คำถามที่ทำ “จิตร ภูมิศักดิ์” หน้าชา เมื่อเฝ้า ม.จ. พูนพิศมัย พระธิดาในกรมดำรงราชานุภาพ

ภาพถ่าย จิตร ภูมิศักดิ์
ภาพถ่าย จิตร ภูมิศักดิ์ ฉากหลังเป็นปราสาทนครวัด

“ฉันขอฝากคำว่าไทยไว้ด้วยนะทุก ๆ คน”

พอก้าวขึ้นบันไดหอดำรงราชานุภาพ ข้าพเจ้าก็แปลกใจที่เห็นบรรดาเพื่อนฝูงพากันมุงแออัดอยู่ที่มุมสุดของห้องตรงที่ตั้งโต๊ะทรงพระอักษรของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สัญชาติญาณอยากรู้อยากเห็นของมนุษยทำให้ข้าพเจ้ารีบเดินเลี่ยงบรรดาเพื่อนฝูงตรงไปยังที่นั้นทันที ข้าพเจ้าหายแปลกใจและกลับเป็นดีใจทันทีที่ข้าพเจ้ามาถึงที่นั้น เพราะหมู่เพื่อนที่มุงกันอยู่นี้มิใช่มุงดูของปลาด หากตั้งวงล้อมฟังพระอธิบายของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย พระธิดาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดรแห่งประวัติศาสตร์ไทย ข้าพเจ้าพยายามเบียดแทรกเข้าไปจนอยู่แถวหน้า

“…ชอบเอากรุงเทพฯ ไปเปรียบกับอเมริกาว่า อายุเท่ากันแต่เจริญผิดกันไกล เขาลืมความจริงไปว่าเรื่องตั้งต้นมันไม่เหมือนกันเลย อเมริกาเขามาจากยุโรปด้วยเรื่องศาสนา แล้วมาพบขุมทรัพย์ เช่น บ่อเงิน บ่อทอง บ่อน้ำมัน ฯลฯ เขามีความรู้และความเพียร เขาจึงเจริญได้รวดเร็ว ส่วนเรา – เมืองแตกมาตั้งต้นใหม่!” แล้วทรงอธิบายเรื่องหอสมุด

“อ้อ! ตอบยาก” ทรงตรัสต่อ เมื่อมีพวกเราคนหนึ่งทูลถามว่า หอสมุดดำรงราชานุภาพกับหอพระสมุดแห่งชาติ หอไหนจะดีกว่ากัน

“หอสมุดหนึ่ง ๆ ตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน หอใดมีจุดประสงค์ในทางใด ก็มีหนังสือหนักไปในทางนั้น คือเขาต้องจัดหนังสือให้เหมาะกับความมุ่งหมาย เธอต้องดูความมุ่งหมายของเขา”

“สําหรับหอดำรงฯ นี้ คงจะเป็นหอสมุดโบราณคดีกระมังกระหม่อม ?” ข้าพเจ้าทูลถาม

“ก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะพระองค์ท่านเป็น historian นี่” ทรงตอบพลางชี้พระหัตถ์ไปทางพระรูปสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

“สำหรับหอสมุดแห่งชาติ…อ้า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงจัดเหมือนกัน ท่านตั้งพระทัยจะรวมหนังสือไทยทุกถิ่นไว้ในหอนี้ เช่นไทโท้ ไทลื้อ แต่ท่านทำยังไม่สำเร็จ ได้หนังสือไว้เล่มหนึ่ง ปทานุกรมไทอาหม อยู่ที่นี่” ทรงชี้ที่ตู้เล็กต้านขวาของห้อง “อุ๊ย สนุกมาก ถ้าเราสนใจละมีประโยชน์ เช่น B, A ขีดแกร๊กข้างบน (BA) แปลว่า mad and crazy เดี๋ยวนี้เราก็ยังใช้กัน บ้า ไงล่ะ เป็นสิ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกันได้ดีทีเดียว…”

“กระหม่อมขอรูปฝ่าบาท” จเรช่างภาพผู้ถ่ายติดแต่รูปสุภาพสตรีทูลขัดจังหวะขึ้น

“โอ๊ย ขอที อย่าถ่ายเลย ฉันไม่ชอบดูหน้าฉันเอง!” ทรงปฏิเสธพลางโบกพระหัตถ์

“ถ้าทุกคนแยกกันไปทำนะ คนนี้ทำปทานุกรมลื้อ คนที่ทำปทานุกรมข่า คนนี้ทำขมุ…ถ้าสำเร็จรวยแน่เธอ มหาวิทยาลัยต่างประเทศเขาต้องซื้ออย่างแน่นอนทีเดียว”

“แต่ทุนไม่มีกระหม่อม รัฐบาลน่าจะส่งเสริมให้ทุน” ช่างภาพทูล

“ทุน ! อ้าว เธอเอาอย่างฝรั่งเขาซี รัฐบาลก็ส่วนรัฐบาล เอกชนก็ส่วนเอกชน เราทำของเราไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ส่วนทุนเธอต้องเรียนวิธีที่ safe ที่สุด คือ ไม่เปลืองทุน สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทรงเก่งในเรื่องไม่มีทุนที่สุดและทรงใช้บ่อย ๆ ได้ผลดีด้วย เช่น เราจะทำปทานุกรมลื้อ เราก็ต้องศึกษาเสียก่อนว่า ลื้ออยู่ที่ไหนมาก แล้วพยายามหาเพื่อนชาวเมืองนั้น ตามเขาไปเที่ยว อาศัยเขาอยู่ ไปอยู่สักสองสามเดือน ดูซิว่าเขาทำอะไรกันมั่ง แล้วกลับมา อีกสองสามเดือนไปใหม่ คอยดูอีกว่าเขาทำอะไรกัน เขาพูดกันอย่างไร ไต่ถามเล่าเรียนมาจากเขาแล้วเราก็จดมา”

“ชาวต่างประเทศเขาจะสนใจเรียนถึงภาษาลื้อเทียวหรือกระหม่อม” ข้าพเจ้าทูลถาม

“สนใจ เขาเรียนทุกอย่าง ฉันจะเล่าให้ฟัง เมื่อฉันไปสวีเดนกับเสด็จพ่อ… เธอก็รู้อยู่แล้วไม่ใช่หรือว่าสวีเดนอยู่ไกลจากเมืองไทยเราเท่าไร ?… วันนั้นฉันไปกินกลางวันกับ Crown Prince Sweden ท่านเปิดสมุดขึ้นพลิกไปที่พระเศียรพระพุทธรูป สมัยลพบุรี แล้วถามว่า สมัยลพบุรีใช่ไหม ? ดูซี เขาศึกษากันอย่างไร ทำไมท่านจึงรู้ว่าเป็นเศียรพระพุทธรูปสมัยลพบุรี”

“เขารู้ดีกว่าคนไทยบางคนอีกกระหม่อม”

“แน่นอน อย่างหนังสือเล่มที่หามาได้นี้ คนไทยเราน่าจะทำเองนะ (ทรงหมายถึงปทานุกรมไทอาหม)”

“ฝรั่งทำใช่ไหมกระหม่อม?”

“ฝรั่ง ถูกแล้ว” ทรงพยักพระพักตร์และย้อนถามข้าพเจ้า “น่าอายไหมล่ะ? เราไทยแท้ ๆ ทำไม่ได้! นี่แน่ะ พวกเธอน่ะคือ Future Siam นะ! ถ้าเขาอยากรู้ว่าเมืองไทยต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เขาก็ดูที่เธอ ถ้าเธอดีก็แปลว่าจะดี ถ้าเธอเสียก็แปลว่าเสีย เธอทุกคนเป็นผู้แทนเมืองไทย ฉันขอฝากคำว่า “ไทย” ไว้ด้วยนะทุก ๆ คน”

“กระหม่อม” ข้าพเจ้าทูลรับ “ขอบใจ, น้องชาย” ทรงเรียกอย่างดีพระทัยแล้วเอื้อมพระหัตถ์ซ้ายมาตบไหล่ข้าพเจ้า ออกจากนี่จะไปพิพิธภัณฑ์กันอีกไม่ใช่หรือจ๊ะ?” เมื่อทูลรับแล้วก็ตรัสต่อไปว่า “ฉันจะบอกให้ว่า ของในพิพิธภัณฑ์นี้ทุกประเทศเขามีไว้พิสูจน์ความจริงของตัวเอง ว่าได้เจริญมาแล้วเมื่อไรและอย่างไร เขาไม่ได้เก็บของตายแล้วไว้ดูเล่นมิได้ ฉะนั้นเราจึงต้องช่วยกันรักษาไว้พิสูจน์คุณค่าของตัวเราเอง ขอให้ดูให้ถูกทาง”

“กระหม่อมสนใจในโบราณคดีและศาสนคดีมากเหมือนกัน ถ้าจะบันทึกข้อคิดเห็นในทางพุทธศาสนาถวายจะขัดข้องหรือไม่ กระหม่อม ?”

“อ๋อ ได้ซี บันทึกมาเถอะ พวกเราน่าจะสนใจในเรื่องพุทธศาสนาให้ดี เท่าที่ฉันสังเกตนะ เมื่อฉันไปเมืองนอก ไปเที่ยวน่ะ ไป 4 เดือน ที่ฝรั่งชอบถามมากก็คือศาสนา ประเพณี ประวัติศาสตร์ สามอย่างนี้เท่านั้น วันหนึ่งฉันเข้าไปในโบสถ์ฝรั่งกับเสด็จพ่อ เขากำลังทำพิธีกัน เขาคุกเข่าเราก็ยืน พอออกมา มีคนตื่นเต้นวิ่งมาถามว่า ท่านถือศาสนาอะไร บอกว่าถือพุทธ เขาถามว่าทำไมท่านจึงเข้าโบสถ์ ตอบว่าพระพุทธเจ้ามิได้ห้ามเราเข้าโบสถ์ของศาสนาอื่น เขาก็ว่าศาสนาของเรากว้างขวางจริง

เขาชอบถามถึงเหตุต่าง ๆ เช่น ตั้งกรุงเทพฯ ทำไม และเมื่อไหร่? ฉันเขียนหนังสือนำเที่ยวกรุงเทพฯ ไว้เล่มหนึ่ง บอกที่เที่ยวสำคัญ ๆ ไว้ ฉันคิดว่าจะให้คนไทยซื้ออ่าน เขียนเป็นภาษาไทยขายเล่มละ 10 บาทเท่านั้น เวลาว่าง ๆ เธอไปซี ไปหาฝรั่งเป็น guide ให้เขาบอกว่า I come to be your paying guide กางหนังสือออกก็พาเขาเที่ยวได้ แต่ก่อนจะพาเขาเที่ยวเราต้องไปเสียก่อนนะ ไปดูให้คล่องสักหน่อยก่อน หนังสือนี้ที่ฉันไม่เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็เพราะถ้าฉันเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งก็ซื้ออ่านกางหนังสือเที่ยวได้เองสบาย พวกเธอก็ไม่ได้หัดทำงานซี ฉันพิมพ์นี่ก็ไม่ได้ออกทุน ตกลงกับโรงพิมพ์พระจันทร์เขาแบ่งกันคนละครึ่ง ให้เขาขายเล่มละ 10 บาท นำเที่ยวหนเดียวก็ได้กำไรแล้วไม่ใช่หรือ?

ว่าง ๆ เธอลองไปเป็น paying guide ดูซี”

“เรื่องประเพณี มารยาท กิริยานี่ยิ่งสำคัญ เมื่อก่อนฉันดูคนไม่เป็น เห็นหน้าขาว ๆ ก็ว่าฝรั่งแต่ไม่รู้ว่าชาติไหน พอได้ไปเมืองนอกเลยรู้ ดูจับซ่อมช้อนเท่านั้นก็รู้ รู้ทีเดียวว่าเป็นคนชาติอะไร ฉันเคยถามเขาว่า ที่เมืองเขามีคนทางตะวันออกมาอยู่มาก หน้าตาคล้าย ๆ กันทั้งนั้น เขารู้ได้อย่างไรว่าคนไหนเป็นคนไทย เขาดูกิริยามารยาท! เพราะฉะนั้นเราต้องรักษากิริยาให้ดี ถ้าเรารู้จักเอาใจเขาใจเราเข้ารู้สึกก็จะได้กิริยาดีเอง เช่นเขาอ่านหนังสือเราอย่าไปเอะอะรบกวน เพราะเราก็ชอบอ่านเงียบ ๆ ใช่ไหมล่ะ เรื่องกิริยานี่สำคัญ ต้องระวังกันหน่อย”

“ฉันขอฝากคำว่า “ไทย” ไว้ด้วยนะทุก ๆ คน พระดำรัสประโยคนี้ ยังก้องอยู่ในหูข้าพเจ้าจนบัดนี้ แล้วข้าพเจ้าคิดว่าจะก้องไปจนวันตาย เผ่าไทยที่รัก ข้าพเจ้าขอฝากพระดำรัสนี้ไว้กับท่านอีกต่อหนึ่ง และขอจงจารึกไว้ในดวงใจ

ปทานุกรมไทอาหม ภาษาไทยแท้ ๆ แต่ฝรั่งทำ ทรงถามข้าพเจ้าว่า อายไหมหล่ะ? ข้าพเจ้าหน้าชา ข้าพเจ้าเป็นไทยทั้งสัญชาติและเชื้อชาติ และท่านผู้อ่านเล่า ก็เช่นเดียวกัน ท่านจะไม่อายบ้างหรือ ที่ฝรั่งค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องของไทยมาให้คนไทยศึกษา

หนังสือ The Thai Race ของหมอ William Clifton Dodd อีกเรื่องหนึ่ง (ทรงกล่าวถึงเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าตอนไหน เลยตัดออก) เราถือว่าเป็นหนังสือดี ได้พิมพ์แจกหลายครั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็เคยพิมพ์ เรานิยมอ่านนิยมศึกษา แต่เรามิได้นึกเลยว่านั่นเขาฝรั่งนะ เขาเขียนให้เราคนไทยเองอ่านขณะใดที่ท่านอ่านหนังสือ The Thai Race (ซึ่งแปลแล้วให้ชื่อว่า ‘ไทย’) จงนึกละอายใจบ้างเถิดว่า นั่นท่านต้องศึกษาเรื่องของเผ่าพันธ์ของท่านโดยความช่วยเหลือและการค้นคว้าของฝรั่ง

ขอให้ไทยได้เป็นผู้สร้างและค้นคว้าของไทยเราเองบ้าง!…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เฝ้าท่านหญิงพูนพิศมัย” เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือ “ตอ. ฉะบับปฐมฤกษ์” หนังสือวาระครบรอบ 12 ปีของโรงเรียน (เตรียมอุดมศึกษา) พ.ศ. 2492 เน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ ตัวสะกดคำคงไว้ตามหนังสือต้นฉบับ

ขอบคุณภาพบทความในหนังสือเก่าจากคุณประวิทย์ สังข์มี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2564