ปุ่นเข้ามาอินโดจีนฝรั่งเศสนั้น คงจะยังไม่ทำการเหยียบย่ำประเท+ไทยเร็วนัก เพราะเหตุว่าการเจรจาของทูต  

ญี่ปุ่นที่วอชิงตันกำลังดำเนินการอยู่ แม้ว่าการรบจะเกิดขึ้นจริง ก็คงหลังจากที่ทูตพิเสสของญี่ปุ่นได้กลับจากสหรัถอเมริกาแล้ว ส่วนจำกัด(พลางกูร-ผู้เขียน) มีความเห็นว่าประเทสอักสะจะไม่ถืออะไรเป็นธรรมเนียมหรือเป็นอารยะเลย เขาจะถือแต่เพียงสิ่งที่เขาจะได้ ข้อนี้ข้าพเจ้ารับสารภาพว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ผิดจำกัดเป็นผู้ ถู ก เมื่อวันที่จ ะ จากสกลนครนั้น จำกัดได้พูดกับข้าพเจ้าว่า เอาลูกเมียไปส่งเสียก็ดี เพื่อจะได้ทำการทำงานได้เต็มที่ ข้าพเจ้าเห็นหน้าจำกัดยิ้มแย้มแจ่มใส คิดว่าพูดล้อกันเล่น ข้าพเจ้ายังตอบจำกัดเป็นเชิงล้อเล่นไปว่า ถ้านายตึงไปไกลแล้ว ข้าพเจ้าก็ ยิ่งทำงานไม่สะดวก จำกัดยังได้มาจับสีร์สะลู กชายข้าพเจ้า แล้วเราก็จากกันไป…”

นอกจากในบทความนี้จะแสดงให้เห็นบทบาทผู้แทนราษฎรของเตียงที่จริงจังต่อหน้าที่แล้ว ในบันทึกฉบับนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของเตียง ที่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรผ่านการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญไว้อีกด้วย

“…แต่ความจริงการกลับขึ้นไปสกลในคราวนี้นั้นก็โดยทุ่งหวังที่จะรีบขึ้น ไปไห้ ทันงานรัถธรรมนูญไนจังหวัดสกลนคร เพราะข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องไนการจัดงานคราวนี้อยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นจึงได้รีบเดินทางก่อนวันปิดประชุมสภาผู้แทนรา=ฎรหนึ่งวัน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่มีโอกาสที่จะอยู่จัดงานรัถธรรมนูญที่สกลนครได้อีกต่อไป ต้องรีบเดินทางกลับลงมาถึงกรุงเทพไนเช้าวันที่ 10 ข้าพเจ้ารู้ สึกเสียไจเป็นอย่างยิ่ง…” [8]

เตียง ศิริขันธ์ (สวมแว่นที่สามจากซ้ายยกแขนเท้ากับยางอะไหล่รถ)

ท้ายที่สุดของบทความชิ้นนี้ (แต่ไม่ใช่ท้ายที่สุดของบันทึก) สะท้อนให้เห็นร่องรอยความขัดกันทางความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบรัฐสภาระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม, เตียง ศิริขันธ์ และจำกัด พลางกูร ดังนี้

อุปสรรคประการที่ 3 คือการทำลายอุปสรรคที่มาขัดขวางเรา โดยฉะเพาะอย่างยิ่งก็ คือะบอบ

การปกครองภายไต้การวงงานของจอมพล ซึ่ งไม่เพียงแต่รวบเอาอำนาจบริหารไว้ในกำมือเท่านั้ น ระบอบการปกครองของจอมพล ได้รวบเอาอำนาจนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎรไว้ในกำมือ ตลอดจนอำนาจตุลาการก็พลอยมีโน้มเอียงไปด้วยเมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ การต่อต้านของพวกเราจึงมีอุปสรรคฉะเพาะหน้าคือ ระบอบเผดจการของจอมพล เราไม่มีหนทางใดที่จะปรับความเข้าใจกับจอมพลได้ โดยฉะเพาะตัวจำกัดนั้นเป็นศัตรูกับจอมพลตั้ งแต่ ยังไม่ได้เข้ามาในปรระเทสไทยในปัญหาเกี่ยวกับการเขียนเรื่องลงในหนังสือสามัคคีสาร ในหัวข้อที่ว่ า

ในบทความนี้จำกัดได้เขียนชมเชยว่า การที่ข้าพเจ้ายกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรักสารั%ธรรมนูญนั้นเป็นบันไดคั่นแรกที่ลากเข้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงจังและตำหนิว่าการที่รั ถบาลจัดตั้งกรรมการพิเสสขึ้น เป็นกรรมการรักสารรัถธรรมนูญตามความในพระราชบัญญัตินั้นเป็ นนูปสักสนะสาลพิ เสสอันไม่ชอบด้วยระบอบปกครองตามวิถีทางแก่งรัถธรรมนูญ มูลเหตุอันนี้ ทำให้จอมพลเป็นเดือดเป็นแค้น และเมื่อจำกัดกลับเข้ามาถึงจจึงไม่บรรจุเข้ารับราชการ แต่กลับให้ไปทำงานในกระทรวงสึกสาธิการประเภทลูกจ้างได้เงินวันละ 7 บาท นอกจากนั้นจอมพลยังสั่ งให้นายประยูร ภมรมนตรีไปเกลี้ยกล่อมให้จำกัดเขียนเรื่องในลักสนะขอขมา หรือลักสนะชี้แจงว่าตนเข้าใจผิด เพื่อไปกล่าวทางวิทยุ แต่ จำกัดแทนที่จะเขียนเรื่องตามความปราถนาของจอมพล กลับเขียนเรื่องไปพูดทางวิ ทยุในลักสนะปรัชญา จนไม่มีใครฟังเข้าใจได้ และแทนที่จะเป็นการขอขมาลาโทสจอมพล กลับกระหน่ำหัวตะปูยืนยันมติ ของตนเองว่า การคิดเช่นนั้นเป็นการถูกต้องซึ่งในวันรุ่งขึ้น จำกัดก็ถูกสั่งให้ออกราชการ กระทรวงสึกสาธิการ และต่อจากนั้นมาจำกัดก็เป็นขมิ้นกับปูนกับจอมพลเรื่อยมา…”

เตียง ศิริขันธ์ (กลาง) ถ่ายภาพร่วมกับกันเนอร์ (Gunner) (ซ้าย) และสไมเลย์ (Smiley) (ขวา) ทหารอังกฤษ ขณะปฏิบัติงานเสรีไทย

หากท่านใดต้องการศึกษาเรื่องบทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จากมุมมองของเตียง ศิริขันธ์ โปรดศึกษาต่อยอดได้ที่งานศึกษาของสรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ เรื่อง จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด: เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NARA)

ทั้งนี้ ในแง่มุมของการศึกษาด้วยระเบียบวิธีทางประวัติศาสตร์เรื่องบันทึกของเตียง ศิริขันธ์ ชิ้นนี้ สามารถวิพากษ์หลักฐานฯ ในเบื้องต้นได้ว่า บันทึกส่วนตัวหรือความทรงจำส่วนบุคคลคือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่เป็นทัศนะของบุคคลผู้หนึ่ง หรือในฝ่าย/ฝั่งหนึ่ง ดังนี้ในแง่มุมของหลักฐานประวัติศาสตร์จากบันทึกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ย่อมมีแง่มุมแตกต่างกันจึงควรอ่านควบคู่กัน รวมทั้งอ่านประกอบร่วมกันกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ได้อรรถรสและเข้าใจถึงมุมมองทางประวัติศาสตร์หลากหลายชุด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสร์และมนุษยศาสตร์, 2544) หน้า 224. 

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 224-225. 

[3] เรื่องเดียวกัน. หน้า 226. 

[4] เรื่องเดียวกัน หน้า 230-231. 

[5] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด: เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทย สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NARA), (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ, 2564), หน้า 109-110.

[6] สวัสดิ์ ตราชู, ลับสุดยอดเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทยกับขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มปป.)

[7] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด: เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทย สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NARA), (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ, 2564), หน้า 118.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 112.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2564