“ไก่” ในภาชนะดินเผาโบราณ สะท้อนคติความเชื่ออะไรในยุคก่อนปวศ.ญี่ปุ่น

ภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟชิ้นนี้ เป็นภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น กำหนดอายุในสมัยโจมน (Jomon Period) เริ่มตั้งแต่ 10,000-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีขนาดความสูง 33.3 เซนติเมตร กว้าง 32.8 เซนติเมตร ฐานกว้าง 10.1 เซนติเมตร พบที่แหล่งโบราณคดีโดจิดเตะ ซุนันมาจิ โดยอยู่ในช่วงสมัยโจมนระยะกลาง (ชูกิ)

การเข้าสู่สมัยโจมน เป็นช่วงเวลาเชื่อมต่อจากสมัยหินกลางสู่สมัยหินใหม่ นักวิชาการสันนิษฐานว่าสมัยนี้มีการล่าสัตว์ เก็บผักผลไม้ และเก็บรักษาอาหาร โดยอยู่รวมกันเป็นชุมชนขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในบ้านหลุมในผังทรงกลม ภายในมีพื้นที่ก่อไฟขนาดใหญ่อยู่กลางบ้าน มีการแยกบริเวณพื้นที่อยู่อาศัย สุสาน และสถานที่ประกอบพิธีกรรมออกจากกันเป็นสัดส่วน

การค้นพบภาชนะที่เป็นเครื่องปั้นดินเผารูปแบบต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้เชื่อได้ว่าเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานในลักษณะอยู่กับที่ และเริ่มนำมาสู่การดำรงชีพแบบสังคมวิถีเกษตรกรรม ตัวอย่างสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ตามภาชนะดินเผาแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนกับสัตว์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาทิ ความเชื่อ พิธีกรรม หรือวิถีชีวิตประจำวัน ฯลฯ  

รูปทรงของภาชนะดินเผาชิ้นนี้ ส่วนฐานกลมคล้ายทรงกระบอก มีส่วนโคนสอบและผายออกที่ปลายด้านบน มีลักษณะคล้ายเปลวไฟหรือคบไฟ และยังมีการตกแต่งผิวภาชนะเป็นเส้นสายของลวดลาย รวมถึงเจาะรูและปั้นให้มีมิติความหนา โดยทำให้ภายในกลวง

ภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟ สมัยโจมน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561)

การตกแต่งด้วยลวดลายที่ให้ความรู้สึกคล้ายเปลวไฟนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายใต้ความเชื่อว่าเปลวไฟให้ความอบอุ่น ทำให้ผ่านฤดูหนาวไปได้อย่างปลอดภัย

นอกจากความหมายเรื่องเปลวไฟดังกล่าวแล้ว หากพิจารณาส่วนบนของปากขอบภาชนะจะพบว่ามีความพิเศษ และสะท้อนคติความเชื่อของผู้คนในยุคที่ก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี คือ

1. มีรูปร่างและรูปทรงที่โดดเด่นที่สุดจำนวน 4 ชิ้น ยกลอยขึ้นจากปากภาชนะ โดยมีลักษณะและองค์ประกอบเหมือนกันทั้งหมด

2. รูปทรงแต่ละชิ้นบนปากขอบภาชนะมีรูปร่างเหมือน “ไก่” ในอากัปกิริยาเดินหรือย่างกราย

3. ไก่ทั้ง 4 ตัวนี้กำลังเดินเวียนเป็นวงกลมไปตามขอบปากภาชนะในทิศทางเดียวกัน

4. ไก่ทั้ง 4 ตัวนี้กำลังเดินในลักษณะตามเข็มนาฬิกาเช่นเดียวกับทิศทางของพระอาทิตย์

5. ช่องว่างระหว่างไก่ทั้ง 4 ตัวนี้ พบเส้นหยักแหลมขนาดเล็ก (คล้ายฟันปลา) โผล่พ้นขึ้นมาจากปากขอบภาชนะ สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็น เปลวไฟ? คลื่นน้ำ? หรือหญ้าบนพื้นดิน? โดยมี “ไก่” ทั้ง 4 ตัวกำลังเดินอยู่บนระยะหน้า (foreground) 

6. ลวดลายที่ปากภาชนะระหว่างไก่แต่ละตัวมีลักษณะคล้ายเมล็ดธัญพืช ฯลฯ

ภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟ สมัยโจมน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561)

ภาชนะดินเผานี้จึงน่าจะแสดงถึงแรงบันดาลใจอันเกิดจากความเชื่อของผู้คนในสมัยโจมน โดยปั้นไก่กำลังเดินเวียนรอบปากภาชนะในลักษณะวนตามเข็มนาฬิกา ซึ่งอธิบายในความหมายได้ว่า ไก่กำลังเดิน (ดำรงชีวิต) อยู่ตามทิศทางธรรมชาติของพระอาทิตย์ ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาของโลกที่เป็นจริง โดยจำนวนไก่ 4 ตัวอาจหมายถึงช่วงเวลาในแต่ละวันตั้งแต่เช้า สาย บ่าย ค่ำ หรืออาจหมายถึงฤดูกาลในรอบปี คือ 4 ฤดูตามภูมิอากาศของญี่ปุ่น

ไก่ เป็นสัตว์ปีก สัตว์ปีกจัดเป็น 1 ใน 4 ของหมวดสัตว์ที่ปรากฏในตำนานเทพญี่ปุ่น โดยมีภาพลักษณ์เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารระหว่างสองโลกหรือเกี่ยวพันกับเวลา อาจเป็นไปได้ว่าสังคมและวัฒนธรรมสมัยโจมนเริ่มพัฒนาแนวคิดในการนำไก่ป่ามาเป็นไก่เลี้ยงตั้งแต่ช่วงเวลานั้นแล้ว เหล่านี้ย่อมแสดงถึงวิวัฒนาการความเชื่อเรื่องไก่ในฐานะสัตว์ที่มีความสำคัญในสังคมแรกเริ่มเกษตรกรรม ไก่จึงเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์มงคล เป็นสัญลักษณ์ของการดำรงชีวิต

ศิลปะรูปไก่บนภาชนะดินเผานี้จึงน่าจะสะท้อนวิถีเกษตรกรรมที่น่าจะเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟ สมัยโจมน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561)

หมายเหตุ : ปรับปรุงและเรียบเรียงเนื้อหาจากบทความ “‘ไก่’ กับภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟสมัยโจมน ในนิทรรศการ ‘วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น'” เขียนโดย สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2564