เปิดบันทึกประวัติ นายเตี่ย(เท่งปอ) ต้นตระกูล “อึ๊งภากรณ์” พนง.รับใช้ สู่ “ขุนอากรรักษากิจ”

ภาพประกอบเนื้อหา - รูปหล่อ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน

เนื่องจากบทความเรื่อง “อึ๊งภากรณ์-เหลืองดังดวงตะวัน” ของ ดร. วรวุฒิ จิราสมบัติ ใน (นิตยสาร) ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2549 ได้กล่าวถึงประวัติชีวิตของนายเท่งปอ ต้นตระกูลอึ๊งภากรณ์นั้น เผอิญผมมีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนถึงประวัติชีวิตนายเท่งปอและเครือญาติค่อนข้างละเอียด จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง

นายเท่งปอ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2420 ปีฉลู ในรัชสมัยของพระเจ้ากวงซู้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์แมนจู ที่อำเภอเยี่ยวเพ้ง จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง พ่อชื่อเซี่ยงไค้ แม่ชื่อลิ่มสี เป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 8 คน อายุได้ 19 ปี ได้ลงเรือสำเภาชื่อ “ซุ่นกวน” ที่ท่าเรือเมืองซัวเถา เดินทางเข้ามาหางานทำที่สยาม

เมื่อมาถึงได้เข้าทำงานและพักอาศัยอยู่กับเถ้าแก่เม้งง้วน เล่าเจ้กเป็นญาติห่างๆ ซึ่งเข้ามาทำกิจการการค้าในสยาม เป็นพนักงานรับใช้ทั่วไปในตึกตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า ได้เพียงที่พักอาศัย อาหาร 3 มื้อ และเสื้อผ้าเป็นค่าตอบแทน ต่อมาได้รับเงินเดือนค่าจ้างเดือนละ 3 ตำลึง หรือ 12 บาท จึงส่งกลับไปบ้านที่เมืองจีนทั้งหมด เหลือใช้ส่วนตัวเดือนละ 2 บาท อีก 4 ปีต่อมาได้ย้ายไปทำงานโรงยาฝิ่น เป็นคนเก็บเงินและรับผิดชอบในการจ่ายฝิ่นให้แก่ลูกค้าที่มารับบริการ

อายุได้ 22 ปี นายเท่งปอต้องเดินทางกลับไปเมืองจีนเพื่อแต่งงานกับนางสาวตั้งสี หญิงสาวที่นายเท่งปอได้ขอหมั้นไว้เมื่อ 5 ปีก่อน หลังจากแต่งงานได้ประมาณเดือนเศษ ก็เดินทางกลับสยามเข้ามาทำงานที่โรงยาฝิ่นที่เดิม ได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็น 15 ตำลึง หรือ 60 บาท

ในปี พ.ศ. 2442 นายเท่งปอได้แต่งงานกับนางสาวกอสี หรือ กร แซ่กอ ลูกจีนฮวดและนางหรุ่น ซึ่งมีกิจการแพปลาอยู่ที่ปากคลองวัดปทุมคงคาหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ปากคลองวัดสำเพ็ง โดยมีเจ้าสัวโหงว นายห้างกวงง่วนล้งและเล่าเคี่ยงสุนเป็นผู้จัดการงานแต่งงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ มีลูกสาวคนแรกชื่อ “น้อม”

ต่อมาเถ้าแก่เม้งง้วน เล่าเจ้กที่นายเท่งปอทำงานด้วยได้พาครอบครัวย้ายกลับคืนสู่เมืองจีน จึงยกกิจการและหุ้นส่วนโรงยาฝิ่น โรงเหล้า และโรงบ่อนที่มีอยู่ 6 แห่งให้แก่นายเท่งปอ การที่จะเป็นเจ้าของกิจการรวมทั้งของตัวเองที่มีอยู่แล้วรวมเป็น 7 แห่ง จำต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเงินหรือที่ดินที่มีมูลค่า 400 ชั่ง ตามระเบียบหลวงที่กำหนดไว้ เจ้าสัวกวงง่วนล้งให้ความช่วยเหลือโดยได้เอาที่ดินช่วยค้ำประกัน กิจการของนายเท่งปอจึงดำเนินการต่อไปได้

ต้นปี พ.ศ. 2445 นางกร ภรรยาได้เสียชีวิตลง และปลายปีนี้เองนายเท่งปอก็ได้แต่งงานใหม่อีกครั้งกับนางสาวพร แซ่เฉ่า ลูกจีนเฉ่ากง (ต้นตระกูลเชาวกำธร) และนางสุดใจ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ได้ปลูกเรือนหอเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่หลังวัดสำเพ็ง

พ.ศ. 2446 นายเท่งปอได้ตั้งคณะงิ้วแต้จิ๋วใช้ชื่อคณะว่า “เจียฮั่วเฮียง” รับจ้างแสดงในงานทั่วไป และยังตั้งห้าง “ไท้ยู่ล้ง” ส่งสินค้าออกนอกประเทศ

ในปีถัดมาพระเจ้ากวงซู้ฮ่องเต้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นขุนนางชั้น “ฮ่งติกไต้ฮู” ตำแหน่งนี้จะสืบทอดต่อไปยังบุตรชายผู้อยู่ในตำแหน่งคนหัวปีได้ถึง 3 ชั่วคน และมีสิทธิติดอักษรจีนขนาดใหญ่ 3 ตัว เหนือบานประตูใหญ่หน้าบ้านว่า “ไต้ฮูเต๊ย” แปลว่า บ้านขุนนาง

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2443 “ซาเจ้ก” หรือ “อาซา” น้องชายคนที่ 3 ได้เดินทางเข้ามาช่วยทำงานและคิดจะปักหลักอยู่อย่างเป็นการถาวร นายเท่งปอจึงจัดการให้แต่งงานกับนางสาวเซาะเซ็ง แซ่เตีย (คนแต‰จิ๋วบางคนออกเสียงเป็นเตียว) ต่อมาใช้นามสกุลว่า “ประสาทเสรี” มีบุตรชาย 5 หญิง 2 รวม 7 คน หนึ่งในนั้นคือ ดร. ป๋วย ที่คนไทยรู้จักกันดี และขอใช้นามสกุล “อึ๊งภากรณ์” ร่วมกับนายเท่งปอพี่ชายอีกสายหนึ่ง ส่วนน้องชายคนที่ 2 “ยี่เจ้ก” หรือ “อายี่” เข้ามาอยู่ได้เพียง 35 วัน ก็เป็นอหิวาตกโรคเสียชีวิต

ครั้นรัฐบาลประกาศเลิกกิจการโรงบ่อนทั่วราชอาณาจักร เพราะถือว่าเป็นแหล่งอบายมุข โรงบ่อนนายเท่งปอที่มีอยู่สิบกว่าแห่งจึงปิดตัวลงพร้อมกับเลิกคณะงิ้ว ภาระต่างๆ จึงตกอยู่กับนายเท่งปอที่จะต้องเลี้ยงดูคนที่มาอาศัยกินนอนอยู่ด้วยกว่า 40 คน ทำให้ต้องเปิดอู่รถลากขึ้นใช้ยี่ห้อว่า “เฉาลู้” ได้มอบหมายให้ผู้อื่นดูแล ต่อมาความนิยมรถลากน้อยลงเพราะมีรถรางไฟฟ้า และรถมอเตอร์คาร์เข้ามา จึงเลิกกิจการไปในที่สุด

นายเท่งปอได้ทำกิจการต่างๆ หลายอย่างทั้งโรงสีค้าข้าว ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ คงมีรายได้จากโรงยาฝิ่นเท่านั้นที่พอจะเลี้ยงตัวได้ เมื่อจีนฮวดพ่อตาเสียชีวิตกิจการแพปลาจึงตกเป็นของนางสาวน้อม หลานสาวลูกนายเท่งปอกับนางกร ภายหลังนางสาวน้อมได้แต่งงานกับนายโชติ ล่ำซำ ลูกชายคนโตของเจ้าสัวอึ้งยกหลง ต้นตระกูลล่ำซำ

กิจการแพปลาใช้ชื่อว่า “ง่วนฮวด” ในปีแรกไม่ค่อยดีต้องกู้เงินจากธนาคารสยามกัมมาจลมาใช้หมุนเวียน ประสบกับปัญหามากมาย แต่ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้

“อาซา” เสียชีวิตปี พ.ศ. 2469 นายเท่งปอจึงรับภาระเลี้ยงดูหลานๆ ดังปรากฏในข้อเขียนของ ดร. ป๋วย ในหนังสือ “สันติประชาธรรม” มีความว่า “รายได้ของแม่ในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นเงินอุปการะจากลุง…”

และในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังได้กล่าวถึงสถานะการเงินของนายเท่งปออีกว่า “…วันหนึ่งผมขึ้นไปบนบ้านลุง แล้วขอเงินท่านมาชำระค่าเล่าเรียน ท่านนิ่งอึ้งอยู่สักสิบนาทีเห็นจะได้ พอท่านรู้สึกตัวท่านพูดว่า ‘ป๋วยเอ๋ยอาแป๊ะคิดถึงเตี่ยแก’ “ ซึ่งตรงกับบันทึกของนายเท่งปอที่เขียนว่า “ทางบ้านตลาดน้อยมาขอเบิกเงินไปก่อนล่วงหน้า 400 บาท แต่ฉันก็ไม่ได้ให้ไปเพราะว่าทางบ้านวันนั้นทั้งวันไม่มีเงินจะให้ไปจริงๆ…”

ระหว่างที่นายเท่งปอทำการค้าในเมืองไทยนั้น ได้เดินทางกลับไปเมืองจีนหลายครั้ง ส่งเงินไปซื้อที่ดินทำสวนส้ม ปลูกข้าว และสร้างบ้านตึกหลังใหญ่จนเสร็จ

นายเท่งปอได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนอากรรักษากิจ” เนื่องจากเคยเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยอยู่สมัยหนึ่ง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 อายุ 55 ปี ถูกนำกลับไปฝังที่เมืองจีนบ้านเกิดตามความประสงค์

นายเท่งปอแต่งงานและมีภรรยา 3 คน
1. นางตั้งสี ภรรยาชาวจีน มีลูกสาว 2 คน คือ “ซิ้วเตียว” และ “ซิ้วย้ง”
2. นางกร ภรรยาชาวไทย มีลูกสาว 1 คน คือ “น้อม”
3. นางพร ภรรยาชาวไทย มีลูกชายลูกสาวรวม 8 คน คือ นางจำเนียร นางจำนงค์ นายทวน นางยิ่งศรี นายธง นางเยี่ยมศรี นายบุญเทียม และนายกุณฑล ความจริงแล้วนายเท่งปอมีชื่อจีนอีก ๒ ชื่อ คือ

1. “อึ้งยิดกวง” แปลได้ความว่า แสงตะวันสีเหลือง ใช้เฉพาะในวงการธุรกิจและสังคมของชาวจีนในเมืองไทยเท่านั้น
2. “ซ้งเล้ง” เป็นชื่อที่ใช้ส่วนตัวพบบนปกบันทึกประวัติส่วนตัว ไม่ได้นำไปใช้ในธุรกิจหรือสังคมใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วน “เท่งปอ” แปลได้ความว่า กระแสคลื่น ซึ่งชื่อนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่มิตรสหายอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่คนจีนและคนไทย บางครั้งก็เรียก “นายอากรปอ” หรือ “เฮียปอ”

สำหรับนามสกุล “อึ๊งภากรณ์” นั้นจากการสันนิษฐานของลูกๆ นายเท่งปอถึงความเป็นมาของนามสกุลนั้นอาจมาจาก

1. นายเท่งปอเคยเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยมาก่อน
2. มาจากชื่อจีนว่า “อึ้งยิดกวง” ที่แปลว่า แสงตะวันสีเหลือง
3. มาจากการประทานนามสกุลจากเสด็จในกรมพระองค์หนึ่ง ซึ่งลูกๆ นายเท่งปอจำคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังเคยเห็นประกาศนียบัตรที่ประทานนามสกุล “อึ๊งพากร” ได้ลงลายพระหัตถ์กับประทานพรมีวันที่ เดือน ปี กำกับไว้เป็นสำคัญแต่เอกสารแผ่นนี้ได้สูญหาย

ประวัติเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ของนายเท่งปอนี้ นายบุญเทียม อึ๊งภากรณ์ ลูกชายคนที่ 7 เป็นผู้แปลและเรียบเรียงมาจากสมุดบันทึกที่หน้าปกเขียนว่า “บันทึกเรื่องราวรายปีของซ่งเล้ง” ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้เริ่มบันทึกตั้งแต่ปีที่แรกเกิดจนถึงอายุ 53 ปี พิมพ์ออกแจกจ่ายเฉพาะในเครือญาติพี่น้องเท่านั้น

สำหรับลูกๆ ทั้ง 8 คนนั้นเรียกนายเท่งปอว่า “นายเตี่ย”

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘นายเตี่ย’ ต้นตระกูล อึ๊งภากรณ์” เขียนโดย ชูเกียรติ เฉียบแหลม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564