ฮวาง จิน-ยี นางบำเรอที่แม่โดนชนชั้นสูงบีบให้ทำแท้ง นิยายอิงประวัติศาสตร์กับปมศักดินา

หญิงบำเรอ ฮวาง จิน-ยี
หญิง kisaeng หรือ "หญิงบำเรอ" ยุคโชซอน ราว 1910 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เรื่องราวของ ฮวาง จิน-ยี นางบำเรอที่แม่โดนชนชั้นสูงบีบให้ทำแท้ง นิยายอิงประวัติศาสตร์กับปมศักดินา

สังคมชนชั้นเป็นสังคมมนุษย์ก่อนยุคทุนนิยมที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของแต่ละชนชั้นที่แตกต่างกัน เมื่อบางชนชั้นมีฐานะนำเหนือบางชนชั้น ความรักก็ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นั้น นั่นคือ ความรักต่างชนชั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครอง หากมีการฝ่าฝืนสังคมก็จะลงโทษอย่างเฉียบขาด โทษดังกล่าวคือ คนในชนชั้นที่สูงกว่าต้องสูญเสียฐานะของตนเองและทรัพย์สินทั้งหมดที่มี บางสังคมลงโทษอย่างรุนแรง คือ การทุบตี ทำร้าย หรือขว้างปาจนผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิต หรือจุดไฟเผาร่างทั้งเป็น ฯลฯ

แน่นอน สังคมยุคทุนนิยมก็มีชนชั้น แต่เนื่องจากสังคมเช่นนี้เน้นการลงทุนและแสวงหากำไร กฎเกณฑ์ต่างๆ จึงถูกเสรีภาพและลัทธิบริโภคนิยมปลดปล่อยกฎเกณฑ์ต่างๆ สู่เสรี เพื่อรับใช้เป้าหมายของตนเอง คือ การแสวงหากำไร ภายใต้ระบบการแข่งขันที่นับวันรุนแรง

ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ 3 เรื่องที่โด่งดังของเกาหลีใต้ คือ เรื่อง ฮวาง จิน-ยี (Hwang Jin-yi, 2549) อิล จิ-เม (Il Ji-mae, 2551) และคนล่าทาส (The Slave Hunters, 2553) เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวหลายคนในภาพยนตร์ 3 เรื่องนี้นับว่าสะท้อนปัญหาอันเกิดจากความรักต่างชนชั้นในสังคมอดีตอย่างชัดเจน และยังชี้ให้เห็นความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดตามมา

ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องเกิดขึ้นในสังคมศักดินาของเกาหลี (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-19 ราชวงศ์โชซอนปกครองเกาหลี กรกฎาคม ค.ศ. 1392-ตุลาคม ค.ศ. 1897)

ฮวาง จิน-ยีเป็นชื่อนางคณิกา (เกาหลีเรียกว่า กีแซง-Gisaeng) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติ นอกจากเป็นคนงามเลิศ ฮวาง จิน-ยีได้ชื่อว่าเป็นคนเฉลียวฉลาด มีวาทศิลป์ แต่งกาพย์โคลงได้ไพเราะ เล่นดนตรีเก่ง และร่ายรำได้อย่างวิเศษ เธอจึงเป็นกีแซงหมายเลข 1 และเป็นที่หมายปองอย่างมากของขุนนางและคหบดีทั้งหลาย

จิน-ยีเกิดจากขุนนางชั้นสูงคนหนึ่งที่มาชอบพอกับนางคณิกาที่ชื่อ ฮยุน กึม (Hyun Geum) ครั้นฝ่ายหญิงท้อง หากแต่งงานกัน ฝ่ายชายสามารถเลี้ยงดูฝ่ายหญิงแบบลับๆได้ หรือหาญกล้าเป็นกบฏต่อชนชั้นของตน แต่ฝ่ายชายกลับเลือกวิธีส่งยาทำแท้งมาให้ฝ่ายหญิง เป็นการเอาตัวรอด

ฮยุน กึมเสียใจมาก เธอแอบไปคลอดลูกและเอาลูกสาวไปฝากไว้ที่วัด ให้พระที่นับถือเลี้ยงดู เหตุผลสำคัญคือเธอกลัวว่าหากไม่ย้ายลูกสาวไปที่อื่น ลูกสาวที่เติบโตขึ้นมาอาจจะเจริญรอยตามอาชีพของแม่ที่แสนจะต่ำต้อย ถูกรังเกียจเหยียดหยามมากแม้แต่พ่อของลูก

เมื่อจิน-ยี ลูกสาวอายุได้ 8 ขวบ วันหนึ่งก็ได้เห็นนางคณิกาแต่งกายงดงามร้องเพลง-เต้นระบำในตลาด จิน-ยีหลงรักดนตรีและการร่ายรำทันที จึงได้ดั้นด้นมาขอฝึกเรียนในสำนักที่แม่ของเธอสังกัด ไม่ว่าแม่จะคัดค้านเพียงใด เจ้าสำนักก็รับไว้เพราะเห็นเด็กที่มีแววมุ่งมั่นและมากความสามารถ

เมื่อโตเป็นสาว จิน-ยีเป็นศิษย์โดดเด่นของสำนัก เธอมีคนรักเป็นลูกขุนนางคนหนึ่ง และเธอก็ได้รู้ว่าการได้เรียนกาพย์กลอน-ดนตรี-ระบำนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และเหตุใดแม่ของเธอจึงคัดค้านเธอมิให้เข้ามาเล่าเรียนในสำนัก เพราะอีกไม่นานก็ถึงวาระเปิดการแสดงของศิษย์วัยรุ่น ซึ่งก็คือการเปิดตัวของสาวงามคณิการุ่นใหม่ เพื่อให้เหล่าขุนนางมาชมการแสดงและรับตัวไปเป็นนางบำเรอนั่นเอง

จิน-ยีต่อต้านงานดังกล่าวอย่างสุดฤทธิ์ เธอรักในการเรียนบทกวี-ดนตรีและการร่ายรำ แต่เธอไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องไปบำเรอชายใด เธอต่อต้านอำนาจศักดินาที่กดขี่ข่มเหงหญิงสาวและปิดกั้นความรักเสรีของหนุ่มสาว หนุ่มลูกขุนนาง-คู่รักของเธอก็เ¬ช่นกัน เขาต่อต้านงานเปิดตัวคณิกา เพราะรู้ดีว่าเขาคงจะต้องสูญเสียคนรักไป

ขุนนางแห่มาชมการแสดงของเหล่าคณิกาวัยรุ่นเพื่อเสาะหา “ของเล่น” นอกสมรส จิน-ยีถูกคัดเลือกโดยพ่อของคนรักของเธอ ท่ามกลางการคัดค้านอย่างแข็งขันจากทั้งจิน-ยีและชายคนรัก ทั้งสองหนีไปซ่อนตัวในป่าหลายคืน ฝ่ายชายถูกทางบ้านตามไปจับตัวแล้วนำไปขังไว้ และเพราะการเลี้ยงดูแบบคุณชายตลอดมา ชายหนุ่มของเราจึงล้มป่วยด้วยโรคปอดบวมและเสียชีวิตในที่สุด

จิน-ยีหัวใจสลาย เธอใช้ชีวิตในสำนักคณิกาอย่างบอบช้ำ สาบานกับตัวเองว่าจะไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมใดๆ ยิ่งเมื่อได้รู้ภายหลังว่าเจ้าสำนักของเธอมีบทบาทสำคัญในการที่ขุนนางผู้พ่อคัดเลือกเธอ เพื่อขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคนรัก และยังร่วมมือกับขุนนางผู้พ่อจับกุมและทำลายคนรักของเธอ (ตามวิสัยของเจ้าสำนักคณิกาที่ต้องอยู่ใต้อิทธิพลของขุนนางและปรารถนาการคุ้มครองจากผู้มีอำนาจ) จิน-ยีจึงต้องเผชิญศึกหลายด้าน ทั้งหัวหน้าสำนักคณิกาและคณิกาที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเธอ ตลอดจนบรรดาขุนนางที่แวะเวียนกันมา หวังจะได้ครอบครองตัวเธอ

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น คณิกาวัยรุ่น-เพื่อนรักของเธอคนหนึ่งก็ผูกคอตาย เพราะคนรักซึ่งเป็นทาสทำงานในสำนักคณิกาเดียวกันไม่อาจหาเงินได้พอเพื่อที่จะไถ่ตัวเธอให้เป็นไท และจะได้ออกไปครองรักร่วมกัน และได้เวลาที่เธอจะต้องไปมอบกายให้ขุนนางหลังจากเธอถูกคัดตัวไปในระหว่างการแสดง

แน่นอน คณิกาส่วนใหญ่ตื่นเต้นที่จะได้ออกงานแสดงเปิดตัว เพราะนั่นหมายถึงการได้พบขุนนางชั้นสูง และหากโชคดีได้รับความเอ็นดูเป็นพิเศษ เธอก็จะได้รับรางวัลอย่างงาม เช่น บ้าน เครื่องเรือนและเสื้อผ้าอาภรณ์ชั้นดี เงินทอง-เพชรนิลจินดา ฯลฯ ยกฐานะขึ้นเป็นคณิกาชั้นสูง มีเงินสามารถจ้างคนดูแลรับใช้ประจำตัว คณิกาเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบที่ดีของระบบดังกล่าว และย่อมชิงชังคณิกากบฏ

จิน-ยีล้มเหลวในด้านความรัก แต่เธอก็ทำได้เพียงเป็นกบฏต่อคำสั่งและอิทธิพลของเหล่าขุนนาง ครั้นเมื่อสำนักคณิกาต่างๆ ต้องแข่งขันกันเพื่อรับใช้งานศิลปะของวัง เธอก็ต้องสู้กับสำนักคณิกาอื่นๆ ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการแข่งขันกันแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง เธอออกไปพบกับศิลปินนอกวังและชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อศึกษาดนตรีและท่วงท่าการร่ายรำในแต่ละท้องถิ่น

ผลก็คือ การเรียนรู้และนำเสนอท่าร่ายรำใหม่ๆ จากนอกวัง ที่ต่อมากลายเป็นแบบของสำนักคณิกาต่างๆ และของวังหลวง นั่นคือการยกระดับขึ้นเป็นศิลปะการร่ายรำระดับชาติในเวลาต่อมา…

บทวิเคราะห์

พิจารณาจากช่วงเวลาที่ทั้ง 3 เรื่องถ่ายทำและนำเสนอ (พ.ศ. 2549, 2551, 2553) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับสังคมศักดินาและความรักในยุคดังกล่าว ทวีความเข้มข้น การถกเถียงเรื่องกำแพงชนชั้นรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับราวกับตั้งใจ และจงใจให้เนื้อหาแตกต่างกันก็จริง แต่รุนแรงทางอารมณ์หนักหน่วงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็บีบหัวใจผู้ชมแรงขึ้นๆ รักต่างชนชั้นในสังคมศักดินานั้นช่างเต็มไปด้วยเคราะห์กรรมและจบลงอย่างโหดร้ายยิ่งนัก

จากความเจ็บปวดของฮวาง จิน-ยีที่ถูกกีดกันให้รักกับลูกขุนนาง ทำให้เธอกล้าต่อต้านขุนนางที่กดขี่ชนชั้นล่างมาเป็นอิล จิ-เม ที่เป็นผลผลิตของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันภายในราชวงศ์และขุนนาง และที่สุด อยี เด-กิล ที่สูญเสียคนรักและครอบครัวเพราะรักต่างชนชั้น

ตัวละครสำคัญๆ ใน 3 เรื่องนี้ไม่มีใครสมหวังในด้านความรักสักคน ก็เพราะรักนั้นเป็นรักต่างชนชั้น แม่และฮวาง จิน-ยี “บังอาจ” ไปรักขุนนางและลูกขุนนาง เพื่อนสาวของเธอต้องฆ่าตัวตายเพราะไม่ยอมตกเป็นนางบำเรอของขุนนาง อิล จิ-เมสูญเสียฐานะลูกขุนนาง กลายเป็นสามัญชน อิล จิ-เมกับพยอน อึน-แจ รักกันแต่ก็ต้องจากกัน ขุนนางอยี วอน-โฮก็ต้องสูญเสียเมียทาสและลูกชาย อยี เด-กิลสูญเสียทั้งพ่อ-แม่และคนรักที่เป็นทาส เขาสู้ตามหาอุน-นึม คนรักนานถึง 10 ปี เพื่อพบกัน สุดท้ายเขาก็ทำได้เพียงยืนมองพิธีมงคลสมรสของเธอกับชายอื่น และกระทั่งช่วยปกป้องสามีของคนที่เขารักด้วยชีวิตของตัวเขาเอง…

ข้อที่สอง แต่ไม่ว่าพวกเขาจะแปรความเจ็บช้ำไปเป็นพลังที่จะต่อสู้อย่างไร มากแค่ไหน การลุกขึ้นของปัจเจกชน เช่นบุคคลทั้งสาม รวมทั้งเพื่อนฝูงจำนวนหนึ่ง ในที่สุดก็เผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างกันนัก ฮวาง จิน-ยีทำได้เพียงปฏิเสธขุนนางมากตัณหา และทุ่มเทกำลังไปออกสำรวจและรวบรวมท่าร่ายรำและดนตรีอันหลากหลายในแต่ละท้องถิ่น กระทั่งผสมผสานและออกแบบใหม่ได้รับการยอมรับและพัฒนาจนกลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ อิล จิ-เมเป็นความหวังของคนจนจำนวนมาก

สุดท้ายเมื่อใช้ดาบเพื่อสร้างสันติภาพไม่ฆ่าคนตามคำพ่อสอน แล้วกษัตริย์ที่กลัวตายก็ยอมเพียงไปขอขมาที่ลานตายพ่อของเขา ส่วนคำสัญญาที่จะลาออกจากตำแหน่งกษัตริย์ ก็ลืมมันเสีย สนใจอะไรกับสัญญากับพวกไพร่ เช่นกันกับอยี เด-กิลที่ต้องจบชีวิตลงเพื่อให้คนรักมีความสุข รัชทายาทคงจะได้รับการสถาปนาในที่สุด แต่ทั้งหมดนี้ ก็ไม่อาจทำลายขนบประเพณีใดๆ ของระบบศักดินาลงได้เลย

ข้อที่สาม แม้สังคมศักดินาจะพูดถึงสังคมขุนนางที่ใช้อภิสิทธิ์และกดขี่ข่มเหงชนชั้นที่ต่ำกว่า แต่ตัวละครที่นำเสนอมักเป็นคนที่กล้าหาญ รักความเป็นธรรม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยึดมั่นในรักเดียว ไม่โลเล ไม่หลอกใคร และยอมตนเป็นผู้เสียสละ และเมื่อนำเสนอภาพของสตรีก็เช่นกัน เธอคือยอดหญิงที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม รักคนที่ต่อสู้เพื่อส่วนรวม รักความยุติธรรม เกลียดความไม่เท่าเทียมกัน และรักใครก็รักจริง สามารถนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในทุกๆ สังคม ไม่ว่าที่ไหน นี่คือคุณธรรมของนักสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่

ข้อที่สี่ การต่อสู้ของชนชั้นล่างในสังคมศักดินาเพื่อต่อต้านความอยุติธรรม ลงท้ายก็ยังคงมีระบบสังคมแบบเดิมต่อไป ทิ้งไว้เพียงตำนานความกล้าหาญของคนจำนวนหนึ่ง ก็เพราะกำลังต่อสู้อันน้อยนิด และไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าหากได้รับชัยชนะ จะเปลี่ยนระบบอย่างไร แต่นั่นก็คือเชื้อไฟแห่งการต่อสู้ ที่ไหนมีความอยุติธรรม เชื้อไฟนั้นก็ยังคงอยู่

การต่อสู้ของชาวนาอำเภอสันทราย-ดอยสะเก็ด นำโดยพญาผาบที่เชียงใหม่ในระหว่าง พ.ศ. 2432-33 (บางแห่งเรียกว่ากบฏเชียงใหม่ – The Chiang Mai Rebellion) การต่อสู้ของ วิลเลียม วอลลัส (William Wallace ค.ศ. 1297) และ Rob Roy McGregor (ค.ศ. 1713) ที่สก๊อตแลนด์ และกบฏชาวนาในจีนนับ 10 ครั้ง (เช่น ค.ศ. 1620, 1672, 1796, 1851) หากไม่ต่อต้านการเก็บภาษีอย่างหนัก ก็เป็นการต่อต้านการเกณฑ์แรงงาน หรือการเอาเปรียบของเจ้าที่ดินบางคน อนึ่ง แม้จะมีการลุกขึ้นก่อกบฏของชาวนาเป็นจำนวนมากและตั้งเป้าหมายเพื่อล้มผู้นำของรัฐศักดินา แต่หลังได้ชัยชนะ สุดท้ายระบอบเก่าก็ยังคงอยู่ ผู้นำการก่อกบฏก็กลายเป็นกษัตริย์องค์ใหม่

ที่เป็นเช่นนั้น ก็เนื่องจากพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมยังพัฒนาไปไม่มากพอที่จะเข้าแทนที่ระบบการเกณฑ์แรงงานในท้องนาและชุมชนได้ เราจะพบว่ากว่าที่ระบบศักดินาจะล่มสลาย ก็ต้องรอจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปลายศตวรรษที่ 18) เกิดการสร้างโรงงานผลิตสินค้าด้วยเครื่องจักรและใช้เครื่องจักรทำนา ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบเจ้าที่ดินกับบ่าวไพร่จึงเปลี่ยนไปเป็นนายทุนและกรรมกร สังคมมีการค้าขายและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อนั้นระบบศักดินาจึงถูกล้มล้าง

บทเรียนของการปฏิวัติอเมริกัน (ค.ศ. 1776-89) พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนมาก ชาวยุโรปที่แสวงหาเสรีภาพในการนับถือศาสนาและต้องการเสรีภาพในด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและรูปแบบการดำเนินชีวิต หลบหนีการปราบปรามและจับกุมมาสร้างสังคมใหม่บนแผ่นดินใหม่ รัฐบาลอังกฤษยังตามมาจัดตั้งอาณานิคม คนยุโรปอีกนับแสนทยอยตามมาแสวงหาชีวิตใหม่ในโลกใหม่ อุดมการณ์ร่วมก็คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การดำเนินชีวิตอย่างเสรีและการปกครองท้องถิ่นด้วยคนท้องถิ่นเอง (Local Self-Rule) ครั้นถึงทศวรรษ 1770 รัฐบาลอังกฤษก็ยังมาตามกดขี่ข่มเห่งพวกเขา 13 อาณานิคมจึงผนึกกำลังกัน ประกาศอิสรภาพ ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจของอังกฤษ

เสรีชนบนแผ่นดินใหม่ต่อสู้อย่างกล้าหาญท้าทายระบบกษัตริย์ของอังกฤษ เมื่อได้ชัยชนะ ก็ร่วมกันแสวงหาระบบการปกครองแบบใหม่ที่ 1. สภานิติบัญญัติและผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีวาระการทำงานที่แน่นอน 2. ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ตัวแทนของประชาชนจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและออกคำสั่งควบคุมกองทัพและระบบราชการทั้งหมด 3. มีระบบถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่ายตุลาการถูกแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร และต้องได้รับการรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติ 4. มีการสถาปนาสาธารณรัฐสมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก และ 5. แต่ละรัฐและท้องถิ่นมีระบบการปกครองตนเองที่เข้มแข็ง ไม่ใช่รัฐรวมศูนย์อำนาจทุกอย่างไว้ที่เมืองหลวง

พลังของเสรีชนในอเมริกา ความรู้จากการศึกษาเห็นข้อบกพร่องของระบบอำนาจนิยมในยุโรป และการเติบโตของฝ่ายทุนนิยมไม่อนุญาตให้ จอร์จ วอชิงตัน สถาปนาระบบกษัตริย์หรือแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิขึ้นได้ ประชาชนต้องการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของชาติ ชาติไม่ใช่สมบัติของคนเพียงไม่กี่คน ผู้นำเพียงไม่กี่คนไม่อาจบริหารประเทศไปในทิศทางไหนก็ได้ตามอำเภอใจ การบริหารของผู้นำจะต้องได้รับการตรวจสอบ การบริหารงานต้องมีวาระ ไม่ใช่คิดอยากจะอยู่ต่อไป ก็พูดตามอำเภอใจของคนไม่กี่คน เพราะประชาชนต่างหากคือเจ้าของประเทศ นั่นคือสหรัฐเมื่อ 240 ปีที่แล้ว

ข้อสุดท้าย น่าสังเกตว่าในสังคมเกาหลีที่ขจัดระบบศักดินาออกไปอย่างสิ้นเชิงนานแล้ว การนำเสนอตัวละครทำได้อย่างเต็มที่และมีพลังเร้าใจมาก มีการนำเสนอจุดแข็งจุดอ่อนของตัวละครทุกชนชั้น ผิดกับบางสังคมที่ยังคงติดอยู่ในกรอบเดิมๆ วัฒนธรรมศักดินายังไม่หมดไป ทัศนะต่อระบบการปกครองและการดำเนินชีวิตจึงเต็มไปด้วยอคติและผลประโยชน์ทางชนชั้นของตนเอง และด้วยเหตุนั้น ความไม่เท่าเทียมกัน ลักษณะสองมาตรฐาน การเหยียดหยามดูถูกดูหมิ่นคนส่วนใหญ่ การใช้อำนาจเถื่อน และความอยุติธรรมจึงมีปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง

การเสนอจุดแข็งจุดอ่อนเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังควรเรียนรู้อย่างรอบด้านและเก็บรับเป็นบทเรียน การเสนอความรู้เกี่ยวกับอดีตจึงไม่ควรมีขีดจำกัดใดๆ หรือมีการบิดเบือนเพื่อรับใช้อำนาจเก่าที่ยังเหลือตกค้าง

ในแง่นี้ ละคร งานเขียนและภาพยนตร์ประวัติศาสตร์แบบเกาหลีหรือจีน-ญี่ปุ่นจึงมีแง่มุมที่หลากหลาย ให้ทั้งสาระและบันเทิง เป็นการให้การศึกษาที่มีพลัง ผิดกับระบบโรงเรียน-วิทยาลัยที่เน้นใบปริญญา แต่กลับกักขังผู้เรียนให้อยู่ในกรอบ คิดไม่เป็น ไม่สนใจศึกษาค้นคว้า ดีแต่เจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทองไปวันๆ และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การเปิดเผยเรื่องที่มีทั้งบวกและลบนั้นได้กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีคุณค่าทั้งการศึกษาและเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลทุกๆ ปี

ไม่ต้องแปลกใจที่เหตุใด เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนยืนขึ้นอย่างโดดเด่นในเวทีโลก และก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้คนของเขายืนตรง ผึ่งผาย ไม่ก้มหัวให้ใคร กล้าคิด กล้าสร้างสรรค์ และทำงานหนัก แค่ได้เห็นกายกรรม กีฬา การเรียนภาษาไทย ระบบขนส่งมวลชน รถยนต์ และสินค้าต่างๆ ที่พวกเขาผลิตและส่งออก ก็รู้ว่าสังคมของเขาเป็นแบบไหน

ผิดกับสังคมที่ยังไม่หลุดพ้น ที่ยังคงฝัน – ฝันว่าตัวเองนั้นมีของดีๆ ที่งดงามยิ่งใหญ่ หลงหรือหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าใครๆ ก็รักและชื่นชม (อันเป็นเพียงมารยาทของคนในสังคมหรือกลวิธีทางการทูต) ผลิตนิยาย-ละคร-ภาพยนตร์ออกมาแต่ละเรื่อง ที่หาประโยชน์ได้น้อย มีแต่เรื่องมอมเมา สยบยอมอยู่กับอดีต และไม่อาจสร้างประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่และประเทศในระยะยาว (ยังไม่ต้องเอ่ยถึงกีฬา หรือรถไฟ รถยนต์ หรือสินค้าอื่นใดเลย) ทั้งๆ ที่อย่างน้อยตัวเองควรจะเป็นที่หนึ่งในระดับภูมิภาคมาตั้งนานแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “รักในสังคมศักดินา” เขียนโดย ธเนศวร์ เจริญเมือง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2564