จาก “สุขุมวิท(ย์)” ถึง “เพ็ชร์เกษม” ไทยเคยนิยมใช้ชื่อบุคคลตั้งชื่อทางหลวง-สะพาน ไฉนจึงยกเลิก?

พระยาพหลพลพยุหเสนา พจน์ พหลโยธิน ชื่อทางหลวงแผ่นดิน
พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ฉากหลังเป็นภาพสภาพการจราจรบนถนนในกรุงเทพฯ เมื่อ ตุลาคม 2003 ภาพโดย SAM YEH / AFP

ชื่อทางหลวงแผ่นดิน และสะพานขนาดใหญ่ แต่เดิมนิยมใช้ชื่อบุคคลเพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่ผู้มีส่วนประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติ [1] เช่น ถนน “สุขุมวิทย์” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิทย์ อดีตอธิบดีกรมทาง ถนน “พหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาพหลพลพยุหเสนา ถนน “เพ็ชร์เกษม” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงเพชร์เกษมวิถีสวัสดิ์ อธิบดีกรมทางสมัยนั้น

สังเกตได้ว่ารายนามส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมทางหรือกระทรวงคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ ที่จะได้รับเกียรตินำไปใช้เป็นชื่อถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างจังหวัด และภายในจังหวัด รวมไปถึงสะพานขนาดใหญ่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นถนนจรัญสนิทวงศ์ ติวานนท์ แจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน แสงชูโต โรจนะ โชตนา ฯลฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักและจดจำกันอย่างดีในปัจจุบัน

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ล้วนขัดกับยุคที่มาตรฐานสากลเป็นหัวใจสำคัญ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียกนามทางหลวงแผ่นดินแบบใหม่ขึ้น แนวคิดดังกล่าวได้มีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย

จนล่วงมาถึงคณะรัฐมนตรีปี 2506 จึงได้มีการเสนอให้ยกเลิก การตั้ง “ชื่อทางหลวงแผ่นดิน” ที่ใช้ชื่อบุคคลเสียทั้งหมด ในราชการกรมทางหลวงแผ่นดินจะใช้หมายเลขสายทาง (Route No.) เท่านั้น หากประชาชนจะเรียกชื่อเดิมต่อไปก็สุดแต่ความนิยม [2] ดังปรากฏในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระบบหมายเลขทางหลวงแผ่นดินแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2506 [3] ที่ใช้ระบบหมายเลขทางหลวงแผ่นดินแห่งประเทศไทยไว้ถึง 46 สาย

การให้ความหมายกับ “ชื่อทางหลวงแผ่นดิน” นั้น จากเดิมที่ใช้ชื่อบุคคลหรือราชทินนามมาตั้งเป็นชื่อเรียก (ซึ่งเป็นที่จดจำกันไปถึงจนทุกวันนี้) แสดงเห็นถึงการที่รัฐให้ความสำคัญกับการให้ความหมายของ “พื้นที่ประเทศไทย” อันเป็นหนึ่งเดียวกันบนมาตรฐานที่เป็นเอกภาพ ซึ่งในส่วนนี้ จะมีผลต่อการสร้าง “พื้นที่ทางความคิด” ของรัฐที่มุ่งหมายต่อการเปลี่ยนแปลงจินตนาการของคนให้เห็นระบบทางหลวงแผ่นดินที่เป็นหนึ่งเดียว

อย่างไรก็ตาม การปรับมาตรฐานดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีความลงตัวในคราเดียว หากแต่มีการเปลี่ยนบ่อยครั้งจนถึงปี 2509 ได้มีการปรับปรุงให้กำหนดระบบทางหลวงแผ่นดินเป็น 3 ระดับซึ่งจะสัมพันธ์กับการให้ความหมายแก่หมายเลขของทางหลวงด้วย [4]

ดังนั้น จากระบบดังกล่าวผสานกับโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวมากขึ้น รวมไปถึงกลไกควบคุมของรัฐผ่านสถานีขนส่งกรุงเทพฯ ที่ถูกจัดระเบียบจึงทำให้แบบแผนการเดินทางไปมาหาสู่กันภายในประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น และถือได้ว่าเป็นทศวรรษที่มวลชนได้เข้าถึงการเดินทางอย่างจริงจัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] “เรื่องที่ 15 การประชุม Traffic Engineering and Highway Safety ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์” ใน กจช. สบ. 5.1.1/236 เอกสารส่วนบุคคล ม.ล. ปิ่น มาลากุล (ระเบียบวาระประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 40/2505)

[2] “เรื่องที่ 9 หลักเกณฑ์การตั้งชื่อถนนและสะพาน” อ้างถึง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่” ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2493 ใน กจช. สบ. 5.1.1/252 เอกสารส่วนบุคคล ม.ล. ปิ่น มาลากุล (ระเบียบวาระประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 8/2506)

[3] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระบบหมายเลขทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2506 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 57, 4 มิถุนายน 2506, น. 1463.

[4] ซึ่งก่อนหน้านี้มิได้กำหนดอย่างชัดเจนเช่นนี้ กล่าวคือ ทางหลวงแผ่นดินสายประธาน ใช้ตัวเลข 2 หลัก ทางหลวงแผ่นดินสายรอง ใช้ตัวเลข 3 หลัก และทางหลวงจังหวัด ใช้ตัวเลข 4 หลัก ดูใน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระบบหมายเลขทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2509 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 83 ตอนที่ 57, 4 กรกฎาคม 2509, น. 2148.

แต่ใน 2 ปีต่อมาก็ได้มีการกำหนดระบบทางหลวงแผ่นดินใหม่อีกครั้ง เนื่องจากได้มีการบูรณะก่อสร้างทางหลวงเพิ่มเติมและมีการเปลี่ยนแปลงประเภททางหลวงขึ้นใหม่ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางหลวงสายประธาน แต่มีการจัดระบบทางหลวงสายรอง แยกไปตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

ส่วนทางหลวงจังหวัดก็มีการแบ่งไปตามแขวงการทางต่างๆ ให้ดูแลรับผิดชอบ ในจังหวัดหนึ่งอาจมีแขวงทางการมากกว่า 1 แห่งก็ได้ เช่น แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 1 และ 2 แขวงการทางนครราชสีมาที่ 1 และ 2 เป็นต้น ดูใน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระบบหมายเลขทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 60, 2 กรกฎาคม 2511, น. 1877.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ระบอบทางหลวงแผ่นดินในยุคเผด็จการ พลังของระบบขนส่งทางบกใหม่ในฐานะอภิมหาโครงการที่สร้าง ‘พื้นที่ประเทศไทย’ ทศวรรษ 2500” เขียนโดย ผศ. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564