แผนโง่แกมโกง ฉบับหัวโจกวิศวะ จุฬาฯ รณรงค์ทำข้อสอบครึ่งเดียว ให้คนเก่งลดความเก่ง

ภาพประกอบเนื้อหา - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน

ข้าพเจ้าเรียนจุฬาฯ ผิดวิธี จึงเรียนไม่จบ แต่กระนั้นก็ดี ความรู้ครึ่งๆ กลางๆ ที่ข้าพเจ้าได้ไปจากวิศวฯ ก็พอเอาตัวรอดได้ในเหมืองแร่

หนังสือเล่มครบ 50 ปีของจุฬาฯ นี้ ข้าพเจ้าคิดว่าควรจะมีเรื่องหลายๆ แบบ มองกันทั้งท้อปวิว ไซ้ด์วิว บัตตอมวิว อันท้อปวิว ไซ้ด์วิวนั้น คนที่เรียนจบ คงจะเขียนกันได้เป็นกิจจะลักษณะด้วยความภาคภูมิ

แต่บัตตอมวิว มันต้องกากจุฬาฯ อย่างข้าพเจ้าเขียน

ปีหนึ่งขึ้นปีสองไม่ต้องสอบ เพราะลูกระเบิดตกหนักใครมีเวลาเรียนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ได้เลื่อนชั้นหมด ข้าพเจ้าก็พลอยติดร่างแหขึ้นไปอยู่ปีสองได้อย่างหน้าตาเฉย

ปีสองจะขึ้นปีสามนี่ซี เกิดเรื่อง

ปีแห่งสงครามมีคนเสียคนมากกว่าคนดี วิชาเรียนอันยากเย็น เป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับทำคนเหลวไหลให้เหลวไหลยิ่งขึ้น แก็งก์หัวเห็ดเริ่มแผนการณ์โง่แกมโกงขึ้นด้วยวิธีการที่คิดได้ใหม่เอี่ยมตามประสาไทย เรียกประชุมทั้งลับทั้งเถื่อน ปีสองทุกคนกระซิบกัน วันนี้ประชุมพิเศษที่ชานระเบียงหน้าหอประชุม ใครไม่ไป “โยนน้ำ”

เหล่านักเลงหัวโจกประมาณ 5-6 คน เป็นผู้ดำเนินการประชุมพิเรนนี้ขึ้น

เย็นวันนั้น วิศวฯ ปี 2 ทั้งหมดไปนั่งเบียดกันเต็มที่นัดหมาย แล้วหัวโจกก็ยืนขึ้นประกาศ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของความสามัคคี รักเพื่อนรักฝูงขอให้ช่วยกันทุกคน สอบไฟแนลของเรานี้ ทุกเปเป้อร์ขอให้ทำเพียงครึ่งเดียว”

“หมายความว่ายังไง” เสียงถามประปราย

“หมายความว่า ถ้ามีข้อสอบ 10 ข้อ ให้ทำเพียง 5 ข้อ ถ้ามี 8 ข้อ ให้ทำเพียง 4 ข้อ เปเป้อร์มีกี่ข้อต้องทิ้งเสียครึ่งหนึ่ง ทำครึ่งเดียว”

“เรื่องอะไรกันวะ” มีเสียงหึ่งขึ้น

“เรื่องขอความเห็นใจ คนเรียนเก่ง มีวิธีช่วยเพื่อนอย่างที่บอกมานี่แหละ คือส่วนมากของเราอ่อนเหลือเกิน ฉะนั้นคนเก่งต้องลดความเก่งมาครึ่งหนึ่ง เมื่ออาจารย์ตรวจข้อสอบเห็นว่าระดับของคนเก่งลดลงมา ก็จะพลอยดึงคนไม่เก่งขึ้นไปด้วย แต้มเต็ม 60 ไม่มีใครทำได้ เพราะร่วมมือกันทำเพียง 30 พวกไม่เก่งได้ 10 หรือ 20 ก็พอจะถูกลากเข้าอันดับไปด้วย”

“ไม่เอาโว้ย” นักเรียนคิงคนหนึ่งร้องขึ้น “เรื่องอะไรอั๊วจะต้องลดตัว มี 10 ข้อ อั๊วอยากทำ 12 ข้อด้วยซ้ำ อั๊วไม่เอาด้วย”

“ขอร้อง ขอร้อง ขอให้ช่วยเพื่อนที่ไม่เก่ง ไม่งั้นปีนี้ตกกันหมดแน่ มีคนได้ไม่เกินสิบคน”

เกิดความอลหม่านกันขึ้น พวกไม่เก่งชอบใจ พวกเก่งไม่ยอม พวกปานกลางไม่เดือดร้อน จึงได้มีการโหวตว่าจะเอาอย่างไร

ก็แน่ละซีฝ่ายต่ำโหวตชนะ เพราะมีมากมายเหลือเกิน

อีกสองสามวันต่อมา คณะหัวโจกถูกอาจารย์เรียกไปกระหนาบ เพราะมีคนไปฟ้อง อาจารย์บอกว่าการรักพวกพ้องเป็นความดี แต่ต้องรักกันในทางที่ถูก ไม่ใช่รวมหัวกันเถื่อนๆ เช่นนี้

ผล…ตกซ้ำชั้นกันระนาวอย่างน่าตกใจ ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งและดูเหมือนจะเป็นคนที่ตกอย่างยับเยินที่สุด

ต่อมา ลูกระเบิดลงหนักเข้าไปอีก มหาวิทยาลัยปิดไม่มีกำหนด อพยพกันไปคนละทาง

นานหลายปี จุฬาฯ เปิดภายหลังสงคราม คนซ้ำชั้นเรียนซ้ำชั้นอย่างหนักใจ คนขึ้นปีสามซึ่งล้วนเป็นคนเก่ง กำลังเฟื่องกันใหญ่ บางคนคิดสูตรคำนวณใหม่ๆ ได้เอง บางคนกำลังค้นจะพบโลหะทำตัวเครื่องบิน เมื่อถึงคราวสอบไฟแนล พวกปี 3 คิดจะช่วยเพื่อนที่ซ้ำชั้นอยู่ปี 2 ให้สอบให้ได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ข้าพเจ้าไม่เอากับเขาด้วย เพราะข้าพเจ้าขีดกากบาทให้แก่ชื่อตนเองล่วงหน้าไว้แล้ว ข้าพเจ้าไปไม่รอดกับการเรียนวิศวฯ ข้าพเจ้ายอมสอบตกด้วยฝีมือของข้าพเจ้าเอง

พวกเขาทำกันอย่างนี้ การสอบฟิสิกส์ ทำที่ตึกฟิสิกส์ชั้นสอง ห้องเราอยู่ด้านโรงอาหาร พอเวลากริ่งลั่นเข้าห้องสอบได้ คนที่นั่งแถวริมหน้าต่างจะพรวดพราดเข้าไปก่อน โยนเปเป้อร์ลงทางหน้าต่าง พวกปีสามมาคอยรับเปเป้อร์นั้นไปทำให้ในสมุดตอบที่ช่วยกันเม้มไว้จากวิชาก่อนๆ แล้วคนที่โยนเปเป้อร์ของตนลงไปนั้น ก็จะตีหน้าตายไปหาอาจารย์ขอใหม่อีกแผ่นหนึ่ง ประดุจว่าแผ่นของเขาถูกลมตีหายไปก่อนเข้าห้อง แล้วเขาก็มานั่งเขียนนั่งตอบชุ่ยๆ ไปตามประสา

กลุ่มนี้จะนั่งแช่อยู่จนหมดเวลา เพื่อให้มีการออกจากห้องอย่างพลุกพล่าน แล้วพวกปี 3 ที่ช่วยทำคำตอบให้ก็จะเผ่นขึ้นบันไดมาเดินปนเปอยู่หน้าห้อง มีคำตอบบริบูรณ์ในสมุดตอบหลายเล่ม แต่ละเล่มเขียนชื่อให้เพื่อนมาเสร็จแต่ละคน พวกนี้เดินเอาคำอบมาวางให้ที่โต๊ะอาจารย์เลย ส่วนคนสอบจริง พับสมุดตอบใส่กระเป๋าเดินออกจากห้องเฉยๆ ราวกับแผนการณ์ในภาพยนตร์!!

แต่โชคร้ายทั้งหมด เพราะอาจารย์ผู้คุมสอบเฉลียวใจว่าปีสามขึ้นมาปนเปที่นี่ทำไม แล้วจับตาดู และก็จับได้ – เกม!

จุฬาฯ ของข้าพเจ้าเป็นชีวิตที่ผิดวิธีเช่นนี้ ข้าพเจ้าศึกษาแต่วิชานอกหลักสูตรเช่นนี้ มันเป็นความจำที่มีรสชาติสำหรับข้าพเจ้าผู้ไม่มีปริญญา และเสนอหน้ามาเขียนในหนังสือเกียรติยศเล่มนี้

นี่คือ บัตตอมวิวของข้าพเจ้า

คลิกอ่านเพิ่มเติม : อำลา อาจินต์ ปัญจพรรค์ กับผลงานแก้คิดถึง และคิดไม่ถึงว่าเป็นงานของเขา


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความชื่อ “นอกประเพณี” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2560 เนื้อหาถูกพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือจุฬาฯ 50 ปี ในโอกาสฉลองครบ 50 ปีแห่งวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26 มีนาคม 2510

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2564 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ