“วังนันทอุทยาน” วังที่ประทับของพระราชโอรส-ธิดา ในรัชกาลที่ 4 หลังพระองค์สวรรคต

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 ฉายร่วมกับพระราชโอรสและพระราชธิดา

พระราชวังนันทอุทยาน เป็นพระราชวังที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรสและพระราชธิดาหากพระองค์สวรรคตไปแล้ว โดยทรงคาดการณ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์สืบต่อ จะต้องเสด็จมาประทับที่พระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) หากพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์จะประทับอยู่ในวังหลวงต่อไปก็จะเป็นการกีดขวาง จึงตั้งพระราชหฤทัยสร้างพระราชวังนันทอุทยานไว้ด้วยเหตุนี้

ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “…การที่พระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เป็นหัวต่อข้อสำคัญในเรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ ด้วยก่อนนั้นมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในฐานะเป็นรัชทายาท พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเตรียมการไว้อย่างนั้น

Advertisement

เช่นโปรดให้สร้างพระราชวังนันทอุทยาน ก็ด้วยทรงพระราชปรารภว่า เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงครองราชสมบัติ ถ้าพระราชโอรสธิดาของพระองค์คงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังบางทีจะกีดขวาง จึงทรงกะให้สร้างตึกเป็นพระที่นั่งหมู่หนึ่งในนันทอุทยาน หมายจะพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [หมายถึงรัชกาลที่ 5] กับสมเด็จพระกนิษฐาด้วยกันต่อไป และโปรดให้สร้างตำหนักฝ่ายในอีกหลายหมู่ หมู่หนึ่งหมายจะพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอในเจ้าจอมมารดาคนหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

การสวรรคตของพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนฐานะของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอยู่ในที่รัชทายาท ด้วยเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เพราะฉะนั้นบรรดาการที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริเตรียมไว้แต่เดิม ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นหมด…”

พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 (จากซ้ายไปขวา) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา, พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, พระองค์เจ้าอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (ภาพจากประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

โดยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนทางตอนเหนือของคลองมอญ ฝั่งธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติเป็นแม่กองก่อสร้างพระราชวังนันทอุทยาน เมื่อ พ.ศ. 2400 สร้างพระตำหนักที่ประทับและตำหนักข้างฝ่ายในหลายหมู่ และมีการขุดคลองต่อจากคลองมอญเข้าไปจนถึงพระตำหนักที่ประทับ

ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติถึงแก่พิราลัย รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นแม่กองก่อสร้างมาจนถึง พ.ศ. 2408

ใน พ.ศ. 2408 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต แผนการสร้างพระราชวังนันทอุทยานตามที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้จึงเป็นอันต้องเปลี่ยนไปและยุติการก่อสร้าง ประกอบกับพระราชโอรสเจริญพระชนมายุขึ้นหลายพระองค์ และมีความจำเป็นที่ต้องสร้างวังสำหรับใช้เป็นที่ประทับนอกวังหลวง ด้วยเหตุเหล่านี้ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักฝ่ายในที่พระราชวังนันทอุทยานมาสร้างพระตำหนักพระราชทานแก่พระราชโอรส

เช่น วังของกรมหลวงพิชิตปรีชากร, วังของกรมหลวงภูธเรศดำรงศักดิ์, วังของกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์, วังของกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร และวังของกรมขุนศิริธัชสังกาศ เป็นต้น ส่วนพระตำหนักที่ประทับและพื้นที่โดยรอบพระราชวังนันทอุทยานนั้น รัชกาลที่ 4 พระราชทานแก่รัชกาลที่ 5 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์พระราชทานพระตำหนักในพระราชวังนันทอุทยานให้เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ครั้นย้ายโรงเรียนมาตั้งที่โรงเรียนสุนันทาลัย หรือโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานที่พระราชวังนันทอุทยานให้ใช้ในราชการทหารเรือนับแต่นั้นมา ปัจจุบันเป็นที่ทำการส่วนหนึ่งของกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

 


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2555). พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

เรื่องตำนานสถานที่และวัตถุต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างนับเปนประชุมพงศาวดารภาคที่ 25. (2468), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป โปรดให้พิมพ์ในงานฉลองพระชันษา เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2468, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2564