จุดกำเนิด “ศาลสถิตยุติธรรม” และ “หอนาฬิกา” จุดสูงที่สุดในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5

ภาพถ่าย ศาลสถิตยุติธรรม อาคาร รูปทรง หอนาฬิกา
ภาพถ่ายเก่า "ศาลสถิตยุติธรรม" ที่มีหอนาฬิกาตั้งอยู่บนอาคาร (ภาพจาก สมชาติ จึงสิริอารักษ์. สถาปัตยกรรมตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ ๔-พ.ศ. ๒๔๘๐. (กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553), น. 186.)

…ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ศาลสถิตยุติธรรม เพราะมีพระราชประสงค์ฉลองพระนครที่ครบรอบ 100 ปี และต้องการรวบรวมศาลต่างๆ ในพระนคร และเก็บรวบรวมพระราชกำหนด กฎหมายไว้ที่เดียวกัน เพื่อมิให้ต่างชาติมาอ้างผลประโยชน์ในข้อนี้ได้ รวมทั้งเพื่อให้ง่ายต่อการสอบสวนของศาลเองอีกด้วย

การก่อสร้าง ศาลสถิตยุติธรรม รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กอง โจอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง และมีพระยานรรัตน์ราชมานิต (โต นิตยกุล) เป็นกงสี โดยมีบันทึกกล่าวถึงขนาดของศาลสถิตยุติธรรมความว่า

Advertisement

“…มีแผนที่กว้างยาวสูงต่ำดังนี้ ตึกหลังใหญ่พื้นสองชั้น โดยสูงตั้งแต่ดินขึ้นไปหกวาคืบ ตั้งแต่ถานหอนาฬิกาสูงพ้นจากตึกหลังใหญ่ขึ้นไปถึงยอดซุ้มนาฬิกาสิบเจ็ดวาสามศอกคืบ ตึกหลังใหญ่ยาวสามสิบห้าวาสามศอกคืบ กว้างในที่กลางขาดหลังผนังสิบสองวาศอก ตึกแถวซ้ายสูงสามวา ขวาสูงสามวา ยาวด้านละเจ็ดวาสองศอกคืบ กว้างห้าวาสองศอก รวมเปนเขตรศาลโดยยาวห้าสิบหกวา โดยกว้างสิบสองวา…”

ศาลสถิตยุติธรรมมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เน้นมุขกลางที่มีหลังคาจั่วแบบวิหารกรีก รองรับด้วยเสาลอยตัวแบบคอรินเธียน 6 ต้น ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงความบริสุทธิ์ยุติธรรม ปลายตึกทั้ง 2 ข้าง มีระเบียงสั้นๆ ต่อออกไปจรดอาคารเล็กๆ ทรงลูกบาศก์คล้ายป้อม โครงสร้างอาคารเป็นแบบกำแพงรับน้ำหนัก ผนังชั้นบนเป็นช่องเปิดแบบโครงสร้างคานโค้งต่อเนื่อง ชั้นล่างเป็นช่องสี่เหลี่ยมธรรมดา ยกเว้นมุขหน้าเป็นโครงสร้างคานโค้งทั้ง 2 ชั้น

เดิมหลังคาเป็นหลังคาแบน ขอบหลังคาเป็นพนักโปร่ง ประดับลูกกรงแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค ตรงกลางอาคารสร้างหอนาฬิกาสูง ซึ่งนับว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่งในยุคนั้น แต่ในปี พ.ศ. 2435 หอนาฬิกาที่ศาลสถิตยุติธรรมเกิดแตกร้าว ทำให้อาคารส่วนอื่นๆ ทรุดไปด้วย รวมทั้งหลังคาแบนก็ได้รับความเสียหาย ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นหลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องแทน

อาคารแห่งนี้เป็นอาคารหลังแรกที่มีการสร้างหอสูงไว้ด้านบนของอาคาร สันนิษฐานได้ว่าอาจเพราะเป็นอาคารราชการที่สำคัญ เนื่องจากศาลเป็นสถานที่ว่าความ ซึ่งจะมีทั้งชาวสยามและชาวต่างชาติเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้เพื่อติดต่อราชการ จึงจำเป็นต้องมี “นาฬิกา” มาติดตั้งไว้บนส่วนด้านหน้าของอาคาร เพื่อบอก “เวลา” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการติดต่อราชการ

แม้จะมีนาฬิกาเรือนใหญ่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารแล้วก็ตาม แต่ด้านบนสุดของหอนาฬิกาแห่งนี้ ได้ปรากฏ “กลอง” มาติดตั้งไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำสยามยังคงใช้ระบบการนับเวลาแบบจารีตผสมไปกับระบบการนับเวลาแบบสากลเช่นเดียวกับในสมัยที่ผ่านมา

อาคารหลังนี้ถูกออกแบบโดย โจอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) แม้การสร้างหอสูงจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสถาปนิกผู้นี้ก็ตาม แต่การสร้างหอสูงบนอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกย่อมเป็นงานที่ท้าทาย

แต่อย่างไรก็ตามงานสถาปัตยกรรมประเภทหอนาฬิกาแห่งนี้ ยังไม่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางการก่อสร้างที่ต่างไปจากหอนาฬิกาหลังก่อนหน้าเสียเท่าไร กลับเป็นการชี้ย้ำให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างงานสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตก ด้วยวิธีการก่อสร้างแบบท้องถิ่น ที่สุดท้ายแล้วกลับประสบความล้มเหลว จนต้องรื้อถอนออกไปในที่สุด…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หอสูงกับการบอกเวลา” เขียนโดย พิศาลศรี กระต่ายทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558

ทั้งนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปอาคารศาลสถิตยุติธรรมชำรุดทรุดโทรมมาก กระทรวงยุติธรรมจึงวางแผนที่จะก่อสร้างอาคารศาลฎีกาขึ้นแทนอาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาออกแบบอาคารของกระทรวงและศาลยุติธรรม

น.อ.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น และคณะกรรมการ เห็นชอบให้หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์เป็นตัวแทนดูแบบอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมหลายประเทศและได้ข้อสรุปแบบอาคารศาลสูงสมาพันธรัฐสวิสเป็นต้นแบบ

ปัจจุบัน อาคารศาลฎีกาเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เมื่อศาลฎีกาตัดสินใจรื้อถอนอาคารที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองทิ้ง และสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นแทนที่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2561