ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาหลังการใช้ “สัญญาเบาริ่ง” ในสยาม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เซอร์จอห์น เบาริ่ง อัครราชทูตอังกฤษ เข้าเฝ้า (ภาพจิตรกรรมเทิดพระเกียรติกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ วาดโดย นคร หุราพันธ์ ปัจจุบันแขวนอยู่ภายในอาคารรัฐสภา)

หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สัญญาเบาริ่ง” สัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีสาระสำคัญคือการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม

สาระสำคัญของสัญญานี้ คือ การกำหนดให้สยามต้องเปิดเสรีทางการค้า, กำหนดให้สยามห้ามเก็บภาษีซ้ำซ้อนและเก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 3 และต้องยอมรับการบังคับใช้กฎหมายของอังกฤษแก่บุคคลใต้บังคับ (อังกฤษ) ที่อยู่ในสยาม ที่เรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”

หลังการใช้สัญญาเบาริ่ง เกิดการขยายตัวทางการค้ากับต่างประเทศ กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางการค้าต่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทะเลจีนใต้ สินค้าจากที่ต่างๆ เช่น มลายู อินเดีย เขมร ฯลฯ ส่งมารวมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อจะรอการส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนและญี่ปุ่นก็ส่งมายังกรุงเทพฯ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ และสินค้าจากสยามที่เดิมเคยส่งไปเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ก็ขยายการส่งออกไปสู่ยุโรป และออสเตรเลีย

นั่นทำให้สยามถูกดึงเข้าสู่ “วงจรการผลิตในลักษณะอาณานิคม”

การผลิตภายในประเทศ และการส่งออกสินค้า สยามกลายเป็นประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่าง เพื่อสนองตอบความต้องการของประเทศมหาอำนาจ  เช่น ผลิตข้าวสำหรับเลี้ยงแรงงานในแถบเอเชียอาคเนย์และประเทศจีน, ไม้สักสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟในอินเดีย และการทำเฟอร์นิเจอร์ในยุโรป, ดีบุกสำหรับอุตสาหกรรมผลิตดีบุกแผ่นในยุโรปและอเมริกา พร้อมกับกันการเป็น “ตลาดรองรับสินค้า” สินค้านำเข้าราคาถูก เช่น ผ้าฝ้ายและน้ำตาล จากประเทศต่างๆ ในอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับการผลิตภายในสยาม

ทั้งทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงไปโครงสร้างการผลิตในประเทศ จากการแบ่งงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ แรงงานไทยมุ่งไปในการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกเกือบทั้งหมด ระบบการเกณฑ์แรงงานเพื่อการทำงานให้ราชการก็เปลี่ยนไปเป็นการเก็บเป็นเงินแทนมากขึ้น ทางราชการใช้เงินส่วนนี้จ้างแรงงานอพยพที่มาจากประเทศจีน เพื่อทำงานโยธามากขึ้น

นอกจากนี้การที่ชาวนาหันมาปลูกข้าวเพื่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างเดียว ทำให้บางปีประเทศต้องประสบปัญหาขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภคภายในประเทศ จนรัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศเตือนประชาชนให้รีบซื้อข้าวก่อนที่ข้าวจะขาดตลาด เพราะพ่อค้าชาวต่างชาติจะมากว้านซื้อกันไปจนหมด

หรือปัญหาเงินปลอม ที่เกิดขึ้นจากการค้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตรามากขึ้น ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถผลิตเงินขึ้นมาเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เมื่อเงินขาดแคลนทำให้เกิดการทำเงินปลอมระบาดไปทั่วพระนคร ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทางการต้องออกประกาศเกี่ยวกับเงินปลอมหลายครั้งด้วยกัน

สุดท้าย สัญญาเบาริ่งทำให้การผูกขาดสินค้าของรัฐบาลสยามสิ้นสุดลง รัฐจึงหันมาเน้นหารายได้จากภาษีอากรจากราษฎรในประเทศมากขึ้น โดยยังคงให้เอกชนประมูลผูกขาดจัดเก็บภาษีส่งรัฐต่อไป กิจการผูกขาดภาษีฝุ่น อากรสุรา บ่อนเบี้ยและหวย

ทว่าก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการรับมือการเปลี่ยนแปลงไม่ทันการณ์ของรัฐสยาม


ข้อมูลจาก

ไกรฤกษ์ นานา. ” ‘กรณีจลาจล’ ภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง และเซอร์จอห์นถูกกดดันให้พ้นจากตำแหน่ง” ใน, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2564