“ลกเจ๊ก” กับวีรกรรมวัยเด็กที่ลักส้มมาฝากมารดา จนได้ชื่อเป็น 1 ใน 24 กตัญญู

ลกเจ๊ก ลัก ส้ม ไป ฝาก มารดา
ลกเจ๊กลักส้มไปฝากมารดา

ความกตัญญูเป็นคุณธรรมพื้นฐานหนึ่งที่ผู้คนแต่ละเชื้อชาติให้ความสำคัญ สำหรับคนจีนคุณธรรมข้อนี้มีการให้น้ำหนักความสำคัญเพิ่มขึ้น และมีการรวมเรื่องราวความกตัญญูที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค ที่เล่าขานในลักษณะนิทานพื้นบ้าน มาเผยแพร่เป็นหนังสือแต่โบราณเรียกว่า “24 กตัญญู” โดย 1 ใน 24 ผู้ที่ได้ชื่อว่ากตัญญูนั้น มีเด็กชายวัย 6 ขวบ ที่ชื่อ “ลกเจ๊ก”

ลกเจ๊ก เป็นบุคคลในยุคสามก๊ก ภายหลังเป็นที่ปรึกษาของก๊กซุนกวน เมื่อยังเยาว์ลกเจ๊กเคยติดตามอาของเขาไปเยี่ยมคำนับอ้วนสุดที่จวน ครั้งนั้นลกเจ๊กกินส้มที่จวนของอ้วนสุดแล้วนึกถึงมารดา อยากนางได้กินส้มนี้บ้าง จึงหยิบส้มซ่อนไว้ในแขนเสื้อตนเอง ถึงเวลากลับบ้านลกเจ๊กไปคำนับลาเจ้าภาพ ส้มที่ซ่อนไว้บังเอิญหล่นลงบนพื้นต่อหน้าอ้วนสุด ความเลยแตก

อ้วนสุดเห็นดังนั้นจึงพูดหยอกว่า ตัวเจ้าเป็นแขกเยาว์วัย ไฉนจึงแอบลักส้มของข้า

ลกเจ๊กก้มลงคำนับแล้วกล่าวว่า มารดาของข้าเจ้าชอบกินส้มยิ่งนัก จึงตั้งใจจะเอาไปฝาก เมื่อมารดากินส้มนี้ก็นับว่า ท่านได้เลี้ยงแขกเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง  อ้วนสุดได้ฟังดังนั้นก็นิยมว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ทั้งออกปากชมว่า ฉลาดมีไหวพริบ ต่อไปภายหน้าจะได้เป็นขุนนางมีชื่อเสียง

ลกเจ๊กก้มลงเก็บส้มขึ้นแล้วก็ลากลับ ฝ่ายมารดาลกเจ๊กเมื่อทราบความ ก็กล่าวตักเตือนว่า การระลึกถึงมารดานั้น แม้นับว่าเป็นเรื่องดีงาม แต่ควรขอเจ้าของเสียก่อน ไมใช่หยิบฉวยข้าวของของผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งลกเจ๊กก็รับคำมารดา และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด

เรื่องราวของลกเจ๊กไม่เพียงเล่าขานต่อมายังคนรุ่นหลัง หากเป็นเรื่องเล่าขานในเวลานั้นด้วย

ในศึกเซ็กเพ็ก (หรือศึกผาแดง) ก๊กของเล่าปี่ต้องการให้ก๊กของซุนกวน ร่วมมือเพื่อตีขนาบก๊กของโจโฉ ขงเบ้งกุนซือคนสำคัญของเล่าปี่ออกโรงเจรจาโน้มน้าวฝ่ายซุนกวนด้วยเหตุผลต่างๆ ลกเจ๊กจึงลุกขึ้นแนะนำตัว และค้านขงเบ้งกลับไปว่า

“อันโจโฉนี้มาทว่าทำหยาบช้า แอบรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้เที่ยวปราบปรามบ้านเมืองทั้งปวงให้แผ่นดินเดือดร้อนก็จริง แต่ว่า โจโฉนี้เป็นเชื้อสายของโจฉำผู้เปนอุปราชมาแต่แผ่นดินก่อน อันเล่าปี่นี้ว่าเป็นเชื้อกษัตริย์กระเสนกระสายพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นเราไม่รู้แจ้ง แต่ว่าตระกูลเล่าปี่นั้นเปนคนอนาถา ตัวเล่าปี่ก็เปนแต่คนทอเสื่อขาย ควรหรือจะมาองค์อาจไม่คิดเจียมตัว แลจะต่อสู้โจโฉนั้นเราไม่เห็นด้วย”

ขงเบ้งก็ตอบกลับ และตอกกลับ ตามแบบขงเบ้งไปว่า

ท่านนี้หรือชื่อว่าลกเจ๊ก เมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้นลักส้มเขาเอาไปให้แก่มารดา นั่งลงเถิดเราจะเจรจาด้วย ซึ่งท่านนับถือโจโฉว่าเปนเชื้อสายของโจฉำก็จริง แต่โจฉำนั้นเป็นคนกตัญญูสัตย์ชื่อต่อเจ้าปรากฎมาแต่ก่อน อันโจโฉนี้เปนคนเสียชาติเสียตระกูล มิได้ประพฤติตามประเพณีปูย่าตายาย ทำให้ผิดจากตระกูลของตัว ซึ่งจะนับถือว่าดีนั้น ก็แต่คนพาลเหมือนหนึ่งท่าน

อันเล่าปี่นายเรานั้น ก็เปนเชื้อสายพระเจ้าเหี้ยนเต้ๆ ก็ทำนุบำรุงให้ยศฐานาศักดิ์ คนทั้งปวงก็รู้อยู่ เหตุไฉนท่านจึงว่า เปนคนอนาถา ถึงมาทว่าเป็นคนทอเสื่อชายเกือกก็ดี อันนี้ประเพณีเปนที่ทำมาหากินจะอับอายเป็นกะไรนักหนา ฝ่ายพระเจ้าฮั่นโกโจนั้นเล่าก็มิใช่เปนเชื้อพระวงศ์มา แต่ก่อนที่เปนแต่พันนายบ้าน แต่กอบไปด้วยความเพียรก็ได้เปนกษัตริย์อันใหญ่ จึงได้สืบพระราชวงศ์เสวยราชสมบัติ มาตราบเท่าทุกวันนี้

ท่านจะมาประมาทเล่าปี่นายเรานั้นหาควรไม่ ตัวท่านเปนเด็กยังมิสิ้นกลิ่นน้ำนม จะมาอวดรู้กว่าผู้ใหญ่นั้นอย่าเจรจาสืบไปเลย’ ลกเจ๊กฟังขงเบ้งว่าดังนั้นก็นิ่งอยู่” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]

อันคุณธรรมว่าด้วยกตัญญูก็ดีอยู่ แต่เมื่อพร่องไปเพราะเสียความซื่อสัตย์ (ดังความที่มารดาลกเจ๊กออกปากเตือนข้างต้น) ย่อมเป็นจุดให้ผู้อื่นโจมตี และผู้อื่นที่ว่าเป็นขงเบ้งด้วยแล้ว วีรกรรมวัยเด็กของลกเจ๊กจึงเจ็บแสบยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ร. บุนนาค. 24 ยอดกตัญญู, ธรรมสภา จัดพิมพ์ (ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์)

สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ราชบัณฑิตสภาชำระ, บริษัท ซีพีออล์ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ จัดพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2554