เปิดความเป็นมาของ “มงคลบุรี” เมืองใหม่สมัยรัชกาลที่ 3 สู่เส้นทางตกเป็นของฝรั่งเศส

รัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพพระวิหาร (พระอุโบสถ) วัดหลวง เมืองมงคลบุรี ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2558

เมืองมงคลบุรี ซึ่งในสมัย “รัชกาลที่ 3” ได้ตั้งขึ้นใหม่ (ปัจจุบันคือ อำเภอมงคลบุรี จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา) ดังนั้น เมืองมงคลบุรีจึงเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในเส้นทางการเดินทัพไทย-กัมพูชา ในช่วงเวลาเดียวกับการยกด่านกบแจะเป็นเมืองประจันตคาม ยกด่านหนุมานเป็นเมืองกบินทร์บุรี ยกบ้านหินแร่เป็นเมืองอรัญประเทศ และยกบ้านท่าสวายเป็นเมืองศรีโสภณ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการตั้งเมืองมงคลบุรีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองมงคลบุรีก็มีชุมชนเมืองตั้งอยู่ก่อน 2 เมือง คือ เมืองเพนียดและเมืองโตนด ซึ่งปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่าเป็นจุดร่วมหรือชุมทางที่สามารถแยกไปเมืองเสียมราบหรือเมืองพระตะบองได้

ส่วนเมืองตะโหนดเป็นเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำตะโหนดซึ่งเป็นจุดที่ใช้สำหรับลงเรือล่องลงไปยังเมืองพระตะบองได้ แต่เมื่อมีการพัฒนาเส้นทางเพื่อใช้เป็นเส้นทางในสงครามอานามสยามยุทธ์ทำให้มีการย้ายศูนย์กลางของเมืองมาไว้ที่เมืองมงคลบุรีแทน…

มงคลบุรี : เมืองใหม่ในรัชกาลที่ 3

เมืองมงคลบุรี เป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่ในเส้นทางการเดินทัพไปยังเมืองพระตะบอง ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปรบกับเวียดนามในสงครามอานามสยามยุทธ์นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ด้วง (นักองค์ด้วง) พระโอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชารามาธิบดี (พระองค์เอง) เสด็จมาปกครองเมืองมงคลบุรี ในเวลาเดียวกันกับที่โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์อิ่ม (นักองค์อิ่ม) ออกมาเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง ในปีพุทธศักราช 2376

เนื่องจากในเวลานั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศรถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระองค์อิ่มเป็นผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง และให้พระองค์ด้วงไปว่าราชการเมืองมงคลบุรี [5] ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า

“…ฝ่ายราชการข้างเมืองเขมร รับสั่งให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า พระยาอภัยภูเบศรเจ้าเมืองพระตะบองถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จะตั้งแต่งกรมการผู้ใหญ่ขึ้นเป็นเจ้าเมืองก็ได้ แต่ทรงเห็นว่านักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง เป็นเชื้อสายเจ้านายเขมรอยู่ที่นั่นแล้ว ก็ควรจะยกย่องขึ้นให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองต่อไป จะได้เป็นที่นับถือพวกเขมร โปรดให้นักองค์อิ่มเป็นผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง นักองค์ด้วงไปว่าราชการเมืองมงคลบุรี…” [6]

พระองค์ด้วงปกครองเมืองมงคลบุรีระหว่าง พ.ศ. 2376-80 ในปี พ.ศ. 2377 ที่พระองค์ด้วงประทับอยู่ที่เมืองมงคลบุรี นักมนางแปนได้ประสูติพระโอรสคือ “พระองค์เจ้าจรอฬึง” (ต่อมาคือ พระองค์ราชาวดี และขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร) เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377 ที่ตำหนักหลวง ในเมืองมงคลบุรี (ปัจจุบันคือ อำเภอมงคลบุรี จังหวัดบันทายมีชัย) [7]

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2380 ขุนนางไทยที่เมืองพระตะบองได้รายงานไปกรุงเทพฯ ว่าพระองค์ด้วงกับขุนนางเขมรบางคนได้ร่วมกันเกลี้ยกล่อมชาวเมืองพระตะบองให้อพยพไปอยู่ที่พนมเปญ ทางกรุงเทพฯ ได้ทราบเรื่องจึงให้คุมตัวพระองค์ด้วงเข้ามากรุงเทพมหานคร รวมเวลาที่พระองค์ด้วงเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรีอยู่ประมาณ 4 ปี

จาก “ตำหนักหลวง” สู่ “วัดหลวง” เมืองมงคลบุรี

บริเวณที่ตั้งของตำหนักหลวงที่พระองค์ด้วง (ต่อมาคือ สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี) ประทับในระหว่างที่ปกครองเมืองมงคลบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2376-80 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดหลวง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดหลวงสีสุวัตถิรตนาราม” ในหมู่บ้านภูมิหลวง (ภูมิหฺลฺวง) ตำบลรึเซ็ยโกรก (ฆุมฺฤสฺสีโกฺรก) อำเภอมงคลบุรี (สฺรุกมงฺคลบุรี) จังหวัดบันทายมีชัย (เขตฺตบนฺทายมานชัย) สำหรับสาเหตุที่บริเวณนั้นได้ชื่อว่า “โพธิหลวง” เนื่องมาจากมีตำนานว่า

“…ในเวลาที่พระองค์จรอฬึง (พระองค์ราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร)ประสูติ คนใช้ได้นำรกไปฝัง ไม่กี่วันก็เกิดเหตุอัศจรรย์ ด้วยมีต้นโพธิขึ้นในที่ฝังรกนั้น ชาวเมืองมงคลบุรีจึงพากันเรียกว่า ‘โพธิหลวง’ มีความหมายว่า โพธิพระราชา หรือ โพธิเสด็จ (กษัตริย์) เรื่อยมา…” [8]

สำหรับวัดหลวง วัดโพธิหลวง หรือชื่อเต็มว่า “วัดหลวงสีสุวัตถิรตนาราม” ตั้งอยู่ริมฝั่งข้างหนึ่งของแม่น้ำมงคลบุรี วัดนี้ได้สร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าสีสุวัตถิ์ เมื่อ พ.ศ. 2462 ดังปรากฏข้อความจารึกที่ผ้าทิพย์ของพระประธานภายในพระวิหาร (พระอุโบสถ) ของวัดหลวงสีสุวัตถิรตนาราม ซึ่งแปลได้ความว่า

“พระบาทสีสุวัตถิ์จอมจักรพงศ์บรมบพิตรเจ้าชีวีตทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระวิหารนี้ ได้อนุญาตให้พระครูปริยัติธรรมพร้อมด้วยญาติโยมทุกคนได้ยกพระวิหารในวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะแม เอกศก 1281 พระศาสนาได้ 2462 สร้างพระพุทธรูปองค์ธม (ใหญ่) ในวันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา ตรีศก 1283 พระศาสนาได้ 2464 ฯ พระวัสสาฯ” [9]

ลักษณะเด่นที่แสดงให้เห็นว่าวัดนี้สร้างขึ้นโดยพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ คือ หน้าบันของพระวิหาร (พระอุโบสถ) มีลวดลายสลักแกะไม้ปิดทองเป็นตราอาร์มพระมหากษัตริย์กัมพูชา ประกอบด้วยพระมหามงกุฎ พานวางพระขรรค์ราชย์ ด้านซ้ายมีคชสีห์และฉัตร 5 ชั้น ด้านขวามีภาพราชสีห์และฉัตร 5 ชั้น ถัดลงมาด้านล่างมีข้อความว่า “พระพุทธศาสนาได้ 2462 วัน 5 ฯ [9] 6 ปีมะแมเอกศก 1231”

ตำแหน่งและราชทินนามเจ้าเมืองมงคลบุรี

สำหรับตำแหน่งเจ้าเมืองมงคลบุรีและกรมการเมืองมงคลบุรี ปรากฏหลักฐานอยู่ในหนังสือ “ทำเนียบหัวเมือง ร.ศ. 118” (พ.ศ. 2442) กล่าวถึงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ปลัด ยกกระบัตร และผู้ช่วยราชการเมืองศรีโสภณว่า

เจ้าเมือง (เดิม) พระยาวิเศษภักดีศรีสุนทรสงคราม
ผู้ว่าราชการเมือง พระราชารักษ์
ปลัด พระภักดีราชา
ยกรบัตร พระวงษานุชิต

จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เมืองมงคลบุรีเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่อยู่ในเส้นทางเดินทัพในสงครามอานามสยามยุทธ์ เมืองนี้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ด้วงมาเป็นผู้ปกครอง โดยมีที่ประทับอยู่ที่ตำหนักหลวง ซึ่งปัจจุบันคือวัดหลวง หรือวัดหลวงสีสุวัตถิ์รตนาราม ในหมู่บ้านภูมิหลวง ตำบลรึเซ็ยโกรก อำเภอมงคลบุรี

ต่อมาเมืองนี้ได้ตกเป็นของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา พ.ศ. 2449 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดพระตะบอง ต่อมาหลังสงครามเขมรแดง ได้มีการย้ายมาเป็นอำเภอมงคลบุรี ขึ้นกับจังหวัดบันทายมีชัย (บนฺทายมานชัย-บ็อนเตียยเมียนเจ็ย)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[5] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2538), น. 60.

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] ฉาย สุผล. อำณาจ นึงราชบลฺลังฺกไนมหากฺสตฺรแขฺมรแส องฺคฑวง นโรตฺตม สีสุวตฺถิ. (ภฺนํเพญ, 2015), น. 61.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[9] แปลโดยผู้เขียน จากข้อความในจารึก ตามที่ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บรรณานุกรม :

คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2538, น. 278.

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1171-1173, พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2513.

ฉาย สุผล. อำณาจ นึงราชบลฺลังฺกไนมหากฺสตฺรแขฺมรแส องฺคฑวง นโรตฺตม สีสุวตฺถิ. ภฺนํเพญ, 2015.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2538.

ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549.

Aymonier, Etienne. Khmer Heritage in the Old Siamese Provinces of Cambodia. Bangkok : White Lotus, 1999.

Bastain, Adolf. A Journey in Siam (1863). Bangkok : White Lotus, 2005.

Pavie, Auguste. Atlas of the Pavie Mission : Laos, Cambodia, Siam, Yunnan and Vietnam. Bangkok : White Lotus, 1999.

Santanee Phasuk and Philip Stott. Royal Siamese Maps: War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok : River Books, 2006.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “จากเมืองเพนียด เมืองโตนด สู่เมืองมงคลบุรี” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564