ย้อนดูกรณีพระญาณนายก (ปลื้ม) ถูกปลดจากเจ้าคณะจังหวัด-ถอดสมณศักดิ์ เมื่อปี 2477

ภาพประกอบเนื้อหา - คณะสงฆ์, ครูอาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนนายกวัฒนากร วัดอุดมธานี ร่วมถ่ายภาพกับรูปหล่อสำริดพระญาณนายก (ปลื้ม) อดีตเจ้าอาวาสวัดอุดมธานี และบุรพาจารย์ผู้ก่อตั้งโรงเรียน ภาพยุค 2490-วัดทองย้อย พระอธิการวิศิษฎ์ วิสุทธสีโล เอื้อเฟื้อภาพ (ภาพจาก “สมุดภาพนครนายก” องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก)

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2477 เกิดกรณีสั่งปลด พระญาณนายก (ปลื้ม) (พ.ศ. 2421-2487) เจ้าอาวาสวัดอุดมธานี [สังกัดมหานิกาย] อำเภอวังกระโจม จังหวัดนครนายก และเจ้าคณะจังหวัดนครนายก สังกัดมณฑลปราจีนบุรี ออกจากการเป็น “เจ้าคณะจังหวัด” และถูกถอดสมณศักดิ์ในระยะเวลาต่อมา [1]

การถอดสมณศักดิ์ของพระญาณนายก เกิดจาก พระราชกวี วัดเทพศิรินทราวาส [สังกัดธรรมยุตินิกาย] ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี ซึ่งต่อมาเกิดข้อขัดแย้งกับพระญาณนายก โดยมีมูลเหตุพอจะประมวลสาเหตุได้ดังนี้

1. พระราชกวี เจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี แต่งตั้งพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์ เป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอวังกระโจม และเป็นพระอุปัชฌายะ โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากพระญาณนายกซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัด นอกจากนี้ยังย้ายพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์ จากวัดท่าทรายมาอยู่ที่วัดศรีเมือง ทั้งมีพระเงิน ครูนักธรรมเป็นรั้งอธิการอยู่แล้ว

พระญาณนายก เจ้าคณะจังหวัด พิจารณาว่า เจ้าคณะมณฑลก้าวก่ายต่อหน้าที่เจ้าคณะจังหวัด เนื่องจากแต่งตั้งพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์เป็นเจ้าคณะแขวงโดยไม่ได้ถามความเห็นตนที่เป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นการแต่งตั้งที่ข้ามขั้นตอน ทั้งพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์ก็ไม่เคยมีตำแหน่งบริหารใดๆ เช่น ไม่เคยเป็นพระอุปัชฌายะ, ไม่เคยเป็นเจ้าคณะหมวด จึงไม่ควรเป็นเจ้าคณะแขวง และการที่เจ้าคณะมณฑลย้ายให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าทรายเป็นการไม่สมควร เพราะวัดศรีเมืองมีเจ้าอาวาสอยู่แล้วถือว่าผิดต่อระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

พระราชกวี เจ้าคณะมณฑล แก้ว่า ไม่ผิดต่อระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ เพราะพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์เป็นพระวิสามัญที่มีคุณวุฒิ ควรยกย่องในตำแหน่งพิเศษได้ ถ้าเป็นพระสามัญจึงต้องตั้งตามลำดับก่อนหลัง ตัวอย่างเช่น พระมหาหน่อแก้ว วัดทรายมูล แขวงสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าคณะมณฑลยังแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะทั้งที่ไม่เคยเป็นเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌายะ การที่พระญาณนายกคัดค้านเป็นเพราะไม่เข้าใจและไม่เคยรู้มา [2]

ส่วนการย้ายพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเมือง พระราชกวีกล่าวว่าเป็นเรื่องที่เคยพูดไว้นานแล้ว แต่พระญาณนายกขัดขวาง โดยตั้งพระเงินเป็นเจ้าอาวาสตัดหน้าเสียก่อน

2. กรณีปลดพระญาณนายกเป็นเจ้าคณะจังหวัดและกรณีถอดสมณศักดิ์พระญาณนายก “กรณีปลดพระญาณนายก” เหตุมาจากพระราชกวีเจ้าคณะมณฑลไม่พอใจพระญาณนายกทำเรื่องราวฟ้องร้องกรณีแต่งตั้งพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์ไปยังสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ นอกจากนี้พระญาณนายกยังขัดขวางพระครูปิฎกธรรมคุณาภรณ์ไม่ให้มานั่งเป็นอุปัชฌายะที่วัดท่าช้าง ทั้งที่เจ้าคณะมณฑลแนะนำให้วัดท่าช้างบวชได้ทั้งมหานิกายและธรรยุตินิกาย

ความขัดแย้งระหว่างพระราชกวีและพระญาณนายก ยังผลให้เจ้าคณะมณฑลปลดพระญาณนายกเป็นเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ และแต่งตั้งพระมุนีนายกเป็นเจ้าคณะจังหวัดแทน [3]

หลังปลดพระญาณนายกเป็นกิตติมศักดิ์ เกิดกรณีร้ายแรงอีกเรื่องหนึ่งคือ “กรณีการถอดสมณศักดิ์” พระญาณนายก [4] เนื่องจากเจ้าอธิการจอน เจ้าคณะหมวดตำบลบ้านเล่า วัดท่าทราย อำเภอวังกระโจม จังหวัดนครนายก เขียนบัตรสนเท่ห์ส่งทางไปรษณีย์ถึงคฤหัสถ์และภิกษุหลายรูปใส่ความพระญาณนายกว่า

เสพเมถุนและยักยอกเงินวัดไว้กับหญิง พระญาณนายกจับบัตรสนเท่ห์ได้ นำเรื่องขึ้นฟ้องศาล ศาลไต่สวนคดีเห็นว่าจำเลยมีความผิด จึงให้จำคุกเจ้าอธิการจอน 3 เดือน ปรับเป็นเงินพินัย 300 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามศาลเดิม คดีจึงสิ้นสุดลงโดยอธิการจอนเป็นฝ่ายผิด

พระราชกวีเจ้าคณะมณฑลนำคำพิพากษา 2 ศาล ถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระสังฆราชเจ้าตัดสินลงโทษพระญาณนายกในข้อหาว่า ละเมิดพระสังฆราชาณัติ เป็นภิกษุฟ้องภิกษุในศาล โดยยกตัวอย่างพระปลัดหวาดและพระอธิการห่วง เคยรับสั่งให้สึกทั้งสองราย

สำหรับพระญาณนายกในฐานะที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดระเบียบการปกครองและพระสังฆราชาณัติดี ถือว่าจงใจฝ่าฝืนและดูหมิ่นพระสังฆราชาณัติ เป็นความผิดอย่างร้ายแรงสมควรให้สึก แต่เนื่องจากทำความดีความชอบมาก่อนจึงขอให้ลดโทษเหลือเพียงถอดสมณศักดิ์ ส่วนเจ้าอธิการจอนในฐานะที่เป็นต้นเหตุความพินาศ ประพฤติหยาบช้าและมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ให้ถอดเจ้าอธิการเป็นพระอนุจร [5]

กรณีการถอดสมณศักดิ์พระญาณนายกสร้างความเศร้าสะเทือนใจต่อสานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือพระญาณนายก ประชาชน (จำนวน 1,875 คน) และพระสงฆ์ (จำนวน 536 รูป จาก 43 วัด) ในอำเภอวังกระโจม, อำเภอบ้านนา และอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก [6] ร่วมกันยื่นเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ กล่าวโทษพระราชกวี เจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี และพระมุนีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครนายก ในข้อที่ว่า

ไม่สามารถอำนวยความสงบเรียบร้อบในการปกครองให้เกิดขึ้น และไม่สามารถให้ความเสมอภาคแก่ผู้อยู่ใต้การปกครองได้เพียงพอ เรื่องบางเรื่องอธิกรณ์บางรายไม่อาจจะจัดการไต่สวนและวินิจฉัยให้ยุติธรรม การบริหารทำด้วยความพอใจของตนเป็นประมาณไม่คำนึงถึงความเสื่อมเสียอันจะเกิดแก่ผู้อยู่ใต้การปกครอง จึงขอเปลี่ยนตัวเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะมณฑลใหม่ หรือขอโอนการปกครองไปขึ้นในเจ้าคณะใกล้เคียง โดยเหตุผลว่ารังเกียจและไม่พอใจวิธีการปกครองของเจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะจังหวัดและไม่พอใจที่ระบบการปกครองคณะสงฆ์ไม่เสมอภาค [7]

คำร้องทุกข์อีกฉบับหนึ่งเป็นของนายปิ่น ว. สำราญกิจ ยื่นต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องขอพิสูจน์หลักฐานการปลดพระญาณนายก เจ้าคณะจังหวัดเป็นกิตติมศักดิ์ และการถอดสมณศักดิ์ของพระญาณนายก โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่สานุศิษย์และประชาชนในแขวงจังหวัดนครนายกได้รับความสะเทือนใจจากกรณีดังกล่าวซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงได้ร้องเรียนให้คณะรัฐบาลช่วยวินิจฉัย เพราะไม่อาจร้องเรียนไปทางคณะสงฆ์ได้อีกต่อไป เนื่องจากคำวินิจฉัยในมหาเถรสมาคมถือเป็นที่สุด ซึ่งไม่อาจจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งได้อีกต่อไป

ข้อที่พึงสังเกตคือ การร้องเรียนเรื่องราวของคณะสงฆ์ในจังหวัดนครนายกต่อนายกรัฐมนตรีนับเป็นเรื่องที่กล้าหาญมาก เพราะไม่เคยปรากฏการวิพากษ์วิจารณ์การปกครองคณะสงฆ์อย่างรุนแรงและเปิดเผยเช่นการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ใช้มติของสงฆ์ส่วนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการบริหารคณะสงฆ์

อย่างไรก็ตาม คำร้องทุกข์ดังกล่าวถูกปฏิเสธ กระทรวงธรรมการพิจารณาว่า เป็นคำร้องที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ซึ่งถือเป็นคำตัดสินขั้นเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ จึงขอยกคำร้องนั้น ทว่ากรณีพระญาณนายกก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการจัดตั้งคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา (ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในโอกาสต่อไป) 

เชิงอรรถ

[1] หจช., สร. 0201.10.33, ท ธ. 153/2477 คําร้องทุกข์ของคณะสงฆ์ จังหวัด นครนายก, 3 ธันวาคม 2477 และแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 22, (2477) หน้า 2-14

[2] แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 22, (2477) หน้า 877

[3] หจช., สร. 0201.10.33, เรื่องเดิม

[4] แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 22 (2477), หน้า 877.

[5] เรื่องเดียวกัน

[6] หจช., สร. 0201.10.33 เรื่องคำร้องทุกข์ของคณะสงห์จังหวัดนครนายก

[7] เรื่องเดียวกัน


ข้อมูลจาก

คนึงนิตย์ จันทบุตร. การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ. 2477-2488, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2564