ก่อน 2475 งบรายจ่ายที่จัดสรรให้ภูมิภาค สร้างความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น

รัฐบาลคณะราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรี งบประมาณ
รัฐบาลคณะราษฎรสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2481-88

ขณะที่รัฐบาลรวบรวมภาษีอากรทั้งหมดซึ่งเรียกเก็บได้จากมณฑลหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศเข้าสู่ส่วนกลาง แต่การจัดสรร งบประมาณ กลับคืนไปยังมณฑลเหล่านั้นกลับเป็นไปอย่างไม่สมดุล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งในเรื่องรายจ่ายของรัฐช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475 อันนำไปสู่ “ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาท้องถิ่น”

เพราะด้วยรายได้ที่เหลือจากงบประมาณรายจ่ายที่รัฐจัดสรรให้กับมณฑลต่างๆ ถูกนำมาใช้สำหรับส่วนกลาง หรือกรุงเทพฯ ขณะที่การพัฒนาหัวเมืองอื่นๆ ดำเนินไปอย่างล่าช้ากว่า ด้วยถูกจำกัดโดยงบประมาณ

ตัวอย่างเช่น สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2440-2443 งบประมาณที่จัดสรรให้แก่หัวเมืองต่างๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-20 ของงบประมาณทั้งหมด หรือหากคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่จัดเก็บได้จากมณฑลต่างๆ ก็อยู่ระหว่างร้อยละ 22-39 ของรายได้จากมณฑลเหล่านี้

ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 การจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเล็กน้อย ระหว่าง พ.ศ. 2454-2458 พบว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้รวมจากมณฑลเหล่านี้ แต่หลายมณฑลยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ที่ถูกค่อนข้างมาก เช่น มณฑลกรุงเก่า, มณฑลนครชัยศรี และมณฑลภูเก็ต ได้รับงบประมาณมาถึงร้อยละ 30 ของรายได้ที่จัดเก็บไป

ที่มา: Statistical Yearbook (Second Number) (อ้างอิงจาก “ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นาฯ”)

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลคณะราษฎรดำเนินการเปลี่ยนแปลงการจัดสรร งบประมาณ สู่พื้นที่ต่างๆ เช่น พ.ศ. 2480 มีการออก พระราชกฤษฎีกากำหนดปันเงินรัชชูปการให้แก่เทศบาล พุทธศักราช 2480 และมีการบังคับใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการ

พ.ศ. 2482 ยกเลิกการจัดเก็บภาษีที่ดิน และเปลี่ยนเป็นการเก็บ “เงินช่วยบำรุงท้องถิ่น” แทน ซึ่งเงินที่เก็บได้นี้จะนำไปใช้ในท้องที่ตามกำหนดโดยไม่ถูกเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นต้น

ซึ่งทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น แต่ในภาพรวมอำนาจตัดสินใจจัดสรรงบประมาณไปยังท้องถิ่นต่างๆ ยังคงอยู่ส่วนกลางเช่นเดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

อภิชาต สถิตนิรามัย, อิสร์กุล อุณหเกตุ. ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตย, สำนักพิมพ์มติชน, ตุลาคม 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2564