สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในยุโรปปันส่วนอาหารและของใช้ประจำวัน

ด้านในของสมุดอาหารปันส่วน มีรายการอาหารประเภทต่างๆ (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

ดังที่นโปเลียน โบนาปาร์ต กล่าวไว้ว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง” แต่ความหมายที่กว้างของคำพูดนี้คงไม่ได้กำหนดไว้เพียงกองทัพ หรือทหารเท่านั้น เพราะเมื่อประเทศทำศึก ประชาชนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ยิ่งในสมรภูมิใหญ่อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลกระทบก็ย่อมมากมาย

“ระบบปันส่วน” อาหารและวัตถุดิบหลักอื่นๆ จึงเป็นทางออกที่ทุกประเทศที่เข้าสู่สงครามใช้

อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ใช้ก่อนระบบปันส่วนอาหาร เพราะเป็นประเทศที่พึ่งพาอาหารและวัตถุดิบอื่นๆ รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่นําเข้าจากต่างประเทศ โดยในปี 1939 อังกฤษนําเข้าอาหาร 20 ล้านตันต่อปี จำแนกเป็นนําเข้าเนื้อ 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการบริโภคเนื้อทั้งหมด ชีสและน้ำตาล 70 เปอร์เซ็นต์ ผลไม้ 80 เปอร์เซ็นต์ ธัญพืช 70 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการบริโภคทั้งหมด

ซึ่งทั้งหมดต้องขนส่งทางทะเล และนี่เป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายตรงข้ามอาจใช้ประโยชน์ด้วยการโจมตีเรือขนสินค้าของอังกฤษเพื่อทําให้กิจการต่างๆในประเทศเป็นอัมพาต ประชาชนอดอยาก แต่ประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อังกฤษเคยถูกเรือดําน้ำเยอรมนีบีบจนต้องยอมแพ้ ครั้งนี้รัฐบาลอังกฤษจึงเตรียมรับมือเรื่องการปันส่วนอาหารไว้อย่างเรียบร้อยตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้น

ทันทีที่สงครามประกาศ น้ำมันเชื้อเพลิงคือสิ่งแรกที่ต้องใช้ระบบปัน ตามมาด้วยการปันส่วนอาหารในวันที่ 8 มกราคม 1940 อาหารประเภทแรกที่มีการปันส่วนคือ เบคอน, เนย และน้ำตาล จากนั้นก็ตามมาด้วยการปันส่วนเนื้อ, ชา, แยม, ขนมปังกรอบ ฯลฯ และมีการจัดตั้งกระทรวงอาหารให้ทําหน้าที่จัดวางระบบในการควบคุมดูแลการปันส่วนอาหารประชาชนของประเทศซึ่งทุกคนรวมทั้งเด็กจะได้รับ “สมุดคู่มือการปันส่วนอาหาร”

สมุดปันส่วนอาหารยังแยกตามประเภทของประชากร เช่น สมุดสีเขียวสำหรับหญิงตั้งครรภ์และบรรดาคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยพวกเขามีสิทธิก่อนบุคคลอื่น เช่น ได้นม 1 ไพนต์ ต่อวัน, ได้รับไข่เป็น 2 เท่าของคนอื่น ฯลฯ หรือสมุดสีน้ำเงินที่ออกให้เด็กอายุระหว่าง 5-16 ปี ที่ให้สิทธิพวกเขาได้รับผลไม้ก่อนผู้ใหญ่, ได้รับเนื้อปริมาณมากกว่า และได้นมอีกครึ่งไพนต์ต่อวัน เป็นต้น

ไม่ใช่แต่อาหารของใช้อย่างเสื้อผ้าก็ต้องใช้ระบบแต้มคะแนนที่จัดสรรให้ในการซื้อหา ตัวอย่างเช่น สูทผู้ชายต้องใช้ระหว่าง 26-29 แต้มขึ้นอยู่กับปริมาณของผ้าซับใน ส่วนลูกไม้และสิ่งตกแต่งสําหรับกางเกงชั้นในถูกสั่งห้าม แม้แต่จํานวนกระดุม กระเป๋า และจํานวนจีบบนเสื้อผ้าก็ต้องถูกควบคุม เพราะมันเป็นของฟุ่มเฟือย ที่สิ้นเปลืองในภาวะสงคราม นอกจากนี้ของใช้อีกหลายรายการไม่ว่าจะเป็น สบู่, ถ่านหิน, กระดาษ, หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ก็ต้องปันส่วน

ขณะที่อังกฤษเริ่มปันส่วนอาหารและสิ่งต่างแต่แรก เยอรมนีกลับใจเย็นยิ่งในเรื่องนี้ มีการมาตรการปันส่วนอาหารในเดือนกันยายน 1939 แต่ก็เป็นเพียงบางรายการไม่เต็มรูปแบบ เพราะฝ่ายเยอรมนีเชื่อว่าสงครามจะกินเวลายาวนาน, การปันส่วนอาหารจะทําลายความนิยมในกองทัพนาซีลง ที่สำคัญคือพวกเขาเชื่อว่าการขาดแคลนอาหาร และสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดกับเยอรมนีสามารถชดเชยด้วยการเรียกร้องจากชาติที่เยอรมนีชนะสงคราม ตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศสที่ถูกบังคับให้ส่งอาหารให้เยอรมัน 15 เปอร์เซ็นต์จากผลผลิตทั้งหมดของฝรั่งเศส

ทว่า กลางปี 1943 เมื่อสถานการณ์ของสงครามเริ่มส่งผลร้ายต่อเยอรมนี ก็เกิดการนําระบบปันส่วนอาหารอย่างเข้มงวดมาใช้ และสัดส่วนอาหารที่ปันส่วนก็อยู่ในระดับต่ำมากจนเกือบจะทําให้อดตาย อาหารจํานวนหนึ่งสํารองไว้ให้ กับแรงงานหลายล้านคนที่ถูกบังคับใช้แรงงานรวมทั้งเชลยสงคราม คนเหล่านี้ทํางานหนักในโรงงานและตามที่อื่นๆ

ขณะที่ชาวเมืองเลนินกราดในรัสเซียทุกข์ทรมานจากระบบปันส่วนอาหารที่เข้มงวดที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่เยอรมนีโอบล้อมเลนินกราดเป็นเวลา 900 วัน ระหว่างหน้าหนาวปี 1941-1942 การปันส่วนอาหารรายวันทุกชนิด ลดลงเหลือ 225 กรัม สําหรับแรงงานที่ใช้แรงกาย และ 112 กรัม สําหรับพลเรือนอื่นๆ จนแม้กระทั่งนก หนู สุนัข และแมว ก็ถูกจับมากินหมด และยังมีรายงานว่ามีการกินเนื้อคนอีกด้วย


ข้อมูลจาก

พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน, ดร.แอลแลน อาร์.มิลเลตต์- เขียน นงนุช สิงหเดชะ-แปล, 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2564