หลัง 2475 ปรับปรุงหน่วยทหารสนับสนุนการรบ รับมือสงครามในอนาคต

การฝึกซ้อมของหน่วยป้องกันไอพิษที่สถานีรถไฟกรุงเพทฯ หัวลำโพง (ภาพจาก พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล, “ประวัติย่อกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก”, https://readgur.com/doc/2326634/ประวัติย่อกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก)

สถานการณ์ของกรมพลาธิการทหารบกเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกรมเสนาธิการทหารบก คือเป็นกรมใหญ่ทหารบกในกระทรวงกลาโหม ที่ถูกยุบลงจากการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพหลังการปฏิวัติสยาม ส่วนกรมน้อยในกรมพลาธิการทหารบกถูกยุบมาไว้ในกองทัพบก ต่อมาในช่วงปลาย พ.ศ. 2476 รัฐบาลคณะราษฎรได้ประกาศใช้โครงสร้างกองทัพบก พ.ศ. 2476 ส่งผลให้กรมพลาธิการทหารบกถูกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อเป็นหน่วยหลักในการจัดหาและผลิตยุทธปัจจัยต่างๆ ของกองทัพบก

เนื่องจากการขยายโครงสร้างกำลังรบของกองทัพบกจำเป็นต้องใช้และจัดหาทรัพยากรจำนวนมาก ส่งผลให้กรมพลาธิการทหารบกต้องปรับปรุงโครงสร้างให้เหมาะสมกับแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพบก รวมทั้งเตรียมโครงสร้างของกรมพลาธิการทหารบกให้สามารถขยายได้ในยามสงคราม ทำให้ในช่วง พ.ศ. 2476-2481 กรมพลาธิการทหารบกได้ปรับปรุงโครงสร้างหน่วย หลายครั้ง…

การปรับปรุงโครงสร้างของกรมพลาธิการทหารบก พ.ศ. 2476-2481 นอกจากจะมีหน่วยที่เคยตั้งขึ้นมาก่อนแล้วในอดีต ยังมีหน่วยที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ คือ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก (แผนกหอวิทยาศาสตร์) และหน่วยที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับผิดชอบในด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการทหารคือกรมเชื้อเพลิง ทั้ง 2 หน่วยถูกจัดตั้งขึ้นตามยุทธศาสตร์การขยายกำลังรบของกองทัพบก และการเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์สงครามในอนาคต

1) กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก

ใน พ.ศ. 2478 กรมพลาธิการทหารบกมีหน่วยขึ้นตรงเพิ่มอีก 1 หน่วย คือ แผนกหอวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 มีฐานะเป็นหน่วยลับในการค้นคว้าและทดลองด้านวิทยาศาสตร์ของกองทัพบก เพื่อผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือในการป้องกันอาวุธเคมี โดยมี ดร. ประจวบ บุนนาค เป็นผู้อำนวยการแผนกหอวิทยาศาสตร์คนแรกๆ [1] ต่อมา ใน พ.ศ. 2480 แผนกหอวิทยาศาสตร์ได้ยกฐานะเป็น “กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก” และจัดตั้ง “โรงเรียนวิทยาศาสตร์ทหารบก” (Royal Thai Army Chemical School) เพื่อสอนวิชาการป้องกันไอพิษและเริ่มสอนเมื่อ พ.ศ. 2481 เป็นรุ่นแรก [2]

การรับสมัครนายทหารสอบเข้าเรียนในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ทหารบกเมื่อ พ.ศ. 2481 มีนายทหารรับสมัครจำนวน 50 นาย ผ่านการคัดเลือก 20 นาย และเป็นนายทหารวิทยาศาสตร์รุ่นเดียวของกองทัพบก [3] โดยมีวัตถุประสงค์ผลิตนายทหารวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีความรู้และความชำนาญในการสงครามเคมีตามหลักสูตรการศึกษา 2 ปี [4] ซึ่งผู้ที่จะเป็นนายทหารวิทยาศาสตร์จะต้องปฏิบัติงานและเผชิญกับความเสี่ยงอันตรายจากอาวุธของข้าศึกเช่นเดียวกับทหารทั่วไป อีกทั้งต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณที่มีการใช้อาวุธเคมีหรือสภาพอากาศที่มีพิษ

ใน พ.ศ. 2482 กองทัพบกมีคำสั่งให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์ทหารบก จัดเป็นศูนย์ฝึกอบรมการใช้หน้ากากป้องกันไอพิษให้แก่หน่วยทหารต่างๆ ในมณฑลทหารบกที่ 1 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการฝึกอบรมการใช้หน้ากากป้องกันสารพิษให้แก่พลทหาร รวมทั้งยุวชนทหารทั้งชายและหญิงตามสถานศึกษาต่างๆ [5]

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนนายทหารวิทยาศาสตร์สามารถผลิตนายทหารวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตร 2 ปีได้เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น และอบรมระยะสั้นเพียง 3 เดือน เพื่อให้ทันต่อการรับราชการสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายทหารวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำนาญการประจำกรมวิทยาศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งให้เป็นนายทหารประจำกองพลหรือประจำกองบังคับการมณฑลทหารบก [6]

2) กรมเชื้อเพลิง

ในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเทศสยามต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมากถึงปีละ 15 ล้านบาท โดยมีบริษัทผู้ค้าน้ำมันจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเข้ามาดำเนินกิจการแบบผูกขาดในประเทศสยาม (Monopoly) [7] ต่อมาภายหลังการปฏิวัติสยาม รัฐบาลคณะราษฎรได้พยายามเข้าควบคุมและเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามความต้องการของกระทรวงและหน่วยงานราชการต่างๆ ทำให้มีการตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง” เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ภายใต้การดำเนินงานของนายวนิช ปานะนนท์ หัวหน้าแผนกเชื้อเพลิง ซึ่งการดำเนินการของแผนกเชื้อเพลิงในช่วงแรกได้เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ผ่านบริษัท Export Petroleum Company [8]

ปลายทศวรรษ 2470 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองโลกได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งในยุโรปและเอเชีย มีแนวโน้มจะเกิดสงครามขึ้นในไม่ช้าและจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันทั่วโลก รวมถึงจะส่งผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจและกองทัพของประเทศสยาม เนื่องจากยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่รัฐบาลคณะราษฎรจัดซื้อมาทั้งหมดต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นรถถัง เรือ หรือเครื่องบิน

ดังนั้นในช่วงต้น พ.ศ. 2480 รัฐบาลคณะราษฎรได้ยกฐานะแผนกเชื้อเพลิงขึ้นเป็น “กรมเชื้อเพลิง” [90] เพื่อขยายกิจการน้ำมันเพิ่มขึ้น และในปีเดียวกันรัฐบาลได้ตั้งฉางน้ำมันขึ้นที่ตำบลช่องนนทรี [10] อำเภอยานนาวา มีการสร้างถังน้ำมันถาวร 9 ถัง และโรงกลั่นน้ำมันขนาด 1,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งสั่งต่อเรือบรรทุกน้ำมัน 1 ลำ [11] นอกจากนี้รัฐบาลได้ส่งนายวนิช ปานะนนท์ ผู้อำนวยการกรมเชื้อเพลิงไปศึกษาดูงานด้านกิจการน้ำมันของประเทศในยุโรปและอเมริกา [12]

การก่อสร้างและดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมันได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งช่วงแรกรัฐบาลไทยได้จ้างชาวญี่ปุ่นมาทำงานประจำโรงกลั่นน้ำมัน จำนวน 16 คน เป็นผู้ช่วยนายช่าง (เงินเดือน 400 บาท) 2 คน เป็นพนักงาน (เงินเดือน 400 บาท) 12 คน [13] นอกจากนี้ รัฐบาลได้ส่งคนงานคนไทยไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 เดือน [14] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2482 ได้ทดลองเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมัน จากนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ได้มีพิธีเปิดโรงกลั่นน้ำมันอย่างเป็นทางการ [15]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] นอกจาก ดร. ประจวบ บุนนาค ยังมีผู้รับผิดชอบอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็น พันโท พระวิทยาศาสตรณยุทธ อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของกรมยุทธศึกษาทหารบก พันตรี หลวงจักรายุทธวิชัย นายทหารสื่อสาร รวมทั้งอาจารย์ทางวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมวิทยาศาสตร์พลเรือน เช่น ดร. สุวรรณ ไทยวัฒน์ อาจารย์ชุบ มุนิกานนท์ และพันเอก พร้อม พานิชภักดิ์ เป็นต้น ดูเพิ่มเติมใน อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพพลโท สวัสดิ์ มักการุณ ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ.ว. ณ วัดพระ ศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 29 มกราคม 2559 (กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โปรดักส์, 2520), น.91-92.

[2] เฉลิมศึก ยุคล, ม.จ. “ประวัติย่อกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก 2, เข้าถึงเมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม 2561, จาก https://hugepdf.com/download/5b383419e8f81_pdf

[3] นายทหารวิทยาศาสตร์ชุดแรกและชุดเดียวจำนวน 20 นาย (ยศปัจจุบัน) ได้แก่ พลเอก สุรกิจ มัยลาภ พลโท สวัสดิ์ มักการุณ พลตรี ชาย ไชยกาล พลตรี เสงี่ยม แรงสืบสิน พลตรี อาภรณ์ จวนหอม พลโท ธํารง ปานสิงห์ พลโท เหลือ กาญจนพิมาย พลตรี สกล ชมไพศาล พลตรี บุญมาก เทพบุตร พลตรี ประวิตร งามอุโฆษ พันเอก วีระ หวังชนะ พันเอก ทวี วงษ์คํา พันตํารวจเอก ทินกร อ่อนท้วม พันเอก ศรีณรงค์ พิชัยณรงค์ พันโท สํากัน เจริญพิภพ พลตรี นิวัติ บุญยกาญจน์ จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันท์ พันเอก ประเจียด วรมิศร์ นาวาเอก เฉลียว พัทธ ศาสตร์ พันเอก แผ้ว ยุวะนิยม ดูเพิ่มเติมใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลโท สวัสดิ์ มักการุณ ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ.ว. ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 29 มกราคม 2529 น. 91-92.

[4] หลักสูตรการศึกษาของนายทหารวิทยาศาสตร์มีดังนี้ 1) วิชาสามัญ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมเคมี 2) วิชาทหาร ได้แก่ วิชาทหารเหล่าต่างๆ และวิธียุทธของกองทหารขนาดใหญ่ 3) วิชาเฉพาะ ได้แก่ วิชาไอพิษ (การใช้และการป้องกันไอพิษ) วิชาหมอกควัน วิชาวัสดุเพลิง วิชาเชื้อโรคที่เคยมีใช้ในสงคราม และสมนไพรและพืชพันธุ์ต่างๆ (ประยุกต์มาใช้เป็นอาหารหรือเป็นวัตถุพิษเพื่อทำอันตรายหรือรบกวนฝ่ายตรงข้ามได้) 4) วิชาพลศึกษา ได้แก่ ศิลปะการป้องกันตัว ยิมนาสติก และการพละศึกษาอื่นๆ ดูเพิ่มเติมใน เรื่องเดียวกัน, น. 59-60.

[5] ม.จ. เฉลิมศึก ยุคล, “ประวัติย่อกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก 7,” เข้าถึงเมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม 2561, จาก https://hugepdf.com/download/5b383419e8f81_pdf

[6] ดูเพิ่มเติมใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลโท สวัสดิ์ มักการุณ ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ.ว. ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 29 มกราคม 2529, น.91-92.

[7] บริษัทน้ำมันของอังกฤษชื่อ เอเชียติก ปิโตรเลียม (ปัจจุบันคือบริษัทเชลล์ (Shell) แห่งประเทศไทย) ส่วนบริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกาชื่อ แสตนดาร์ดแวคัม ออยล์ (ปัจจุบันคือบริษัทเอสโซ่ (Esso)) ดูเพิ่มเติมใน สมบูรณ์ พูลประเสริฐ, “ภาวะตลาดน้ำมันเบนซินขององค์การเชื้อเพลิงสามทหาร,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต ภาควิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์, 2507), น.7.

[8] ดูเพิ่มเติมใน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, “ก่อนจะเป็น ปตท.: ประวัติศาสตร์ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2521)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556), น. 58.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 61.

[10] การตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่ตำบลช่องนนทรี เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ปลายทางรถไฟ ทำให้สามารถกลั่นน้ำมันแล้วส่งไปต่างจังหวัดได้อย่างสะดวก ดูเพิ่มเติมใน อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพลเอกหลวงชาญชิดชิงชัย ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2522 (กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2522), ไม่ปรากฎเลขหน้า

[11] ไทยในปัจจุบัน: ที่ระลึกงานฉลองวันชาติ 2483, ไม่ปรากฏเลขหน้า

[12] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร. 0201.3/4 เรื่อง “ส่งทหารบกไปศึกษา และดูงานในยุโรปและอเมริกา (16 สิงหาคม 2476-11 เมษายน 2492).”

[13] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร. 0201.19/49 เรื่อง “จ้างชาวต่างประเทศแผนกโรงน้ำมันของกระทรวงกลาโหม (พ.ศ. 2480-2486).”

[14] เรื่องเดียวกัน

[15] ไทยในปัจจุบัน: ที่ระลึกงานฉลองวันชาติ 2483, ไม่ปรากฏเลขหน้า


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ กองทัพคณะราษฎร เขียนโดย ปรัชญากรณ์ ลครพล (มติชน, 2564)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2564