ท่าทีที่แตกต่างของผู้นำเยอรมนี-ญี่ปุ่น ต่อการ “สังหารหมู่” ในสงคราม

4 ผู้นำ ทหาร ของ กองทัพ จักรวรรดิญี่ปุ่น คิโยฮิ ฮาเซกาวา อิวาเนะ มัตสึอิ เจ้าชายยาซูฮิโกะ และ ไฮซูเกะ ยานากาวะ ที่มี บทบาท ใน การสังหารหมู่ ที่ นางกิง ใน จีน ช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2
4 ผู้นำทหารของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น (จากซ้าย) คิโยฮิ ฮาเซกาวา, อิวาเนะ มัตสึอิ, เจ้าชายยาซูฮิโกะ และไฮซูเกะ ยานากาวะ ที่มีบทบาทในการสังหารหมู่ที่นางกิง

ข้อมูลเกี่ยวกับ “การสังหารหมู่” ที่ค้นหาได้ในกูเกิล ทำให้เห็นภาพคร่าวสรุปได้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 1941-1945 กองทัพนาซีเยอรมนีสังหารยิวในทวียยุโรปประมาณ 6,000,000 คน ส่วนกองทัพญี่ปุ่น สังหารชาวจีนที่นานกิงประมาณ 250,000-300,000 คน

วันนี้ขณะที่คนยิววางอดีตที่เจ็บปวดลงได้ แต่คนจีนอดีตนั้นเป็นดั่งเชื้อไฟที่พร้อมปะทุตลอดเวลา

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ศ.ดร. เขียน ธีระวิทย์ นักวิชาการด้านจีนศึกษา อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก, สิงหาคม 2549) ว่าเป็นเพราะท่าทีของผู้นำเยอรมนี และจีนที่แตกต่างกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ผู้นำเยอรมนีทุกคนออกมารับผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมที่นาซีเยอรมันทำไว้ และพร้อมที่จะขอโทษทุกประเทศที่ถูกนาซีเยอรมันย่ำยี ชนิดที่ไม่มีการลังเลใจ นอกจากนี้ที่รัฐบาลเยอรมนียังดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์มหันตภัยแห่งชาติที่ประตูบรันเด็นเบิร์กในกรุงเบอร์ลิน ไว้เตือนสติเพื่อนร่วมชาติว่าอย่าลืมอดีต

นายแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ นายกรัฐมนตรี ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ ในงานครบรอบ 60 ปีของการปลดปล่อยค่ายกักกันยิวในเยอรมนี (25 มกราคม ปี ค.ศ. 2005) มีความตอนหนึ่งว่า “การเตือนความจำเกี่ยวกับเรื่องในยุคสังคมนิยมแห่งชาติ และอาชญากรรมที่พวกเขาทำเป็นพันธะทางใจของพวกเรา-เราเป็นหนี้ไม่เฉพาะแต่เหยื่อผู้รับเคราะห์ ผู้รอดชีวิตและญาติของพวกเขาเท่านั้น แต่หมายความถึงตัวเราเองด้วย” [The Nation. January, 26 2005.9A]

ทั้งหมดที่ชาวเยอรมันและรัฐบาลเยอรมนีทำ แสดงให้เห็นถึงความจริงใจและเสียใจที่บรรพบุรุษของพวกเขาทำต่อชาติอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ชาวโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในประเทศที่ถูกนาซีเยอรมันย่ำยี จึงพากันเชื่อใจและไว้ใจเยอรมันปัจจุบันว่า วิญญาณของนาซีเยอรมันตายไปแล้วในแผ่นดินเยอรมนี

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับผู้นำและรัฐบาลญี่ปุ่น

ประธานาธิบดี เจียงเจ๋อหมิน เคยกล่าวคำปราศรัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ชาวจีนมีเหตุผลที่จะออกมาเดินขบวนทวงหนี้ทางประวัติศาสตร์ต่อญี่ปุ่น ตลอดสมัยที่ญี่ปุ่นรุกรานและยึดครองจีน 8 ปี (ค.ศ. 1937-1945) ชาวจีนตายด้วยน้ำมือของญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน

เฉพาะที่ถูกสังหารหมู่ที่นานกิง มีประมาณ 300,000 คน ญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธแก๊สเคมีสังหารคนจีนตามใจชอบ สร้างความเสียหายโดยตรงทางเศรษฐกิจประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เสียหายทางอ้อม 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ [Beijing Review, September 18-24, 1995, pp. 4-8; Li Haibo, “Unforgettable Aggression-Time to ponder two Sino-Japanese Wars”, Beijing Review, August 21-27, 1995, pp. 8-15]

แต่หนี้ค้างชำระนี้ จีนไม่เคยเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากญี่ปุ่น  

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนหยัดที่จะไม่ยอม “ขอโทษ” ประเทศที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน หรือยึดครองในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกครั้งที่ผู้นำญี่ปุ่นจะไปเยือนประเทศเหล่านั้น หรือเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำประเทศเหล่านั้น

ถ้าจะมีถ้อยแถลงของผู้นำต่อสาธารณชน หรือแถลงการณ์ใดๆ กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นจะต้องเตรียมคำแถลงนั้น และบางครั้งต้องเจรจาตกลงกับกระทรวงการต่างประเทศของคู่เยือนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่จะให้ผู้นำเจรจาตกลงกัน ทั้งพยายามหลีกเลี่ยงที่จะบรรจุประเด็นเกี่ยวกับการขอโทษ (apology) ให้มีอยู่ในคำแถลง หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็พยายามใช้คำพูดที่นักชาตินิยมญี่ปุ่นยอมรับได้ อย่างดีที่สุดก็ใช้คำว่า “เสียใจ” (remorse)

มีเหตุการณ์ผู้นำญี่ปุ่นเหมือนจะกล่าว “ขอโทษ” จีน แต่สุดท้ายก็แค่แสดงเพียง “เสียใจ”

เช่นครั้งหนึ่งเมื่อ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิอากิฮิโตเสด็จเยือนจีนในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1992 ทรงมีพระราชดำรัสที่กรุงปักกิ่ง (23 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1992) ตอนหนึ่งว่า “ประเทศของข้าพเจ้าได้นำความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสให้แก่ประชาชนจีน…ข้าพเจ้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง (…I deeply deplore this)”

นอกจากนี้ผู้นำญี่ปุ่นยังชอบแสดงความเป็นชาตินิยมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การไป “ศาลเจ้ายาสุกุนิ” ตัวอย่างกรณีของ นายจุนอิชิโร โคอิซูมิ เมื่อครั้งดำรงตำแห่งนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น เดินทางไปศาลเจ้าดังกล่าวติดต่อกันถึง 4 ปี เพื่อทำพิธีคารวะวิญญาณนักรบญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งนายพลโตโจอาชญากรสงคราม ทุกครั้งที่นายโคอิซูมิทำเช่นนั้นจะเกิดเป็นข่าวใหญ่ เพราะพวกใฝ่สันติในญี่ปุ่น สื่อมวลชน และรัฐบาลต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนและเกาหลีจะออกมาวิจารณ์ ประณาม หรือประท้วงรัฐบาลญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ. 2002 เมื่อญี่ปุ่นแสดงความประสงค์ที่จะมีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ [ประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ คือ จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ ที่มาจากการเลือกตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี] ซึ่งเวลานั้นจีน-ญี่ปุ่นมีข้อพิพาทกันกรณีหมู่เกาะเตียวหยู (หรือหมู่เกาะเซ็งกากุในภาษาญี่ปุ่น)

นายเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน แสดงท่าที่คัดค้านในเรื่องนี้โดยให้เหตุผลว่า “มีแต่ประเทศที่รู้จักเคารพความจริงในประวัจิศาสตร์ และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ที่จะสามารถชนะใจประชาชน จนได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาทีส่วนร่วมรับผิดชอบที่สูงขึ้นต่อประชาคมนานาชาติ” [มติชนรายวัน. 13 เมษายน 2548, น.32]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2564