เผยแพร่ |
---|
รัฐบาล พันเอก หลวงพิบูลสงครามได้แถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2481 โดยแจกแจงนโยบายของแต่ละกระทรวง ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลัง มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการการะทรวงการคลัง มีนโยบายหลัก 4 ข้อ คือ 1.ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรม 2.จัดให้มีเครดิตหมุนเวียนตามกำลังของประเทศที่จะทำได้ 3. รักษาความมั่งคงแห่งเงินตราตามกฎหมาย 4.จะกำหนดปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล
ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม 2481 (ปฏิทินเก่า) รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ ตามที่เคยแถลงนโยบายต่อสภา มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงเหตุผล และที่ประชุมรับหลักการและอนุมัติ ปีงบประมาณจึงเป็นวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายน ในปีถัดไป ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้อ้างอิงจากการบันทึกของประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ (อดีตเลขาธิการรัฐสภา)ในรัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2513) โดยจัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพื่อให้ง่ายแก่การอ่าน
เนื้อหามีดังนี้
เปลี่ยนปีงบประมาณเริ่ม 1 ตุลาคม
เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า จะกําหนดปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาลนั้น ครั้นในวันที่ 12 มกราคม รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2481 ต่อสภา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง [หลวงประดิษฐ์มนูธรรม] ได้แถลงเหตุผล ต่อสภาว่า
“ในการที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้พิจารณาโดยส่วนนั้น ข้าพเจ้าต้องขออภัยเสียก่อนว่า ในการที่ให้ท่านสมาชิกทั้งหลายได้พิจารณาโดยด่วน ก็เพราะเหตุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ดําเนินตามนโยบายที่รัฐบาล ได้แถลงไว้ กล่าวคือว่า รัฐบาลได้แถลงไว้ว่า รัฐบาลจะได้เปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ให้ถูกต้องตามฤดูกาล และจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่จะขอให้ สภาฯวินิจฉัยแต่เพียงในวาระที่ 1 คือว่า จะควรรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เท่านั้น ส่วนรายการละเอียดนั้น ถ้าหากว่าสภาฯ ได้รับหลักการแล้ว ก็จะได้ขอให้ตั้งกรรมาธิการไปพิจารณา
หลักการแห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณนั้น ก็มีอยู่ว่าเพื่อเปลี่ยนปีงบประมาณ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ในสภาผู้แทนราษฎร และการที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ โดยจะได้เริ่มตั้งแต่ในเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง และไปหมดในวันที่ 30 กันยายนของอีกปีหนึ่งนั้น ทั้งนี้ก็โดยคํานึงถึงดินฟ้าอากาศของประเทศสยาม
กล่าวคือว่า ในประการต้น การงานของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่จะทําได้ภายนอกสถานที่ เช่นงานโยธาต่างๆ นั้น ก็มักจะทําได้ในระหว่างฤดูแล้ง และฤดูแล้งนี้ก็เป็นฤดูที่ติดต่อกันระหว่างเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน ตามที่เป็นมาแล้วนั้น ในระหว่างเดือนซึ่งนับว่าเป็นเดือนที่เราจะลงมือกันได้ คือหมายความว่าเดือนมกราคม ธันวาคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม เจ้าหน้าที่ก็จะต้องคอยเป็นห่วงงบประมาณ และใช่แต่เท่านั้น จะต้องทํางานอยู่แต่ในร่ม คือ เตรียมการทํางบประมาณ ถ้าหากว่าเราได้เปลี่ยนฤดูงบประมาณเช่นนี้แล้ว เราก็จะทําการงานภายนอกสถานที่ได้ เพราะไม่ต้องเกี่ยวข้องหรือเป็นห่วงถึงงบประมาณ
อีกประการหนึ่ง ฤดูแล้งของเรานั้นได้ทําการติดต่อกันควบไป หมายความว่าปีตามปฏิทินหลวงได้เสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม แต่ระหว่างเดือนเมษายน และพฤษภาคมนั้น เป็นเดือนที่เราจะทํางานติดต่อกัน ถ้าหากว่างบประมาณเป็นไปตามเดิมแล้ว งบประมาณก็ใช้วันที่ 1 เมษายน กว่ากระทรวงการคลังจะได้สั่งเสียไปยังเจ้าหน้าที่ต่างๆ และเดือนเมษายนก็เป็นเดือนที่หยุดราชการด้วย งบประมาณที่จะได้รับในจังหวัดต่างๆ ก็จะตกไปถึงในเดือนมิถุนายน หรือพฤษภาคม ก็เริ่มฤดูฝน ทําอะไรไม่ได้
ถ้าหากว่าได้เปลี่ยนงบประมาณวิธีการเช่นนี้แล้ว ก็เป็นที่หวังอย่างยิ่งว่า งานโยธาต่างๆ นั้น เราจะทําได้ ในฤดูแล้งติดต่อกัน เราทํางบประมาณในฤดูฝน คือหมายความว่าระหว่างที่พระเข้าพรรษา สภาฯ ก็จะได้เลื่อนกําหนดสมัยประชุมเข้ามาในระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน และระหว่างนั้นเป็นฤดูฝน ทํางานนอกสถานที่ไม่ได้ เราจะทํางบประมาณตัวเลขใน สถานที่ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงการงานนัก
อีกอย่างหนึ่ง การที่รัฐบาลนี้ได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ แล้วว่า รัฐบาลต้องการจะให้หนักไปในทางปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จําเป็นอยู่เองที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของเราออกไปควบคุมดูแลกิจการนอกสถานที่ให้มากยิ่งขึ้น และการที่เราจะออกไป ตรวจตราและควบคุมได้นั้น ฤดูที่สะดวกก็คือฤดูแล้ง เพื่อให้เห็นของจริงว่าเขาทํางานประการใด แต่ก็ต้องมาพะวงกับเรื่องงบประมาณ พอถึงฝนมาก็เป็นฤดูที่เราว่าง นี่ก็ไม่ตามฤดูกาลอีก
ประการต่อไป การที่จะคํานวณรายได้รายจ่ายของงบประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องการคํานวณรายได้นั้น พืชผลในการกสิกรรมหรือว่าในความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้น เราจะคำนวณกันได้ ก็โดยอาศัยหลักใหญ่ ซึ่งในปีหนึ่งพลเมืองส่วนมาก ซึ่งเป็นกสิกรได้ทํามาค้าขึ้นได้เพียงใด ในการที่เราจะรู้ได้ก็ต้องให้เสร็จฤดูกาลจริงๆ หมายความว่าให้เสร็จฤดูเก็บเกี่ยว
แต่ว่าทุกวันนี้เราต้องรีบทํางบประมาณกันและการคํานวณรายได้ก็ในเดือนพฤศจิกายน บางแห่งแม้แต่ข้าวเบาก็ยังเกี่ยวไม่ได้ ถ้าหากว่าเราได้เลื่อนปีงบประมาณไปเสีย ให้เริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม และการที่เราจะนํางบประมาณเสนอสภาฯ ก็คือเราจะเสนอในเดือนสิงหาคม คือเป็นฤดูที่เก็บเกี่ยวเสร็จบริบูรณ์ การคํานวณรายได้รายจ่ายก็เป็นการที่เราจะทําได้ถูกต้องที่งยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่ได้แถลงมานี้แล้ว รัฐบาลจึงเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องให้เปลี่ยนปีงบประมาณ โดยให้เริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม ถึง วันที่ 30 กันยายน และวิธีทั้งที่ข้าพเจ้าได้แถลงมานี้ ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งซึ่งเราได้คิดขึ้นเอง แต่เราได้พิจารณาแล้วว่ามีตัวอย่างไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ ในโลกนี้ เขาได้วางงบประมาณไม่ไช่ตามบปฏิทินหลวงของเขา เขาได้วางปีงบประมาณตามฤดูและภูมิประเทศ เช่น
อย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งปีตามปฏิทินหลวงเริ่มต้นเดือนมกราคม แต่[ปีงบประมาณ]เขาก็ไปเริ่มในเดือนเมษายน เพราะเป็นฤดูใบไม้ผลิเขาเพิ่งเริ่มทํางานใหม่ และในอเมริกาก็ไม่ได้ดําเนินปีงบประมาณตามปฏิทินหลวง รวมความว่างบประมาณประจําปีนั้น เขาก็วางให้เหมาะสมเป็นประเทศๆ ไป
รายละเอียดแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้มีอยู่ในเรื่องตอนแรกนี้ว่า ในตอน 6 เดือน นับ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีหน้านั้น เราจะใช้งบประมาณอันใด ในเรื่องนี้รัฐบาลได้พิจารณาร่างเป็นบทเฉพาะกาลขึ้นมา ให้ขยายงบประมาณ ปีนี้ในส่วนเงินเดือนและค่าใช้สอยไปอีก 6 เดือน เว้นไว้แต่ว่า ถ้าหากมีงานมาซึ่งเราจะต้องขยายงานก็ดี หรือว่า การจรในการลงทุน การจ่ายพิเศษเช่นนี้ รัฐบาลก็เห็นว่าเราจะทํางบประมาณเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่ง แต่งบประมาณเพิ่มเติมนั้น เราจะได้กล่าวแต่เฉพาะงานที่จะต้องขยายใน 6 เดือนนี้ ในการนี้รัฐบาลก็ยังมีความหวังอีกว่า เพียงแต่เราจะทำงบประมาณเพิ่มเติมมาอีกฉบับหนึ่ง และในส่วนเพิ่มเติมนั้น รายการละเอียดก็จะแสดงต่อสภาฯ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนั้น มีสิ่งที่จะชี้แจงอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่ลบล้างของเดิมไปทั้งหมด วิธีการงบประมาณใดซึ่งเป็นของเดิมอยู่ ที่ไม่ขัดหรือไม่แย้ง ก็ยังคงไว้ได้ ดั่งเช่นวิธีการทางบประมาณเพิ่มเติมกันเกี่ยวด้วยเงินทองที่เราจะต้องใช้สอยในระยะ 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2482 นั้น รัฐบาลไม่ได้กล่าวมาถึงวิธีการงบประมาณเพิ่มเติม ทั้งนี้ก็เห็นว่าพระราชบัญญัตินั้นก็มีข้อความไขกระจ่างอยู่แล้ว
ในระยะนี้รัฐบาลขอแต่เพียงว่าให้สภาฯ วินิจฉัยว่าการที่จะเปลี่ยนปีงบประมาณตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้น ควรจะรับหลักการหรือไม่ และหวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย คงจะเห็นประโยชน์ คือ ว่าถ้าได้รับหลักการนี้ไปแล้ว ความสะดวกก็จะมีทั้งในส่วนรัฐบาลและทั้งในส่วนตัวท่านสมาชิกเอง คือแทนที่ในฤดูแล้งท่านจะมานั่งอยู่ในนี้ ท่านจะได้ไปเยี่ยมราษฎรได้ ฤดูฝนท่านก็จะได้มาจำพรรษาอยู่ด้วยกัน และทางราษฎรที่จะได้รับประโยชน์ รวมความว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย หวังว่าคงจะไม่มีผู้ใดขัดข้อง”
ที่ประชุมรับหลักการและอนุมัติให้ใช้เป็นกฎหมายได้
(รายงาน ฯ สภาผู้แทนนราษฎร ปี 2481 (สามัญ) ครั้งที่ 5 หน้า 146 )
พระราชบัญญัติงบประมาณพิเศษระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2482 มียอด
รายจ่าย 57,879,979 บาท
รายได้ 57,932,655 บาท
รายจ่ายพิเศษ 15,815,279 บาท
ข้อมูลจาก ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2513), กลุ่ม “รัฐกิจเสรี” จัดพิมพ์ครั้งที่ 2
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 24 กรกฎาคม 2562