นิยายกําลังภายใน วรรณกรรมที่สร้างอิทธิพลต่อต้านรัฐและสังคม

ภาพจำลองจากปก “โลกหนังสือ” ตุลาคม 2520

สมัยหนึ่งนิยายกำลังภายในเป็นที่นิยมของผู้อ่านในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งจากผู้อ่านชาวไทย ผู้อ่านชาวจีน ผู้อ่านลูกครึ่งไทยจีน ฯลฯ แต่นิยายกำลังภายในไม่ได้หยิบยื่นเพียงความบันเทิงให้แก่ผู้อ่านเท่านั้น หากยังมีอิทธิพลต่อผู้อ่านในการต่อต้านสังคมอีกด้วย

เรื่องนี้ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ที่เคยศึกษาเกี่ยวสามัญชนจีนในกรุงเทพฯ ช่วงทศวรรษ 2500-2510 กล่าวไว้ในผลงานหนังสือของเขาที่ชื่อ กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย (สนพ.มติชน, สิงหาคม 2555) เนื้อหาตอนหนึ่งดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

Advertisement

 

วรรณกรรมและสังคมที่ผลิตวรรณกรรมนั้นขึ้นย่อมมีปฏิสัมพันธ์กัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งวรรณกรรมกับผู้อ่านย่อมมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การเลือกเสพวรรณกรรมชนิดหนึ่งย่อมสะท้อนโลกทรรศน์ ความคิด และความคาดหวังของผู้เสพ ขณะเดียวกันเนื้อหาของวรรณกรรมย่อมมีผลหล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมของผู้เสพ….

การเสพนิยายกำลังภายในที่มีเนื้อหาในเชิงบู๊ล้างผลาญ เป็นการต่อสู้ของวีรชนเอกชนที่มีวิทยายุทธ์กล้าแข็งกับเหล่าดาวร้ายฝ่ายอธรรมที่เป็นพรรคมารหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉล และผู้ร้ายที่แฝงมาในคราบผู้ดีฝ่ายธรรม ย่อมเป็นมาตรวัดสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในฝ่ายปกครองบ้านเมืองที่มีอยู่เพียงน้อยนิดได้เป็นอย่างดี

นิยายกำลังภายในเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายในสังคมไทยราวทศวรรษ 2500 โดยเริ่มมีการแปลวรรณกรรมจีนประเภทนิยายกำลังภายในเรื่องแรกคือ มังกรหยก แปลโดยจำลอง พิศนาคะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2502…

เรื่องมังกรหยกช่วงที่โด่งดังนั้น มีคนอ่านเข้าคิวไปซื้อหนังสือสดๆ ร้อนๆ ตอนเพิ่งออกมาจากแท่นแล้วก็ยืนอ่านกันตรงนั้น กระทั่งบริเวณร้านเช่าหนังสือแถวบางลำพู หรือตรอกโรงหนังเท็กซัสก็จะเห็นบรรดานักอ่านชายเต็มไปหมด ทุกเย็นร้านให้เช่าหนังสือส่วนใหญ่จะแน่นขนัดไปด้วยนักอ่านหนังสือประเภทนี้

………..

นอกจากการอ่านและฟังเพื่อนเล่านิยายกำลังภายในแล้ว นิยายกำลังภายในยังถูกนำมาอ่านออกอากาศทางเสียงตามสาย และมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เมื่อตกเย็นเป็นต้องมานั่งเฝ้าหน้าตู้ลำโพงไม่เป็นอันไปไหน

ระหว่างทศวรรษ 2500 ทศวรรษ 2510 มีการแปลและพิมพ์นิยายกำลังภายในจำนวนมาก…จากการสำรวจเบื้องต้นโดยนับการพิมพ์ซ้ำ และการพิมพ์นิยายเรื่องเดียวกันแต่ต่างสำนวนแปลออกไป พบว่า อย่างน้อยมีการพิมพ์นิยายกำลังภายในจำนวน 343 เรื่อง เฉลี่ยแล้วในช่วง 20 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2501-2520 มีการพิมพ์นิยายกำลังภายในปีละ 17 เรื่อง โดยปี พ.ศ. 2516 เป็นปีที่มียอดพิมพ์นิยายกำลังภายในสูงสุดถึง 35 เรื่อง

นอกจากความนิยมที่สะท้อนผ่านยอดพิมพ์นิยายกำลังภายในที่มีจำนวนมหาศาล…ความนิยมต่อนิยายกำลังภายในนี้ยังนำไปสู่การแต่งนิยายล้อการเมืองโดยใช้โครงเรื่องและสำนวนนิยายกำลังภายใน อาทิ “นิทานการเมืองมหาอาณาจักรเสียมก๊กอันไพศาล” ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ธงไทยราวช่วง พ.ศ. 2513-2517…

โดยใช้ชื่อ ตัวละคร องค์กร เลียนแบบนิยายกำลังภายในและสามก๊ก เช่น ตอนทำเนียบบู๊ลิ้ม จิวเสพ่ายความเมือง ศึกเสมหะ สุมาตุ๊เครียดศึก การประลองโอ๊ยฮ่วยเกม ส่วนตัวละครสำคัญก็มีดังนี้ เล่าถอม (ถนอม) สุมาตุ๊ (ประภาส) เตียหวี (ทวี) เป็งหมัง (ประมาณ) ตั้งโซริด (สฤษดิ์) จิวเส (เสนีย์) จิวคึก (คึกฤทธิ์) โอวบุ้นป้อ (บุญชู โรจนเสถียร) โค้วตงหมง (ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์) วงบู๊ลิม (วงการเมือง) สำนักกระบี่เหลืองแดง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซือต๋ซือม่วย (นักศึกษา) เหล่าใบบอก (นักหนังสือพิมพ์)

เพื่อที่จะควบคุมความคิดของพลเมือง รัฐบาลเผด็จการทหารจึงควบคุมการเขียนและการพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐและสังคมอย่างเข้มงวด หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ส่วนมากจึงเป็นเรื่องทำนองพาฝัน เน้นอารมณ์ส่วนตัว ชวนให้หลงใหลไปกับจินตนาการ การผจญภัยที่เลื่อนลอย ด้วยเหตุที่นิยายกำลังภายในถูกจัดอยู่ในหนังสือประเภทนี้ทำให้การตีพิมพ์เผยแพร่ไม่ถูกจำกัดด้วยอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเผินๆ นิยายกำลังภายในจะเป็นเรื่องไร้สาระ กระทั่งโก้วเล้งผู้ประพันธ์นิยายกำลังภายในชื่อดังยังกล่าวแสดงทัศนะเกี่ยวกับความคิดดังกล่าวว่า

“ในสายตาของผู้คนจำนวนมาก เรื่องจีนกำลังภายในมิใช่เพียงไม่ใช่วรรณกรรม ทั้งยังไม่อาจนับเป็นนวนิยายเฉกเช่นกับไส้เดือน แม้เคลื่อนไหวได้ แต่น้อยคนนักที่เห็นมันเป็นสัตว์เลื้อยคลาน”

ทว่าหากพิจารณาการดำรงอยู่ของนิยายกำลังภายในที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ย่อมสะท้อนว่านิยายกำลังภายในมีคุณค่าบางอย่างที่สัมพันธ์กับผู้อ่านในสังคมไทย หากพิจารณานิยายกำลังภายในจากมุมมองอื่นอย่างลึกซึ้งที่นอกเหนือเรื่องวรรณศิลป์จะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว “นิยายกำลังภายใน” เป็น “นิยายการเมือง

พิจารณาจากโครงเรื่องนิยายกำลังภายในจำนวนมากจะพบว่า โครงเรื่องมักกล่าวถึงตัวเอกที่เป็นวัยรุ่น ทว่ามีความแค้นที่ต้องชำระกับฝ่ายอธรรมที่พยายามก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในใต้หล้า อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นขุนนางกังฉิน หรือจอมมารในยุทธจักร ชีวิตตัวเองมักตกระกำลำบากมาแต่เกิด แต่มีโอกาสไปฝึกวิชาตามสำนักต่างๆ ซึ่งจัดอยู่ในฝ่ายธรรมจนเก่งกาจไร้ผู้ใดเทียมทาน แล้วจึงเริ่มออกเดินทางล้างแค้น โดยฝ่ายอธรรมอาจแฝงตัวเป็นวีรบุรุษจอมปลอมหรือนักบุญผู้มีคณธรรม

นิยายกำลังภายในส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการรักษา ปกป้อง และช่วงชิงอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งหากการเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจแล้ว นิยายกำลังภายในก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองอย่างปราศจากข้อสงสัย และหากพิจารณาโครงเรื่องนิยายกำลังภายในของนักประพันธ์ยอดนิยมคือ กิมย้งและโก้วเล้งแล้ว ก็จะพบด้วยว่านิยายกำลังภายในเป็น “วรรณกรรมต่อต้านรัฐและสังคม” อย่างแท้จริง

แม้โครงเรื่องของกิมย้งจะกล่าวถึงบุญคุณและความแค้นเช่นเดียวกับนิยายกำลังภายในทั่วไป ทว่านิยายกำลังภายในของกิมย้งมีจุดต่างตรงที่พยายามเน้นให้เห็นความรักชาติ และความต้องการที่จะช่วยเหลือชาติบ้านเมืองโดยไม่สมัครเข้ารับราชการ ไม่รับความดีความชอบจากทางการ ตัวเอกพยายามช่วยเหลือประชาราษฎร์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผู้ปกครอง ขุนนางกังฉิน รัฐวีรบุรุษจอมปลอม และการแย่งชิงอำนาจในกลียุค

นอกจากนี้ตัวเอกยังมักหลุดพ้นจากพันธนาการของรัฐและสังคม เช่น เรื่อง “มังกรหยก” เมื่อก๊วยเจ๋งทราบว่าเจงกิสข่านละเมิดสัญญาที่เคยรับปากว่าจะไม่รุกรานแผ่นดินไต้ซ้องอันเป็นแผ่นดินแม่ ความรักชาติก็ได้ทำให้ก๊วยเจ๋งหนีออกจากกองทัพของเจงกิสข่าน

ส่วนโครงเรื่องนิยายกำลังภายในของโก้วเล้ง ส่วนใหญ่มิได้เริ่มต้นเรื่องด้วยการไล่ล่าล้างแค้น หากแต่เน้นความเปลี่ยวเหงา การประพฤติตัวเป็นเสรีชน ความเป็นปัจเจกที่หลุดพ้นจากพันธนาการของรัฐและสังคมคุณธรรมน้ำมิตร การให้อภัย และเสียสละ เช่น เรื่อง “จับอิดนึง” ตัวเอกผู้ถูกประณามว่าเป็นขุนโจรกลับเป็นผู้ช่วยยุทธจักรให้พ้นภัย โดยตัวเอกเป็นปัจเจกผู้อุดมด้วยความเปลี่ยวเหงาดังนี้

“เซียวจับอิดนึง คล้ายสุนัขจิ้งจอกที่ทั้งโดดเดี่ยวทั้งเงียบเหงา ทั้งหนาวเหน็บทั้งหิวโหย ดิ้นรนอยู่ท่ามกลางพื้นที่หนาวเหน็บ เพื่อการอยู่รอดของตัวเอง แต่ในใต้หล้าไม่มีผู้ใดยื่นมือประคับประคองมัน ทุกผู้คนเพียงคิดเตะมันสักเท้าหนึ่ง เตะมันจนตาย…”

………..

เมื่อเสพนิยายกำลังภายในผู้เสพจะหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่คุณค่าความสามารถ ความอุตสาหะทุ่มเท การดำรงตน บนเสรีชนที่หลุดพ้นจากพันธนาการของกฎระเบียบรัฐและสังคม และความเป็นปัจเจกบุคคลถูกขับเน้นความรักชาติและการทำเพื่อชาติไม่ได้มีความหมายเฉพาะการรับใช้ราชการ

ทว่าสามารถกระทำได้ด้วยการดำรงตนเป็นวีรชนเอกชน ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติจากการถูกกดขี่ของศัตรูซึ่งรวมไปถึงข้าราชการและผู้ปกครองที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ มิตรภาพ ความรัก การเสียสละ การแก้แค้น และทดแทนบุญคุณเป็นคุณค่าอันสูงส่งที่ควรปฏิบัติ

คุณค่าเหล่านี้ได้แทรกลงไปในสามัญสำนึกของสามัญชนจีนผู้เสพนิยายกำลังภายในทั้งที่มีสถานภาพเป็นปัญญาชน และผู้ใช้แรงงาน ดังเห็นได้จากการดำรงตนเป็นวีรชนของบรรดานักศึกษาที่มีพฤติกรรมต่อต้านเผด็จการ ทั้งยังต่อสู้เพื่อชาติได้โดยไม่ต้องสังกัดกับรัฐ และหากพิจารณาพฤติกรรมสามัญชนจีนในภาคแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแก๊งวัยรุ่นแล้ว…ก็แทบไม่ต่างจากนิยายกำลังภายในที่เต็มไปด้วยการยึดมั่นในมิตรภาพ บุญคุณความแค้น และพฤติกรรมต่อต้านกฎระเบียบรัฐและสังคมที่เกิดขึ้นภายใน “วงนักเลง”

การซ่องเสพนิยายกำลังภายในจึงเป็นช่องทางในการต่อต้านรัฐและสังคมอย่างหนึ่ง นอกจากวิธีการอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วยการด่าทอ การต่อต้านโดยใช้ความรุนแรง และการเมืองวัฒนธรรม การต่อต้านเหล่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในช่วงทศวรรษ 2500 ทศวรรษ 2516 การปะทุขึ้นของการต่อต้านรัฐและสังคมโดยสามัญชนจีนในพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผยในเหตุการณ์จลาจลพลับพลาไชยก็เกิดขึ้นท่ามกลางการดำรงอยู่ของบรรยากาศแห่งการต่อต้านนี้ หาใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นฉับพลันโดยปราศจากรากฐานทางวัฒนธรรมใดๆ ไม่

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2564