ชะตากรรมผู้หญิงยามสงคราม แม่ชียุคกลางเฉือนอวัยวะตัวเอง เลี่ยงโดนไวกิ้งล่วงละเมิด

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาด การศึก Battle of Crécy ระหว่างอังกฤษ กับ ฝรั่งเศส เมื่อ 1346 ช่วงสงครามร้อยปี โดย Jean Froissart คาดว่าวาดสมัยศตวรรษที่ 15 (ไฟล์ public domain)

สำรวจชะตากรรมของ ผู้หญิง เมื่อยามศึกสงครามในยุโรปยุคกลาง ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ชี้ว่า แม่ชียุคกลางถึงกับเฉือนอวัยวะตัวเองเพื่อเลี่ยงโดนไวกิ้งล่วงละเมิด

สงครามและการสู้รบปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษย์ตั้งแต่โบราณกาล แม้ชัยชนะของสงครามในอดีตจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่าง ๆ คงปฏิเสธได้ยากว่า ท่ามกลางชัยชนะนั้น ภาพเบื้องหลังคือความสูญเสีย ความเจ็บปวดที่เกิดกับสามัญชนซึ่งได้รับผลกระทบไปด้วย ข้อมูลในแง่มุมนี้ก็มาพร้อมกับคำถามที่น่าสนใจว่า ยามเกิดศึกสงครามขึ้น บทบาทและตำแหน่งแห่งหนของผู้หญิงเป็นอย่างไรบ้าง

Advertisement

ในศตวรรษที่ 20-21 มีรายงานข่าวขุดค้นพบโครงกระดูกสตรีในหลุมศพที่เชื่อว่าเป็น “ที่ฝังร่างนักรบ” ในบริเทนเกิดขึ้นคล้ายกันหลายกรณี หากตีความว่าการค้นพบร่างสตรีในหลุมฝังศพนักรบจะบ่งชี้ว่า มีสตรีเป็นนักรบในดินแดนบริเทนจริง แต่อีกด้านคงต้องยอมรับเช่นกันว่า บทบาทหรือชะตากรรมของสตรีที่ไม่ได้ร่วมสู้รบในสงครามยังควรได้รับน้ำหนักไม่แพ้กัน

เอกสารบันทึกที่พูดถึงสงครามในอดีตมักเอ่ยถึงการรบและวีรกรรมต่าง ๆ ของชนชั้นปกครองมากกว่าจะเอ่ยถึงผลกระทบและบทบาทของผู้คนทั่วไป เอลลอรา เบนเน็ตต์ (Ellora Bennett) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุคกลางผู้เขียนบทความ Women at War ยกตัวอย่างบันทึกที่เรียกกันว่า Anglo-Saxon Chronicle เอกสารเชิงบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ของยุคแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) เนื้อหาในบันทึกส่วนหนึ่งเอ่ยถึงการรบและวีรกรรมของเหล่ากษัตริย์ในอดีต ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อครั้งกษัตริย์เอ็ดวิน (King Edwin) แห่งนอร์ทัมเบรีย (Northumbria) เดินทัพไปที่เวสเซ็กซ์ในปี ค.ศ. 626 (Wessex) “มีผู้คนมากมายถูกสังหาร” แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้ถูกพูดถึงในบันทึกของพระชาวอังกฤษนามว่า Bede

ในอีกด้านหนึ่ง Bede กลับอธิบายอย่างละเอียดถึงความเหี้ยมโหดของกษัตริย์บริติชพระนามว่า Cadwallon ที่ต่อต้านนอร์ทัมเบรีย และเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์แห่งเมอร์เซียที่ถูกมองว่าเป็นพวกนอกศาสนา ความโหดร้ายและภูมิหลังเรื่องลักษณะของ Cadwallon ซึ่งไม่ได้มีความเป็น “คริสเตียน” ทำให้เด็กและผู้หญิงต้องสังเวยชีวิตเมื่อ Cadwallon รุกรานเข้ามาในนอร์ทัมเบรีย

ในความเห็นของ เอลลอรา เบนเน็ตต์ ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ยุคกลาง กษัตริย์เอ็ดวิน แห่งนอร์ทัมเบรียก็กระทำ “ความโหดร้าย” ลักษณะเดียวกันเมื่อเดินทัพออกไปดินแดนอื่น ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนว่า ผลกระทบจากสงครามอันนำมาซึ่งความตายของสตรีเพศและผู้ที่ไม่สามารถสู้รบได้มักถูกบรรยายถึงเมื่อผลเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของศัตรู แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามมักถูกมองเป็นผลลัพธ์ของสงครามอันหลีกเลี่ยงไม่ได้

เอลลอรา เบนเน็ตต์ บรรยายต่อไปว่า ในยามศึกสงคราม สตรีที่มีทรัพย์สมบัติและมีศักยภาพในการเคลื่อนที่ออกเดินทางไปมาได้จะเป็นกลุ่มที่สามารถปกป้องตัวเองและผู้ติดตามในสังกัดให้รอดพ้นภัยอันตรายได้ ส่วนสตรีที่ไม่มีทรัพย์สมบัติหรือชนชั้นอื่นรองลงมาตามลำดับมักต้องไปหาที่หลบภัยตามศาสนสถานเมื่อที่พักของพวกเธอเสี่ยงจะรับผลพวงจากสงคราม

อย่างไรก็ตาม สตรีที่เป็นนักบวชกลับเป็นเป้าหมายของทหารนักรบเพื่อบั่นทอนและทำลายอาณาจักรของศัตรูด้วยการทำร้ายสมาชิกในสังคมของฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ การก่อความรุนแรงทางเพศต่อผู้คนในดินแดนฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลพวงจากสงคราม แต่บางครั้งก็เป็น “นโยบาย” เสียด้วยซ้ำ

เอลลอรา เบนเน็ตต์ อธิบายว่า บรรดานักรบในอดีต เหล่าไวกิ้ง (Viking) คือกลุ่มนักรบที่ขึ้นชื่อเรื่อง “นักรบนักย่ำยี” และมีเป้าหมายไปที่แม่ชี แม่ชีแห่ง Coldingham ในนอร์ทัมเบรีย ถึงกับจำใจยอมตัดริมฝีปากและจมูกของตัวเองเพื่อลดความดึงดูดจากเหล่านักรบที่จะเข้ามาจู่โจม เรียกได้ว่าสะท้อนความสิ้นหวัง ความโหดร้าย และภัยคุกคามอันน่าหวาดหวั่นที่เพศหญิงจะต้องพบเจอในยามศึกสงคราม

ไม่เพียงแค่เรื่องถูกล่วงละเมิดทางเพศ สตรีมักตกเป็นเป้าของการนำไปเป็นทาส ช่วงยุคกลางในบริเทน (Britain) การค้าทาสทั้งภายในดินแดนและส่งออกไปดินแดนอื่นถือเป็นกิจกรรมสำคัญ ทาสยังเป็นผลประโยชน์สำคัญที่แต่ละฝ่ายจะได้จากสงครามอีกด้วย นอกเหนือจากแง่มุมด้านแรงงานและกำลังคนแล้ว เพศหญิงถือเป็นสัญลักษณ์ของรางวัลจากการช่วงชิงและสื่อถึงการทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของฝ่ายตรงข้าม


อ้างอิง:

Bennett, Ellora. “Women at War”. History Today. Online. Published 10 OCT 2021. Access 20 OCT 2021. <https://www.historytoday.com/archive/history-matters/women-war>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2564