“บึงพลาญชัย” พื้นที่ทางการเมือง จากยุคเทศาภิบาล สู่ยุครัฐสมัยใหม่ตามวิถีปชต.

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบจำลอง จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2507 ภาพถ่ายโดย Keyes, Charles F. (Research Works Archive, University of Washington)

บึงพลาญชัย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด นับเป็นรูปธรรมหนึ่งที่สร้างเกิดขึ้นจากอดีตสู่ปัจจุบัน แท้จริงแล้ว บึงพลาญชัยในมุมของผู้เขียนนั้นมองเห็นถึงนัยยะทางการเมืองที่สะท้อนถึงบริบททางการเมืองจากยุคจารีตสู่ยุครัฐสมัยใหม่บนพื้นฐานประชาธิปไตยยุคแรกเริ่ม

บึงพลาญชัย กับยุคจารีตในระบอบเทศาภิบาล

พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) (ภาพจาก ธงทอง จันทรางศุ. นายทองมหาดเล็ก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2558)

ในที่นี้ผู้เขียนสื่อถึง พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ตัวแทนภาพสะท้อนถึงข้าหลวงจากส่วนกลางที่เข้ามาจากระบอบการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 จากเมืองร้อยเอ็ดกลายเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลอีสาน

Advertisement

พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด (พ.ศ. 2469-2471) สั่งให้ทำการขุดลอกบึงพลาญชัย โดยดำเนินการอยู่ 2 ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง 40,000 คน พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ได้เขียนบันทึกถึงบึงพลาญชัยไว้ว่า

“…แวะเข้าบ้านท้าวขัติยดูขอบบึงพระลานไชยที่ราษฎรรุดดันเข้าไป เพราะเราคิดจะแต่งบึงเพื่อเอาน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง บึงพระลานชัยนี้ไม่น่าปลาดที่คนชอบรุดเพราะชอบบึงดินชุ่มปลุกต้นไม้งาม…”

โดยดินที่ขุดขึ้นมาได้นำมาถมริมขอบบึงกลายเป็นถนน ตั้งชื่อถนนเป็นเกียรติแก่ท่านชื่อว่า “ถนนสุนทรเทพกิจจารักษ์” ส่วนดินที่เหลือก็พูนขึ้นเป็นเกาะกลางบึง ตกแต่งเกาะดังกล่าวให้สวยงาม และเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบจำลอง จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2507 ภาพถ่ายโดย Keyes, Charles F. (Research Works Archive, University of Washington)

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าในยุคจารีตระบอบเก่านี้ คือผลจากการขยายอำนาจทางการเมืองจากส่วนกลาง ที่ส่งผลพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์กลายเป็นผู้ที่มีคุณูปการและการสร้างความชอบธรรมในการวางรากฐานในการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ด โดยมีบึงพลาญชัยเป็นผลจากการสร้างความชอบธรรมในท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในยุคระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ผ่านข้าหลวงประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

อีกทั้งยังสะท้อนถึงระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ที่ใช้ระบบการจัดการโครงสร้างทางสังคมจากการเกณฑ์แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบในสมัยยุคเทศาภิบาล

บึงพลาญชัย กับการเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยสมัยใหม่

ในปัจจุบันบึงพลาญชัยยังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนล้วนให้ความนับถือ คือ การมีศาลหลักเมืองบนเกาะกลางบึงพลาญชัย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บึงพลาญชัยถือว่าเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่แสดงออกมาจาการตื่นตัวจากประชาชนชาวร้อยเอ็ดได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การสร้างอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญร้อยเอ็ดที่บึงพลาญชัย สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2479 ตั้งเคียงข้างศาลหลักเมืองบนเกาะบึงพลาญชัย

ตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นรูปพานรัฐธรรมนูญจำลองบนเกาะกลางบึงพลาญชัย (ภาพจาก คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500, จังหวัดร้อยเอ็ด ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ. พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, 2500)

นอกจากนั้น การตื่นตัวทางการเมืองในรูปแบบการปกครองของระบบประชาธิปไตยยังสะท้อนให้เห็นในความหมายเชิงสัญลักษณ์ โดยผู้เขียนได้พบตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญจำลองบนเกาะกลางบึงพลาญชัย

อาจจะกล่าวได้ว่า บึงพลาญชัยในปัจจุบันนี้ที่ชาวร้อยเอ็ดนั้นเข้าใจว่าเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่อันประกอบด้วยหลักเมืองที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น แต่ในอดีตนั้น บึงพลาญชัยแฝงนัยยะไปด้วยการเติบโตขึ้นมาจากผลพวงของข้าหลวงจากส่วนกลางในยุคการเกิดขึ้นของมณฑลเทศาภิบาลที่ยังเป็นการเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

มาจนถึงยุคประชาธิปไตยในยุคเริ่มต้น ที่ปรากฏผ่านแนวคิดการสร้างอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญที่บึงพลาญชัย นำไปสู่การให้ความสำคัญทางความคิดประชาธิปไตยในเชิงสัญลักษณ์ ผ่านการออกแบบตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

 


อ้างอิง :

คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500, จังหวัดร้อยเอ็ด ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ. พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, 2500

ธงทอง จันทรางศุ. นายทองมหาดเล็ก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2558 

ร้อยเอ็ดจากความทรงจำ 100 ปีที่แล้ว, หนังสืองานศพ บุญมี คำบุศย์ คุณแม่ อ. เมธา คำบุศย์ (เอกสารสำเนา)

บันทึกความทรงจำของคุณยายบุญมี คำบุศย์ เรื่อง “อดีตรำลึก” (เอกสารสำเนา)

ข้อมูลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด. เรื่อง ภาพถ่ายเก่าเมืองร้อยเอ็ด ตอน บึงพลาญชัย (ออนไลน์) จาก www.facebook.com/324299664363157/posts/3412568848869541/

สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุวรรณภูมิในอาเซียน : ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ วาทกรรมระบอบเก่า ต่อต้านระบอบใหม่. สืบค้นวันที่ (14 ตุลาคม พ.ศ. 2564), จาก www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_2049101

________. สุจิตต์ วงษ์เทศ : อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ร้อยเอ็ดมีก่อนกรุงเทพฯ. สืบค้นวันที่ (14 ตุลาคม พ.ศ. 2564), จาก www.matichon.co.th/prachachuen/news_2000187


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2564