ฝรั่งเศสท้าทายสิทธิเหนือเขมรของสยาม เพราะผลประโยชน์ทับซ้อน

พิธีบรมราชาภิเษก พระนโรดม ณ เมืองอุดงมีชัย ขุนนางฝรั่งเศสในฐานะองค์ประธานในพิธีกำลังรดน้ำมนต์จากมหาสังข์ให้พระนโรดม-ภาพจาก L'ILLUSTRATION, 20 August 1864 (ภาพสะสมของคุณไกรฤกษ์ นานา)

ความผูกพันระหว่างสยามและเขมรยุคประวัติศาสตร์ปัจจุบัน เริ่มขึ้นเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งขึ้นใหม่ๆ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงอุปถัมภ์เจ้านายน้อยองค์หนึ่งจากเขมร ผู้มีพระนามว่านักองค์เอง ที่ขุนนางไทยพาหลบหนีการกบฏเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อเจริญวัยขึ้นเจ้านายองค์นี้ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัจจุบันในเขมรโดยราชสำนักไทย มีพระนามว่าสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ส่วนพระภคินีของพระนารายณ์ฯ คือ นักองค์อีและนักองค์เภา ก็ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในกรมราชวังบวรฯ อีกด้วย เขมรจึงมีสภาพเป็นประเทศราชของสยามนับแต่นั้น [1]

แม้นว่าเขมรจะตกอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของสยาม แต่เขมรก็มีสถานะพิเศษกว่าเมืองขึ้นทั่วไป ฝ่ายไทยปกครองเขมรด้วยระบบพ่อปกครองลูก ทั้งยังได้รับอุปการะเชื่อพระวงศ์เขมรทุกพระองค์ให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียมเท่าเชื้อพระวงศ์ไทย โดยให้เข้ามาอาศัยพักพิงและมีวังเป็นของตนเองอยู่ในกรุงเทพฯ ฉันญาติสนิท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงเคยยืนยันความรู้สึกนี้ไว้ในลายพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งถึงพระนโรดมความว่า

Advertisement

“ก็จะว่าในเจ้านายฝ่ายเขมรเคยพูดกันมากับข้าพเจ้าอย่างนักพระองค์สงวน นักพระองค์อิ่ม และองค์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีแต่อยู่ในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าก็นับถือท่านทั้งสามนั้นว่าเป็นเจ้าเหมือนกับตัว แลไว้ตัวข้าพเจ้าเหมือนเปนน้องของท่านทั้งสามนั้นตามอายุ ครั้นเมื่อเธอและพี่น้องของเธอเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าก็นับถือว่าเป็นเจ้าเหมือนตัว แลไว้ตัวเหมือนดังเป็นอาว์ของเธอ จึงใช้โวหารพูด ว่าข้าพเจ้าว่าเธอไม่ใช้ว่าท่านว่าฉัน อย่างพูดกับนักพระองค์สงวน นักพระองค์อิ่ม แลองค์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี โวหารที่ใช้อย่างนี้ก็เหมือนกันกับคำที่ข้าพเจ้าพูดกับเจ้านายพี่น้องของข้าพเจ้า” [2]

ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเจ้านายเขมรมีลักษณะเป็นเด็กที่เลี้ยงไม่โต เพราะไม่ค่อยอยู่ในโอวาท คราวใดที่กรุงเทพฯ อ่อนแอลง เขมรก็จะแปรพักตร์ทันที โดยมากก็มักจะแตกออกเป็น 2 กลุ่มๆ หนึ่งยังถือหางข้างไทย อีกกลุ่มหนึ่งก็จะหันไปฝักใฝ่ฝ่ายญวน ก่อนการปรากฏตัวของมือที่สามคือฝรั่งเศสดังที่จะกล่าวต่อไป

นักประวัติศาสตร์บางทีวิเคราะห์ว่า การที่พระเจ้าแผ่นดินไทยรับอุปการะราชกุมารเขมรไว้ในกรุงเทพฯ แต่เยาว์วัยก็เพื่อจะกักไว้เป็นตัวประกันมิให้พระเจ้าแผ่นดินเขมรคิดกระด้างกระเดื่อง และการที่ฝ่ายไทยถือสิทธิ์ในการเลือกสรรเจ้านายเขมร และสถาปนาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยการเก็บเครื่องบรมราชาภิเษกต่างๆ ไว้ที่กรุงเทพฯ ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าฝ่ายไทยจะเป็นผู้คัดเลือกเจ้านายเขมรที่เหมาะสมที่สุด และที่ไว้ใจได้เท่านั้นขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อเวลามาถึง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงเคยยืนยันความรู้สึกนี้ตามที่เคยได้ยินมา ถ่ายทอดให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฟังว่า…

“ได้ยิน (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) รับสั่งแต่เด็กๆ ว่าถ้าพระหริรักษ์ยังอยู่ตราบใดไว้ใจเมืองเขมรได้” [2]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้รับทราบความตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับเรื่องนี้ดีที่สุด เพราะทรงครองราชย์อยู่ในระยะคาบเกี่ยวขณะที่เขมรยังสวามิภักดิ์อยู่กับไทย จวบจนวาระที่พระนโรดมแยกตัวออกไปเป็นอิสระ ครั้งหนึ่งเมื่อ นายมงตีญี (M. Montigny) ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่เข้ามาเมืองไทยสมัยรัตนโกสินทร์ แสดงท่าทีว่าจะติดต่อทำสัญญาโดยตรงกับสมเด็จพระหริรักษ์ฯ กษัตริย์เขมร พระองค์ก็ทรงรีบส่งพระราชสาส์นไป “สั่งห้าม” มิให้สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ทำสัญญาใดๆ กับฝรั่งเศสทันที ความพยายามครั้งนั้นจึงต้องยุติลงอย่างได้ผล [1]

และเพื่อเป็นการพูดดักคอไว้ล่วงหน้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาส่งไปปรามนายมงตีญีให้รับรู้ถึงความเป็นเจ้าอธิราชของไทยเหนือเขมรว่า

“เราขอบอกท่านด้วยความเจ็บปวดยิ่งว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์อันไม่สมควรมากมาย หลายครั้งซึ่งกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยบรรดาผู้แทนของฝรั่งเศส เหตุการณ์ไม่สมควรดังกล่าว ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิมิได้ล่วงรู้หรืออย่างน้อยก็รู้น้อยมาก เราขอให้ท่านได้โปรดให้ความยุติธรรมต่อคำร้องขอของเรา และตัดสินใจในทางเอื้ออำนวยให้เราได้รักษา และครอบครองต่อไปอย่างสงบสุข ซึ่งบรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจของเรามาช้านานนับได้กว่าสี่รัชสมัยต่อกันมาแล้ว เป็นระยะเวลา 84 ปี” [3]

ต่อมาเมื่อพระนโรดมได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์เขมร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังทรงปกป้องทุกวิถีทางมิให้กษัตริย์เขมรองค์ใหม่หลวมตัวไปพึ่งพิงฝรั่งเศส อันเป็นการ “ดับไฟแต่ต้นลม” ดังพระพจนารถในศุภอักษรฉบับหนึ่งความว่า

“จงรักษาความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติอ่อนน้อมต่อกรุงเทพมหานคร โดยเยี่ยงอย่างการที่ปฏิพัทธ์ติดพันธ์มาแต่ครั้งองค์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ผู้พระบิดานั้นจงทุกประการ” [4]

………….

จุดอ่อนของไทยในสมัยนั้น อยู่ที่การไม่สามารถบังคับจิตใจเจ้านายเขมรทุกพระองค์ ให้จงรักภักดีต่อกรุงเทพมหานครได้ตลอดไป กล่าวคือ สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ทรงครองราชย์อยู่เพียง 3 ปี ก็เสด็จสวรรคต ทางกรุงเทพฯ จึงได้สถาปนาราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ใหม่ มีพระนามว่าสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช รัชกาลใหม่มิได้จงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ เสียแล้ว สมเด็จพระอุทัยฯ ทรงเอาพระทัยออกห่างไปเข้าเป็นไมตรีกับญวน และเชื้อเชิญญวนให้เข้ามามีอิทธิพลในเขมร โดยมีความหวังว่าญวนจะช่วยให้เขมรได้ดินแดนบางส่วนทางภาคตะวันตก (พระตะบองและเสียมราฐ) ซึ่งไทยครอบครองอยู่กลับมาเป็นของเขมร [1]

ในรัชกาลสมเด็จพระอุทัยฯ เขมรแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายเหนือมีนักองค์ด้วง พระอนุชาองค์รองของสมเด็จพระอุทัยฯ เป็นผู้ปกครองตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุดงมีชัยขึ้นกับฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายใต้ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพนมเปญนั้นปกครองโดยสมเด็จพระอุทัยฯ ขึ้นกับญวน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าจะต้องทำสงครามกับญวนเพื่อให้เขมรฝ่ายใต้คืนมา สงครามระหว่างไทยกับญวนในเขมรดำเนินไปเป็นเวลาถึง 14 ปี ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้ามินมางต่อเนื่องถึงพระเจ้าเทียวตรี แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะอย่างเด็ดขาด จนกระทั่ง พ.ศ. 2390 เมื่อพระเจ้าตือ ดึ๊ก เสวยราชย์แล้ว จึงได้มีการสงบศึกต่อกันบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงส่งทูตไปทำสัญญาสงบศึกที่เมืองเว้ในปีนั้น

หลังการสงบศึกแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกนักองค์ด้วงเป็นกษัตริย์เขมร มีพระนามว่า สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี และได้ส่งนักองค์ราชาวดี (ต่อมาก็คือพระนโรดม) กับนักองค์ศรีสวัสดิ์ ผู้เป็นพระโอรสมารับการอบรมศึกษาที่กรุงเทพฯ แต่เขมรยังต้องถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้าแผ่นดินทั้งไทยและญวน

ช่องโหว่จากการที่ (1) ครึ่งหนึ่งของดินแดนเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวน และ (2) การที่รัฐบาลไทยยอมรับว่าครึ่งหนึ่งของเขมรเป็นเขตอิทธิพลญวน โดยปล่อยให้กลุ่มเขมรแปรพักตร์ส่งส่วยเครื่องบรรณาการให้ทางญวน ญวนกลายเป็นหอกข้างแคร่และข้ออ้างชั้นดีของมือที่สามคือฝรั่งเศสยกขึ้นมาต่อรองสถานภาพอันเปราะบางของเขมรอย่างช่วยไม่ได้ [1]

ปี พ.ศ. 2406-2407 เป็นปีที่มีความสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสยาม กล่าวคือรัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก หลังจากที่ฝรั่งเศสยึดครองญวนใต้ (โคชินไชน่า) ได้ใน พ.ศ. 2402 รัฐบาลกรุงปารีสได้สั่งการให้กงสุลของตนประจำกรุงเทพฯ คือ ท่านกงต์ เดอ กาสเตลโน (Comte de Castelnau) เรียกร้องสิทธิโดยอ้างว่า บัดนี้ฝรั่งเศสยึดญวนใต้ได้แล้ว ก็ควรจะมีอำนาจที่จะสืบสิทธิของญวนเหนือดินแดนเขมรด้วย เพราะเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวน จึงเรียกร้องเสรีภาพที่จะทำสัญญากับเขมรโดยตรง

คำอ้างของฝรั่งเศสแท้จริงมิใช่แค่เหตุผลเพื่อผดุงความยุติธรรมเท่านั้น แต่ฝรั่งเศสยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับเมืองเขมรอย่างลับๆ อีกด้วย กล่าวคือ

1. เขมรเป็นดินแดนที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ฝรั่งเศสหวังใจว่าแม่น้ำโขงจะเป็นหนทางที่นำฝรั่งเศสไปสู่ประเทศจีนทางตอนใต้ โดยเฉพาะนำไปสู่ยูนนานอันอุดมสมบูรณ์

2. เขมรมีความสำคัญยิ่งในทางเศรษฐกิจ มีทะเลสาบขนาดใหญ่ เหมาะแก่การทำการประมงอันเป็นกิจกรรมใหญ่ตามชายฝั่งทะเลสาบ

3. ประเทศเขมรจะช่วยส่งเสริมให้ญวนใต้ซึ่งตกเป็นของฝรั่งเศสแล้ว มีฐานะมั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งยังมีทางออกสู่ทะเล เป็นชัยภูมิที่ดีเยี่ยมทางยุทธศาสตร์

4. เขมรเป็นศูนย์กลางของพืชพันธุ์ธัญญาหารที่มั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคนี้จึงเป็นแหล่งส่งเสบียงอาหารที่ดีสำหรับเลี้ยงทหารฝรั่งเศสในญวนใต้ไม่มีวันหมด

5. เพื่อแข่งขันกับอังกฤษ ซึ่งครอบครองอินเดียและพม่าทางตะวันตกของดินแดนสุวรรณภูมิ ฝรั่งเศสจึงจำเป็นต้องผนวกเวียดนามและเขมรทางฝั่งตะวันออกเพื่อคานอำนาจของอังกฤษ และมิให้หย่อนไปกว่าอังกฤษ การตั้งรับแบบไม่เป็นกระบวนของสยาม ทำให้ฝรั่งเศสมั่นใจยิ่งขึ้น จึงไม่แย่แสต่อความรู้สึกใดๆ ของฝ่ายไทย [3]

…………

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแสดงให้เห็นถึงสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของอธิราชของไทยเหนือประเทศเขมรอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และทุกครั้งที่มีโอกาสในการจ่าหน้าพระราชสาส์นทางราชการถึงสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส พระองค์ก็จะทรงเกริ่นนำด้วยประโยคที่ว่า

พระราชสาส์นในสมเด็จพระปรมเมนทรมหามงกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา เป็นใหญ่ในแผ่นดินสยาม และเมืองใกล้เคียงต่างๆ คือเมืองลาวเฉียง ลาวกาว กัมพูชา และเมืองมลายูประเทศ ขอคำนับมาเจริญทางพระราชไมตรี ฯลฯ

แต่ก็ดูเหมืนว่ามิได้ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสเกรงใจแม้แต่น้อย เพราะในวันที่ 11 สิงหาคม 2406 พลเรือตรี เดอ ลา กรองดิแยร์ (Admiral de la Grandière) ได้นำเรือรบไปจอดที่หน้าเมืองอุดงมีชัย และเกลี้ยกล่อมให้พระนโรดมลงพระนามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งกับฝรั่งเศส ซึ่งสำเร็จลงอย่างง่ายดาย แต่พระนโรดมก็ได้มีศุภอักษรเข้ามาถวายรายงานทันทีว่าจำใจต้องลงนามไปด้วยความจำใจ เพราะถูกฝรั่งเศสบังคับ

เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของไทยเหนือเขมร ฝ่ายไทยรีบทำสัญญาลับกับเขมรวันที่ 1 ธันวาคม 2406 เพื่อกดดันให้พระนโรดมยืนยันว่าเขมรยังเป็นประเทศราชของไทย และเพื่อผูกมัดเขมรไว้กับไทยต่อไป สัญญาฉบับนี้ก็มิได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดสงครามเย็นระหว่างไทยกับฝรั่งเสศอีกด้วย รัฐบาลกรุงปารีสได้ประท้วงและประกาศว่าสัญญาลับฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ รัฐบาลไทยซึ่งยังต้องการรักษามิตรภาพกับทางฝรั่งเศสจึงไม่มีทางอื่นที่จะโต้เถียงด้วยสาเหตุนี้ เพราะไทยมิได้อยู่ในสถานภาพเหนือกว่าแต่อย่างใด ไม่ว่าด้านกำลังพล ทั้งการทูตก็ยังอ่อนแอ จึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะรักษาอำนาจไว้โดยมีเขมรเป็นเดิมพัน [5]

อิทธิพลของไทยเหนือเขมรนับแต่นั้นแทบจะไม่มีเหลืออีกเลยโดยรูปธรรม

แต่โดยนามธรรมแล้วจะมีก็แต่สิทธิของไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลในการประกอบพิธีราชาภิเษกเท่านั้น ซึ่งถึงแม้จะเป็นกรรมวิธีทาง “สัญลักษณ์” ก็ตาม แต่โดยกฎมณเฑียรบาลและจารีตของราชสำนักแล้วถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อจิตวิญญาณของกษัตริย์องค์ใหม่ โดยครรลองแล้วพระนโรดมจะต้องเดินทางมาประกอบพิธีนี้ในกรุงเทพฯ ตามโบราณราชประเพณี อีกทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหมดไทยก็เก็บรักษาอยู่ที่นี่ เหตุผลดังกล่าวแสดงว่าไทยมีอำนาจเหนือกว่า ในเชิงทฤษฎีแล้วพิธีกรรมนี้จะขาดราชสำนักไทยไม่ได้เป็นอันขาด [1]

ทว่าการรักษาฐานะความเป็นเจ้าอธิราชในครั้งนี้ก็มีขึ้นอย่างฉุกละหุกและผิดธรรมเนียม นอกจากการที่ฝรั่งเศสเร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันแล้ว ฝรั่งเศสยังสร้างสถานการณ์ให้พิธีนี้ต้องเกิดขึ้นในดินแดนเขมรอีกด้วย เพื่อกำจัดอิทธิพลของสยามที่เหลืออยู่ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

ดังปรากฏว่าในวันที่ 3 มีนาคม 2407 เมื่อพระนโรดมออกเดินทางจากอุดงมีชัยเพื่อจะมากรุงเทพฯ โดยเรือของทางราชการไทยนั้น นายทหารฝรั่งเศส ชื่อ ดูดาร์ เดอ ลาเกร (Doudart de Lagree) ก็หาทางขัดขวางโดยเข้ายึดเมืองอุดงมีชัย ไว้แล้วชักธงฝรั่งเศสขึ้นเหนือพระราชวัง พระนโรดมจึงต้องตัดสินพระทัยเดินทางกลับทันที ในช่วงเวลาของความโกลาหลฝรั่งเศสได้ฉวยโอกาสให้สัตยาบันสัญญาที่ทำไว้กับเขมร ภายหลังเหตุการณ์ยึดเมืองอุดงมีชัย ทหารฝรั่งเศสก็ได้กักบริเวณพระนโรดม และไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ต่อมาจึงเสนอเข้ามาทางกรุงเทพฯ ว่าได้กำหนดให้พิธีราชาภิเษกมีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2407 แต่จะมีขึ้นบนแผ่นดินเขมรเท่านั้น โดยขอให้ไทยนำเครื่องอิสริยยศและพระสุพรรณบัฎมาส่ง [5]

ฝ่ายไทยตริตรองแล้วเห็นว่าเพื่อเป็นการประนีประนอมและสมานสามัคคีกับฝ่าย ฝรั่งเศสก็ควรจะเดินทางไปสมทบกับพวกฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน จึงได้จัดขุนนางผู้ใหญ่คือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นหัวหน้าคณะชาวสยาม โดยสารเรือฝรั่งเศสไป ส่วนเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้น เจ้าพนักงานไทยนำลงเรือกลไฟสงครามครรชิตล่องไปขึ้นฝั่งเขมรที่เมืองกำปอต แล้วเดินเท้าต่อไปยังอุดงมีชัย [6]

…………
นายเดมูแลงในฐษนะผู้แทนของรัฐบาลฝรั่งเศสก็เป็นประธานตัวจริงในพิธีสถาปนา (และสวมมงกุฎ) ให้พระนโรดม ในขณะที่ท่านพระยามนตรีสุริยวงศ์ผู้แทนรัฐบาลสยาม เป็นก็แต่เพียงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้นำเครื่องราชาภิเษกไปส่งให้เท่านั้นในทางปฏิบัติ แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วจะเป็นตัวแทนจากประเทศเจ้าอธิราชก็ตาม แต่กลับมีสภาพเป็นเสมือนผู้สังเกตการณ์โดยไม่รู้ตัว

ถ้าเป็นช่นนั้นแล้ว การที่ไทยสถาปนากษัตริย์เขมรอย่างเต็มรูปแบบครั้งสุดท้าย ก็คือการสถาปนานักองค์ด้วงเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย….

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ไกรฤกษ์ นานา” “รัชกาลที่ 4 ทรงคิดอย่างไรกับการเสียดินแดนครั้งแรก”, ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้อาจไม่ใช่ทั้งหมด. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552

[2] ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร. สํานักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, กระทรวงมหาดไทย, 2505

[3] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย (สยาม) กับประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตามเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ. ราชบัณฑิตยสถาน, 2539.

[4] พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รวมครั้งที่ 1, พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมวาศน์ กมลาสน์, กรุงเทพฯ, 2496.

[5] เพ็ญศรี ตุ๊ก, ศ.ดร. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม). กรุงเทพ. ราชบัณฑิตยสถาน, 2542.

[6] ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. 2507.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ค้นหารัตนโกสินทร์ 2” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา (สำนักพิมพ์มติชน, 2553)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2564